ผลวิจัยของ Google และ Kantar สำรวจพฤติกรรมการรับข่าวสารออนไลน์ของคนไทยในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า 92% อ่าน/ชมข่าวออนไลน์อย่างน้อย 1 ข่าวต่อวัน เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงสุดในเอเชียแปซิฟิกและเท่ากับอินโดนีเซีย | ที่มาภาพประกอบ: Asian Development Bank
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2563 เว็บไซต์ Marketeer รายงานว่าข้อมูลจากงาน Webinar สัมมนาออนไลน์หัวข้อ Master Advertising Sales in 2020 โดย Google และ Anymind เปิดเผยผลวิจัยของ Google ที่จับมือกับ Kantar สำรวจพฤติกรรมการรับข่าวสารออนไลน์ของคนไทยในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า
92% อ่าน/ชมข่าวออนไลน์อย่างน้อย 1 ข่าวต่อวัน เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงสุดในเอเชียแปซิฟิก และเท่ากับอินโดนีเซีย
ออสเตรเลียมีอัตราการอ่าน/ชมข่าวต่ำสุดเพียง 80% ส่วนค่าเฉลี่ยเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 89%
นอกจากนี้คนไทยชอบรับข่าวหลากหลายประเภท โดยเฉลี่ย 1 คนอ่านข่าวมากถึง 7.4 ประเภทด้วยกัน และเป็นความสนใจในประเภทข่าวที่มากกว่าค่าเฉลี่ยเอเชียแปซิฟิก ที่มีค่าเฉลี่ย 7.2 ประเภท
โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการอ่านข่าวหลากประเภทที่สุด ด้วยค่าเฉลี่ย 7.9 ประเภท ญี่ปุ่นต่ำสุด 6.3 ประเภท
ข่าวที่คนไทยให้ความสนใจสูงสุดได้แก่
1. ข่าวในประเทศ
2. ข่าวเศรษฐกิจ
3. ข่าวการเมือง
4. ข่าวบันเทิง
5. ข่าวเทคโนโลยี
และคนไทย 81% มองว่าการอ่านข่าว/ชมข่าวเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทราบถึงความเคลื่อนไหวต่าง ๆ และ 54% เห็นความสำคัญข่าวที่กระทบต่อสังคมกับคนหมู่มาก
สำหรับเหตุผลในการอ่านข่าวแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันไปเช่นกัน เช่น การอ่านข่าวเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี อ่านเพื่อประกอบการตัดสินใจ ส่วนการอ่านข่าวบันเทิง ข่าวกีฬาเพื่ออัปเดตข่าวสารไว้พูดคุยกับเพื่อน
การตัดสินใจอ่าน/ชมข่าวของคนไทย จะอ่าน/ชมข่าวจากสำนักข่าวที่รายงานข่าวที่ทันเหตุการณ์ ความเป็นกลาง ความมีชื่อเสียงของสำนักข่าว และความมีชื่อเสียงของผู้อ่านข่าว
ในส่วนของการอ่านข่าวออนไลน์คนไทยยังคงนิยมอ่านข่าวจากเฟซบุ๊กเป็นหลักมากถึง 70% รองลงมาได้แก่ยูทูบ 64% ไลน์ 59%
เมื่อมองไปที่ความชอบของแพลตฟอร์มในการรับข่าวสารพบว่า
76% ชอบอ่านข่าวที่เป็น Text และ รูป
โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมอ่านข่าวในรูปแบบ Text และรูปในข่าวประเภทความคิดเห็น (Opinion) ถึง 56% ข่าวเศรษฐกิจ 50% ข่าวในประเทศ 49%
62% ชอบชมข่าวในรูปแบบวิดีโอ ภาพเคลื่อนไหว
การชมข่าวในรูปแบบวิดีโอ ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมชมข่าวที่เป็นข่าวกีฬา 46% ข่าวเทคโนโลยี 38% ข่าวสิ่งแวดล้อม 37%
ส่วนช่องทางที่นิยมชมข่าวในรูปแบบวิดีโอคือ
ยูทูบ และแพลตฟอร์มวิดีโอแชร์ริ่งอื่นๆ 77%
โซเชียลมีเดีย 70%
เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันของช่องทีวี 49%
เพราะข่าวสารบนโลกออนไลน์ได้กลายเป็น News Platform ที่เป็น New Normal ของคนไทยมาอย่างยาวนาน
การอ่านข่าวของคนไทย คือส่วนผลักดันธุรกิจโฆษณาออนไลน์เติบโต
ในปีที่ผ่านมาโฆษณาดิจิทัลในประเทศไทยมีมูลค่า 19,555 ล้านบาท และคาดการณ์ปีนี้จบที่ 22,186 ล้านบาท อ้างอิงจาก Digital Advertising Association (Thailand) หรือ DAAT
สิ่งที่ทำให้โฆษณาดิจิทัลเติบโตมาจากคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ที่ดึงคนไทยเข้ามาใช้ชีวิตและอัปเดตข่าวสารบนโลกออนไลน์ตลอดทุกช่วงเวลาจนกลายเป็นความเคยชิน
การอัปเดตคอนเทนต์ต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ของคนไทย นอกเหนือจากการรับรู้เรื่องราวของเพื่อนร่วมสังคมออนไลน์ การหาแรงบันดาลใจ และเรื่องราวใหม่ ๆ จากครีเอเตอร์คอนเทนต์ต่าง ๆ การอ่านและชมข่าวสารต่าง ๆ ทางช่องทางออนไลน์เป็นหนึ่งในพฤติกรรมหลักที่ดึงผู้บริโภคเพิ่มทราฟิกให้กับโฆษณาดิจิทัลเช่นกัน
และนอกจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีมูลค่ารายได้อันดับหนึ่งในโฆษณาออนไลน์แล้ว การอ่านข่าวและชมข่าวของผู้บริโภคยังคงลิงก์ไปที่เว็บไซต์และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่จะสร้างรายได้ให้กับเจ้าของคอนเทนต์ข่าวด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลของ Statista พบว่าโฆษณาในรูปแบบ Display และ VDO เป็นโฆษณาออนไลน์ที่มีมูลค่าการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่น่าสนใจดังนี้
Display Advertising ในไทยมีมูลค่าเท่าไร
2560 3,042.47 ล้านบาท (95 ล้านดอลลาร์)
2561 3,394.76 ล้านบาท (106 ล้านดอลลาร์)
2562 3,779.07 ล้านบาท (118 ล้านดอลลาร์)
2563 3,811.09 ล้านบาท (119 ล้านดอลลาร์)
2464 4,355.54 ล้านบาท (136 ล้านดอลลาร์)
2565 4,899.98 ล้านบาท (153 ล้านดอลลาร์)
2566 5,220.24 ล้านบาท (163 ล้านดอลลาร์)
2567 5,444.42 ล้านบาท (170 ล้านดอลลาร์)
VDO แพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ที่โตขึ้นทุกปี
2560 1,665.35 ล้านบาท (52 ล้านดอลลาร์)
2561 2,049.66 ล้านบาท (64 ล้านดอลลาร์)
2562 2,433.98 ล้านบาท (76 ล้านดอลลาร์)
2563 2,530.05 ล้านบาท (79 ล้านดอลลาร์)
2564 2,978.42 ล้านบาท (93 ล้านดอลลาร์)
2565 3,234.63 ล้านบาท (101 ล้านดอลลาร์)
2566 3,394.76 ล้านบาท (106 ล้านดอลลาร์)
2567 3,490.83 ล้านบาท (109 ล้านดอลลาร์)
1USD = 32.03 บาท
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ