รายงานพิเศษจาก Amnesty International Thailand ระบุก่อนที่สังคมจะมีคำตอบในเรื่องการลงโทษผู้กระทำผิดคดีข่มขืน สังคมไทยควรมีการพูดคุยกันอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงก็คือการลงโทษแบบไหนที่จะตอบสนองต่อปัญหาการข่มขืนได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองอารมณ์ของสังคม | ที่มาภาพ: Amnesty International (Artista: Hikaru Cho / photo: Jim Marks)
ข่าวการก่อเหตุข่มขืนในสังคมไทยเกิดขึ้นไม่ว่างเว้นจากหน้าสื่อ หลายเหตุการณ์สร้างความสะเทือนใจให้กับคนในสังคม เมื่อผู้ถูกกระทำเป็นเด็กที่ปกป้องตัวเองไม่ได้ แล้วถูกกระทำจากคนใกล้ชิดที่เด็กไว้วางใจ เช่น พ่อ ญาติ เพื่อนบ้าน หรือครู
เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่รวดเร็วทันใจ มีการตัดสินลงโทษไม่สาสม ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ก่อคดีซ้ำซาก มีการใช้อิทธิพลแทรกแซง เกิดการคุกคามครอบครัวผู้เสียหาย หรือการบีบบังคับให้ยุติการดำเนินคดี สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความขุ่นเคืองให้กับสังคม จนหลายครั้งนำไปสู่การรณรงค์ให้มีการลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยมุ่งหวังว่าจะให้ผู้ก่อเหตุข่มขืนจะเกิดความหวาดกลัว เช่น โทษประหารชีวิต หรือล่าสุดที่มีการหยิบยกข้อเสนอเรื่องการฉีดยาให้อัณฑะฝ่อ เพื่อที่จะไม่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย และเชื่อว่าจะทำให้ผู้ก่อเหตุไม่ไปกระทำผิดซ้ำ
หากมองไปที่ปัญหาการข่มขืนที่เกิดขึ้นแล้ว จะเห็นหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงในสังคมไทย รวมไปถึงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่เปิดช่องว่างให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามครรลอง การเสนอให้ใช้การลงโทษที่เด็ดขาดรุนแรงในโครงสร้างระบบยุติธรรมที่ยังมีข้อบกพร่อง อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น
ก่อนที่สังคมจะมีคำตอบในเรื่องนี้ เราจึงควรมีการพูดคุยกันอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงก็คือการลงโทษแบบไหนที่จะตอบสนองต่อปัญหาการข่มขืนได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองอารมณ์ของสังคม
ข้อถกเถียงวิธีลงโทษด้วยการฉีดไข่ฝ่อ
การฉีดยาเพื่อกดฮอร์โมนเพศชายแก่ผู้กระทำผิดคดีข่มขืน เป็นวิธีที่ยังมีการถกเถียงถึงความเหมาะสมในหลายประเทศ ถึงความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และจุดมุ่งหมายที่ต้องการลดเหตุข่มขืนในสังคม
นายแพทย์ กัมปนาท พรยศไกร ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ เคยให้ความเห็นเรื่องนี้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก Sarikahappymen ว่า ทางการแพทย์มีวิธีลดฮอร์โมนเพศชายเพื่อรักษาคนไข้มะเร็งต่อมลูกหมาก 2 วิธี คือ 1.ผ่าตัดเอาไข่ที่เป็นตัวผลิตฮอร์โมนออก วิธีนี้ง่าย สะดวก ประหยัด 2.ฉีดยากดฮอร์โมน ไม่ต้องผ่าตัด แต่ต้องฉีดยาทุก 3 เดือนตลอดชีวิต ค่ายาปีละนับแสนบาท
ผลของการไม่มีฮอร์โมนเพศชายจะทำให้หงอยเหงา ซึมเซา ความต้องการทางเพศลด ความแข็งและขนาดลดลง จึงนำมาสู่แนวคิดว่าจะนำมาใช้กับนักโทษคดีทางเพศเพื่อให้สังคมปลอดภัย แต่มีข้อสังเกตซึ่งเป็นที่ถกเถียงในหลายประเทศต่อประเด็นนี้
คดีข่มขืนลดลงจริงหรือ? จากข้อมูลพบว่าคดีข่มขืนลดลงได้เล็กน้อย แต่ถ้าเกิดเหตุแล้วจะหนักกว่าเดิม เมื่อข่มขืนเสร็จแล้วผู้ก่อเหตุจะพยายามฆ่าปิดปาก เนื่องจากกลัวโดนจับได้ทีหลัง
แล้วถ้าเป็นแพะล่ะ? ขณะที่ระบบยุติธรรมบ้านเรายังเป็นที่คาใจในหลายๆ เรื่อง หากคนที่ถูกดำเนินคดีกลายเป็นแพะขึ้นมา ตัดอวัยวะเพศไปแล้วมารู้ที่หลังว่าเป็นแพะ จะทำอย่างไร
ใครจ่าย? ในประเทศอังกฤษก็มีการถกเถียงกันเรื่องความคุ้มค่าที่จะต้องเอาภาษีปีละเป็นแสนบาทมาจ่ายค่ายากดฮอร์โมนให้ผู้ต้องหาหนึ่งคน ในขณะที่คนไข้มะเร็งต่อมลูกหมากในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ยังเบิกยาตัวนี้ไม่ได้ด้วยซ้ำ
โพสต์ดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่าแม้วิธีดังกล่าวจะกำจัดฮอร์โมนเพศชายได้ แต่ผู้หญิงหลายคนก็ก่อคดีทางเพศได้ไม่ต่างกัน จึงมีทั้งประเทศที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีนี้
‘ชายเป็นใหญ่-อำนาจนิยม’ รากเหง้าปัญหาข่มขืน
หากจะแก้ปัญหาได้ต้องมองไปถึงรากเหง้าของปัญหา จะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่ารากเหง้าการก่อเหตุข่มขืนในไทยมาจากอำนาจแบบชายเป็นใหญ่และอำนาจเหนือ เมื่อผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด เช่น พ่อ ญาติ ครู ใช้สถานะที่เหนือกว่านำไปสู่การคุกคามทางเพศหรือการข่มขืน การใช้อำนาจเช่นนี้ซ้อนทับอยู่กับอำนาจแบบชายเป็นใหญ่ยิ่งทำให้ปัญหารุนแรง
“คนข่มขืนที่เป็นผู้ชายจะพูดคล้ายกันว่า ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ เขาถูกบ่มเพาะมาจากครอบครัวและการศึกษาที่เชื่อว่าผู้ชายสามารถแสดงออกถึงความต้องการทางเพศได้ทันทีโดยไม่ต้องเก็บไว้ เมื่อเริ่มโตก็ถูกปลูกฝังว่าให้ไปเที่ยวสถานบริการ เมื่อมีแฟนก็มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องความยินยอมของผู้หญิง นอกจากนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นตัวกระตุ้นในคดีรุมโทรม”
ปัญหาสำคัญที่ จะเด็ด มองเห็นคือกระบวนการยุติธรรมไทยเปิดช่องให้ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ เมื่อผู้ถูกกระทำมีอายุเกิน 15 ปี จะสามารถไกล่เกลี่ยคดีได้ ผู้กระทำที่เป็นผู้มีอิทธิพลก็จะเสนอเงินเพื่อให้ยุติคดี จากการเก็บข้อมูลเขาพบว่ากรณีตัวอย่างมากกว่าครึ่งจบลงด้วยการไกล่เกลี่ย นี่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำเข้าถึงสิทธิได้ยาก การต่อสู้คดีก็มีกระบวนการที่ทำให้ผู้ถูกกระทำลำบากใจ โดยเฉพาะเด็กที่จะได้รับผลกระทบทางจิตใจจากการพูดเรื่องนี้ซ้ำ ทำให้เหยื่อคดีข่มขืนไม่อยากต่อสู้คดี
เขามองว่าการเพิ่มโทษคดีข่มขืนไม่ใช่คำตอบ การเสนอทางออกด้วยการฉีดอวัยวะเพศให้ฝ่อเป็นการเสนอในเชิงสีสัน แต่ยิ่งจะทำให้ผู้กระทำผิดโกรธและไม่คิดจะปรับเปลี่ยนตัวเอง และการข่มขืนก็สามารถทำด้วยอวัยวะอื่นได้ และเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิตที่เป็นแนวทางลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จะทำให้ผู้กระทำผิดไม่ได้ปรับตัว การข่มขืนในสังคมก็ไม่ลดลงและยิ่งทำให้คนข่มขืนทำร้ายเหยื่อรุนแรงขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับ
จะเด็ด เห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นรุนแรงพอแล้ว แต่จะต้องสร้างเงื่อนไขในกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้คนที่ก่อคดีเพศไม่มาทำซ้ำอีก
“เราไม่ได้เข้าข้าง ยังไงเขาต้องถูกลงโทษ แต่ทำยังไงที่ลงโทษไปแล้วจะทำให้เขาที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต หรือทำยังไงที่จะปกป้องผู้หญิงที่ถูกกระทำให้ลุกขึ้นมาต่อสู้และพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรม เพราะสังคมไทยยังมีมายาคติกดทับผู้หญิงที่ถูกข่มขืนว่าแต่งตัวโป๊ ไปหาเขาเอง หรือต้องการแบล็กเมล์ผู้ชาย สังคมต้องเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจไปด้วยกัน ดีกว่าจะทำให้ผู้กระทำผิดตายไปโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง"
“กระบวนการยุติธรรมที่ได้ผลต้องทำให้ผู้กระทำผิดยอมรับความผิดด้วยตัวเอง เรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นความผิดพลาดและมีโอกาสปรับตัวได้ สิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหานี้คือกลไกทางนโยบาย เช่น กรณีครูข่มขืนนักเรียน จะทำอย่างไรให้ครูอำนาจน้อยลง อาจต้องให้มีการประเมินผลโดยชุมชน การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดชายเป็นใหญ่ก็ต้องแก้ที่ระบบการศึกษา ต้องมีหลักสูตรเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เปลี่ยนการบ่มเพาะในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำระยะยาว”
ส่วนการแก้ไขเชิงนโยบายที่ จะเด็ด มองว่าภาครัฐสามารถดำเนินการได้ก่อน คือ
1. กฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดทางเพศในปัจจุบันมีการแก้ไขโดยระบุว่า การกระทำชำเราต้องเป็นการกระทำที่ใช้อวัยวะเพศเท่านั้น หากไม่ใช่อวัยวะเพศถือเป็นการอนาจารซึ่งเป็นคดีที่เบากว่ามาก จึงต้องแก้กฎหมายส่วนนี้ให้ครอบคลุม
2. กฎหมายอาญาควรเพิ่มคำนิยามเรื่องการคุกคามทางเพศให้มากกว่านี้ เพราะการคุกคามทางเพศมีหลายประเภท ทั้งการใช้สายตา วาจา การใช้โซเชียลมีเดีย พฤติกรรมต่างๆ ควรจะถูกนิยามไว้ในกฎหมายด้วย
3. การปรับเปลี่ยนเนื้อหาของสื่อ ยังไม่มีการเซ็นเซอร์ฉากข่มขืนในละคร เป็นการตอกย้ำมายาคติแบบผิดๆ ว่าพระเอกข่มขืนนางเอกแล้วมาคืนดีกัน ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องรณรงค์การปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องความเท่าเทียมกันอย่างต่อเนื่อง
เชื่อมั่นในการเยียวยาและแก้ไข
“สิ่งที่ทำให้เกิดการข่มขืนมาจากระบบอำนาจนิยม การเสนอให้ฉีดอวัยวะเพศหรือทำอะไรต่อเนื้อตัวร่างกายคนละเมิดจึงไม่ตอบโจทย์”
ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ยืนยันว่าสาเหตุที่ทำให้คดีคดีข่มขืนเกิดขึ้นซ้ำซากมีหลายมิติ แต่มิติใหญ่ที่สุดคือเรื่องระบบอำนาจนิยม
“คนที่จะละเมิดคนอื่นต้องมีอำนาจที่เหนือกว่า โรงเรียนพยายามทำให้เด็กเชื่อง เชื่อฟังอำนาจของครู แล้วในหมู่คนจำนวนมากตามโรงเรียนต่างๆ ก็มีคนแฝงเข้าไปอยู่ในนั้น อำนาจนิยมนั้นจึงออกมาในรูปของการละเมิดทางเพศ”
จากการเข้าไปช่วยเหลือเด็กนักเรียนผู้ถูกกระทำในหลายคดี สิ่งที่ป้ามลสังเกตเห็นคือการ ‘ยอมจำนน’ ของเด็กเหล่านั้น เขารู้สึกด้อยอำนาจ รู้สึกผิด อับอาย ด้อยค่า ลงโทษตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญหากไม่มีการเยียวยาที่เหมาะสม
กระบวนการยุติธรรมจึงไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การลงโทษผู้กระทำผิด สิ่งสำคัญคือกระบวนการส่งเสริมสนับสนุน (empower) ให้ผู้ถูกกระทำยึดมั่นในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย โดยเฉพาะเด็กที่ต้องมีคนช่วยเหลือ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา
“กระบวนการ empower ไม่ง่ายที่จะเขียนเป็นกฎหมาย อยากให้นึกถึงว่าเหยื่อคดีทางเพศที่เข้าไปอยู่ในการคุ้มครองพยาน เขารู้สึกอับอาย ด้อยค่า และต้อยต่ำอยู่แล้ว แต่กระบวนการคุ้มครองพยานถูกออกแบบเพื่อรักษาความปลอดภัย มีคนยืนเฝ้าตลอด ก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันต่อไป"
“ราชการออกแบบกลไกแบบการตัดเสื้อโหล พอลงรายละเอียดก็เป็นจุดอ่อน เราจึงต้องสนธิพลังกัน เราไม่มีบ้านพักหรือทรัพยากรมากเท่ารัฐ แต่รัฐไม่มีในสิ่งที่เรามี คือการนั่งลงโอบกอดเด็กๆ และเชื่อมั่นว่าเขาไม่ได้ผิดพลาด เขาเป็นแค่ผู้ถูกกระทำ ถ้าเขาสามารถเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้จะค่อยๆ ทำให้วงของคนกระทำผิดเล็กลง”
งานอีกส่วนหนึ่งที่บ้านกาญจนาภิเษกทำคือการดูแลเด็กผู้ชายที่ทำผิดกฎหมาย รวมถึงคนที่ก่อคดีละเมิดทางเพศ และละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายรูปแบบอื่นๆ เช่น การฆ่า การทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ซึ่งมีวิธีคิดว่าตัวเองสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้และตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกกระทำ หรือบางรายต้องการการยอมรับในหมู่เพื่อนจนนำไปสู่การรุมโทรม
เมื่อเข้ามาที่บ้านกาญจนาฯ แล้ว เด็กเหล่านี้จะเข้าสู่กระบวนการ ‘แก้ไข’ เพื่อเปลี่ยนวิธีคิด โดยให้เขาเห็นตัวอย่างจากคดีทางเพศอื่นๆ ว่าเหยื่อต้องตกอยู่ในเงื่อนไขชีวิตแบบไหน เขาต้องอับอาย รู้สึกไม่มีคุณค่า จนเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า เด็กชายเหล่านั้นก็รู้สึกผิด เป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ต้องทำงานกันเป็นปี วิธีคิดเขาจึงจะค่อยๆ เปลี่ยน
“การที่คนเสนอให้ใช้โทษประหารชีวิตกับคดีข่มขืนก็เข้าใจว่าเขารับรู้เรื่องการข่มขืนซ้ำหลายหน แล้วการจัดการยังไม่ตอบโจทย์ จึงเสนออะไรที่สะใจแทน แต่นโยบายที่จะบังคับใช้จริงต้องใช้เวลาพูดคุยกันให้ลุ่มลึกและเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ก่อนจะออกมาเป็นกฎกติกา
“เราอยู่ในประเทศที่การบังคับใช้กฎหมายไม่เสถียรในทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความผิดทางเพศ ต้องเข้าใจคนที่เสนอให้ลงโทษอย่างรุนแรงว่าเขารู้สึกไม่มีทางเลือก เราต้องต่อสู้ทางความคิดกัน และต้องสื่อสารให้เห็นว่าการข่มขืนเป็นเรื่องอำนาจนิยม เพราะคุณจะไม่ทำสิ่งนี้กับคนที่มีอำนาจเหนือคุณ มาหนุนเสริมกับระบบอุปถัมภ์ ทำให้เราละเลยที่จะปกป้องคนที่อ่อนแอ เมื่ออำนาจนิยมมาเจอระบบอุปถัมภ์ก็หล่อเลี้ยงด้านมืดของมนุษย์เอาไว้จนแข็งแกร่ง เวลาจะออกกฎหมายต้องรู้ว่ารากเหง้าคืออะไร ไม่เช่นนั้นจะเป็นเพียงการทำตามเสียงเรียกร้องของคนที่ผิดหวังกับกฎหมายบ้านเมืองเท่านั้นเอง” ทิชากล่าว
ลงโทษรุนแรง ไม่เท่ากับ ความยุติธรรม
ด้าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลก เผยว่า ทางองค์กรต่อต้านอาชญากรรมและความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ ไม่ว่าเกิดกับเพศใดก็ตาม รวมทั้งที่เกิดขึ้นกับเด็กด้วย และเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อยุติความรุนแรงเช่นนี้ โดยระบุว่า การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเป็นสิ่งที่ทารุณจนยากจะบรรยาย แต่การลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการฉีดยาเพื่อให้หมดความรู้สึกทางเพศหรือโทษประหารชีวิตไม่ถือเป็นความยุติธรรม หากยิ่งเพิ่มความทารุณโหดร้ายมากขึ้นไปอีก
วิธีการที่เรียกว่าการฉีดยาเพื่อให้หมดความรู้สึกทางเพศ เป็นการฉีดยาหรือฮอร์โมนเพื่อกดความรู้สึกทางเพศ และเป็นการรักษาพยาบาลที่อาจกระทำได้ เมื่อบุคคลให้ความยินยอมซึ่งเกิดจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น หรือเป็นผลมาจากการประเมินโดยผู้ชำนาญการทางการแพทย์ว่ามีความเหมาะสม และอาจใช้ได้ดีสำหรับผู้ที่ต้องได้รับการรักษาอาการเจ็บป่วย แต่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษโดยไม่มีความยินยอม อาจถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี นอกจากนั้น ยังเป็นการปฏิบัติที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ โดยเป็นการปฏิบัติงานนอกเหนือจากกรอบการวินิจฉัยทางการแพทย์และจริยธรรมทางการแพทย์
ซึ่งตัวอย่างในประเทศอินโดนีเซียที่มีกฎหมายบังคับฉีดยาเพื่อให้หมดความรู้สึกทางเพศ แพทยสภาแห่งอินโดนีเซีย (IDI) ได้ออกมาปฏิเสธไม่ร่วมมือในการลงโทษด้วยการฉีดยาเพื่อให้หมดความรู้สึกทางเพศ เนื่องจากเป็นการละเมิดจริยธรรมทางการแพทย์
แม้ว่าการนำ “การฉีดยาเพื่อให้หมดความรู้สึกทางเพศ” อาจมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึง “ความเด็ดขาด” ของรัฐบาลที่ใช้กฎหมายนี้ในการปราบปรามความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่า มันเป็นมาตรการ “ที่ฉาบฉวย” เพียงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากการปฏิรูปด้านกฎหมายและนโยบายที่ซับซ้อนมากกว่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลต้องนำมาใช้เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศได้อย่างเป็นผลมากขึ้น
แอมเนสตี้ย้ำว่าการเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัว จะต้องทำอย่างรอบด้านทั้งด้านกฎหมาย ร่างกาย จิตใจและสังคม สิ่งที่รัฐจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วนคือ การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะต้องโปร่งใส รวดเร็ว แม่นยำและเท่าเทียมกัน จะต้องไม่มีการปล่อยคนผิดลอยนวล ยิ่งกระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมและรวดเร็วเท่าไร ยิ่งถือได้ว่าเป็นการเยียวยาผู้เสียหายได้มากเท่านั้นนอกจากนั้นยังต้องมีการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้เสียหายในระยะยาวด้วย ซึ่งเรื่องหลังนี้รัฐจะต้องมีการทำงานอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาผู้เสียหายหลายคนรวมทั้งครอบครัวที่ประสบชะตากรรมดังกล่าวยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม
ส่วนด้านการกล่อมเกลาผู้กระทำผิดในทัณฑสถาน ตามวิสัยทัศน์ของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมได้ระบุไว้ว่า “เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการควบคุม แก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังเพื่อคืนคนดี มีคุณค่าสู่สังคม" เราหวังว่าทัณฑสถานจะสามารถมีบทบาทในการกล่อมเกลาผู้กระทำผิด เพื่อที่ผู้พ้นโทษที่ได้รับการแก้ไข บำบัดฟื้นฟูแล้วจะมีความพร้อมในการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่กระทำผิดซ้ำ และทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ เมื่อเป็นเช่นนั้นเป้าหมายหลักของ “โครงการคืนคนดีสู่สังคม” ที่กระทรวงยุติธรรมตั้งไว้จะได้เป็นจริงเสียที
*รายงานพิเศษชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ Amnesty International Thailand เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ