นายจ้างขอรัฐแบ่งเบา ‘ค่าตรวจโรค-กักตัว' นำเข้าแรงงานเพื่อนบ้าน

ทีมข่าว TCIJ | 26 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 8075 ครั้ง

หลัง ศบค.-ก.แรงงาน เห็นชอบหลักการปลดล็อคสามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบ MOU ได้ แต่นายจ้างผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 และการจัดสถานที่กักตัว 14 วัน ประมาณ 13,200-19,300 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน  ด้านกลุ่มนายจ้างแรงงานต่างด้าว เผยผลสำรวจ 82% ไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดนี้เพราะจะสร้างภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไป อยากให้รัฐช่วยแบ่งเบาภาระ ล่าสุด ศบค.เสนอรูปแบบ 'Organization quarantine' พื้นที่กักตัวแรงงานต่างด้าวของนายจ้างเอง ก่อนเปิดรับเข้ามาทำงาน | ที่มาภาพ: Yostorn Triyos/REALFRAME

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางดำเนินการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา เข้ามาทำงานตาม MOU ตามที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเสนอ โดยเห็นชอบให้แรงงานต่างด้าว 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานและมีวีซ่าทำงานอยู่ ซึ่งได้ขอวีซ่ารักษาสิทธิใบอนุญาตทำงาน (Re-Entry Visa) เพื่อเดินทางกลับประเทศแล้วแต่ยังไม่ได้กลับเข้ามา ประมาณ 69,235 คน และ 2.แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ที่นายจ้างได้ยื่นหนังสือแสดงความต้องการ (Demand Letter) ไปที่ประเทศต้นทางแล้ว และนายจ้างยังต้องการนำเข้ามา แต่ไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ ประมาณ 42,168 คน ให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด คือ การเตรียมตัวก่อนเข้ามาในประเทศ แรงงานต่างด้าวทั้งสองกลุ่มต้องได้รับหนังสือรับรองว่าเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ และมีใบรับรองแพทย์ (Fit to Travel) ส่วนการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร กรณีเป็นแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่มี Re-Entry Visa ซึ่งมีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้ว เมื่อด่านตรวจคนเข้าเมืองตรวจเอกสารการอนุญาตเข้าประเทศและตรวจลงตราวีซ่าแล้ว แรงงานต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทันที ณ ด่านควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันในสถานกักกันของรัฐในระดับจังหวัด (ALQ) สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานที่นายจ้างยื่นขอนำเข้าใหม่ เมื่อด่านตรวจคนเข้าเมืองตรวจเอกสารการอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศแล้ว แรงงานต่างด้าวต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 และตรวจสุขภาพ 6 โรค ซื้อประกันสุขภาพ 2 ปี (กรณีกิจการที่ไม่เข้าประกันสังคม) หรือประกันสุขภาพ 3 เดือน (กรณีกิจการต้องเข้าประกันสังคม) และเข้ารับการกักตัว 14 วัน ในสถานกักกันของรัฐในระดับจังหวัด (ALQ) ซึ่งขณะที่อยู่ในสถานที่กักกันฯ จะมีการอบรมให้ความรู้ด้านกฎ ระเบียบ และการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยแก่คนต่างด้าวก่อนเข้าทำงาน ตามขั้นตอนการนำเข้าฯ เมื่อครบกำหนด 14 วัน จะได้รับการตรวจลงตราวีซ่าจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และได้รับใบอนุญาตทำงานจากศูนย์แรกรับและสิ้นสุดการจ้าง เมื่อแรงงานต่างด้าวทั้งสองกลุ่มเข้ารับกักตัวครบตามกำหนดแล้วไม่พบเชื้อ นายจ้างสามารถรับแรงงานต่างด้าวไปทำงานได้ พร้อมรายงานให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ทราบ

"การที่ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เฟส 6 และอนุญาตให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานตามระบบ MOU เนื่องจากความต้องการแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการในประเทศ ที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ หลังจากกิจการต่าง ๆ เริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะงานที่แรงงานไทยไม่นิยมทำ ทั้งนี้ การดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานต้องคำนึงความปลอดภัย และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศ และได้กำหนดช่องทางการเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา คือ จ.สระแก้ว สัญชาติลาว คือ จ.หนองคาย และสัญชาติเมียนมา คือ จ.ตาก และ จ.ระนอง โดยนายจ้าง ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 และการจัดสถานที่กักตัว 14 วัน ประมาณ 13,200-19,300 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน ” นายสุชาติฯ กล่าว [1]

นายจ้างไม่เห็นด้วยจ่ายค่า'ตรวจโรค-กักตัว'เอง ขอรัฐช่วยแบ่งเบา

วันเดียวกันนั้น (22 ก.ค. 2563) กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว : โครงการนายจ้างสีขาวฯ (GEFW) ได้เผยแพร่แบบสอบถามนายจ้างที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวและนำเข้า MOU 172 ราย ต่อมาตรการรับคนต่างด้าวจากประเทศต้นทางกลับเข้ามาทำงาน

ผลสำรวจพบว่านายจ้าง 82% ไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และกระทรวงแรงงาน ที่สร้างภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไปให้กับนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรับผิดชอบในด้านค่าใช้จ่ายทั้งการตรวจโรค COVID-19 และค่าใช้จ่ายในการกักตัว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงาน MOU เพิ่มสูงมากกว่าปกติ เพิ่มมากกว่า 20,000บาท ต่อแรงงาน 1 คน

กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว : โครงการนายจ้างสีขาวฯ มีข้อเสนอเบื้องต้น อยากให้รัฐช่วยแบ่งเบาภาระนายจ้างและคนงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง เช่น ค่าตรวจโรค ควรเป็นการตรวจโรคเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคโดยภาครัฐ รวมถึงให้พิจารณามาตรการกักตัวในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในช่วงที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาการแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 กลุ่มคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานหรือมีสิทธิ์ในการทำงานเดิม กลุ่มที่ทำรีเอนทรี่ เป็นระยะที่ 1 ระยะที่ 2 กลุ่มคนต่างด้าวที่ดำเนินตามขั้นตอนการนำเข้าตาม mou จนเกือบสิ้นสุดกระบวนการแล้ว มีนายจ้างรับที่ชัดเจน ระยะที่ 3 การนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบ mou ที่เป็นคนใหม่ เพื่อตอบสนองการคลาดแคลนแรงงานต่างด้าวในประเทศ

ท้ายที่สุด ศบค. ควรเปิดมาตรการและค่าใช้จ่ายให้นายจ้างได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะนายจ้างขนาดเล็ก ไม่ใช่มีแค่กลุ่มนายจ้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องค่าใช้จ่ายเท่านั้น [2]

กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว : โครงการนายจ้างสีขาวฯ

‘กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว : โครงการนายจ้างสีขาวฯ’ เป็นโครงการทำเอกสารของตนเองในการจ้างต่างด้าวให้ถูกต้องทุกขั้นตอนตามกฎหมาย โครงการนี้มีชื่อเต็มว่า 'โครงการนายจ้างและต่างด้าวสีขาว' ส่งเสริมให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าว ทำเอกสารแสดงตน และนายจ้างทำเอกสารการจ้างงานให้ถูกต้องครบถ้วน หากมีการดำเนินคดี จะได้มีหลักฐานจากกรมการจัดหางานไปยืนยันว่าตนเองซึ่งเป็นนายจ้างถูกต้องและแรงงานของนายจ้างถูกต้องครบถ้วน ตามที่หน่วยงานกำหนด ยังมีหน่วยงานอื่นที่เข้ามาร่วมดูแลและเดินเคียงข้างนายจ้างและน้องต่างด้าวหากเข้าร่วมโครงการสีขาวนี้

 

ท้ายสุดอาจผลักภาระให้แรงงานเอง

TCIJ ได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการที่มีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวใน จ.เชียงใหม่ ท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันกับแบบสำรวจของกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว : โครงการนายจ้างสีขาวฯ คือไม่เห็นด้วยที่ผู้ประกอบการต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 และการจัดสถานที่กักตัว 14 วัน ประมาณ 13,200-19,300 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน ไว้ฝ่ายเดียว โดยที่รัฐบาลจะไม่ช่วยเหลืออะไร

ผู้ประกอบการท่านนี้ยังกล่าวเสริมว่าสำหรับธุรกิจที่มีความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างด้าว หากรัฐไม่ช่วยเหลืออุดหนุนอะไร นายจ้างอาจจะต้องจ้างแรงงานต่างด้าวที่ตกค้างในไทยที่ไม่ได้กลับบ้านแทนและอาจจ้างแบบผิดกฎหมาย เพื่อลดต้นทุน เพราะสภาพเศรษฐกิจในขนาดนี้คนที่กลับมาดำเนินธุรกิจมีความเสี่ยงสูงและต้องลดต้นทุน หรือถ้าทำแบบถูกกฎหมายใช้แรงงาน MOU ที่กลับมาทำงานในไทยต้องมีการกักตัวมีการตรวจโรคนั้น เชื่อว่าท้ายสุดผู้ประกอบการก็จะมาหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากแรงงานทั้งหมดเองในรูปแบบของการหักเงินเดือน

“เชื่อว่าถ้านายจ้างได้จ่ายอะไรเกี่ยวกับการกักตัวแรงงานต่างด้าวไป โดยเฉพาะนายจ้างที่จ้างแรงงานหลักสิบคนขึ้นไป ยังไงก็ต้องมาหักเงินเดือนคนงานเหล่านั้นทีหลัง” ผู้ประกอบการที่มีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวใน จ.เชียงใหม่ ระบุกับ TCIJ

'ไต้หวันโมเดล' รัฐอุดหนุนนายจ้างกักตัวแรงงานต่างชาติ

ที่ไต้หวัน หลังแรงงานต่างชาติพ้นการกักตัวแล้ว นายจ้างสามารถยื่นขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญไต้หวัน | ที่มาภาพ: Focus Taiwan 

ที่ไต้หวัน แรงงานต่างชาติในภาคสวัสดิการสังคม (เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ช่วยงานบ้าน) ที่เดินทางเข้ามายังไต้หวันใหม่ รวมถึงที่กลับจากการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัว ต้องไปกักตัวในสถานที่กักตัวรวมของกระทรวงสาธารณสุข 14 วัน โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายวันละ 1,500 เหรียญไต้หวัน ต่อคนต่อวัน ค่าใช้จ่ายนี้ประกอบด้วยค่าที่พัก ค่าอาหาร 3 มื้อและค่าดูแลสุขภาพ 14 วันเป็นเงิน 21,000 เหรียญ เงินก้อนนี้ นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หลังจากแรงงานต่างชาติกักตัว 14 วันแล้ว กระทรวงแรงงานจะมีหนังสือถึงนายจ้างเพื่อให้ไปชำระเงิน โดยนายจ้างจะหักค่าใช้จ่ายนี้จากแรงงานต่างชาติไม่ได้ หลังพ้นการกักตัวแล้วสามารถยื่นขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญไต้หวัน

ส่วนแรงงานภาคการผลิต นายจ้างต้องเป็นผู้จัดหาสถานที่กักตัว 14 วัน โดยต้องเป็นห้องพักห้องละ 1 คน และมีคนควบคุมดูแลไม่ให้ผู้ถูกกักตัวออกนอกสถานที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงต้องติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรค นายจ้างจะหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้จากแรงงานต่างชาติไม่ได้เช่นกัน  [3]

 

ศบค.เสนอรูปแบบ 'Organization quarantine' พื้นที่กักตัวแรงงานของนายจ้างเอง

ต่อมาในวันที่ 24 ก.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิศณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีข้อเสนอให้เปิดด่านพรมด่านทั้งหมดได้หรือไม่ว่า เรื่องนี้ ศบค.ต้องเป็นคนอนุมัติ แต่คนประสานเสนอขึ้นมา คือ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มอบให้ไปดูเรื่องความเหมาะสมทั้ง 91 จุด โดยจะทบทวนและมีข้อเสนอและมาตรการในเชิงปฏิบัติและนำมาสู่การอนุมัติโดย ศบค. ซึ่งเราจะมองรอบด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านความมั่นคง เป็นต้น

เมื่อถามถึงกรณีนายจ้างเตรียมพื้นที่กักตัวแล้วต้องขออนุญาตจากใครอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การหาพื้นที่กักตัวของนายจ้างหรือ ‘ออแกไนเซชันควอรันทีน’ (Organization Quarantine) การกักแยกเดี่ยวอย่าง ‘สเตทควอรันทีน’ (State Quarantine) ค่าใช้จ่ายสูง ร่วมๆ 2 หมื่นบาทต่อคน แต่กลุ่มแรงงานต่างด้าวถ้าต้องใช้สองหมื่นบาทก็เยอะเกินไป ถ้าจัดตรงนี้ให้ได้เหลือหมื่นต้นๆ พอไหวหรือไม่ โดยออแกไนเซชัน ควอรันทีน ก็ช่วยลดได้ อาจจะพักกัน 2 คน เอามาอยู่ในพื้นที่เราดูแลได้ และกัก 14 วันเช่นกัน แต่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ไม่ออกไปข้างนอก อยู่รวมกันได้เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยกระทรวงแรงงานนำเสนอขึ้นมา เพราะต้องการเข้ามาเป็นแสนราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ถามว่ามีตัวอย่างแล้วหรือไม่ ก็ยังไม่มีภาคเอกชนเสนอขึ้นมา ถ้าเสนอขึ้นมา ติดต่อมาที่ ศบค.ได้ อนุมัติหลักการแล้ว เราต้องการเห็นภาพที่ชัดเจน หากเสนอตัวขึ้นมาก็ขอบคุณ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ หากหาได้ให้มาแจ้งเรา และแจ้งที่กระทรวงแรงงานด้วย และมาร่วมหารือกัน จะดึงสาธารณสุข ตรวจคนเข้าเมืองมาคุยกันทั้งหมด โดยจะเข้าไปกำกับในทุกขั้นตอนเพื่อสร้างความมั่นใจ [4]

แรงงานต่างด้าวภาค 'ก่อสร้าง-ประมง' เริ่มขาดแคลน

ปัจจุบันผู้ประกอบการประมง 22 จังหวัดชายทะเล ได้แจ้งความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวในธุรกิจไว้แล้วถึง 40,000-50,000 คน | แฟ้มภาพ TCIJ

ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2563 สื่อ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ได้เผยแพร่รายงานพิเศษ 'แรงงานต่างด้าวขาดแคลนหนัก “ก่อสร้าง-ประมง” ต้องการ 1.2 ล้านคน' โดยได้สัมภาษณ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และปลัดกระทรวงแรงงาน

โดยนายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขาดแคลนแรงงานต่างด้าวอย่างมาก จากการสอบถามสมาชิกผู้รับเหมาพบว่าเกือบทุกโครงการได้รับผลกระทบ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 100,000 ล้านบาท เพราะธุรกิจรับเหมาใช้แรงงานมาก ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานในธุรกิจรับเหมารวม 1.8 ล้านคน หลังการแพร่ระบาดของโควิด แรงงานต่างด้าวบางส่วนกลับประเทศ รวมแล้วมีแรงงานหายไปจากระบบ 100,000-200,000 คน

“สมาคมเคยยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ถึงขณะนี้ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ผู้รับเหมาต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการบริหารเวลางานให้เหมาะกับปริมาณงานและแรงงาน ไม่มีการปลดคนงานก่อสร้าง เช่น บางช่วงงานน้อยลดเวลางานเหลือเพียงช่วงกลางคืน หรืองานมากก็เพิ่มงานให้ทำมากขึ้น เป็นต้น หากปลดคนออกพยุงค่าใช้จ่าย จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาแรงงานที่กำลังขาดแคลน” นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุกับประชาชาติธุรกิจ

นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการประมง 22 จังหวัดชายทะเล ได้แจ้งความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวในธุรกิจ 40,000-50,000 คน ซึ่งเดือน มิ.ย. 2563 อธิบดีกรมประมงได้ลงนามโดยใช้อำนาจตามมาตรา 83 แห่ง พ.ร.ก.การประมง 2560 แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง โดยให้สามารถนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้ และทำหนังสือประสานไปยังกระทรวงแรงงาน กับกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ติดมาตรการป้องกันโควิด ต้องรอการพิจารณาจาก ศบค. ภาคประมงเดือดร้อนหนักเช่นเดียวกัน

ด้านนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าบางพื้นที่พบว่าสถานประกอบการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว จึงได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาและวางแนวทางบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) เมื่อ 20 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 4 กลุ่มเป้าหมาย 1.คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ซึ่งครบวาระจ้างงาน 4 ปี 2.ต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ถือเอกสารประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง (passport : PP) เอกสารเดินทาง (travel document : TD) เอกสารรับรองบุคคล (certifi-cate of identity : CI) ที่ใบอนุญาตทำงาน และการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดช่วง 30 ก.ย. 2562-30 มิ.ย. 2563 แต่ไม่ได้ดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อ 20 ส.ค. 62

และ 3.ต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 50, 53 และมาตรา 55 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และกลุ่มที่ 4.คนต่างด้าวที่ใช้บัตรผ่านแดน (border pass) ตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน ซึ่งเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับตามฤดูกาล

กรณีคนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (PP/CI/TD) อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่ 1 ส.ค. 63-31 ม.ค. 64 เพื่อ 1) ขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ภายใน 31 ต.ค. 2563 2) ตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลของรัฐ และซื้อประกันสุขภาพ ภายใน 31 ม.ค. 2564 3) ขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักร ณ ตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ ภายใน 31 ม.ค. 2564 และ 4) ขอจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงาน

ส่วนคนต่างด้าวที่มีบัตรผ่านแดน (border pass) อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่ 1 ส.ค. 2563-31 มี.ค. 2564 1) ขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางาน ภายใน 31 ต.ค. 2563 2) ตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลของรัฐและซื้อประกันสุขภาพ ยกเว้นคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ภายใน 31 ต.ค. 2563 ซึ่งอนุญาตให้ทำงานครั้งละ 3 เดือน ช่วง 1 ส.ค. 2563-31 มี.ค. 2565 และ 3) ไม่เป็นโรคที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรและทำงาน

นอกจากนี้ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังให้ข้อมูลผลการดำเนินการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562-2563 (ข้อมูล ณ 15 มิ.ย. 2563) ว่านายจ้าง/สถานประกอบการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว 1,266,351 คน สัญชาติกัมพูชา 213,461 คน ลาว 50,581 คน เมียนมา 1,002,309 คน ในจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ยื่นความต้องการจ้างได้จัดทำใบอนุญาตให้แล้ว 774,983 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 491,368 คน โดยสามารถดำเนินการได้ถึง 30 พ.ย. 2563 [5]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] แรงงานต่างด้าว MOU เฮ! หลัง ศบค. อนุมัติให้เข้าประเทศ แต่ต้องกักตัว 14 วัน (กรมการจัดหางาน, 22 ก.ค. 2563)
[2] นายจ้างไม่เห็นด้วยกับมาตราการของ ศบค. ซ้ำเติมนายจ้าง ราคาสูงปรี้ด (กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว : โครงการนายจ้างสีขาวฯ, 22 ก.ค. 2563)
[3] ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 1 พ.ค. 2563 (Radio Taiwan International, 1 พ.ค. 2563)
[4] ศบค.แนะ “นายจ้าง” เสนอรูปแบบพื้นที่กักตัว “แรงงานต่างด้าว” ก่อนเปิดรับข้ามมาทำงาน (ผู้จัดการออนไลน์, 24 ก.ค. 2563)
[5] แรงงานต่างด้าวขาดแคลนหนัก “ก่อสร้าง-ประมง” ต้องการ 1.2 ล้านคน (ประชาชาติธุรกิจ, 23 ก.ค. 2563)

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: