COVID-19 กระทบลงทุน EEC ช่วง 5 เดือนแรกปี 2563 ลด 10% ทั่วประเทศลด 27%

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1997 ครั้ง

COVID-19 กระทบลงทุน EEC ช่วง 5 เดือนแรกปี 2563 ลด 10% ทั่วประเทศลด 27%

EEC เผยช่วง 5 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) COVID-19 กระทบการเข้ามาลงทุนใน EEC ซีลดลงเพียง 10% ส่วนการลงทุนทั่วประเทศลดลง 27% | ที่มาภาพประกอบ: stevepb (Pixabay License)

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2563 ว่านายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2563 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 ทำให้นักลงทุนชะลอตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีและทั่วประเทศ เนื่องจากมีความไม่สะดวก ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ รายงานยอดการยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ว่าภาพรวมทั่วประเทศลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 27 ส่วนตัวเลขการยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ลดลงร้อยละ 10 ซึ่งลดลงไม่มาก

นายคณิศ ยอมรับว่า ผลกระทบจากโควิด-19 หนักมากที่สุดในช่วงไตรมาส 2 แต่เชื่อว่าภาพรวมไตรมาส 3-4 น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ แต่ทางสำนักงานอีอีซี ยังไม่ขอประเมินภาพรวมทั้งปี และอีอีซี ยังไม่มีการปรับเป้าหมายยอดทั้งปีที่ตั้งไว้ว่าจะมีมูลค่าโครงการลงทุนใหม่ในพื้นที่อีอีซี 100,000 ล้านบาท ส่วนการลงทุนเดิมผ่านบีโอไอ อีก 200,000 ล้านบาท รวมเป็นพื้นที่การลงทุนรวมในพื้นที่อีอีซี ปีละ 300,000 ล้านบาท สำหรับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด ได้แก่ จีน ตามด้วยญี่ปุ่น ประมาณประเทศละกว่า 8,000 ล้านบาท ส่วนสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และไต้หวัน ลงทุนประมาณประเทศละ 6,000 ล้านบาท

สำหรับการเข้ามาลงทุนในอีอีซีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ทั้งการย้ายฐานของนักลงทุนจีนเอง ญี่ปุ่น และนักลงทุนยุโรปก็ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาไทยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มลงทุนในอุตสาหกรรม 5G จะทยอยเข้ามาลงทุน เนื่องจากไทยสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี กลุ่มธุรกิจที่จะย้ายเข้ามาอีก เช่น เฮลแคร์ การรักษาพยาบาลสอดคล้องกับการที่ไทยตั้งเป้าเป็นเมดิคัลฮับ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพทั้งอาหารและบริการต่าง ๆ ซึ่งทางสำนักงานอีอีซีจะเร่งทำงานในช่วง 4-6 เดือนจากนี้ไป เพื่อให้ต้นปี 2564 นักลงทุนเริ่มมีการลงทุนได้ ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานหรือ MRO อีอีซีเตรียมพื้นที่ 500 ไร่ การบินไทยต้องการทำโครงการต่อใช้พื้นที่ 200 ไร่ ยังเหลืออีก 300 ไร่ อีอีซีจะหาผู้สนใจเข้ามาลงทุนต่อไป

นายคณิศ กล่าวว่า คณะกรรมการอีอีซี ยังมอบหมายให้อีอีซีและบีโอไอ พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อเป็นแรงจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะ 5 อุตสาหกรรม S-CURVE รวมถึงการศึกษาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเน้นอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เข้ามาลงทุนให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะให้สิทธิประโยชน์อย่างประเทศเพื่อนบ้าน แต่จะพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม สำหรับการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนของประเทศเพื่อนบ้านที่ให้มากกว่าไทย เช่น เวียดนาม ให้พื้นที่ลงทุนฟรีและไม่มีการเรียกเก็บภาษีเงินได้หากยังไม่มีกำไร เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซี ยังรับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตอีอีซี ทั้งการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี ที่มีเป้าหมาย ยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งใช้แนวทางพัฒนาโดยใช้ความต้องการนำการผลิต ได้แก่ ความต้องการในประเทศ รองรับมหานครการบินภาคตะวันออก เมืองใหม่ และการท่องเที่ยว ความต้องการในต่างประเทศ สำรวจตลาดหาความต้องการเอเชีย CLMV และยุโรป ที่มีความต้องการสูง สร้างความต้องการด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่ นอกจากนี้ ยังยกระดับการตลาด-การแปรรูป-การเกษตร ด้วยเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน ได้แก่ สร้างตลาดด้วยกลไก e-commerce e-auction ขายไปทั่วโลก เชื่อมระบบโลจิสติก ตั้งแต่ส่งออก-ขายในประเทศ-จนถึงการรวมสินค้าระดับฟาร์ม ให้สะดวกระดับสากล แปรรูปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ได้สินค้าคุณภาพมาตรฐานระดับโลก เก็บรักษาผลไม้ อาหารทะเล ด้วยระบบห้องเย็น สร้างงานวิจัยเชิงด้านเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริงตรงกับความต้องการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่หีบห่อ การแปรรูป การปลูก การควบคุมความเสี่ยงจากภูมิอากาศ จัดกลุ่มเกษตรกร จัดทำโซนนิ่ง เพื่อสะดวกในการเสริมสร้างความรู้ใหม่ การตลาด-การผลิต-การเงิน

อีอีซี ยังให้ความสำคัญกับเกษตร 5 คลัสเตอร์ที่มีพื้นฐาน ทำได้ทันที ได้แก่ ผลไม้ – พืช Bio-Based3 - ประมง - สมุนไพร - พืชมูลค่าสูง (เช่น ไม้ประดับ/ผักปลอดสารพิษ) โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สกพอ.เป็นเลขานุการร่วม

ที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซี ยังรับทราบโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) พื้นที่อีอีซี ซึ่งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่ รูปแบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Power Supply : SPS) ลักษณะการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ Independent Power Supply (IPS) ซึ่งมอบหมายให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งให้ กฟภ. รับซื้อ และส่งจำหน่ายสำหรับใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ด้านอัตราค่าไฟฟ้าที่จะใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะจะไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปที่ กฟภ.ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น ๆ

ขณะที่แนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ตามที่กลุ่มบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซีจากประเทศญี่ปุ่น อาทิ หอการค้าประเทศญี่ปุ่น (JCC) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ภาคธุรกิจจากสาธารณรัฐเกาหลี และประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐ ขอให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิคเข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยและต่างประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อรองรับบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สกพอ.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุขถึงแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศไทย ได้แก่ การสร้างภาคีเครือข่ายองค์กร บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทาง กับสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกลศุลใหญ่ จัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly) การขึ้นทะเบียนสถานที่และการบริการ Alternative State Quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี และทบทวนข้อกำหนด หรือมาตรการให้บุคลากรต่างชาติสามารถทำภารกิจในพื้นที่ได้คล่องตัวยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการอนุญาตให้เดินทางระหว่างประเทศแบบ Business Bubble เป็นลำดับแรกในพื้นที่เฉพาะเจาะจง อาทิ พื้นที่ อีอีซี โดย สกพอ.จะได้เสนอศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 1019 หรือ ศบค. เพื่อทราบต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: