กรมป่าไม้รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตใน 74 จังหวัด จำนวน 31,179 แห่ง | ที่มาภาพประกอบ : SpringNews
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
2. ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการตามมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ทส. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 โดยได้จัดประชุมเรื่อง หารือการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้และขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในกรณีที่ปรากฏว่ายังมีส่วนราชการใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 (โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน) และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมหารือฯ ได้แก่ ทส. (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมป่าไม้) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) (กรมชลประทาน) กระทรวงคมนาคม (คค.) (กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท) กระทรวงมหาดไทย (มท.) (กรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (กรมอนามัย) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งในที่ประชุมได้รับทราบรายงานข้อมูลกรณีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตและได้ดำเนินงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินงาน โดยยังมิได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวกับการป่าไม้ จำนวน 22,688 แห่ง ซึ่งต่อมากรมป่าไม้ได้รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่ามีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตใน 74 จังหวัด จำนวน 31,179 แห่ง ดังนี้
ลักษณะของแผนงาน/โครงการ | จำนวน (แห่ง) | |
ข้อมูลที่หน่วยงานรายงาน | กรมป่าไม้รวบรวมและตรวจสอบ* | |
1. โครงการเกี่ยวกับการสร้าง/ปรับปรุงถนน | 4,610 | 9,560 |
2. โครงการเพื่อกิจการชลประทาน (อ่างเก็บน้ำ ฝาย ระบบส่งน้ำ ฯลฯ) | 1,822 | 2,232 |
3. โครงการระบบประปา/แนวเดินท่อระบบประปา | 1,572 | 1,004 |
4. สถานที่สาธารณะอื่น ๆ (ห้องน้ำสาธารณะ สนามกีฬา ลานกิจกรรมเอนกประสงค์ ศาลาเอนกประสงค์ ฯลฯ) | 1,311 | 923 |
5. สถานศึกษา (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ) | 917 | 10,401 |
6. ที่ตั้งสำนักงาน/อาคารปฏิบัติงาน/บ้านพัก ของหน่วยงานราชการ | 777 | 1,608 |
7. โครงการจัดการขยะ (บ่อขยะ หลุมกลบขยะ ฯลฯ) | 432 | 774 |
8. เพื่อกิจการเกี่ยวกับแหล่งน้ำ (อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ฝายน้ำล้น ฯลฯ) | 399 | 1,519 |
9. สถานบริการด้านสาธารณสุข | 286 | 895 |
10. เพื่อก่อสร้างวัด | 260 | 387 |
11. โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบไฟฟ้า | 254 | 253 |
12. สถานปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา (ลานปฏิบัติธรรม โบสถ์คริสต์ มัสยิด) | 222 | 157 |
13. เพื่อกิจการส่งเสริม/ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว | 91 | 150 |
14. กิจการของสำนักงานตำรวจแห่ชาติ | 84 | 142 |
15. เพื่อการเกษตร | 43 | - |
16. เพื่อกิจการทางทะเล (ท่าเทียบเรือ เขื่อนกั้นคลื่น ฯลฯ) | 35 | 173 |
17. ปลูกสร้างสวนป่า (อ.อ.ป.) | 26 | 237 |
18. พัฒนาระบบสาธารณูปโภค | 20 | 522 |
19. โครงการอนุกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สิ่งแวดล้อม สภาวะทางอากาศ ฯลฯ) | 15 | 8 |
20. เพื่อกิจการโทรคมนาคม | 13 | 14 |
21. สถานีเพาะพันธุ์ ศึกษาวิจัย และดูแล พืช/สัตว์ | 11 | 33 |
22. กิจการของโครงการหลวง | - | 40 |
23. กิจการรถไฟ | - | 6 |
24. ไม่ระบุ/อื่น ๆ | 9,488 | 141 |
หมายเหตุ – ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2562 และกรมป่าไม้ได้จำแนกประเภทโครงการเป็น 24 กิจกรรม (เพิ่มจากข้อมูลที่ส่วนราชการรายงานในที่ประชุมหารือฯ คือ กิจการของโครงการหลวงและกิจการรถไฟ)
2. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ทส. โดยกรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ดังนี้
2.1 การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ทุกกรณีของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว หรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ เห็นควรผ่อนผันให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ต่อไป ทั้งนี้ ให้พิจารณาเฉพาะส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขออนุญาตไว้แล้ว หรือยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
2.2 กรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน Environmental Impact Assessment : รายงาน EIA) ของโครงการประเภทต่าง ๆ ตามแนวทางปฎิบัติที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ก่อนการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ทุกกรณีของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ดำเนินงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวกับการป่าไม้ ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐต้องเสนอรายงาน EIA ให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายต่อไป
2.3 การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ของส่วนราชการหรือองค์การของรัฐทุกกรณีจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ โดยจะต้องได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้ก่อน จึงจะเข้าดำเนินการได้ หากปรากฏว่ายังมีส่วนราชการหรือองค์การของรัฐใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตอีก ซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามข้อ 2.1 และ 2.2 แล้ว ให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
2.4 มิให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ป่าไม้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้
2.5 ในกรณีฉุกเฉินและมีความจำเป็นในการปรับปรุงและซ่อมแซมเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของราษฎร ให้สามารถดำเนินการไปพลางก่อนได้และแจ้งให้กรมป่าไม้ทราบภายหลัง ตัวอย่างเช่น กรณีเกิดเส้นทางหรือถนนที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ถูกน้ำไหลบ่าทำให้ทางขาด ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนซึ่งต้องเป็นกรณีฉุกเฉินและจำเป็นจริง ๆ
ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการตามมาตรการข้างต้น ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 (เรื่อง การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้)
3. นอกจากนี้ กรมป่าไม้ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งของเอกชน โดยได้วางกรอบแนวทางปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ วิธีการ ให้เหมาะสมกับประเภทการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ นโยบาย แผนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ และกำหนดประเภทและขอบเขตหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท1
------
1 ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งของเอกชน ซึ่งจำแนกตามลักษณะของพื้นที่ คือ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าไม้ ดังนี้
กรณีขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จะต้องพิจารณาตามมาตรา 13/1 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ได้แก่ (1) ระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้พื้นที่เป็นสถานปฏิบัติงานหรือเพื่อประโยชน์อื่นของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 (2) ระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2563 และ (3) ระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบและโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
กรณีขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 จะต้องพิจารณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558
ทั้งนี้ เรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอมาในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวามคม 2559 (เรื่อง ขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในกรณีจังหวัดอุตรดิตถ์ ขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด เพื่อก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน ณ ช่องภูดู่ ท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์) ที่มอบหมายให้ ทส. (กรมป่าไม้) เร่งรัดการตรวจสอบการเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทั้งหมดที่ยังมิได้ขออนุมัติการเข้าใช้พื้นที่ให้ครบถ้วนทุกกรณีในภาพรวมของประเทศ พร้อมทั้งให้ ทส. ประสานกับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดังกล่าว เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากกรณีการขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาดเพื่อก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน ณ ช่องภูดู่ นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วก่อนได้รับอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ รวมทั้งไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 (เรื่อง การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้) ซึ่งกำหนดให้ส่วนราชการต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ คือ จะต้องได้รับอนุมติให้ใช้พื้นที่จาก ทส. ก่อน จึงจะเข้าไปดำเนินการได้ อย่างไรก็ดี การเข้าไปใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวของจังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน ณ ช่องภูดู่ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล คณะรัฐมนตรีจึงได้ให้ความเห็นชอบให้ ทส. ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (8 กรกฎาคม 2523) โดยให้ ทส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
ต่อมา ทส. (กรมป่าไม้) ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้2 โดยยังไม่ได้ขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ตามบทบัญญัติว่าด้วยการป่าไม้และตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในพื้นที่ 74 จังหวัด จำนวน 31,179 แห่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ทส. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
2 พื้นที่ป่าไม้ในกรณีนี้หมายถึงพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507 พื้นที่อุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พื้นที่ป่าชายเลนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 และพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่กำหนดไว้เป็นชั้นคุณภาพลุ่มน้ำตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ