ดึงกลุ่มชาติพันธุ์มาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังไฟป่าหมอกควัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1906 ครั้ง

ดึงกลุ่มชาติพันธุ์มาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังไฟป่าหมอกควัน

ก.ทรัพย์ฯ เร่งแก้ปัญหาการลักลอบเผาในที่โล่งและเขตป่า ด้วยการดึงกลุ่มชาติพันธุ์มาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังไฟป่าหมอกควัน หวังแก้ปัญหาการเผาพื้นที่เกษตรกรรมและลดฝุ่นละอองจากหมอกควันลง | ที่มาภาพประกอบ: ผู้จัดการออนไลน์

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2563 ว่านายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ ได้ประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ผ่านระบบ Video Teleconference (VTC) กับกองทัพภาคที่ 3 , ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดที่กำลังเกิดปัญหาไฟป่าหมอกควัน คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา ตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี และเจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติงานดับไฟป่าในพื้นที่ ณ ศูนย์เมขลา อาคารกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อวางแนวทางรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือปี 2563 ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในภาคเหนือค่อนข้างน่าเป็นห่วงในหลายพื้นที่ หลังเกิดจุดความร้อน (Hot Spot) เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่จากการลักลอบเผาทั้งในชุมชนและเขตป่า โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ประกอบกับ ได้ผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่พบจุดความร้อนจำนวนมากในประเทศเมียนมาและ สปป.ลาว ที่อยู่เหนือลมจนหมอกควันหนาแน่นถูกพัดมากับลมเกิดการปกคลุมของหมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขง ในเบื้องต้นนายกรัฐมนตรีได้มีสารไปยังเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว และใช้เวทีการพบปะกับผู้นำในประเทศดังกล่าวหยิบยกประเด็นปัญหาหมอกควันข้ามแดนมาโดยตลอด พร้อมทั้ง ได้ประสานยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียนขอความร่วมมือควบคุมสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในอนุภูมิภาคแม่โขงอย่างต่อเนื่องด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเหนือของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาสภาพอากาศกระแสลมพัดตีขนาบพัดพาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา ทำให้ค่าฝุ่นละอองสะสมสูงขึ้นในหลายพื้นที่ จึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงของภาคเหนือที่ทำเกษตรกรรม ดึงมาร่วมเป็นเครือข่ายกับภาครัฐเพื่อลดการเผาพื้นที่การเกษตรลงให้ได้ ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเผาพื้นที่การเกษตรและเขตป่า ดูจากกรณีไฟป่าในเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ของทหาร รอยต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย บริเวณห้วยตึงเฒ่าลุกลามเป็นวงกว้างเสียหายกว่า 300 ไร่ เกิดจากการเผาพื้นที่เกษตรกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้ แม้ภาพรวมปีนี้ไทยจุดความร้อนจะลดลงบางพื้นที่สถานการณ์เบาบางลง แต่ยังคงพบการลักลอบเผาป่าอยู่ จึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายและสร้างความรู้ให้มากขึ้น ซึ่งเน้นระบบการสื่อสารระหว่างกันให้ดีขึ้นเข้าใจง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่วงกำหนดเวลาห้ามเผาเด็ดขาดของภาครัฐ ด้วยการจัดระเบียบการเผาในแต่ละพื้นที่ที่มีรูปแบบการเผาแบบกระจายตัวจะช่วยลดความเลวร้ายของสภาพอากาศลงได้

ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จะเร่งดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณในการติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 เพิ่มเติมให้ครอบคลุมในพื้นที่ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอกำหนดแผนงานและมาตรการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: