เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 26 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
26 พ.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย |
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ….
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชาครุยวิทยฐานะเข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เชียงราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา
ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
6. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. ….
7. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกาประโยชน์ตอบแทนคณะกรรมการ เลขานุการ คณะกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ
8. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมธนารักษ์ พ.ศ. ….
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 รวม 7 ฉบับ
10. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน เขตอำนาจ และวันเปิดทำการของศาลแขวงในจังหวัดกระบี่ พ.ศ. …. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน เขตอำนาจ และวันเปิดทำการของศาลแขวง ในจังหวัดตรัง พ.ศ. …. และร่างพะราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ (กำหนดวันเปิดทำการศาลแขวงกระบี่และศาลแขวงตรัง วันที่ 1 ตุลาคม 2563 และกำหนดให้ศาลจังหวัดซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการสามารถนำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดสำหรับคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงซึ่งเกิดขึ้นในบางท้องที่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป)
11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ พ.ศ. ....
เศรษฐกิจ - สังคม |
12. เรื่อง ขออนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง
13. เรื่อง โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
14. เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนความต้องการอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (พ.ศ. 2564 - 2566) ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2556 - 2560)
15. เรื่อง เสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชน ศึกษา สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
16. เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีผู้ประกอบอาชีพประมงได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing)
17. เรื่อง รายงานความคืบหน้าการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
18. เรื่อง การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
19. เรื่อง การขยายกรอบระยะเวลาและของบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 (เพิ่มเติม)
20. เรื่อง การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
21. เรื่อง แนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท
22. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
23. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และ การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 2
24. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2563
25. เรื่อง ข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
26. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างทั่วถึง
ต่างประเทศ |
27. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) สำหรับความร่วมมือ ในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
28. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีนว่าด้วยการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการกระชับความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าอาเซียน-จีน
แต่งตั้ง |
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
32. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
กฎหมาย |
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” และ “ผู้เชิญชวน” โดยมีประธานรัฐสภาเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
2. กำหนดให้ในการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน และการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน
3. กำหนดให้ก่อนดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อสาธารณะ พร้อมกับเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐสภา
4. กำหนดให้หากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรืออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงและคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปไม่ได้ร้องขอให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อไปหากผู้แทนเข้าชื่อยืนยันเป็นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกให้ถือว่าเป็นการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติใหม่ โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
5. การเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้ และให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติมาใช้บังคับกับการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วยโดยอนุโลม ยกเว้นจำนวนผู้เข้าชื่อร้องขอตามมาตรา 7 ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบคน
6. กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 ที่ได้ดำเนินการไปแล้วในวันก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติ และกรณีการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลง ให้ถือว่าการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติยังมีผลอยู่ต่อไป โดยให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปตามร่างพระราชบัญญัตินี้
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดงกล่าว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ
3. ให้ อก. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย ให้มีกลไกในการพิจารณาที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2559
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ สรุปได้ดังนี้
1. วันบังคับใช้ ให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
2. บทนิยาม เพิ่มนิยามคำว่า “กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ
3. เพิ่มหมวด 2/1 มาตรการพิเศษในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย
- กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อให้กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย นอกจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายให้ทำกิจการในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ๆ แล้ว ให้มีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ บุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรดังกล่าว ต้องได้รับการขึ้นบัญชีจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบ
- กำหนดให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดและค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดและค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบ
- กำหนดให้ค่าขึ้นบัญชีและค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นเงินของหน่วยงานผู้รับผิดชอบหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบแล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้ใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด ทั้งนี้ การรับเงินหรือการจ่ายเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
4. บทเฉพาะกาล
- ให้บรรดาคำขอ หรือกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย หรือกระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา หรือที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ให้ถือว่าเป็นคำขอ หรือกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้
- ให้บรรดาประกาศกระทรวงสาธารณสุขและประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ออกตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ ให้มีผลใช้บังคับได้ต่อไป และให้ถือเป็นกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
กษ. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติบางมาตราไม่เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งบทบัญญัติการอนุรักษ์ดินและน้ำไม่ครอบคลุมถึงการพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดิน องค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาที่ดินไม่คลอบคลุมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องทรัพยากรน้ำ รวมถึงปัญหาการขอรับบริการวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดินของเกษตรกรซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายจะถูกถ่ายโอนไปยังภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการขอรับบริการ จึงมีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เกษตรกรรมไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการชะล้างพังทลายของดิน รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน
2. ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินซึ่งสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันในอันที่จะคุ้มครองพื้นที่ทางการเกษตรของประเทศไม่ให้ถูกทำลายไม่ว่าจะเกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือการชะล้างพังทลายของดิน จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ดินในเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อให้ครอบคลุมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดังนี้
2.1 แก้ไขบทนิยาม “การอนุรักษ์ดินและน้ำ” ให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดิน
2.2 แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาที่ดินให้ครอบคลุมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องทรัพยากรน้ำ และแก้ไขให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบเกี่ยวกับคำขอให้วิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือ สิ่งปรับปรุงดิน หรือคำขอให้ปรับปรุงดินหรือที่ดินหรือคำขอให้อนุรักษ์ดินและน้ำ หรือคำขอให้บริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่
2.3 เพิ่มเติมหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินในการทำสำมะโนที่ดิน การพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดินเพื่อการเกษตร ตลอดจนการให้บริการ สาธิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน
2.4 แก้ไขให้เกษตรกรสามารถขอใช้บริการวิเคราะห์ ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดิน จากเดิมที่ต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ แต่หากไม่มีหน่วยงานดังกล่าวให้ยื่นต่อเขตหรือที่ว่าการอำเภอ เป็นยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ เนื่องจากมีหน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดินครอบคลุมทุกจังหวัดแล้ว ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินเตรียมการถ่ายโอนภารกิจด้านการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และให้คำปรึกษา แนะนำ เกี่ยวกับดิน น้ำ พืช ปุ๋ย และอื่น ๆ ให้แก่ภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดำเนินการแทน โดยยกเว้นค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกรและงานวิจัยที่มาขอใช้บริการ
2.5 แก้ไขให้เกษตรกร ผู้ศึกษาวิจัย และประชาชนที่ประสงค์จะให้กรมพัฒนาที่ดินปรับปรุงดินหรือที่ดิน หรืออนุรักษ์ดินและน้ำ หรือบริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่ จากเดิมที่ต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ แต่หากไม่มีหน่วยงานดังกล่าวให้ยื่นต่อเขตหรือที่ว่าการอำเภอ เป็นยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่โดยการเสียค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
3. กษ. ได้ดำเนินการตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยรายงานว่า การตรากฎหมายข้างต้นเป็นการเตรียมการถ่ายโอนงานวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดิน ให้ภาคเอกชน หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดำเนินการแทนส่วนราชการ โดยจะยกเว้นค่าใช้จ่ายให้เฉพาะเกษตรกรและงานวิจัยที่มาขอใช้บริการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับบริการซึ่งเป็นเกษตรกรและงานศึกษาวิจัยได้รับบริการการวิเคราะห์ ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดิน ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง อันเป็นการขยายโอกาสให้เกษตรกรพัฒนาอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป และเป็นประโยชน์กับการศึกษาวิจัย รวมทั้งโครงการงานนโยบายของหน่วยงานของรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนงานดังกล่าวจะส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บค่าใช้จ่ายหรือค่าใช้บริการ จากเฉลี่ยประมาณ 344,730 บาท/ต่อปี
4. กษ. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้แล้ว โดยดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดิน www.ldd.go.th ระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2562 และได้มีหนังสือส่งไปยังหน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (วันที่ 8 สิงหาคม 2562) จังหวัดสงขลา (วันที่ 28 สิงหาคม 2562) และจังหวัดอุบลราชธานี (วันที่ 4 กันยายน 2562) ทั้งนี้ ได้ทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายพร้อมทั้งเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ www.ldd.go.th ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว
จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “การอนุรักษ์ดินและน้ำ” โดยให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดิน
2. กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน โดยเพิ่มเติมให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นกรรมการ และแก้ไขชื่อเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3. กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาที่ดินมีอำนาจในการออกระเบียบเกี่ยวกับคำขอให้วิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือ สิ่งปรับปรุงดิน หรือคำขอให้ปรับปรุงดิน หรือที่ดินหรือคำขอให้การอนุรักษ์ดินและน้ำ หรือคำขอให้การบริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่
4. กำหนดให้กรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่ในการทำสำมะโนที่ดิน การพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดินเพื่อการเกษตร ตลอดจนการให้บริการ สาธิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน
5. กำหนดให้เกษตรกรผู้ใดประสงค์จะให้กรมพัฒนาที่ดินวิเคราะห์ ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือ สิ่งปรับปรุงดินให้ติดต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
6. กำหนดให้ผู้ใดที่ประสงค์จะให้กรมพัฒนาที่ดินปรับปรุงดินหรือที่ดิน หรืออนุรักษ์ดินและน้ำ หรือให้บริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่ ให้ยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ โดยให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และเสียค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะเข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาประเด็นตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชาครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะและครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดให้เพิ่มปริญญาในสาขาวิชาเทคโนโลยี สาขาวิชาศิลปกรรมศาสตร์ และสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และอักษรย่อสำหรับสาขาวิชา รวมทั้งกำหนดสีประจำสาขาวิชาดังกล่าว และสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชาครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พ.ศ. 2563 โดยกำหนดให้เพิ่มปริญญาในสาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ และอักษรย่อสำหรับสาขาวิชา รวมทั้งกำหนดสีประจำสาขาวิชาดังกล่าว ซึ่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว และ เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547
6. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
1. กำหนดให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2543 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548
2. กำหนดนิยามของคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” “ความหลากหลายทางชีวภาพ” “ทรัพยากรชีวภาพ” และ “ความปลอดภัยทางชีวภาพ” และ “การเข้าถึง” เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
3. ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) โดยเพิ่มผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้แทนสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน ผู้แทนกรมการท่องเที่ยว ผู้แทนกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้แทนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ กอช. ให้ครอบคลุมการกำหนดและเสนอแนะนโยบาย มาตรการและแผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ รวมถึง การพัฒนาระบบและเครือข่ายข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ตามที่กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ และสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน
4. กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการฯ โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ต่อคณะกรรมการฯ ประสานงาน ให้คำแนะนำ สนับสนุน และส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินการตามแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และประสานการอนุวัติและติดตามการดำเนินงานตามพันธกรณีของข้อตกลงหรือ ความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ และดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการเจรจาเพื่อต่อรองเงื่อนไขในการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพ
5. กำหนดให้ระเบียบคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพและการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากทรัพยากรชีวภาพ พ.ศ. 2554 ซึ่งออกตามความในข้อ 9 (4) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2543 มีผลบังคับใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติที่ออกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนี้ใช้บังคับ
7. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกาประโยชน์ตอบแทนคณะกรรมการ เลขานุการคณะกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาประโยชน์ตอบแทนคณะกรรมการ เลขานุการคณะกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลใช้บังคับไม่ก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีผลใช้บังคับ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชกฤษฎีกา
1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
1.1 แก้ไขเพิ่มเติมกรอบระยะเวลาของกระบวนการโต้แย้งเขตอำนาจศาล สำหรับการฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือศาลอื่นที่ไม่ใช่ศาลยุติธรรมและศาลทหาร และในระหว่างเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล ให้ศาลที่รับฟ้องมีดุลพินิจในการพิจารณาคดีต่อไปได้
1.2 แก้ไขเพิ่มเติมระยะเวลาการพิจารณาคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด กรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน
1.3 กำหนดให้มีผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลืองานของเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลกำหนด
1.4 แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
2. ร่างพระราชกฤษฎีกาประโยชน์ตอบแทนคณะกรรมการ เลขานุการคณะกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ….
ปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยประโยชน์ตอบแทนคณะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2546 ดังนี้
บัญชีอัตราประโยชน์ตอบแทน
ตำแหน่ง | อัตราประโยชน์ตอบแทน/เดือน | |
พระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. 2546 | ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. …. | |
ประธานกรรมการ | 10,000 บาท | 15,000 บาท |
กรรมการ | 8,000 บาท | 12,000 บาท |
เลขานุการคณะกรรมการ | 8,000 บาท | 10,000 บาท |
ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ | - | 5,000 บาท |
8. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมธนารักษ์ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมธนารักษ์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กค. เสนอว่า
1. เนื่องจากกรมธนารักษ์มีภารกิจตามกฎหมายกำหนดหลายด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 ด้านการประเมินราคาทรัพย์สิน ตามพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562 ด้านการผลิตเหรียญและบริหารเงินตรา ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 และพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และด้านการอนุรักษ์และเผยแพร่ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งการดำเนินการตามภารกิจของกรมธนารักษ์จำเป็นต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับประชาชน และต้องปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจและหน่วยงานราชการอื่น ๆ โดยภารกิจบางส่วนกฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งการมีหน้าที่ในการดูแลรักษาเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่าของรัฐจำนวนมาก
2. ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของกรมธนารักษ์มีความคล่องตัวและเหมาะสมกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้ข้าราชการกรมธนารักษ์มีเครื่องแบบพิเศษเพิ่มขึ้นจากเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน เพื่อให้เหมาะสมในการปฏิบัติงานและความเป็นอัตลักษณ์เดียวกันของข้าราชการกรมธนารักษ์
3. กรมธนารักษ์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการกำหนดเครื่องแบบพิเศษของกรมธนารักษ์ ที่ 640/2562 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2562 เพื่อยกร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมธนารักษ์ พ.ศ. …. เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการกำหนดเครื่องแบบพิเศษของส่วนราชการพิจารณา ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ดังกล่าว โดยมีการแก้ไขรายละเอียด ดังนี้
3.1 เครื่องแบบพิเศษของข้าราชการหญิงมีเพียงเสื้อคอพับสีน้ำเงินและคอพับสีขาว
3.2 ปรับหมวกของข้าราชการหญิงจาก “หมวกทรงหม้อตาล” เป็น “หมวกแก๊ปทรงอ่อนพับปีกสีขาว”
3.3 เพิ่มเติมรายละเอียดการใช้ผ้าคลุมศีรษะของข้าราชการหญิงมุสลิม โดยให้ชายผ้าคลุมศีรษะสอดไว้ในปกคอเสื้อ
3.4 ปรับรายละเอียดของกระโปรงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
โดยให้กรมธนารักษ์ดำเนินการปรับปรุงข้อความในร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ดังกล่าว เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ แล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมธนารักษ์ พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี
กำหนดลักษณะ ชนิด และประเภทของเครื่องแบบพิเศษข้าราชการกรมธนารักษ์กับการแต่งเครื่องแบบ ดังนี้
1. เครื่องแบบพิเศษข้าราชการกรมธนารักษ์ชาย ได้แก่ หมวกทรงหม้อตาล หรือหมวกทรงอ่อนมีกะบังสีน้ำเงินดำ เสื้อคอพับสีน้ำเงินดำ แขนสั้นหรือแขนยาว และกางเกงขายาวสีน้ำเงินดำ เป็นต้น
2. เครื่องแบบพิเศษข้าราชการกรมธนารักษ์หญิง ได้แก่ หมวกแก๊ปทรงอ่อนพับปีกสีขาว หรือหมวกแก๊ปทรงอ่อนสีน้ำเงินดำ เสื้อคอพับสีน้ำเงินดำ แขนยาว หรือคอพับสีขาวแขนสั้น และกระโปรงหรือกางเกงสีน้ำเงินดำ เป็นต้น
3. อินทรธนูและเครื่องหมายตำแหน่ง กำหนดให้อินทรธนูมีลักษณะแข็งทำด้วยไหมสีทองหรือ วัตถุเทียมไหมสีทองและทำด้วยสักหลาดสีน้ำเงินดำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายตัดสำหรับข้าราชการกรมธนารักษ์ชาย กว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 13 เซนติเมตร สำหรับข้าราชการกรมธนารักษ์หญิง กว้าง 4.5 เซนติเมตร ยาว 11 เซนติเมตร
4. เครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนู เช่น “ดอกพุดตาน” ทำด้วยพลาสติกสีทอง มีลักษณะเป็นดอก 6 แฉก ซ้อนสลับกัน 3 ช้อน กว้าง 1.6 เซนติเมตร สูง 0.5 เซนติเมตร และ “ช่อชัยพฤกษ์” ทำด้วยพลาสติกสีทอง มีก้านมาบรรจบกันตรงกลาง มัดรวมก้านด้วยดิ้นทองเป็นขมวด 3 ปม มีเชือกผูกโบว์ 2 เส้นห้อยลงมา กว้าง 3.62 เซนติเมตร สูง 2.46 เซนติเมตร เป็นต้น
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 รวม 7 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 รวม 7 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อมูลและรายละเอียดของรายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ฉบับเบื้องต้น ประเภทสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงานและสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย พ.ศ. ….
กำหนดให้รายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ฉบับเบื้องต้น ประเภทสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงาน และสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยต้องจัดทำเป็นเอกสาร และประกอบด้วยสาระสำคัญ เช่น บทนำและคำอธิบายทั่วไป คำอธิบายสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ทั่วไป การบริหารจัดการคุณภาพ การประเมินสถานที่ตั้ง การออกแบบทั่วไป ลักษณะสถานประกอบการ การวิเคราะห์ความปลอดภัย การทดสอบการเดินเครื่อง การใช้งานเครื่อง ขีดจำกัดและเงื่อนไขในการดำเนินการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ การป้องกันอันตรายทางรังสี การเตรียมความพร้อมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ข้อพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการกากกัมมันตรังสีและการเลิกดำเนินการ
2. ร่างกฎกระทรวงการเลิกดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ….
กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ประสงค์จะเลิกดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ให้ยื่นคำขอเลิกดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ต่อเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ก่อนการเลิกดำเนินการไม่น้อยกว่าสามปี พร้อมแผนการเลิกดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และเอกสารทางการเงินเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการเลิกดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ โดยการเลิกดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ให้กระทำการรื้อถอนด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) รื้อถอนทั้งหมดทันที (2) รื้อถอนทั้งหมดตามระยะเวลาที่กำหนด (3) รื้อถอนบางส่วนทันทีและรื้อถอนส่วนที่เหลือตามระยะเวลาที่กำหนด โดยทั้งสามวิธีดังกล่าวจะใช้การฝังกลบไม่ได้
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดศักยภาพทางเทคนิคและการเงินของผู้ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ….
กำหนดให้ผู้ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ต้องมีศักยภาพทางเทคนิคตามรายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องมีความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับการดำเนินการของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ตามที่ได้รับใบอนุญาต และต้องมีความสามารถในการดำรงสภาพคล่องทางการเงินที่จะดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ตามที่ได้รับใบอนุญาตได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง
4. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ….
กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ประสงค์จะดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานทางการเงิน ใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ระบุชื่อผู้ขอรับใบอนุญาตและยังไม่สิ้นอายุ และรายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ ส่วนผู้รับใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ประสงค์จะต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามปีแต่ไม่เกินสิบห้าปี
5. ร่างกฎกระทรวงกำหนดระยะเวลาและกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ต้องทบทวนและปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ….
กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ต้องทบทวนและปรับปรุงรายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ทุกสิบปีนับแต่ได้รับใบอนุญาต และต้องยื่นเอกสารแผนการทบทวนและปรับปรุงรายงานดังกล่าว ก่อนครบกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตอย่างน้อยสามปีเป็นการล่วงหน้า โดยระบุหัวข้อ ขอบเขต และกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้ชัดเจน รวมทั้งรายงานความก้าวหน้าของการทบทวนและปรับปรุงรายงานดังกล่าวต่อเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
6. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ….
กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตและชำระค่าธรรมเนียมต่อเลขาธิการ พร้อมด้วยใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ รายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ฉบับเบื้องต้น และเอกสารหลักฐานทางการเงิน รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับนี้
7. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การบรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ วัสดุนิวเคลียร์ หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว การทดสอบการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หรือการทดสอบการบรรจุวัสดุนิวเคลียร์ หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว และการรายงานการทดสอบ พ.ศ. ….
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ วัสดุนิวเคลียร์ หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว การทดสอบการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือการทดสอบการบรรจุวัสดุนิวเคลียร์หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว และการรายงานการทดสอบโดยต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ ในกรณีการบรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และทดสอบการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และกรณีการบรรจุวัสดุนิวเคลียร์ในกระบวนการเสริมสมรรถนะวัสดุนิวเคลียร์หรือการบรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว ในกระบวนการแปรสภาพเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์จะต้องจัดทำรายงานการทดสอบให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับนี้
10. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน เขตอำนาจ และวันเปิดทำการของศาลแขวงในจังหวัดกระบี่ พ.ศ. …. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน เขตอำนาจ และวันเปิดทำการของศาลแขวง ในจังหวัดตรัง พ.ศ. …. และร่างพะราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ (กำหนดวันเปิดทำการศาลแขวงกระบี่และศาลแขวงตรัง วันที่ 1 ตุลาคม 2563 และกำหนดให้ศาลจังหวัดซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการสามารถนำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดสำหรับคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงซึ่งเกิดขึ้นในบางท้องที่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน เขตอำนาจ และวันเปิดทำการของศาลแขวงในจังหวัดกระบี่ พ.ศ. …. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน เขตอำนาจ และวันเปิดทำการของศาลแขวง ในจังหวัดตรัง พ.ศ. …. และร่างพะราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา ทั้ง 3 ฉบับ ให้สอดคล้องไปคราวเดียวกัน รวมทั้งให้รับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน เขตอำนาจ และวันเปิดทำการของศาลแขวงในจังหวัดกระบี่ พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน เขตอำนาจ และวันเปิดทำการของศาลแขวง ในจังหวัดตรัง พ.ศ. …. เป็นการกำหนดให้มีศาลแขวงกระบี่ในจังหวัดกระบี่ และศาลแขวงตรังในจังหวัดตรัง โดยให้แต่ละศาลมีเขตอำนาจในอำเภอทุกอำเภอ และให้เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของศาลจังหวัด และเพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในท้องที่ให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว เสมอภาค เป็นธรรม ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ. 2561 – 2564
2. ร่างพะราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการกำหนดให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดสำหรับคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงซึ่งเกิดขึ้นในท้องที่ทุกอำเภอของจังหวัดกระบี่ จังหวัดตาก จังหวัดพังงา จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดลำพูน จังหวัดเลย และจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมทั้งในท้องที่อำเภอขุนตาล อำเภอเชียงของ อำเภอเทิง อำเภอป่าแดด อำเภอพญาเม็งราย และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ในท้องที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ในท้องที่อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอโนนนารายณ์ อำเภอรัตนบุรี อำเภอสนม และอำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ และในท้องที่อำเภอเดชอุดม อำเภอทุ่งศรีอุดม อำเภอนาจะหลวย อำเภอนาเยีย อำเภอน้ำขุ่น อำเภอน้ำยืน และอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี และยกเลิกในท้องที่อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ และอำเภอศรีราชา เฉพาะตำบลทุ่งสุขลา ตำบลบึง และตำบลบ่อวิน จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว เสมอภาค เป็นธรรม และเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยเสมอภาคและรวดเร็วยิ่งขึ้น
11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ พ.ศ. .... ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียม และกำหนดคุณสมบัติของผู้ถือประทานบัตรผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่มีสิทธิได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมรายปี โดยต้องเป็นผู้ประกอบกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคม มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว หรือตามหลักเกณฑ์ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กำหนด และได้รับการประกาศรายชื่อจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือได้รับรางวัลหรือประกาศนียบัตรที่มีมาตรฐานสูงกว่าหรือเทียบเท่า
2. กรณีที่ผู้ประกอบกิจการยังคงรักษาเกณฑ์มาตรฐานการประกอบกิจการได้สูงกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด หรือเทียบเท่าอย่างต่อเนื่องและได้รับการประกาศรายชื่อให้เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลหรือประกาศนียบัตร ให้ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีในปีถัดไปจากปีที่มีการประกาศรายชื่อ รวมถึงการต่ออายุให้ได้รับการลดค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของอัตราค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
3. กรณีสถานประกอบกิจการประสบเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือได้รับอุบัติภัย หรือต้องหยุดประกอบกิจการอันเนื่องมาจากโรคระบาดหรือโรคติดต่อ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ประกาศรายชื่อให้เป็นผู้ประสบเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือได้รับอุบัติภัย หรือได้รับผลกระทบจากโรคระบาดหรือโรคติดต่อ ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีในปีที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือได้รับอุบัติภัย หรือต้องหยุดประกอบกิจการอันเนื่องมาจากโรคระบาดหรือโรคติดต่อ หากในปีนั้นได้ชำระค่าธรรมเนียมรายปีไว้แล้วให้ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีในปีถัดไปจากปีที่ประสบเหตุทางธรรมชาติ รวมถึงการต่ออายุให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาตด้วย
เศรษฐกิจ - สังคม |
12. เรื่อง ขออนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง
คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องขออนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ แล้วมีมติอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) ดังนี้
1. เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง วงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาท และกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 2,164.1 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าชดเชยดอกเบี้ย จำนวน 2,163 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการประมงกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี และผู้ประกอบการประมงสมทบร้อยละ 4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี นับแต่วันที่กู้ แบ่งเป็น (1) ธนาคารออมสิน ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย จำนวน 1,050 ล้านบาท และ (2) ธ.ก.ส. ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส วงเงินสินเชื่อ 5,300 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย จำนวน 1,113 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายในการชี้แจง ประชาสัมพันธ์ และติดตามโครงการ จำนวน 1.1 ล้านบาท นั้น เห็นสมควรให้ กษ. โดยกรมประมงพิจารณาโอนเงินจัดสรร เปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร หรือปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนแล้วแต่กรณีไป
2. ให้ กษ. โดยกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน รวมถึงการตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติผู้ประกอบการประมงในการขอสินเชื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน ตลอดจนมีการประเมินผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการเป็นรายปี เพื่อให้มีข้อมูลในการบริหารงานอย่างถูกต้องครบถ้วน สำหรับประกอบการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เหมาะสมและยั่งยืนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. จากการประชุมหารือฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย 6 ครั้งที่ประชุมได้นำประเด็นปัญหาการทำประมงจากสมาคมประมงต่าง ๆ และจากชาวประมง จัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาเรื่องสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลน ปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย และอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unreported and unregulated fishing - IUU) โดยที่ประชุมได้หารือกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย สรุปได้ ดังนี้
1.1 จัดหาแหล่งสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ โดยผลการสำรวจความต้องการสินเชื่อของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย วงเงินสินเชื่อทั้งหมดที่ต้องการ 10,048.44 ล้านบาท เจ้าของเรือที่แจ้งความต้องการ 2,820 ราย เรือประมง 4,822 ลำ แบ่งเป็นเรือประมงพาณิชย์ 4,384 ลำ และเรือประมงพื้นบ้าน 438 ลำ ซึ่งกรมประมงได้ร่างโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง และอยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในคราวนี้)
1.2 เร่งรัดโครงการนำเรือออกนอกระบบ โดยกรมประมงได้ดำเนินการตรวจสอบเรือประมงที่จะนำออกนอกระบบเพื่อจัดทำงบประมาณโดยใช้เกณฑ์ในการชดเชยตามเกณฑ์การประเมินราคาเรือประมง รวม 2,768 ลำ เป็นเงินทั้งสิ้น 7,143.85 ล้านบาท
1.3 แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคกิจการประมงทะเลตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กษ. โดยกรมประมงได้ดำเนินการทำหนังสือเสนอต่อกระทรวงแรงงาน (รง.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อนำเข้าคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปโดยทำควบคู่กับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีเกี่ยวกับแรงงานที่ทำงานในเรือประมง
1.4 พิจารณาทบทวน ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกรมประมงดำเนินการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน และประมงนอกน่านน้ำ เพื่อพิจารณาทบทวนปรับปรุงกฎหมายหลัก กฎหมายลำดับรอง และกฎหมายเกี่ยวข้องกับการทำประมงนอกน่านน้ำด้วย ในกรอบระยะเวลา 1 เดือน เพื่อนำเสนอต่อ กษ.
1.5 รวบรวมปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ดำเนินการรวบรวมประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง จำนวน 32 ประเด็น เช่น การแก้ไขปัญหาการทำประมงนอกน่านน้ำ การพิจารณาการทำประมงแมงกระพรุนในเขตทะเลชายฝั่ง การขอลดความห่างซี่คราดหอย ความเดือดร้อนในเรื่องการเปิดระบบการติดตามตำแหน่งเรือประมง (Vessel Monitoring System - VMS) ของเรือที่มีใบอนุญาตถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้ออกไปทำการประมงเป็นเวลาหลายปี เป็นต้น
2. การปฏิรูปภาคการประมงไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นการบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพการประมงแบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร การใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ อันจะนำไปสู่การรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 เพื่อจัดระเบียบการประมงของไทยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปภาคการประมงไทย ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการประมงรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการปรับปรุงเรือ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทำการประมง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการประมงประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและบางรายอาจต้องใช้สินเชื่อนอกระบบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการประมง เนื่องจากผู้ประกอบการประมงไม่สามารถนำเรือประมงมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความเป็นไปได้มากขึ้นในการนำเรือมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เนื่องจากมีระบบในการควบคุมเรือ เช่น มีการขึ้นทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่า และมีการติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System - VMS) ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งสามารถทำให้ทราบตำแหน่งเรือได้
3. ในระยะเร่งด่วน กษ. ได้พิจารณาถึงแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านเพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพด้วยการจัดหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมงให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพต่อไป โดยจากการสำรวจข้อมูลความต้องการสินเชื่อโดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในเบื้องต้นพบว่าผู้ประกอบการประมงมีความต้องการสินเชื่อ ประมาณ 10,048 ล้านบาท กษ. จึงได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง ซึ่งได้ผ่านการประชุมหารือฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย 6 ครั้ง (ตามข้อ 1) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ด้วยแล้ว
4. โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง มีรายละเอียดดังนี้
4.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพการทำการประมงโดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน
4.2 เป้าหมาย : สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาท
4.3 ระยะเวลาดำเนินการ :
(1) ระยะเวลาโครงการ 8 ปี นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการ
(2) ระยะเวลาการยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 1 ปี หรือภายในกรอบวงเงินสินเชื่อตามที่กำหนด
(3) กำหนดชำระคืนเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปี นับแต่วันกู้
4.4 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ : ให้ผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ ติดต่อขอสินเชื่อกับธนาคารออมสิน หรือ ธ.ก.ส. ตามขนาดเรือประมง กรณีเจ้าของเรือที่มีขนาดเรือประมงทั้ง 2 ประเภท ให้สามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารได้เพียงแห่งเดียว ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข | กรณีผู้ประกอบการที่มีเรือประมง | |
ขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอส ขึ้นไป | ขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส | |
ธนาคารผู้ให้กู้ | ธนาคารออมสิน | ธ.ก.ส. |
คุณสมบัติของ ผู้ประกอบการประมง |
(1) เป็นบุคคลธรรมดาอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย (2) เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในเรือประมงที่มีทะเบียนเรือไทย (3) เป็นผู้ประกอบการประมงที่มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี |
|
(4) เป็นผู้ประกอบการประมงที่มีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ | (4) กรณีผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ต้องมีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ | |
ประเภทสินเชื่อ | (1) เงินกู้ระยะสั้น ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน หรืออื่นๆ ตามที่ธนาคารกำหนด เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ (2) เงินกู้ระยะยาว เพื่อเป็นเงินทุนในการปรับปรุงเรือประมง ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ทำการประมง |
|
วงเงินสินเชื่อ | สูงสุดไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท | สูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท |
อัตราดอกเบี้ย | ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ ร้อยละ 4 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส อัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันกู้ เป็นระยะเวลา 7 ปี | |
ระยะการชำระคืนเงินกู้ | ไม่เกิน 7 ปี นับแต่วันกู้ | |
หลักประกันการกู้เงิน | ให้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน ดังนี้ (1) ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่มีหนังสือแสดงเอกสารสิทธิสามารถจดทะเบียนจำนองได้ หรืออาคารชุด (2) เรือประมง (3) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) (4) บุคคลค้ำประกัน (5) หลักประกันอื่น ๆ ตามที่ธนาคารประกาศกำหนด |
|
หลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ | ตามเงื่อนไขของธนาคารออมสิน | ตามเงื่อนไขของ ธ.ก.ส. |
การค้ำประกันสินเชื่อ โดย บสย. | บสย. ควรพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการประมง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ และวิธีปฏิบัติในการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. |
4.5 วงเงินสินเชื่อโครงการ : รวม 10,300 ล้านบาท ดังนี้
(1) วงเงินสินเชื่อของธนาคารออมสิน จำนวน 5,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป กู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพการทำประมง
(2) วงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จำนวน 5,300 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงต่ำกว่า 60 ตันกรอส กู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพการทำการประมง
4.6 วงเงินงบประมาณและแหล่งที่มา : 2,164.1 ล้านบาท ดังนี้
(1) วงเงินชดเชยดอกเบี้ยของธนาคารออมสิน อัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันกู้ เป็นระยะเวลา 7 ปี จากวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ปีละ 150 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 1,050 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ตามที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินการโครงการ
(2) วงเงินชดเชยดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส. อัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันกู้ เป็นระยะเวลา 7 ปี จากวงเงินสินเชื่อ 5,300 ล้านบาท ปีละ 159 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 1,113 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจาก สงป. ตามที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินการโครงการ
(3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการของกรมประมงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประชุมชี้แจง ประชาสัมพันธ์โครงการ และติดตามโครงการ รวมเป็นวงเงินดำเนินงาน 1.1 ล้านบาท
4.7 การแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ : ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. สามารถนำค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้เพื่อบวกกลับเป็นรายได้ของธนาคาร และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้ และให้แยกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account - PSA)
13. เรื่อง โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวม 77,334 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศจำนวน 57,999 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 19,335 ล้านบาท
2. เห็นชอบให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศ ภายในกรอบวงเงิน 57,999 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนของโครงการดังกล่าว โดย กฟภ. จะทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. รายงานว่า
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 1 (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ และเพิ่มประสิทธิภาพ ความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า และลดปัญหาในการปฏิบัติการ และบำรุงรักษา เป็นต้น นั้น โครงการดังกล่าวมีผลความคืบหน้าในภาพรวมของทั้งโครงการ (เดือนธันวาคม 2562) คิดเป็นร้อยละ 13.54 โดยมีวงเงินที่เบิกจ่ายแล้ว 20,226.99 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32.27 และวงเงินอยู่ระหว่างดำเนินการ 40,567.66 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.72 คงเหลือ 1,884.06 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.01 อย่างไรก็ตาม พื้นที่ให้บริการของ กฟภ. มีมากถึงร้อยละ 99 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ประกอบกับการใช้พลังงานไฟฟ้าและจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้จำนวนสถานีไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ และสายจำหน่ายแต่ละวงจรต้องจ่ายไฟเป็นระยะทางไกลจึงเกิดปัญหาไฟตกไฟดับและหน่วยสูญเสียสูง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการกระจายกิจการอุตสาหกรรมไปสู่ส่วนภูมิภาค ทำให้ความต้องการไฟฟ้ามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น กฟภ. จำเป็นต้องมีการลงทุนก่อสร้างสถานีไฟฟ้า ระบบสายส่ง และระบบจำหน่าย รวมถึงการเพิ่มเสถียรภาพการจ่ายไฟเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับและตอบสนองต่อแผนการพัฒนาประเทศของรัฐบาลในการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างเหมาะสม เพียงพอ กฟภ. จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2
2. โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 ของ กฟภ. ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กฟภ. ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 แล้ว มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ | รายละเอียด | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
วัตถุประสงค์ | 1. พัฒนาระบบไฟฟ้าและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแห่งใหม่ ให้เป็นสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติ (Substation Automation System) ตามมาตรฐาน International Electrotechnical Commission 61850 (IEC 61850) เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย สอดคล้องตามมาตรฐานสากล และรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ 2. เพิ่มประสิทธิภาพความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาการปฏิบัติการและบำรุงรักษา และลดหน่วยสูญเสียในระบบจำหน่าย 3. ปรับปรุงและเชื่อมโยงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ธุรกิจ อุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่สำคัญให้มีขีดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่สูงขึ้น |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เป้าหมาย | ก่อสร้างสถานีไฟฟ้า ระบบสายส่ง 115 เควี ระบบจำหน่ายแรงสูง 22/33 เควี และระบบจำหน่ายแรงต่ำ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
พื้นที่ดำเนินการ | ประกอบด้วยพื้นที่รับผิดชอบของ กฟภ. 12 เขต ทั่วประเทศ สรุปได้ ดังนี้ 1. ภาคเหนือ 3 การไฟฟ้าเขต ประกอบด้วย กฟภ. เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ กฟภ. เขต 2 จังหวัดพิษณุโลก และ กฟภ. เขต 3 จังหวัดลพบุรี 2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 การไฟฟ้าเขต ประกอบด้วย กฟภ. เขต 1 จังหวัดอุดรธานี กฟภ. เขต 2 จังหวัดอุบลราชธานี และ กฟภ. เขต 3 จังหวัดนครราชสีมา 3. ภาคกลาง 3 การไฟฟ้าเขต ประกอบด้วย กฟภ. เขต 1 จังหวัดอยุธยา กฟภ. เขต 2 จังหวัดชลบุรี และ กฟภ. เขต 3 จังหวัดนครปฐม 4. ภาคใต้ 3 การไฟฟ้าเขต ประกอบด้วย กฟภ. เขต 1 จังหวัดเพชรบุรี กฟภ. เขต 2 จังหวัดนครศรีธรรมราช และ กฟภ. เขต 3 จังหวัดยะลา |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ปริมาณงาน |
2ลูปไลน์ หมายถึง สายส่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการจำหน่ายไฟฟ้า 3Load Break Switch หมายถึง อุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ระยะเวลาดำเนินการ | 6 ปี (พ.ศ. 2563 - 2568) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
แผนการดำเนินการ | 1. การจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อใช้ในการบริหารโครงการ : ประกอบด้วยคณะทำงาน 2 ส่วน คือ ส่วนกลางและการไฟฟ้าเขต โดยส่วนกลางจะดูแลรับผิดชอบด้านการจัดหาอุปกรณ์หลัก งบประมาณ และภาพรวมของโครงการ ส่วนการไฟฟ้าเขตจะดูแลรับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายทั้งด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ และการดำเนินงานให้เป็นไปตามโครงการ 2. การจัดซื้อที่ดิน : จะดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและวิธีปฏิบัติของ กฟภ. โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งในการดำเนินการจัดหาที่ดิน ผู้อำนวยการ กฟภ. เขต จะแต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหา ตรวจสอบ และสำรวจบริเวณหรือตำแหน่งที่ดินเป้าหมาย สอบถามราคาที่ดิน ประเมินราคาที่ดิน และสรุปข้อมูลจัดหาที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า เสนอคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีเฉพาะเจาะจง เพื่อพิจารณานำเสนอขออนุมัติจัดซื้อที่ดินต่อไป โดยเมื่อได้รับอนุมัติให้จัดซื้อที่ดินแล้ว คณะกรรมการตรวจรับที่ดินจะดำเนินการตรวจสอบที่ดิน และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ กฟภ. ต่อไป 3. การจัดหาวัสดุอุปกรณ์และจ้างเหมาดำเนินการ : วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างจะเป็นไปตามมาตรฐานของ กฟภ. ซึ่งส่วนใหญ่จะซื้อจากภายในประเทศเป็นหลัก โดยการจัดหาจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 4. การก่อสร้าง : ดำเนินการตามมาตรฐาน กฟภ. และมีวิศวกรของ กฟภ. เป็นผู้ควบคุมดูแลให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาอุปสรรคอย่างใกล้ชิด สำหรับการก่อสร้างระบบจำหน่ายจะดำเนินการโดยหน่วยธุรกิจก่อสร้างของ กฟภ. หรือจ้างเหมาเอกชน ทั้งนี้ จะต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของการไฟฟ้าเขต 5. การติดตามผลการดำเนินการ : สำนักงานโครงการจะติดตามประสานงานกับการไฟฟ้าเขต ฝ่ายปฏิบัติการและบำรุงรักษา การไฟฟ้าหน้างาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลและสรุปรายงานผลการดำเนินงานตลอดเวลาของการดำเนินโครงการจัดส่งให้กองโครงการ ฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า รวบรวมจัดทำรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการทุกไตรมาส เพื่อรายงานผู้บริหารระดับสูงของ กฟภ. และจัดส่งให้ สศช. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กค. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โดยรายงานผลความกาวหน้าของโครงการจะประกอบด้วย แผนการดำเนินโครงการ สถานะการจัดซื้อ/จัดจ้าง จัดทำสัญญา ผลการก่อสร้างและการเบิกจ่ายงบประมาณ พร้อมทั้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ในระหว่างการดำเนินโครงการ กฟภ. จะติดตามและตรวจสอบความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจริงกับที่ได้คาดคะเนไว้ตอนเริ่มจัดทำโครงการตลอดเวลาเพื่อปรับเปลี่ยนแผนดำเนินโครงการ เช่น การออกแบบ การกำหนดแผนการก่อสร้าง การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา | วงเงินลงทุนรวม 77,334 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. เงินกู้ในประเทศ 57,999 ล้านบาท 2. เงินรายได้ กฟภ. 19,335 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการฯ ไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ผลตอบแทนของโครงการ | 1. ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ สรุปได้ ดังนี้
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ประโยชน์ ของโครงการ |
1. รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจาก 21,354 เมกะวัตต์ ในปี 2561 เป็น 26,466 เมกะวัตต์ ในปี 2568 หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี ร้อยละ 3.11 2. การให้บริการ คาดว่าจะมีผู้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 19.52 ล้านราย ในปี 2561 เป็น 23.09 ล้านราย ในปี 2568 หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 2.43 3. ระบบไฟฟ้ามีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4. ลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ และหน่วยสูญเสียในระบบไฟฟ้า 5. ลดปัญหาในด้านการปฏิบัติ และการซ่อมบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า 6. สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่กระจายไปสู่ส่วนภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล ฯลฯ |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
การประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม |
การก่อสร้างสถานีไฟฟ้าเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ของ กฟภ. ไม่มีการดำเนินงานที่จะขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อห้ามทางกฎหมาย รวมทั้งไม่มีการดำเนินการที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมหรือพื้นที่ข้างเคียง และการก่อสร้างสายส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าดำเนินการในพื้นที่ริมถนนทางหลวง (Right of Way) โดยการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการดำเนินการในพื้นที่ที่จำกัดและระยะเวลาสั้น ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพื้นที่ข้างเคียงที่สามารถเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ผลกระทบในเรื่องเสียง ฝุ่น และของเสียในช่วงระยะเวลาก่อสร้างที่จะมีปริมาณมากกว่าในช่วงเวลาปกติเล็กน้อยและไม่ส่งผลกระทบกับชุมชนในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาพักผ่อนของผู้คน อย่างไรก็ตาม กฟภ. มีมาตรการดูแลให้การก่อสร้างดำเนินไปอย่างปลอดภัย มีอาชีวอนามัยและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ใกล้เคียงให้น้อยที่สุดในช่วงระยะเวลาการจ่ายไฟและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ ซึ่งอาจเกิดผลกระทบเนื่องจากเกิดการรั่วซึมของน้ำมันหม้อแปลงที่ปนเปื้อนสู่ดินและแหล่งน้ำ หรือเกิดก๊าซซึ่งก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทั้งนี้ กฟภ. มีการวางแผนงานติดตามเฝ้าระวังและตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่สถานีไฟฟ้าเป็นประจำเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม |
14. เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนความต้องการอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (พ.ศ. 2564 - 2566) ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2556 - 2560)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนความต้องการอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (รพศ.มฟล.) (พ.ศ. 2564 - 2566) ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2556 - 2560) จำนวน 1,575 อัตรา งบประมาณทั้งสิ้น 401.87 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อรองรับแผนความต้องการอัตรากำลังของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ดังกล่าว เห็นควรให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นเหมาะสม โดยคำนึงถึงศักยภาพในการสรรหา ความสามารถในการบรรจุอัตรากำลังและพิจารณานำเงินนอกงบประมาณมาสมทบ อย่างไรก็ดี หากในอนาคตโรงพยาบาลมีเงินรายได้เพียงพอต่อการจัดบริการตามแผนการเปิดให้บริการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแล้ว ให้เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายบุคลากร ตามแผนความต้องการอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จากเงินรายได้ดังกล่าว สำหรับอัตราค่าจ้างให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
อว. รายงานว่า
1. รพศ.มฟล. ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561 โดยตั้งอยู่บนพื้นที่จำนวน 137 ไร่ มีจำนวนอาคารทั้งหมด 2 หลัง เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ในแผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน สูตินารี กุมารเวช อายุรกรรม ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูก จักษุ หู คอ จมูก อายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด พยาธิวิทยา รังสีวิทยา กายภาพบำบัด รวมถึงอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ปัจจุบันมีจำนวนผู้มารับบริการในส่วนของผู้ป่วยนอกเฉลี่ยจำนวน 500 คน/วัน ผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินเฉลี่ย จำนวน 90 คน/วัน รวมทั้งสิ้น 590 คน/วัน คิดเป็น 215,350 คน/ปี มีจำนวนเตียงที่เปิดให้บริการ 156 เตียง และมีอัตรากำลังจากการสนับสนุนของสำนักงบประมาณ (สงป.) จำนวน 70 อัตรา ประกอบด้วยบุคลากรกลุ่มบริการเฉพาะทาง 52 อัตรา และกลุ่มสนับสนุน 18 อัตรา อย่างไรก็ดี จำนวนเตียงและอัตรากำลังดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานของ รพศ.มฟล. ในการรองรับการให้บริการตรวจรักษาเพื่อผู้ป่วยในเขตภาคเหนือตอนบน (เขตสุขภาพที่ 1) และเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและโดยที่ รพศ.มฟล. เป็นโรงพยาบาลที่ มฟล. ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556 – 2560 (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2555 และ 14 ตุลาคม 2557) ซึ่งต้องมีอัตรากำลังบุคลากรทั้งฝ่ายแพทย์ ฝ่ายพยาบาล ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายสหวิชาชีพ ตลอดจนฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,500 อัตรา ดังนั้น รพศ.มฟล. จึงได้จัดทำแผนความต้องการอัตรากำลัง ตามแนวทางการวิเคราะห์ภาระงานของสถานบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคำนวณอัตรากำลังที่จำเป็นในการขยายขนาดการให้บริการ จาก อัตรากำลัง 70 อัตรา ในปัจจุบัน เป็น อัตรากำลัง 1,645 อัตรา (เพิ่มขึ้น 1,575 อัตรา) ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
2. การขออัตรากำลังของ รพศ.มฟล. ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์
2.1 จัดหาบุคลากรทางการแพทย์และวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการรักษาแก่ประชาชน และผู้ป่วยได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 460,000 คน1
2.2 จัดหาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับการเป็นสถานฝึกปฏิบัติการในชั้นคลินิก สำหรับนักศึกษาแพทย์ มฟล. ตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556 – 2560
2.3 จัดหาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับภารกิจด้านวิจัยทางคลินิกและการวิจัยด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องตามบทบาทและสถานภาพของ รพศ.มฟล. และในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูง ที่มีภารกิจวิจัยทางการแพทย์รวมอยู่ด้วย ตลอดจนรองรับภารกิจทั้งด้านการให้บริการและการวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านออร์โธปิดิกส์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งวิทยา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอายุรศาสตร์โลหิตวิทยา
3. อัตรากำลังที่ รพศ.มฟล. เสนอขอรวมทั้งสิ้น 1,575 อัตรา แบ่งเป็นกลุ่มผู้บริหาร 5 อัตรา กลุ่มบริการเฉพาะทาง 1,112 อัตรา กลุ่มสนับสนุน 332 อัตรา และกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 126 อัตรา และจำแนกตามกลุ่มภารกิจได้ ดังนี้
หน่วย : อัตรา
ตำแหน่ง | แผนปี 2564 | แผนปี 2565 | แผนปี 2566 | รวมทั้งสิ้น |
กลุ่มผู้บริหาร | 5 | - | - | 5 |
1) ภารกิจด้านอำนวยการ | ||||
กลุ่มสนับสนุน | 49 | 35 | 23 | 107 |
2) ภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ2 | ||||
กลุ่มบริการเฉพาะทาง | 6 | 3 | 3 | 12 |
กลุ่มสนับสนุน | 2 | 2 | - | 4 |
3) ภารกิจด้านสนับสนุนบริการสุขภาพและพัฒนาระบบบริการ3 | ||||
กลุ่มบริการเฉพาะทาง | 14 | 11 | 7 | 32 |
กลุ่มสนับสนุน | 79 | 49 | 35 | 163 |
4) ภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ4 | ||||
กลุ่มบริการเฉพาะทาง | 78 | 68 | 62 | 208 |
กลุ่มสนับสนุน | 2 | 1 | 2 | 5 |
กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ | 52 | 41 | 33 | 126 |
5) ภารกิจด้านบริการพยาบาล | ||||
กลุ่มบริการเฉพาะทาง | 327 | 278 | 255 | 860 |
กลุ่มสนับสนุน | 18 | 13 | 12 | 43 |
6) ภารกิจด้านผลิตบุคลากรทางการแพทย์ | ||||
กลุ่มสนับสนุน | 3 | 5 | 2 | 10 |
รวมกลุ่มผู้บริหาร | 5 | - | - | 5 |
รวมกลุ่มบริการเฉพาะทาง | 425 | 360 | 327 | 1,112 |
รวมกลุ่มสนับสนุน | 153 | 105 | 74 | 332 |
รวมกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ | 52 | 41 | 33 | 126 |
รวมทั้งสิ้น | 635 | 506 | 434 | 1,575 |
4. ด้านงบประมาณ โรงพยาบาลฯ มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอัตรากำลังรวมทั้งสิ้น 401.87 ล้านบาท
ความต้องการ อัตรากำลัง |
แผนการให้บริการของ รพ.ศูนย์การแพทย์ มฟล. (เตียง) |
อัตรากำลังที่เสนอขอ (อัตรา) |
งบประมาณที่เสนอขอ (ล้านบาท) |
ปีงบประมาณ 2564 | 244 (เพิ่มขึ้น 88) | 635 | 162.85 |
ปีงบประมาณ 2565 | 323 (เพิ่มขึ้น 79) | 506 | 128.05 |
ปีงบประมาณ 2566 | 411 (เพิ่มขึ้น 88) | 434 | 110.97 |
รวม | 411 | 1,575 | 401.87 |
5. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นชอบกับแผนความต้องการอัตรากำลัง รพศ.มฟล. (พ.ศ. 2564 - 2566) ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556 – 2560 ตามที่ มฟล. เสนอ เนื่องจากมีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์และสถาบันทางการศึกษาต่าง ๆ ในภาพรวมของประเทศ ในระยะยาว (5 – 10 ปี) ที่ สธ. กำลังดำเนินการ [ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป]
5.1 ในระยะแรก ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งจะเปิดบริการ 244 เตียง ต้องการอัตรากำลัง 635 คน โดยอ้างอิงกรอบอัตรากำลังของโรงพยาบาลศูนย์ระดับตติยภูมิชั้นสูง ขนาดน้อยกว่า 700 เตียง ตามเกณฑ์ สธ. ที่เสนอได้ ส่วนการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรให้เป็นไปตามการพิจารณาของ สงป.
5.2 ในระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 – 2566 จะเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีก 167 เตียง (79 + 88 เตียง) รวมเป็น 411 เตียง (ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้) ต้องการอัตรากำลังเพิ่มเติมอีก 940 คน (560 + 434 คน) นั้น ควรพิจารณาถึงจุดเน้นสำคัญของ รพศ.มฟล. ตามความต้องการจำเป็นของบริบทในพื้นที่ และควรคำนึงถึงผลการดำเนินงานของ รพศ.มฟล. พ.ศ. 2561 – 2564 ประกอบการพิจารณาด้วย
5.3 เห็นควรให้โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มฟล. ประสานเชื่อมโยงการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานด้านสุขภาพที่มีอยู่แล้วของ สธ. และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (น่าน พะเยา เชียงราย แพร่) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนและเกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร รวมทั้งตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชน
------------------------------------------------------------------------
1 ประมาณการค่าเฉลี่ยของผู้รับบริการของ รพศ.มฟล. ปี 2564 : 346,750 คน ปี 2565 : 485,450 คน และ ปี 2566 : 565,750 คน
2ภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ ได้แก่ งานเวชกรรมสังคมและงานสุขศึกษา และงานการพยาบาลชุมชนและหน่วยพื้นที่
3ภารกิจด้านสนับสนุนบริการสุขภาพและพัฒนาระบบบริการ ได้แก่ งานสารสนเทศทางการแพทย์ งานประกันสุขภาพ งานสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยและสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น
4ภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ ได้แก่ งานให้บริการทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น เวชศาสตร์ฉุกเฉิน อายุรกรรม ศัลยกรรม ออร์โธปิดิกส์ นิติเวช จิตเวช เภสัชกรรม เป็นต้น
15. เรื่อง เสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษา สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความตระหนักและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยต่อไป ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับแนวทางดังกล่าวไปพิจารณาใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจต่อไป
2. เห็นชอบให้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนกรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันพระปกเกล้าให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กสม. รายงานว่า กสม. ได้พัฒนาการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการเสริมสร้างทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน อันจะเป็นรากฐานในการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้นำมาซึ่งความผาสุกของสังคมและประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้ ได้ดำเนินการโดยมุ่งหมายให้เกิดการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ ดังนี้
1. การส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการเผยแพร่ความรู้และพัฒนาความเข้มแข็งด้านสิทธิมนุษยชน อันจะช่วยสร้างเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน และทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและดำเนินงานต่าง ๆ ตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจะเกิดขึ้นกับประชาชน สร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว กสม. ได้ดำนินการอย่างมีส่วนร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาใน กสม. ผู้แทนสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาและกระบวนการยุติธรรมจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ให้เกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ที่มุ่งเน้นที่จะก่อให้เกิดสังคมแห่งความเสมอภาค โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง สร้างโอกาสที่เป็นธรรม โดยไม่แบ่งแยก และคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ประกอบด้วย หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาพื้นฐาน หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกระบวนการยุติธรรม หลักสูตรประกาศนียบัตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง และหลักสูตรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ
2. การส่งเสริมเผยแพร่ให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของแต่ละบุคคลที่ทัดเทียมกัน และการเคารพสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นซึ่งอาจแตกต่างกันในทางวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา โดยได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการซึ่งกำกับดูแลสถานศึกษาในสังกัดกว่า 30,000 แห่ง มีบุคลากรทางการศึกษากว่า 400,000 คน ทำหน้าที่สนับสนุนและให้การศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กนักเรียนในประเทศกว่า 7,000,000 คน ดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมในการจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทางอย่างเป็นระบบในการสร้างเสริมสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ช่วงวัยเรียน/วัยรุ่นตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์โดยคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาพื้นฐาน ประกอบด้วย คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษา 5 ช่วงชั้น (ระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษาตอนต้น ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย)
16. เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีผู้ประกอบอาชีพประมงได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวม 4 ประเด็น
2. รับทราบข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีผู้ประกอบอาชีพประมงได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing)
3. มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางดังกล่าว ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามข้อ 2 ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กสม. รายงานว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายบุญยง นิ่วบุตร นายกสมาคมชาวประมงอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ว่าชาวประมงประมาณ 100 ราย ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพประมงจากการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยสหภาพยุโรปได้กล่าวหาประเทศไทยว่า มีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ถึงแม้ว่าคณะรัฐมนตรีและ กษ. จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การทำประมงสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนและเป็นระบบแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการดังกล่าวยังขาดความเข้าใจในหลายประเด็น โดยเฉพาะบริบทของประมงวิถีไทย และการแก้ไขปัญหาที่ไม่เป็นธรรมก่อให้เกิดภาระเกินความจำเป็นในการประกอบอาชีพประมง จึงขอให้ตรวจสอบในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.1 การจัดการ การขึ้นทะเบียน และการตรวจสอบแรงงาน
1.2 การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก
1.3 ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการห้ามและจำกัดการใช้เครื่องมือประมงบางประเภท
1.4 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงที่ได้รับผลกระทบและแนวทางในการรับซื้อเรือคืน
2. กสม. ได้พิจารณาคำร้อง ในประเด็นต่าง ๆ ตามข้อ 1.1 – 1.4 แล้ว เห็นควรให้ยุติเรื่องทั้ง 4 ประเด็น ดังนี้
2.1 กรณีการจัดการ การขึ้นทะเบียน และการตรวจสอบแรงงานเห็นว่า แม้การกำหนดขั้นตอนและกระบวนการในการจัดการ การขึ้นทะเบียน และการตรวจสอบแรงงานของคณะรัฐมนตรีและ กษ. โดยหน่วยงานในสังกัดจะเป็นการเพิ่มขั้นตอนการดำเนินการในการประกอบอาชีพประมงของสมาชิกสมาคมชาวประมงอำเภอบ้านแหลม แต่เมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการดำเนินการที่เป็นไปเพื่อการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงานของแรงงานในภาคการประมงทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว
2.2 กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก เห็นว่า แม้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก จะกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของสมาชิกสมาคมชาวประมงอำเภอบ้านแหลม แต่การดำเนินการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพ ทั้งเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้แก้ไขปรับปรุงเป็นระยะและจัดอบรมสร้างความเข้าใจให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง
2.3 กรณีปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการห้ามและจำกัดการใช้เครื่องมือประมงบางประเภท เห็นว่า กฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ผู้ประกอบอาชีพประมงใช้เครื่องมือประมงชนิดใดนั้น เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรี และ กษ. พิจารณาถึงเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล และความเหมาะสมของพื้นที่แม้อาจกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของสมาชิกสมาคมชาวประมงอำเภอบ้านแหลม แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อรักษาหรือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทะเลอย่างยั่งยืน
2.4 กรณีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงที่ได้รับผลกระทบและแนวทางในการรับซื้อเรือประมงคืน เห็นว่า แม้ปัจจุบันการดำเนินการโครงการการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนโดยกรมประมงจะยังไม่แล้วเสร็จยังคงมีเรือประมงที่เข้าร่วมโครงการและรอการพิจารณาเพื่อรับการชดเชยเยียวยาและบรรเทาผลกระทบ จึงอาจกระทบต่อสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินของสมาชิกสมาคมชาวงประมงอำเภอบ้านแหลมแต่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรมประมง
3. นอกจากนี้ กสม. ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีผู้ประกอบอาชีพประมงได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้ กษ. และคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพประมงทุกกลุ่ม รวมทั้งประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาได้นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่ได้รับ รวมถึงมีส่วนร่วมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างสมดุลและยั่งยืน และหากมีกรณีใดที่ต้องดำเนินการเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบควรดำเนินการอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า
17. เรื่อง รายงานความคืบหน้าการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอดังนี้
สาระสำคัญ
ตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 มีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ รายงานผลการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แล้วนั้น กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม ขอรายงานความคืบหน้า ดังนี้
1. กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม ได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งจ่ายไปแล้ว ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,095,399 ราย เป็นเงิน 6,052 ล้านบาท
2. กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม ได้มีการติดตามนายจ้างที่ยังไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทน จำนวน 29,406 ราย โดยให้หน่วยปฏิบัติดำเนินการ ดังนี้
1) จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์/อุทธรณ์ COVID-19 ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ รวมทั้งส่วนกลาง ณ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
2) มีหนังสือแจ้งสถานประกอบการที่ยังไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทน ให้ตรวจสอบและส่งชื่อลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับเงิน เพื่อดำเนินการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน โดยให้ยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ
3) มีหนังสือแจ้งผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับเงิน ให้ยื่นร้องทุกข์/อุทธรณ์ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ
18. เรื่อง การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามผลการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 กรณีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอดังนี้
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลตามกฎหมายล้มละลาย และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รับความเห็นของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง นั้น รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และปลัดกระกระทรวงการคลังแล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 มีความเห็นร่วมกันว่า
1. ในขณะที่คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจและอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม แต่บัดนี้ กระทรวงการคลังได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทฯ จึงทำให้ บริษัทฯ พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วโดยเด็ดขาด เพียงแต่กระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นจำนวนมากประมาณร้อยละ 48 ส่วนภารกิจที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม เตรียมความพร้อมให้บริษัทฯ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และดูแลให้บริษัทฯ ตรวจสอบ จัดเตรียมเอกสารและแนวทางที่เกี่ยวข้องนั้น กระทรวงคมนาคมได้มอบให้บริษัทฯ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแล้ว
2. ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แล้ว ซึ่งจากการหารือเห็นชอบให้มีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และผู้ทรงคุณวุฒิ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ส่วนการติดตามดูแลกิจการของบริษัทฯ ตามสัดส่วนของหุ้นย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง และการประสานงานกับกระทรวงคมนาคม บริษัทฯ ก็สามารถดำเนินการได้โดยตรงอยู่แล้วหรืออาจใช้ช่องทางคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ก็ได้
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รับไปดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและความเห็นของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง นั้น
แม้ผลจากการนี้จะทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และกระบวนการฟื้นฟูกิจการจะเป็นไปตามขั้นตอนและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายโดยเฉพาะก็ตาม แต่โดยที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการประกอบกิจการของบริษัทซึ่งยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ เกี่ยวพันกับกฎหมายและกฎระเบียบของทางราชการ อันต้องอาศัยการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ และการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และรัฐยังจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ คณะรัฐมนตรีจึงควรมีโอกาสรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการเป็นระยะ ๆ โดยมีระบบกลั่นกรอง และช่วยตรวจสอบในส่วนของภาครัฐ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย
(1) นายวิษณุ เครืองาม ประธาน
รองนายกรัฐมนตรี
(2) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการ
(3) นายประสงค์ พูนธเนศ กรรมการ
ปลัดกระทรวงการคลัง
(4) นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ กรรมการ
ปลัดกระทรวงคมนาคม
(5) นายชยธรรม์ พรหมศร กรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน
การขนส่งและจราจร
(6) นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ กรรมการ
ปลัดกระทรวงยุติธรรม
(7) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการ
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
(8) นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล กรรมการ
เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์
(9) นายประภาศ คงเอียด กรรมการและเลขานุการ
ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการ
นโยบายรัฐวิสาหกิจ
ข้อ 2 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจดังนี้
(1) เป็นตัวแทนภาครัฐในการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน
(2) ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ แก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของภาครัฐโดยไม่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาของศาล
(3) กลั่นกรอง ตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกหรือประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และการดำเนินกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่มีการร้องขอ และไม่ขัดต่อกฎหมาย
(4) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
(5) รายงานการปฏิบัติงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ ๆ
ข้อ 3 คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะเรื่องได้
ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
19. เรื่อง การขยายกรอบระยะเวลาและของบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 (เพิ่มเติม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการการขยายกรอบระยะเวลาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 (จากเดิม กำหนดช่วงเวลาเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 31 พฤษภาคม 2563 เป็นระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2562 – 31 พฤษภาคม 2563) ภายในกรอบจำนวนเกษตรกร 452,000 ครัวเรือน ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ โดยในส่วนของงบประมาณให้ พณ. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ
20. เรื่อง การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 – 30 มิถุนายน 2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ
สมช. เสนอว่า
เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เพื่อบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ
การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2563 สำนักงานฯ ในฐานะสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เชิญหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดฯ ในด้านต่าง ๆ ผู้แทนส่วนราชการและประชาคมข่าวกรองเข้าร่วมการประชุม โดยมี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในห้วงต่อไปเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันว่าการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังมีความจำเป็น เนื่องจากจะช่วยสร้างระบบการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการที่ดีให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อชะลอ ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 และยังช่วยสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความเป็นเอกภาพ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการสร้างมาตรฐานกลางด้านสาธารณสุขและช่วยเยียวยาประชาชนได้อย่างครอบคลุมภาพรวมของประเทศอีกด้วย
2. ที่ประชุมให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงของการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมายสำหรับในระยะที่ 3 และระยที่ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคในระดับสูง จึงจำเป็นจะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ และอยู่ในห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องมีมาตรการด้านกฎหมายเพื่อกำกับ ดูแล และบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นจะต้องอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 บังคับใช้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
3. นอกจากนี้ ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด โดยมีข้อมูลปรากฏในหลายประเทศว่ายังพบการระบาดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง ดังนั้น เมื่อประเทศไทยได้ดำเนินการมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายครบทั้ง 4 ระยะ และพร้อมจะเปิดประเทศแล้ว อาจมีความเสี่ยงที่โรคติดเชื้อโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดได้อีกครั้งหากไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับที่ดีอย่างเพียงพอ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดประเทศในภารกิจที่สำคัญ อาทิ 1) การเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายภายหลังยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และ 2) การเตรียมแผนการบริหารวิกฤตการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นควรให้คงการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไป เนื่องจากจะมีส่วนช่วยให้เจ้าหน้าที่มีเวลาเตรียมความพร้อมรองรับกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และยังมีส่วนช่วยซักซ้อมทักษะด้านการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย
4. ที่ประชุมได้เสนอแนะแนวทางดำเนินการควบคู่ไปกับการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในห้วงที่สอง โดยเห็นควรให้ 1) กำหนดมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้อย่างเป็นปกติยิ่งขึ้น และ 2) มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมและทั่วถึง ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีการชี้แจงประชาชนอย่างชัดเจน
5. สมช. ได้นำผลการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบผลการประชุม และมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป
21. เรื่อง แนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 โดยเพิ่มเติมแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราตามนโยบายรัฐบาลในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ
2. อนุมัติให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างก่อสร้างผิวทางแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) ที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างไปแล้วในปีงบประมาณ 2563 เป็นผิวทางแบบแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (AC) ภายในกรอบวงเงิน 2,500 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมทางหลวง 1,250 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท 1,250 ล้านบาท โดยมีการปรับลดวงเงินค่าก่อสร้างและไม่ทำให้ส่วนราชการเสียประโยชน์ ตามมาตรา 97 (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP)
3. เห็นชอบในหลักการให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรอบวงเงิน 39,175 ล้านบาท (กรมทางหลวง จำนวน 36,401 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 2,774 ล้านบาท) และ ปี พ.ศ. 2565 กรอบวงเงิน 43,995 ล้านบาท (กรมทางหลวง จำนวน 39,934 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 4,061 ล้านบาท) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP)
โดยในส่วนของงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญ
กระทรวงคมนาคมได้รับรายงานจากกรมทางหลวงชนบทเสนอแนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) และสนับสนุนการใช้ยางพาราจากร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองโดยตรง โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา เพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพารา และระบายผลผลิตยางพาราที่มีอยู่จำนวนมากอย่างเป็นรูปธรรม
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เป็นประธานการประชุมเรื่อง การนำยางพารามาใช้ในงานภารกิจของกระทรวงคมนาคมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา จำนวน 6 ครั้ง เมื่อวันที่
28 สิงหาคม 2562 วันที่ 20 กันยายน 2562 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 วันที่ 30 มีนาคม 2563 วันที่ 16 เมษายน 2563 และวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ตามลำดับ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามนโยบายเพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนโดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา
3. กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ดังนั้น กรมทางหลวงชนบทจึงได้มีคำสั่ง ที่ 1890/2562 ลงวันที่ 2 กันยายน 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย และคำสั่งที่ 2160/2562 ลงวันที่ 30 กันยายน 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย (เพิ่มเติม) ร่วมกันศึกษาวิจัยนำยางพารามาพัฒนาเป็นอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยทางถนน
4. จากการศึกษาสภาพถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท พบว่า
มีเกาะกลางถนน รวมทั้งสิ้น ระยะทาง 11,643.454 กิโลเมตร ประกอบด้วย
- เกาะสี จำนวน 1,238.800 กิโลเมตร
- เกาะหลุม จำนวน 4,372.963 กิโลเมตร
- เกาะยก จำนวน 5,133.414 กิโลเมตร
- กำแพงคอนกรีต จำนวน 898.277 กิโลเมตร
โดยบริเวณช่วงเกาะกลางถนนแบบเกาะสีมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มาก เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร โดยการเลี้ยวหรือการกลับรถทับเส้นเกาะกลางในบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นหลายกรณี มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้น จึงเห็นควรก่อสร้างกำแพงคอนกรีตเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ อีกทั้งบริเวณทางโค้งได้มีการติดตั้งเสาหลักนำทางคอนกรีต เพื่อให้มองเห็น ในเวลากลางคืน แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์เสียหลักไปชนหลักนำโค้งคอนกรีต ผู้ขับขี่ หรือผู้ที่โดยสารมาด้วยอาจได้รับอันตราย จึงมีความจำเป็นต้องหาวิธีการแก้ไขหรือปรับปรุงเรื่องเกาะกลางถนนแบบเกาะสีและหลักนำทางคอนกรีต
จากผลการศึกษาและวิจัยพบว่า มี 2 ผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมและมีปริมาณยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก และสามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้ คือ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) โดยมีผลการทดสอบของอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ดังนี้
1) แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB)
- ทดสอบการชนในประเทศไทย ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ผลการทดสอบ : ช่วยในการรับแรงกระแทก ทำให้ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของคนขับได้
- นำไปทดสอบการชน ณ สถาบัน Korea Automobile Testing & Research Institute (KATRI) ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสถาบันทดสอบรถยนต์โดยตรงและเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกในวิธีการทดสอบที่มีความทันสมัย ถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ การแสดงผลการทดสอบด้านวิศวกรรมยังเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐาน EN - Euro Standard
ผลการทดสอบ : แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) ที่ความเร็วในการชน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกิดแรงกระแทกต่ำกว่าค่ามาตรฐาน National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ทำให้มีความปลอดภัยจากการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต
2) หลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP)
- ทดสอบการชนในประเทศไทย ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ผลการทดสอบ : ผลจากห้องทดสอบเปรียบเทียบความปลอดภัยในการติดตั้งหลักนำทางยางธรรมชาติ โดยนำรถจักรยานยนต์พร้อมหุ่นติดตั้งเซ็นเซอร์เข้าชน พบว่า หุ่นที่ใช้ทดสอบไม่ได้รับแรงกระแทกถึงขั้นได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต เพราะมีความยืดหยุ่นของยางพารา และเมื่อนำไปทดสอบในห้องทดลอง พบว่า มีความคงทนต่อสภาพอากาศในประเทศไทย ไม่ติดไฟ และไม่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
5. กรมทางหลวงชนบทได้เปรียบเทียบราคาต้นทุนการผลิตกับผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับของแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) หลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) และผิวทางแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) มีดังนี้
|
|
|
|
|
|
3,140 - 3,757บาท/เมตร | 2,189.63 - 2,798.10บาท/เมตร | 70 - 74 | |
|
1,607 - 2,223บาท/ต้น | 1,162.58 - 1,778.18บาท/ต้น | 72 - 80 | |
|
|
15.04 บาท/ตารางเมตร | 5.10 |
หมายเหตุ : ช่วงราคายางแผ่นรมควัน 35 - 60 บาท/กิโลกรัม และราคาน้ำยางพาราข้น 25 - 60 บาท/กิโลกรัม
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ พบว่า แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB)
และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) มีผลประโยชน์สูงกว่าผิวทางแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) มาก
6. กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท มีแนวทางในการดำเนินการตามนโยบาย
เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนโดยใช้ผลผลิตจากยางพารา ดังนี้
1) แผนการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ในปีงบประมาณ 2563 - 2565
มี RFB จำนวน 12,282.735 กิโลเมตร RGP จำนวน 1,063,651 ต้น งบประมาณรวม 85,623.774 ล้านบาท คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ จำนวน 30,108.805 ล้านบาท ดังนี้
(หมายเหตุ : กรุณาดูรายละเอียดแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จากไฟล์แนบ) |
||||||||||
2) แผนการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยใช้ยางพาราในการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ซึ่งกรมทางหลวงชนบทจะกำหนดรูปแบบและมาตรฐาน ให้ร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง ตามประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกหนังสือรับรองเป็น “ร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง” พ.ศ. 2563 เป็นผู้ผลิต ทั้งนี้ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจะจัดซื้อแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตและหลักนำทางยางธรรมชาติดังกล่าวจากร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองโดยตรง เพื่อนำมาใช้ในงานด้านความปลอดภัยงานทาง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงกำหนดวงเงิน การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2560 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท แต่เนื่องจากการจัดซื้อยางพาราดังกล่าวจากร้านสหกรณ์มีจำนวนมาก ทำให้วงเงินในการจัดซื้อครั้งหนึ่งเกิน 500,000 บาท ทำให้ไม่อาจจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองโดยตรง ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดให้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563
3) กรมทางหลวงชนบทได้จัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง อุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเบื้องต้นแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีความเห็นว่า
แนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ซึ่งได้มีการประชุมหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การยางแห่งประเทศไทย และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในเบื้องต้น รวมทั้งได้มีการทดสอบการชนทั้งในประเทศไทยและประเทศเกาหลีใต้แล้ว โดยจากผลการศึกษาและวิจัยพบว่า ผู้ขับขี่ได้รับค่าแรงกระแทกน้อยกว่าค่ามาตรฐาน ปลอดภัยจากการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต ประกอบกับ แนวทางการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยยกระดับราคายางพารา เพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพารา และระบายผลผลิตยางพาราที่มีอยู่จำนวนมากอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะได้พิจารณาลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ (MOU) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป
22. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ช่วงระหว่างวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดย สคร. มีจำนวน 56 แห่ง โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2563 ของรัฐวิสาหกิจ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)
รัฐวิสาหกิจ 51 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและมีรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และองค์การสุรา กรมสรรพสามิต ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว และจากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 294,955 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง จำนวน 79,080 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 27
2. การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
รัฐวิสาหกิจ 32 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา โดยมีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.30 น.
3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
กรณีที่รัฐวิสาหกิจมีนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง รัฐวิสาหกิจมีการติดตามผลการปฏิบัติงานเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน โดยรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับติดตามและบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นรายวัน ผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยมีการใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงควรให้มีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
23. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 2 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 จาก 142 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 100 ของส่วนราชการทั้งหมด 142 ส่วนราชการ ดังนี้
1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home)
ส่วนราชการร้อยละ 100 (142 ส่วนราชการ) ที่รายงานมีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง โดยส่วนราชการส่วนใหญ่ร้อยละ 54 (76 ส่วนราชการ) กำหนดสัดส่วนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ส่วนราชการที่เน้นงานระดับนโยบาย เป็นต้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น และส่วนใหญ่เริ่มให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
1) ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานสำหรับกรณีที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนราชการส่วนใหญ่ร้อยละ 56 กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 07.30 – 15.30 น. เวลา 08.30 – 16.30 น. และ เวลา 09.30 – 17.30 น. ส่วนราชการร้อยละ 15 (22 ส่วนราชการ) กำหนดรูปแบบการเหลื่อมเวลามากกว่า 3 ช่วงเวลา เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมสรรพสามิต เป็นต้น นอกจากนี้บางส่วนราชการกำหนดรูปแบบการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานอื่น ๆ ได้แก่ 06.00 – 14.00 น. เวลา 11.00 – 19.00 น. เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
2) ส่วนราชการมีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในลักษณะงานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการและข้าราชการซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้อำนวยการสำนัก/กองของส่วนราชการ
3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
1) การกำกับดูแลและบริหารผลงาน เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารที่ส่วนราชการเน้นเพื่อคงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานทั้งในและนอกสถานที่ตั้งให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ซึ่งส่วนราชการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลและติดตามงานอย่างเข้มข้น โดยส่วนราชการร้อยละ 57 กำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวันและรายสัปดาห์ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google Form
2) การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการพิจารณาเลือกใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่าหนึ่งระบบ โดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE (ร้อยละ 99.3) Zoom (ร้อยละ 61.3) Microsoft Team (ร้อยละ 31) และ Cisco Webex (ร้อยละ 25) ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพาและโทรศัพท์เคลื่อนที่
4. ข้อจำกัดของส่วนราชการในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ได้แก่ การขาดความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และการขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงาน ในกรณีส่วนราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาคมีบ้านพักข้าราชการตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ตั้งของสำนักงาน จึงไม่จำเป็นต้องให้ข้าราชการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ลักษณะงานบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ เช่นงานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการ งานภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน งานความลับ งานควบคุมผู้ต้องขัง งานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เป็นต้น
5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การจัดให้มีอุปกรณ์หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ ค่าบริการสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ในกรณีข้าราชการต้องปฏิบัติราชการในสถานที่ตั้งของส่วนราชการควรกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่มีการหมุนเวียนสลับกันมาปฏิบัติราชการได้ตามความจำเป็น และจะต้องมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ตั้งของส่วนราชการ การเตรียมน้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรค การสวมหน้ากากอนามัย การสลับเวลาพักรับประทานอาหาร การกำหนดระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น
24. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการคลังรับไปพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ดังนี้
1. ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2563 ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ที่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง และการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับมติคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2563 เรื่องแผนงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 8(1) แห่งพระราชกำหนด ดังนี้ โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบด้วย (1) เด็กจากครัวเรือนยากจน (0-6 ปี) 1,451,468 คน (2) ผู้สูงอายุ 9,664,111 คน และ (3) ผู้พิการ 2,027,500 คน รวมทั้งหมด 13,143,079 คน วงเงินรวมไม่เกิน 39,429,237,000 บาท (โดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ไม่เกิน 39,429,237,000 บาท)
2. รับทราบเจตนารมณ์ของผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ครั้งที่ 2/2563 เรื่องแผนงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ ดังนี้
การให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมายของแผนงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้หลักมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกร และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ ซึ่งกรณีที่ข้าราชการ (ข้าราชการประจำและลูกจ้าง รวมถึงข้าราชการบำนาญ) ที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือภายใต้มาตรการฯ เนื่องจากได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการของภาครัฐอยู่แล้ว และหากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้กับกลุ่มข้าราชการดังกล่าวแล้ว ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานกรมบัญชีกลาง ในการพิจารณาดำเนินการหักเงินดังกล่าวจากค่าตอบแทนคืนที่กระทรวงการคลังต่อไป
25. เรื่อง ข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
2. เห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อสำนักงบประมาณจะได้ดำเนินการ จัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และเอกสารประกอบงบประมาณ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 16 มิถุนายน 2563 และนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และมอบให้สำนักงบประมาณไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคสอง และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และให้สำนักงบประมาณนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่ได้ปรับปรุงรายละเอียดไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็น และการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดให้สำนักงบประมาณสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 นั้น
สำนักงบประมาณได้พิจารณาดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรี ดังกล่าวข้างต้นแล้วสรุปดังนี้
1. การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
สำนักงบประมาณได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 รวม 2 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 เป็นการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียด โดยวิธีการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักงบประมาณ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 8 เมษายน 2563 และทำหนังสือสอบถามความคิดเห็นไปยังหน่วยรับงบประมาณ
ครั้งที่ 2 เป็นการนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2563 โดยวิธีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ผ่านเว็บไซต์สำนักงบประมาณ และทำหนังสือสอบถามความคิดเห็นไปยังหน่วยรับงบประมาณ
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นไปประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบและการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และได้จัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
2. การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
สำนักงบประมาณได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และนำมาปรับปรุงแก้ไขให้มีความถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้นตามแบบการร่างกฎหมาย ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว (หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุด ที่ นร 0903/211 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2563)
การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบปรมาณ พ.ศ. 2564 มีโครงสร้างแตกต่างจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังนี้
(1) เพิ่มหน่วยรับงบประมาณในมาตรา 33 งบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากเดิม 78 หน่วยรับงบประมาณ เป็น 292 หน่วยรับงบประมาณ เพิ่มขึ้น 214 หน่วยรับงบประมาณ ประกอบด้วย เทศบาลนคร 30 หน่วยรับงบประมาณ และเทศบาลเมือง 184 หน่วยรับงบประมาณ
(2) รวมงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการ จำนวน 14 แผนงาน ไว้ภายใต้มาตรา 77 งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการ
(3) สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นหน่วยรับงบประมาณอยู่ภายใต้มาตรา 7 งบประมาณรายจ่ายของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ จากเดิม มาตรา 27 งบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว มีผลทำให้รายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ เปลี่ยนแปลงไปจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เนื่องจากสภากาชาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินการอันเป็นสาธารณกุศล และให้ตั้งงบประมาณตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 14 (2) งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ
26. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างทั่วถึง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการ SMEs ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้
แนวทางการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม
เพื่อให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐบาลเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs กระทรวงการคลังเห็นควรเสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนี้
1. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีรายละเอียดดังนี้
1) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้จัดสรรวงเงินจำนวน 80,000 ล้านบาท จากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ให้กับธนาคารออมสินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) โดยตรง ในการนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐบาลเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เห็นควรให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ดังนี้
1.1) จัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท จากวงเงิน 80,000 ล้านบาท โดยใช้เงื่อนไขของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เดิม เพื่อให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี
1.2) ให้สถาบันการเงินตามข้อ 1.1) ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.ก. Soft loan วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย คิดดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ยังคงเป็นไปตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563
2) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ บสย. ดำเนินโครงการ บสย. SMEs สร้างไทย ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS 8) เพื่อรองรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น NPLs แต่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว โดยที่ปัจจุบันโครงการ บสย. SMEs สร้างไทยมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเหลืออยู่ 51,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากวงเงินค้ำประกันสินเชื่อของโครงการ PGS 8 ใกล้หมด แต่ยังมีความต้องการใช้การค้ำประกันสินเชื่ออยู่ ประกอบกับการดำเนินโครงการตามข้อ 1) เป็นการให้สินเชื่อกับกลุ่มที่มีความเสี่ยง เนื่องจากไม่เคยมีประวัติในการขอสินเชื่อ สถาบันการเงินไม่เคยเห็นพฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้น จึงเห็นควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 โดยแบ่งวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 10,000 ล้านบาทจากโครงการ บสย. SMEs สร้างไทย โดยใช้เงื่อนไขของโครงการ PGS 8 เดิม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.ก. Soft loan
2. นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น NPLs ให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้โดยเร็ว เห็นควรมอบหมายสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็น NPLs ตามอำนาจหน้าที่ของ สสว. ในการช่วยเหลืออุดหนุนทางการเงิน การให้กู้ยืมเงิน การร่วมลงทุน หรือการให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อไป โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2563
3. เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ประโยชน์สูงสุด เห็นควรให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจพิจารณาลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan ให้สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากที่สุด เพื่อให้สภาพคล่องที่เหลืออยู่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ถูกนำไปใช้เพื่อเสริมการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก. Soft loan
4. เห็นควรมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง พิจารณาทบทวนการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน และการกำหนดระบบแรงจูงใจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้สอดคล้องกับพันธกิจ และการดำเนินงานตามนโยบายที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้รับมอบหมายในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้มีมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 เศรษฐกิจไทยได้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน กระทรวงการคลังจึงได้จัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 และมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และวันที่ 7 มกราคม 2563 ตามลำดับ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลยังได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยได้จัดทำมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงิน 150,000 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 และออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐบาลอย่างทั่วถึง กระทรวงการคลังได้แบ่งการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan
1.1 คุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs
ผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan มีคุณสมบัติ ดังนี้
1) มีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งกลุ่มธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (Single Lending Limit)
2) ไม่มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPLs) ของสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ การจัดชั้นพิจารณาเป็นรายลูกหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPLs หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2562 สามารถยื่นขอสินเชื่อตามโครงการนี้ได้ โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
3) ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน
4) ไม่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ
1.2 แนวทางการให้ความช่วยเหลือ
มาตรการภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan ประกอบด้วย
1) มาตรการสนับสนุนให้สินเชื่อเพิ่มเติม วงเงิน 500,000 ล้านบาท โดย ธปท. สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 และสถาบันการเงินให้สินเชื่อใหม่แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ระยะเวลากู้ 2 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ การให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan เป็นการพิจารณาตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ทั้งนี้ ธปท. ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. Soft loan ออกประกาศห้ามไม่ให้สถาบันการเงินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ รวมถึงดอกเบี้ยผิดนัดจากลูกหนี้ภายใต้มาตรการนี้ ส่งผลให้ลูกหนี้ได้ประโยชน์สูงสุด
2) มาตรการพักชำระหนี้ (Debt Holiday) ให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งชะลอการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้
2. กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan ได้ แต่สถาบันการเงินไม่ส่งเข้าร่วมมาตรการตาม พ.ร.ก. Soft loan
2.1 คุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs
เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1.1 สามารถเข้า พ.ร.ก. Soft loan ได้ แต่เนื่องจากสถาบันการเงินพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความเสี่ยงหรือเป็นผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยที่อาจมีหลักประกันไม่เพียงพอ จึงไม่ส่งเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan
2.2 แนวทางการให้ความช่วยเหลือ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีมาตรการด้านการเงินที่อยู่ระหว่างการดำเนินการซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มนี้สามารถเข้าร่วมได้ ได้แก่
1) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ของธนาคารออมสิน วงเงินโครงการ คงเหลือ 13,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุด 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี
2) โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) ของธนาคารออมสิน วงเงินโครงการคงเหลือ 7,500 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุด 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลากู้ 7 ปี
3) โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินโครงการคงเหลือ 14,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุด 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3 ต่อปี ใน 3 ปีแรก ระยะเวลากู้ 7 ปี
4) โครงการสินเชื่อรายย่อย Extra Cash ของ ธพว. วงเงินโครงการคงเหลือ 9,900 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุด 3 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอสามารถเข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้
3. กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่าย พ.ร.ก. Soft loan
3.1 กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ในช่วงที่ผ่านมาไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จึงไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้ สามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อและโครงการค้ำประกันสินเชื่อตามข้อ 2.2 ได้ แต่เนื่องจากไม่เคยมีประวัติในการขอสินเชื่อ สถาบันการเงินไม่เคยเห็นพฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้สถาบันการเงินอาจต้องพิจารณาคุณสมบัติเพิ่มเติม รวมถึงมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ หรืออาจไม่อนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้ จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติม
3.2 กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น NPLs
ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น NPLs สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสถานะเป็น NPLs แต่ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และ 2) ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น NPLs และมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยที่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงินและมีความเสี่ยงสูง ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาให้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ
นอกเหนือจากผู้ประกอบการ SMEs ทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินเกินกว่า 500 ล้านบาท หรือเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ซึ่งไม่เข้าข่ายคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้ถือเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงินในการเข้าถึงสินเชื่อปกติของสถาบันการเงิน และสามารถมีช่องทางการระดมทุนที่หลากหลาย เช่น การเพิ่มทุนโดยเจ้าของกิจการ การออกหุ้นกู้ เป็นต้น
ต่างประเทศ |
27. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) สำหรับความร่วมมือในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) สำหรับความร่วมมือในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ พร้อมทั้งอนุมัติให้ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สาระสำคัญ
ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) สำหรับความร่วมมือในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับ Financial Services Commission (FSC) ไต้หวัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มเจรจาจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวตั้งแต่ปี 2559 โดยการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ อยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือในการกำกับดูแลสถาบันการเงินระหว่างประเทศไทยและไต้หวัน เพื่อให้การกำกับดูแลสถาบันการเงินเป็นไปอย่างมั่นคงปลอดภัยและมีความสอดคล้องกับมาตรฐาน โดยเฉพาะในกรณีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของระบบการเงินและสถาบันการเงินทั้งสองฝ่าย ซึ่งหน่วยงานทั้งสองจะสามารถร่วมกันพิจารณาปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ไม่มีเจตนาที่ประสงค์จะก่อการผูกมัดใดๆ ทางกฎหมายต่อหน่วยงานทั้งสองและจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันลงนาม โดยมีผลต่อไปเป็นระยะเวลา 1 ปี และจะต่ออายุโดยอัตโนมัติคราวละ 1 ปี จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 30 วัน
28. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีนว่าด้วยการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการกระชับความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าอาเซียน-จีน
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีนว่าด้วยการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ASEAN –China Economic Ministers’ Joint Statement on Combating the Coronavirus Disease (COVID-19) and Enhancing ACFTA Cooperation และการกระชับความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีนฯ เป็นเอกสารแสดงเจตจำนงเพื่อร่วมมือกันพลิกฟื้นเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระดับโลกและภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement: ACFTA) มีส่วนสำคัญในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีน นำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยจากข้อมูลของสำนักเลขาธิการอาเซียน การค้าของทั้งสองฝ่ายเติบโตจาก 235.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553 เป็น 497 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 111 อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความท้าทายในปัจจุบัน การค้าระหว่างอาเซียนและจีนยังมีแนวโน้มในเชิงบวกและจะเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ ทำให้อาเซียนและจีนเล็งเห็นความสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านความตกลง ACFTA
2. การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 อาเซียนและจีนชื่นชมการให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากทั้งสองฝ่ายทั้งในรูปแบบการเงินและการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการรักษาตลาดที่เปิดกว้าง และส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนเพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับภูมิภาคและโลก รวมถึงทำให้การเคลื่อนย้ายของสินค้าเกษตร อาหาร ยา อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์สินค้าและบริการที่จำเป็นอื่นๆ เป็นไปอย่างราบรื่น
3. การใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นของตลาดและปรับปรุงเสถียรภาพของเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเน้นย้ำการแสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์กับผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชน ธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย เพื่อลดการหยุดชะงักของการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีน ซึ่งรวมถึงการระงับการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่จำเป็นเพื่อลดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ทั้งนี้หากมีความจำเป็นในการออกมาตรการฉุกเฉินทางการค้าใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 จะต้องมีการกำหนดเป้าหมาย อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม มีความโปร่งใสและต้องคำนึงถึงมาตรฐานและข้อเสนอแนะขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) และสอดคล้องกับสิทธิและพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trades Organization: WTO)
แต่งตั้ง |
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้ง นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมขอลาออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายภูมินทร ปลั่งสมบัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
32. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 8 คน ซึ่งเป็นการแต่งตั้งตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ดังนี้
1. รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม
2. นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร
3. นางสาวศุภธิดา พรหมพยัคฆ์
4. นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
5. รองศาสตราจารย์ทิศนา แขมมณี
6. นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง
7. นางเนตรชนก วิภาตะศิลปิน
8. นายปกรณ์ นิลประพันธ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป และในครั้งต่อ ๆ ไป ให้กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)
..............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ