การพัฒนาคลองไทย แนว 9A ในมุมมองของวิศวกรด้านน้ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ระบุต้องไม่กระทบกับระบบนิเวศมากเกินไป ไม่ควรอยู่ในแนวที่ต้องเวนคืนที่ดินของประชาชนมากเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการขุดหรือเจาะผ่านภูเขาสูงเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
กระแส “ขุดคลองไทย” กลับมาอีกครั้งหลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรนำโครงการดังกล่าวขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ และเตรียมนำเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจขุดคลองไทยแนว 9A เชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ระยะทาง 135 กิโลเมตร มูลค่า 2 ล้านล้านบาท ด้วยความหวังว่าโครงการนี้จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยได้มหาศาล เพื่อเป็นทางออกของประเทศหลังยุคโควิด เพราะ “คลองไทย” ถือเป็นอภิมหาโปรเจกต์ที่จะสร้างอนาคตประเทศไทยและเปลี่ยนภูมิทัศน์การเดินเรือของโลก
กว่า 500 ปีของการถกเถียงตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ผ่านมามีหลายประเทศเข้ามาทำการศึกษาและนำเสอนเส้นทางการขุดคลองไทยเชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน ทั้งอังกฤษ อเมริกา จีน จนถึงขณะนี้ก็ยังคงหาข้อยุติไม่ได้ในหลายประเด็น แม้ล่าสุดจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาการขุดคลองไทยแล้วก็ตาม แต่ผลการศึกษามีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้าน
ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะวิศวกรด้านน้ำได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า หากมีการขุดคลองไทยในมุมของวิศวกรมองว่าแนวที่เหมาะสม คือ 1.ไม่ควรอยู่ใกล้แนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านควรให้อยู่ในเขตแนวของไทยดีที่สุด 2.ต้องไม่กระทบกับระบบนิเวศมากเกินไป 3. ไม่ควรอยู่ในแนวที่ต้องเวนคืนที่ดินของประชาชนมากเกินไป และ 4.ควรหลีกเลี่ยงการขุดหรือเจาะผ่านภูเขาสูงเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ส่วนขนาดพื้นที่ขุดคลองแนว 9A ระยะทาง 135 กิโลเมตรที่ระบุไว้แต่ยังมีประเด็นเรื่องของความลึกและความกว้างแม้จะมีการเสนอระดับความลึกไว้ 25 และ 30 เมตร แต่ระดับความลึกเท่าไหร่นั้น ยังขึ้นอยู่กับการออกแบบขนาดและจำนวนของเรือที่ต้องการ เพื่อกำหนดขนาดความลึกของคลองและต้องคำนวณถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
“ส่วนตัวมองว่า ขนาดเรือระดับสองแสนห้าหมื่นตันมีความเหมาะสมที่สุด เป็นระดับใกล้เคียงกับเรือสินค้าที่ผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นช่องทางเดินเรือสำคัญของโลกมีเรือขนสินค้าแล่นผ่านประมาณ 500-600 ลำต่อวัน ส่วนเรือที่มีขนาดใหญ่มากๆ จะไปอ้อมที่ทะเลชวาประเทศอินโดนีเซียแทน แม้สิงคโปร์จะมีท่าเทียบเรือจำนวนมากแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากร่องน้ำบริเวณดังกล่าวมีความคับคั่งมาก ถ้าท่าเรือไม่ว่างเรือเหล่านั้นก็ต้องลอยเคว้งอยู่กลางทะเล ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกปล้น การขุดลองไทยจะสามารถช่วยระบายความคับคั่งในช่องแคบมะละกาได้บ้าง
ส่วนที่ระบุว่าการขุดคลองไทยแนว 9A จะย่นระยะเวลาเดินทางได้แค่ 1-2 วัน และจะไม่มีเรือมาเพราะคลองไทยไม่ใช่ท่าเรือหลักนั้น มองว่า คลองไทยจะสามารถช่วยย่นระยะทางการเดินเรือเชื่อมสองฝั่งมหาสมุทร ไม่ต้องเสียเวลาในการอ้อมแหลมมาลายู เดินเรือตรงผ่านคลองไทย ช่วยประหยัดเวลาและพลังงานได้มาก นอกจากนี้ยังมองว่าพื้นที่แนวคลองไม่ควรทิ้งเปล่าหากพัฒนาให้มีท่าเทียบเรือและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้ความเจริญและมีรายได้เข้าพื้นที่มากขึ้น รวมถึงเรื่องของการท่องเที่ยว แต่จะต้องมีการเตรียมจัดหาแหล่งน้ำเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำระหว่างเทือกเขา นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องระดับของน้ำทะเลและลักษณะชายหาดที่ไม่เหมือนกันระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งในฐานะวิศวกรก็ได้มีการศึกษาเก็บข้อมูลเปรียบเทียบไว้เรียบร้อย
ศ.ดร.ชัยยุทธ ได้เสนอไอเดียว่า การขุดคลองไทยบนบก ระยะทางยาว 135 กิโลเมตร ควรมีความกว้าง 400 เมตร เป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด ส่วนที่ต้องขุดยื่นออกไปในทะเลนั้น มีข้อเสนอ 2 ทางเลือก คือ ถ้าต้องการความลึก 25 เมตร ระยะทางการขุดร่องน้ำ จะสั้นลง โดยขุดลงไปในทะเลฝั่งอ่าวไทยออกไป 33 กิโลเมตร และฝั่งอันดามัน 34 กิโลเมตร หรือถ้าต้องการความลึก 30 เมตร (รองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่มาก) ระยะทางการขุดร่องน้ำก็จะขุดลาดออกไปในทะเลมากขึ้น โดยฝั่งอ่าวไทยขุดออกไป 55 กิโลเมตร และฝั่งอันดามัน 38 กิโลเมตร (ตามรูปแสดงเป็นจุดไข่ปลาสีแดง)
อย่างไรก็ตาม หากมีการขุดคลองไทย แนว 9A ซึ่งจะผ่านรอยต่อ 5 จังหวัด คือ กระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมชาติ และสงขลา ถือว่าเป็นแนวที่เหมาะสมที่สุดจากแนวทางที่มีการศึกษามา แต่มีข้อที่ควรพึ่งระวังอยู่ การเลือกพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม น้ำจะต้องไม่ท่วม ต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ต้องมีน้ำเพียงพอ ต้องไม่อยู่บนเขา และต้องอยู่ใกล้คลองไทย แนะนำโซนกระบี่ ตรัง มากกว่านครศรีธรรมราชที่มักจะมีน้ำท่วมเกือบทุกปี แต่การขุดคลองไทยจะเป็นผลดีต่อจังหวัดนครศรีธรรมราชที่จะได้ใช้คลองเป็นทางระบายน้ำหลากได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังควรระวังเรื่องของน้ำบาดาล ถ้าขุดลึก 30 เมตรอาจส่งผลกระทบต่อน้ำใต้ดิน และควรเร่งศึกษาสำรวจแนวน้ำบาดาลในพื้นที่ให้ชัดเจนก่อน ขณะที่ความลึก 25 เมตรซึ่งเป็นความลึกที่เหมาะสมกับคลองไทยโดยพิจารณาจากข้อกำหนดความลึกช่องแคบมะละกา (Malacca Max) ทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลและการขุดลอกบำรุงรักษา ควรมีแนวทางการป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าสู่พรุควนเคร็ง เช่น การสร้างกำแพงคอนกรีตเพื่อรักษาระบบนิเวศ การจัดหาแหล่งน้ำดิบเพื่อให้เพียงพอในการรองรับ และกระแสน้ำในคลองไทยที่เกิดจากความแตกต่างของระดับน้ำทะเลมีค่าประมาณ 1-2 เมตร/วินาที ซึ่งไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเดินเรือ แต่อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาในรายละเอียดทุกๆด้านอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการก่อสร้างต่อไป
สำหรับโครงการขุดคลองไทยแนว 9A กำหนดระยะทาง 135 กิโลเมตร เริ่มจากทิศตะวันตกฝั่งอันดามัน พื้นที่ปากคลองไทยจะอยู่บริเวณเกาะลันตา จ.กระบี่ และ ปางเมง อ.สิเกา จ.ตรัง และแนวคลองไทยจะผ่าน อ.วังวิเศษ อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา และเข้าเขตจ.นครศรีธรรมราช อ.ทุ่งสง อ.ชะอวด ผ่านเข้าเขตจังหวัดพัทลุง อ.ป่าพะยอม อ.ควนขนุน ทะเลน้อยซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และตัดออกทะเลอ่าวไทยทิศตะวันออก ที่คลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ปัดฝุ่นแนวคิด 'ขุดคอคอดกระ' สามร้อยกว่าปีแห่งความฝัน เราต้องแลกอะไรบ้าง?
'จับตา': “ไทม์ไลน์แนวคิดขุดคอคอดกระ พ.ศ. 2220-2558”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ