สภาพัฒน์ฯ รายงานอัตรา 'แม่วัยรุ่น' ลดลง เหลือ 23 คนต่อประชากร 1,000 คน ในปี 2562

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 3673 ครั้ง

สภาพัฒน์ฯ รายงานอัตรา 'แม่วัยรุ่น' ลดลง เหลือ 23 คนต่อประชากร 1,000 คน ในปี 2562

สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานสถานการณ์แม่วัยรุ่น พบอัตราการมีบุตรของวัยรุ่นอายุ 15 ถึง 19 ปีในประเทศไทยในภาพรวมลดลงจาก 51 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2558 เหลือ 23 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ยังพบอัตราการมีบุตรของแม่วัยรุ่นมากในภาคเหนือและภาคใต้ โดยภาคเหนืออัตราการมีบุตร 42 คนต่อประชากร 1,000 คน ภาคใต้อัตราการมีบุตร 35 คน ต่อประชากร 1,000 คน

เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2563 เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่านางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่ารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมแม่วัยรุ่นให้อยู่ต่อในระบบการศึกษา เพื่อจะได้มีโอกาสในการมีงานทำที่ดีและยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์ให้แม่วัยรุ่นได้เรียนต่อในสถานศึกษา แต่ในทางปฏิบัติก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้เป็นแม่ต้องหยุดเรียนหรือลาออก ทั้งนี้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานสถานการณ์แม่วัยรุ่นว่า อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นอายุ 15 ถึง 19 ปีในประเทศไทยในภาพรวมลดลงจาก 51 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2558 เหลือ 23 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ยังพบอัตราการมีบุตรของแม่วัยรุ่นมากในภาคเหนือและภาคใต้ โดยภาคเหนืออัตราการมีบุตร 42 คนต่อประชากร 1,000 คน ภาคใต้อัตราการมีบุตร 35 คน ต่อประชากร 1,000 คน และอัตราการมีบุตรของแม่วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 15 (แม่วัยใส) มากที่สุดคือร้อยละ 0.8 โดยแม่วัยรุ่นส่วนมากมีการศึกษาน้อย คือจบการศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด 130 คนต่อประชากร 1,000 คน และจะลดลงเรื่อยๆตามระดับการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าการรักษาการคงอยู่ในระบบการศึกษามีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาดังกล่าว รวมทั้งครัวเรือนยากจนจะมีปัญหาแม่วัยรุ่นสูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง มากไปกว่านั้น แม่วัยรุ่นจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา มีเพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่กลับมาเรียนในสถานศึกษาเดิม นั่นหมายความว่า โอกาสที่จะมีงานทำและมีรายได้ที่เพียงพอน้อยมาก ทำให้ต้องอยู่ด้วยการพึ่งพิงผู้อื่น

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ได้บูรณาการการทำงานเพื่อให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษาได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม มีการลงนามความร่วมมือในการจัดระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมที่ดี

นางสาวรัชดา กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจดูแลเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนในเรื่องการเข้าถึงการศึกษาเพราะจะเป็นโอกาสสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ความรู้จะเป็นประตูสู่การมีงานทำ มีรายได้ เพื่อเลี้ยงดูตนเองและลูก รัฐบาลมีความห่วงใยเยาวชนที่ต้องเผชิญกับความผิดพลาด อีกทั้งมีความเชื่อมั่นว่า หากเยาวชนได้รับโอกาส ทุกคนสามารถสร้างชีวิตใหม่ที่ดีได้ ทั้งนี้ ควบคู่ไปกับเรื่องการศึกษา รัฐบาลโดยกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการจัดสวัสดิการให้กับแม่วัยรุ่นที่ประสบปัญหา อาทิ การให้ความช่วยเหลือแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และครอบครัว การฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัดแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนและหลังคลอด การประสานงานเพื่อจัดหางานตามความเหมาะสม จัดหาครอบครัวทดแทนในกรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตระหนักดีว่า การแก้ปัญหาแม่วัยรุ่นต้องเริ่มที่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเพศ ทักษะการใช้ชีวิต และเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยทั้งหมดอยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ ที่เนื้อหาปรับให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ส่วนอัตราส่วนจำนวนแม่วัยรุ่นที่แม้จะลดลงมากในรอบสองสามปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาแบบครอบคลุมต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: