COVID-19 ทำไฟฟ้าสำรองล้น ชะลอรับซื้อ ‘ไฟฟ้าชุมชน’ รอ ครม.อนุมัติแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุง

ทีมข่าว TCIJ | 26 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 5631 ครั้ง

วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคพลังงานของไทยโดยตรง ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดต่ำลง คาดปริมาณสำรองไฟฟ้าปี 2563 ล้นระบบทะลุเกิน 40% กกพ.-กฟผ. นัดถกภายในเดือน เม.. 2563 นี้ว่าจะทำอย่างไร - ขยับประกาศซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win จาก 17 เม.. เป็นภายในสิ้นเดือน เม.. 2563 – ล่าสุด กกพ.ยังไม่ประกาศรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าชุมชนจนกว่า ครม. จะเห็นชอบ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 | ที่มาภาพประกอบ: awstruepower.com

ประเมิน COVID-19 ทำปริมาณสำรองไฟฟ้าจะสูงเกิน 40%

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2563 Energy News Center สื่อด้านพลังงาน ได้รายงานอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่าทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีการติดตามสถานการณ์ของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และภาคพลังงานของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลง คาดว่าจะมีการเสนอให้มีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผน PDP ใหม่อีกรอบ เนื่องจากการคาดการณ์แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Forecast) อาจจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก จึงต้องมีการชะลอแผนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ หรือการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศออกไป เพื่อไม่ให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศสูงเกินไป ซึ่งในปี 2563 คาดว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าจะสูงเกิน 40% เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมนั้นลดลง ทั้งนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงเกินไปจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระมากขึ้น [1]

แหล่งข่าวระบุกับ Energy News Center ว่ามติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่หรือ 'แผน PDP 2018' นั้น ระบุให้มีการทบทวนแผน PDP ทุกๆ 5 ปี ยกเว้นว่าจะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีความเห็นของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ให้กระทรวงพลังงานบริหารจัดการปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศในช่วง ปี 2562-2568 เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อประชาชนที่มากเกินไป [2]

แผน PDP 2018 พยากรณ์การใช้ไฟจากสมมติฐาน GDP โต 3.8% ต่อปี แต่วิกฤต COVID-19 จะฉุด GDP ติดลบ

อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปี 2563 กพช.ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงแผน PDP โดยเรียกว่า 'แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1' ตามข้อเสนอของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีการเพิ่มเติมการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก รวมตลอดทั้งแผนประมาณ 1,900 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อเพื่อเข้าระบบในปี 2563-2565 จำนวน 700 เมกะวัตต์

ทั้งนี้แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (2562-2580) ใช้สมมติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ GDP เฉลี่ยทั้งแผนที่ 3.8% ต่อปี ในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยเป็นการดำเนินการก่อนวิกฤต COVID-19 ซึ่งเมื่อผลกระทบจาก COVID-19  มีแนวโน้มส่งผลให้ ทั้ง GDP และการส่งออกในปี 2563 ติดลบ และต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะในการฟื้นตัวจึงอาจจะต้องมีการเสนอให้มีการปรับปรุงแผน PDP ใหม่อีกรอบรวมไปถึงแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติที่ต้องเชื่อมโยงกับแผน COVID-19 ด้วย ซึ่งการเสนอปรับแผน COVID-19 ใหม่อีกรอบ คาดว่าจะไม่กระทบต่อนโยบายการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน และโครงการของเอกชนที่ได้มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าแล้ว

สำหรับการแก้ไขปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงเกิน 40% ในระยะสั้น ปี 2563-2568 นั้นจะมีการพิจารณา shutdown โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเก่าที่มีต้นทุนสูงเป็นหลัก ทั้งนี้การหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของ กฟผ. อาจจะมีประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการซัพพลายก๊าซของ ปตท. ด้วย ซึ่งต้องมีการพิจารณาว่าจะทำอย่างไร ที่จะไม่ให้มีปัญหา take or pay ในสัญญาก๊าซที่ ปตท. มีกับคู่ค้า ทั้งในส่วนของก๊าซในอ่าวไทย เมียนมา และก๊าซ LNG ที่เป็นสัญญาระยะยาวในปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี [3]

กกพ.นัดถก กฟผ.ภายใน เม.ย. 2563 นี้ แก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบจากผลกระทบของ COVID-19

ต่อมา นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563 ว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อปรับแผนการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่ หลังพบการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงจากปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งมีผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศเพิ่มสูงขึ้นและกลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชนต้องแบกรับภาระมากขึ้น

โดยขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ซึ่งคาดว่าจะรวบรวมเสร็จและจะได้ทราบข้อมูลว่าการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มใดลดลงและกลุ่มใดสูงขึ้น เบื้องต้นคาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมจะใช้ไฟฟ้าลดลงและกลุ่มครัวเรือนจะใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น จากมาตรการ 'อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ' ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนแล้วจะประชุมร่วมกับ กฟผ. เพื่อวางมาตรการปรับแผนการสั่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าใหม่ว่าควรปรับลดกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใด และปริมาณเท่าไหร่ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร เป็นต้น โดยคาดว่าจะประชุมร่วมกับ กฟผ.ได้ภายในเดือน เม.ย. 2563 นี้

ส่วนกรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อาจจะเสนอปรับ 'แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580' หรือ 'แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1' อีกรอบ หลังสถานการณ์ปัญหา COVID-19 คลี่คลาย เพื่อให้การวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าในระยะยาวสอดคล้องกับการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าไว้ล่วงหน้าเกินความจำเป็นจนเกิดปัญหาสำรองไฟฟ้าสูง เป็นภาระต้นทุนค่าไฟฟ้ากับประชาชน นั้นนายคมกฤช กล่าวว่าขณะนี้ กกพ. ยังไม่ได้หารือถึงเรื่องดังกล่าว แต่หากกระทรวงพลังงานมีนโยบายปรับแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ใช้อยู่ในขณะนี้อีกครั้ง ทาง กกพ.ก็พร้อมให้ความเห็นตามกฎหมายต่อไป [4]

ขยับประกาศซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win จาก 17 เม.ย. เป็นภายในสิ้นเดือน เม.ย. 2563

นอกจากนี้พบว่าการออกทีโออาร์รับซื้อไฟฟ้า 'โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการ Quick Win) หรือโครงการระยะเร่งด่วน' รวมปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะขยับระยะเวลาออกไปจากกำหนดเดิมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเคยประกาศไว้ว่าเป็น 17 เม.ย. 2563 นี้ ออกไปเป็นภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้แทน เนื่องจากจะต้องมีการดำเนินการขออนุมัติตามขั้นตอนให้ถูกต้องก่อน [5]

โดยเมื่อ 15 เม.ย. 2563 ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะจัดส่งหลักเกณฑ์สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานพิจารณาก่อน ซึ่งเมื่อได้รับความเห็นชอบจึงจะส่งมติให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำไปออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ที่กำหนดในทีโออาร์ จะสอดคล้องกับประกาศ 'ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ.2563' ของ กกพ. ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา [6]

ในขั้นตอนหลังจากที่ กกพ.ประกาศทีโออาร์รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick Win และมีผู้ยื่นสมัครเข้ามาตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ทางคณะกรรมการบริหารฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่ามีรายใดบ้างที่เห็นสมควรให้รับซื้อไฟฟ้าได้ จากนั้น จะส่งรายชื่อให้ กกพ.เป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้ได้เข้าร่วมโครงการและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -PPA) กับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต่อไป ซึ่งจะต้องมีการวางหลักประกันและผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 12 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา PPA ทั้งนี้หากมีผู้สมัครเข้ามาเกิน 100 เมกะวัตต์ ส่วนที่เกินจะถูกตัดไปพิจารณาในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากประเภททั่วไป ซึ่งจะเป็นรอบต่อไปที่จะเปิดรับซื้อปริมาณไม่เกิน 600 เมกะวัตต์​ แต่หากการสมัครรอบ Quick Win นี้ไม่ครบ 100 เมกะวัตต์ ก็อาจพิจารณาเอาโควต้าที่เหลือไปให้โครงการในรอบทั่วไปแทนก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารฯต่อไป

นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบให้จัดตั้ง 'กองทุนโรงไฟฟ้าชุมชน' ขึ้นด้วยนั้น ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะมีการหารือกับปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณารูปแบบ วิธีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งจะแยกออกจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ทาง กกพ. เป็นผู้ดูแล โดยเบื้องต้น กองทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีรายได้จากการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ โดยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต้องนำส่งเงินส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ให้กองทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพกำหนดอัตราส่งเงินเข้ากองทุน 25 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากเป็นประเภทเชื้อเพลิงผสมผสาน หรือ Hybrid เช่น ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและโซลาร์เซลล์​ จะต้องจ่ายในส่วนของชีวมวล 25 สตางค์ต่อหน่วยและจ่ายส่วนของโซลาร์เซลล์อีก 50 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับเงินกองทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะเก็บไว้สำหรับพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก อย่างไรก็ตามนอกจากผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว ยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามปกติด้วย ทั้งนี้มั่นใจว่าจะไม่เป็นภาระผู้ผลิตไฟฟ้ามากเกินไปและผู้ผลิตไฟฟ้ารับได้ เพราะทราบข้อมูลล่วงหน้าก่อนเข้าร่วมโครงการแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าผู้ผลิตไฟฟ้าจะยังคงมีกำไรแม้จะต้องจ่ายเงินทั้งสองกองทุนก็ตาม อีกทั้งเชื่อว่าวัตถุประสงค์ของกองทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนพัฒนาพลังงานแน่นอน โดยกระทรวงพลังงานจะกำหนดรายละเอียดและประกาศให้ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้การจัดตั้งกองทุนฯไม่จำเป็นต้องเร่งจัดตั้งให้เสร็จก่อนถึงกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ของผู้ผลิตไฟฟ้า เพราะหากกองทุนฯ ยังตั้งไม่เสร็จแต่มีการ COD ไฟฟ้าแล้ว ภาครัฐสามารถเรียกเก็บเงินตามอัตราส่งเข้ากองทุนฯ ไว้ก่อนได้ เพื่อรอให้กองทุนฯ จัดตั้งเสร็จ [7]

อัตราซื้อขายไฟฟ้าระบบ FiT ตาม 'ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ 2563'

อัตราซื้อขายไฟฟ้ากำหนดให้ใช้ ในรูปการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) เป็นเวลา 20 ปี ได้แก่ ประเภทที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาทต่อหน่วย,ชีวมวลที่กำลังผลิตน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์อัตรารับซื้อ 4.84 บาทต่อหน่วย หากกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.26 บาทต่อหน่วย ส่วนก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)อัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย สำหรับก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) แบ่งเป็นกรณีพืชพลังงาน 100% อัตรา 5.37บาทต่อหน่วย กรณีผสมน้ำเสีย/ของเสียน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25% อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย แต่หากเป็นโครงการที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และอีก 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (จะนะ,เทพา,สะบ้าย้อย,นาทวี) จะได้รับการบวกเพิ่มอัตรารับซื้ออีก 50 สตางค์ต่อหน่วย [8]

 

กกพ.ยังไม่ประกาศรับซื้อไฟ โรงไฟฟ้าชุมชนจนกว่า ครม. จะเห็นชอบ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 Energy News Center รายงานอ้างแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากประเภท Quick Win ที่มีเป้าหมายรับซื้อในปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์  ที่เดิมกำหนดจะออกประกาศรับซื้อได้ ในวันที่ 17 เม ย.2563 ที่ผ่านมา ว่าทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังไม่สามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ที่สนใจยื่นเสนอโครงการได้ แม้จะมีการลงประกาศระเบียบหลักเกณฑ์ในราชกิจจานุเบกษารองรับเอาไว้แล้ว เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้พิจารณาเห็นชอบการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1  แม้ว่าจะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มาแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ในแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ได้มีการบรรจุการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตลอดทั้งแผนในปริมาณ 1,913 เมกะวัตต์ โดยเป็นการรับซื้อไฟเข้าระบบภายในปี 2565 จำนวน 700 เมกะวัตต์ ดังนั้นเมื่อ ครม.ยังไม่ได้เห็นชอบแผนฉบับใหม่ หน่วยงานรัฐจึงยังต้องปฏิบัติตามแผน PDP 2018 ฉบับเดิม ที่ไม่ได้มีการบรรจุเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนไปก่อน ซึ่งหากทาง กกพ.ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนโดยที่ ครม.ไม่เห็นชอบในแผน PDP ฉบับปรับปรุงใหม่ตามระเบียบปฏิบัติจะถือเป็นการฝ่าฝืนมติ ครม. อย่างไรก็ตามทางกระทรวงพลังงานเตรียมความพร้อมต่างๆ ไว้ทุกด้านแล้ว หากครม.เห็นชอบก็สามารถเปิดรับซื้อได้ทันที ซึ่งหาก กกพ.ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไม่ทันเดือน เม.ย. 2563 ก็สามารถเลื่อนระยะเวลาเปิดรับซื้อออกไปก่อนได้ [9]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] เล็งเสนอปรับแผนพีดีพี ใหม่อีกรอบ พร้อมแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ จากผลพวงโควิด-19 (Energy News Center, 12 เม.ย. 2563)
[2] กพช.เห็นชอบ PDP ฉบับใหม่ สัดส่วนไฟฟ้า กฟผ.ลดเหลือ 24% (Energy News Center, 24 ม.ค. 2562)
[3] เล็งเสนอปรับแผนพีดีพี ใหม่อีกรอบ พร้อมแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ จากผลพวงโควิด-19 (Energy News Center, 12 เม.ย. 2563)
[4] กกพ.นัดถก กฟผ. ภายใน เม.ย.นี้ แก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ จากผลกระทบของโควิด-19 (Energy News Center, 13 เม.ย. 2563)
[5] ขยับประกาศซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win จาก17 เม.ย.เป็นภายในสิ้น เม.ย.นี้ (Energy News Center, 15 เม.ย. 2563)
[6] ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ.2563 (ราชกิจจานุเบกษา, 10 เม.ย. 2563)
[7] ขยับประกาศซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win จาก17 เม.ย.เป็นภายในสิ้น เม.ย.นี้ (Energy News Center, 15 เม.ย. 2563)
[8] รัฐเดินหน้าซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน แม้มีปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบ (Energy News Center, 14 เม.ย. 2563)
[9] กกพ.ยังไม่ประกาศรับซื้อไฟ โรงไฟฟ้าชุมชน จนกว่า ครม. จะเห็นชอบ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (Energy News Center, 21 เม.ย. 2563)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: