ส.ค. 63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' สถิติใหม่สูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

ทีมข่าว TCIJ | 27 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 7244 ครั้ง

ส.ค. 2563 ผู้ประกันตนว่างงาน 435,010 คน สูงเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 136.05% เลิกจ้าง 220,324 คน สูงเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 768.44% นอกจากนี้ทั้งการว่างงานและเลิกจ้างยังสูงสุดเป็นสถิติใหม่ต่อเนื่อง และวิกฤตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 - นักเศรษฐศาสตร์เตือนตัวเลขการว่างงานของไทย อาจจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 2% ไปที่ 7.4% - ครม.เห็นชอบเงินอุดหนุนจ้างงาน นร.-นศ.จบใหม่ 2.6 แสนคน 50% เป็นเวลา 12 เดือน แยกตามวุฒิไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน/คน ในระยะเวลา 12 เดือนตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 - 30 ก.ย. 2564 กรอบวงเงินไม่เกิน 19,462 ล้านบาท | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ช่วงปลายเดือน ก.ย. 2563 ได้มีการเปิดเผยข้อมูล ข้อมูลรายงาน เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ส.ค. 2563 ระบุว่าการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือน ส.ค. 2563 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,117,083 คน มีอัตราการหดตัวร้อยละ -4.81 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,679,220คน) และมีอัตราการหดตัวร้อยละ -0.46 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,168,914 คน)

การจ้างงานรายอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ สาขาขนส่ง ร้อยละ 6.52 และสาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 1.50 ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่หดตัว ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ -24.01 สาขาการผลิต ร้อยละ -6.37 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ -3.17 และสาขาการค้า ร้อยละ -2.24

การว่างงาน เดือน ส.ค. 2563 มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมจำนวน 435,010 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 136.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 184,291 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.08 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 410,061 คน) ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือนสิงหาคม 2563 พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ส.ค. 2562 ร้อยละ 1) แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.1

โดยการว่างงานรายอุตสาหกรรมหลักเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าขยายตัวทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ 472.94 สาขาขนส่ง ร้อยละ 166.72 สาขาการผลิต ร้อยละ 117.07 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 96.82 สาขาการค้า ร้อยละ 79.05 และสาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 20.24

ทั้งนี้จากข้อมูลผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2539-2563 พบว่าก่อนหน้านี้สถิติผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมเคยสูงสุดที่เดือน มิ.ย. 2552 จำนวน 188,986 คน ต่อมาถูกทำลายสถิติเมื่อเดือน เม.ย. 2563 ที่ 215,652 คน และเดือน พ.ค. 2563 ที่จำนวน 332,060 คน เดือน มิ.ย. 2563 ที่จำนวน 395,693 คน ก.ค. 2563 ที่จำนวน 410,061 คน ล่าสุดสถิติ ณ ส.ค. 2563 435,010 คน นี้ก็ได้กลายเป็นสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งในรอบปี 2563 (โดยในรายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ส.ค. 2563 ระบุว่าเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5)

ลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างเดือน ส.ค. 2563 มีจำนวน 220,324 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 768.44 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 25,370 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 23.94 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 177,770 คน)

สำหรับตัวเลขลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง เดือน ส.ค. 2563 จำนวน 220,324 คน นี้ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดที่สำนักงานประกันสังคมเคยเก็บสถิติมาด้วยเช่นกัน (โดยในรายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ส.ค. 2563 ระบุว่าเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5)

ทั้งนี้ การเลิกจ้างรายอุตสาหกรรมหลักเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าขยายตัวทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ 3,941.79 สาขาขนส่ง ร้อยละ 809.74สาขาการค้า ร้อยละ 642.93 สาขาการผลิต ร้อยละ 590.95 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 379.21 และสาขาเกษตรกรรมร้อยละ 105.48 [1]

เตือนตัวเลขการว่างงานของไทย อาจก้าวกระโดดจาก 2% ไปที่ 7.4%

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวในการสัมมนา "BATTLE STRATEGY แผนฝ่าวิกฤต พิชิตสงคราม EPISODE II : DON'T WASTE A GOOD CRISIS พลิกชีวิตด้วยวิกฤตการณ์" ในหัวข้อ "ประเทศไทยกับการก้าวข้ามเศรษฐกิจติดเชื้อ" ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิด 3 บาดแผลสำคัญ คือ

1. ภาคธุรกิจปิดกิจการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 และการชะลอของเศรษฐกิจโลก คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ยอดขายและยอดส่งออกหดตัวลงมาก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม และธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก จากผลกระทบการบริโภคชะลอตัวและการล็อกดาวน์ รวมถึงธุรกิจรายเล็กที่ขาดสภาพคล่อง

2. ปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สะท้อนภาพชัดเจน แม้ว่าสิ้นไตรมาส 2/2563 ตัวเลขการว่างงานของไทยจะอยู่ในระดับเพียง 2% แต่หากมีการปิดกิจการเพิ่มขึ้นก็จะทำให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เกิดความกังวลว่ากลุ่มคนที่มีอายุ 15-24 ปี และกลุ่มนักศึกษาจบใหม่จะมีโอกาสตกงานมากขึ้น แม้แต่กลุ่มแรงงานรายชั่วโมงบางกลุ่มที่มีจำนวนมากถึง 2.5 ล้านคน ก็มีชั่วโมงการทำงานลดลง หรือมีงานทำแต่ทำงาน 0 ชั่วโมง เปรียบเสมือนกับคนตกงาน หากรวมกลุ่มคนที่ทำงาน 0 ชั่วโมงเข้าไป ตัวเลขการว่างงานของไทยจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 2% ไปที่ 7.4% จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลต่อผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

และ 3. การดูแลงบดุลของภาคครัวเรือน ค่อนข้างมีความเปราะบาง จากที่ผ่านมาครัวเรือนได้สร้างภาระหนี้สินไว้เป็นจำนวนมาก สัดส่วนหนี้ครัวเรือนล่าสุดมาที่ 81% และคาดว่าสิ้นปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 88-89% ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคครัวเรือน การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว จะเป็นปัญหาต่อกำลังซื้อในอนาคตที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ขาดแรงหนุนของปัจจัยภายในประเทศ

นายยรรยง กล่าวว่าสำหรับเศรษฐกิจทั่วโลกยังมองว่าจะเป็นการค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และการฟื้นตัวจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมด้วย เนื่องจากความสามารถในการการบริหารจัดการและมาตรการอัดฉีดเงินและเยียวยาของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศมีความสามารถที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ประเทศสหรัฐฯ และจีน ที่เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อทำมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เป็นจำนวนมากและมหาศาล ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสามารถกลับมาได้เร็ว

"การฟื้นตัวในครั้งนี้แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน และแต่ละ sector ก็ไม่เหมือนกันด้วย แม้ทุกคนมองว่าเศรษฐกิจจะ Bottom out ไปแล้ว แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็เป็นการฟื้นตัวทีชะลออยู่ และฟื้นตัวช้า ส่วนประเทศไหนจะฟื้นกลับมาก่อนก็ขึ้นกับความสามารถในการอัดฉีดเม็ดเงินของประเทศนั้น" นายยรรยง กล่าว

ด้านภาคอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้าที่สุด คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ยังคงต้องรอความหวังการผลิตวัคซีนรักษา COVID-19 ออกมาใช้และกระจายไปให้กับทุกประเทศก่อน จึงจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นได้เร็ว โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 ปีกว่าจะเห็นการฟื้นตัวกลับมาเหมือนกับช่วงก่อน COVID-19

ขณะที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวช้า เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำไห้กำลังซื้อของคนลดลง และคนชะลอการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าคงทนเป็นสินค้าเสียหายยาก และใช้ได้นานจะไม่กลับมาได้เร็ว รวมไปถึงกลุ่มสินค้าไม่จำเป็นหรือสินค้าฟุ่มเฟือยด้วย

ส่วนภาคการส่งออกหรือการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศยังมีโอากสกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว แต่ยังต้องใช้ระยะเวลา 2 ปีกว่าจะกลับมาเท่ากับก่อนเกิด COVID-19 โดยการส่งออกนั้นจะต้องมีการวิเคราะห์ตลาดในแต่ละประเทศให้ดี เพื่อดูว่าประเทศใดจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และเน้นการเข้าไปทำตลาดในประเทศนั้น เพราะจะได้รับประโยชน์จากการกลับมาฟื้นตัวของประเทศที่ฟื้นตัวก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจส่งออกไทยควรให้ความสำคัญเพราะจะเป็นการสร้างโอกาสในการกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

นายยรรยง กล่าวอีกว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก จากปัจจัยความไม่แน่นอนของ COVID-19 และปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ฟื้นตัวยังคงต้องใช้ระยะเวลาไปถึงปี 66 กว่าจะเห็นการกลับมาเติบโตเหมือนกับก่อนเกิด COVID-19 แต่ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมความพร้อมรับแรงกดดันในระยะสั้นเพื่อก้าวข้ามวิกฤติในครั้งนี้ไป และปรับตัวให้หมาะกับสถานการณ์ มีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อช่วยในการดำเนินงาน และการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ [2]

ครม.เห็นชอบเงินอุดหนุนจ้างงาน 2.6 แสนคน 50% เป็นเวลา 12 เดือน

ตามแผนงานโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงานกระทรวงแรงงานจะจ่ายเงินอุดหนุนเงินเดือน 50% ให้กับผู้จบการศึกษาใหม่ตามอัตราเงินเดือนแยกตามวุฒิไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน/คน ในระยะเวลา 12 เดือนตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 - 30 ก.ย. 2564 โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างต้องอยู่ในระบบประกันสังคมและไม่เลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกินร้อยละ 15 ภายใน 1 ปี | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นโครงการ/แผนงานใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 19,462 ล้านบาท วัตถุประสงค์สำคัญ คือ ช่วยเหลือการจ้างงานให้ผู้จบการศึกษาใหม่ได้มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน รวมทั้งยังเป็นการช่วยเหลือสถานประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง กลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนและผู้จบการศึกษาใหม่ 260,000 คน

สำหรับแผนการใช้จ่าย กระทรวงแรงงานจะจ่ายเงินอุดหนุนเงินเดือน 50% ให้กับผู้จบการศึกษาใหม่ตามอัตราเงินเดือนแยกตามวุฒิไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน/คน ในระยะเวลา 12 เดือนตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 - 30 ก.ย. 2564 โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างต้องอยู่ในระบบประกันสังคมและไม่เลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกินร้อยละ 15 ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับทั้งผู้จบการศึกษาใหม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ลดปัญหาการว่างงาน นายจ้างหรือสถานประกอบการยังสามารถดำเนินธุรกิจ รัฐบาลก็จะได้รายได้กลับมาจากการเก็บภาษีด้วย [3]

ต่อมาวันที่ 24 ก.ย. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าการจ้างงานเด็กจบใหม่ จำนวน 260,000 อัตรา ที่รัฐบาลช่วยเอกชน สนับสนุนค่าจ้าง 50%  จากหลักเกณฑ์เดิมที่ช่วยเหลือผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี  ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แล้ว ได้มีการพิจารณาให้เพิ่มวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6 ) ค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 8,690 บาท รัฐช่วยอุดหนุนค่าจ้างครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 4,345 บาท เพื่อการดูแลผู้ว่างงานอย่างครอบคลุมทั่วถึง โดยนายจ้างและสถานประกอบการที่ต้องการร่วมโครงการจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม ไม่มีการเลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกินกว่าร้อยละ 15 ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ได้รับพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการและทำสัญญาจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่เข้าทำงาน เป็นระยะเวลา 1 ปี หรือหากผู้จบการศึกษาใหม่ลาออกในระหว่างโครงการสถานประกอบการสามารถหาผู้จบการศึกษาใหม่ทดแทนได้  ในส่วนของผู้จบการศึกษาใหม่ ต้องมีสัญชาติไทยและไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคมมาก่อน อายุไม่เกิน 25 ปี หรือหากอายุเกินกว่า 25 ปี ต้องเป็นผู้จบการศึกษาประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2562 หรือ พ.ศ. 2563 ซึ่งได้มอบกรมการจัดหางานเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาระบบ การ Matchingงาน ระหว่างสถานประกอบการและผู้หางานให้ตอบโจทย์และสะดวกต่อการใช้งาน  เพื่อประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน แจงขั้นตอนเข้าร่วมโครงการ 4 ขั้นตอนดังนี้  1.การลงทะเบียนนักศึกษาจบใหม่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เข้าลงทะเบียนในระบบ Co-payment บันทึกข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมแนบTranscript ในส่วนของนายจ้างและสถานประกอบการ เข้าลงทะเบียนในระบบ Co-payment แจ้งตำแหน่งงานว่างและจำนวนลูกจ้างที่ต้องการรับเข้าทำงาน 2.การตรวจสอบเอกสารข้อมูลเข้าร่วมโครงการ ระบบจะทำการตรวจสอบ Transcript ของผู้สมัคร และสถานประกอบการนั้น ๆ ว่าอยู่ในระบบของสำนักงานประกันสังคมหรือไม่ หากตรงตามเงื่อนไข จึงอนุมัติเข้าร่วมโครงการ 3.การ Matching งาน สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการเมื่อลงทะเบียนในระบบเรียบร้อยแล้ว สามารถค้นหาผู้สมัครงานในตำแหน่งที่ต้องการ เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายตกลงจ้างงานกันแล้ว ให้ Download สัญญาจ้างเพื่อลงลายมือชื่อร่วมกัน และ upload สัญญาจ้างเข้าระบบอีกครั้ง 4.เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานตรวจสอบเอกสารสัญญาจ้าง หากถูกต้องจึงอนุมัติผลการจ้างงาน เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ไปถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564

สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างร้อยละ 50 ตามระดับการศึกษาให้กับลูกจ้าง ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และแจ้งข้อมูลการจ่ายเงินให้ลูกจ้าง พร้อมส่งหลักฐานให้กรมการจัดหางานภายในวันที่ 1 ของเดือนถัดไป และกรมการจัดหางานจะเป็นผู้โอนเงินค่าจ้างร้อยละ 50 ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าบัญชีลูกจ้างโดยตรงภายใน 5 วันทำการ หลังจากได้รับแจ้งหลักฐานจากนายจ้าง/สถานประกอบการแล้ว [4]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงาน เดือนสิงหาคม 2563 (กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25 ก.ย. 2563)
[2] SCB EIC เตือนรักษา 3 บาดแผลสำคัญของเศรษฐกิจไทยจากพิษโควิด-19 (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 24 ก.ย. 2563)
[3] ครม.ไฟเขียว 'จ้างงาน' เด็กจบใหม่ ช่วยจ่ายเงินเดือน 50% วงเงิน 1.9 หมื่นล้าน (กรุงเทพธุรกิจ, 22 ก.ย. 2563)
[4] รมว.แรงงาน แจงเงื่อนไข จ้างงานเด็กจบใหม่ เพิ่มวุฒิ ม.6 ในโควตา (กรมการจัดหารงาน, 24 ก.ย. 2563)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ก.ค. 63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' สถิติสูงสุด - เสนอจ้างงาน นศ. จบใหม่ 2.6 แสนตำแหน่ง
มิ.ย.63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' ทำสถิติสูงสุด - ธปท.ชี้เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
พ.ค. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติอีกครั้ง เลิกจ้างทะลุหลักแสน
เม.ย. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติ คาด นศ.จบใหม่ว่างงานกว่า 60%

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: