ข้อมูล ณ กลางเดือน ก.ย. 2563 พบมีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 111,365 ต้น มูลค่ารวมกว่า 132,169,000 ล้านบาท | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานเมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย. 2563 ว่านายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ปัจจุบันรัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายโดยยกเลิกไม้หวงห้ามบนที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือ สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้การปลูก การตัดไม้เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ง่าย ประชาชนสามารถปลูกและตัดไม้เศรษฐกิจได้เหมือนการปลูกพืชเกษตรทั่วไป"
"การส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง โดยสามารถนำไม้ยืนต้นนั้นมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เป็นการช่วยให้เกษตรกรและประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพื่อนำไปต่อยอดทำการเกษตรหรือใช้สอยในชีวิตประจำวัน จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ สนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวกให้มีการปลูก การจัดการ การตัด การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงการส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ"
"กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าบูรณาการความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการขับเคลื่อนการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี พิษณุโลก และอ่างทอง โดยมีการนำร่องมอบวงเงินจดทะเบียนไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจให้แก่เกษตรกรทั้ง 4 จังหวัดข้างต้น พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นไม้ที่สามารถนำมาสร้างมูลค่า หรือแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ปลูก เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยและนำไป สู่การสร้างอาชีพที่มั่นคง สร้างความยั่งยืนด้านระบบนิเวศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสามารถนำไม้ยืนต้นมาใช้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้"
"การจัดงาน 100,000 ไม้ยืนต้น หลักประกันทางธุรกิจ เป็นการประกาศความสำเร็จหลังสามารถผลักดัน ให้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรและประชาชนปลูกต้นไม้บนที่ดิน ของตนเองและชุมชน เพื่อเป็นทรัพย์สิน เป็นมรดกให้ลูกหลาน สร้างให้เกิดอาชีพใหม่ๆ มีความมั่งคงในอาชีพ รวมถึงการนำไม้มีค่าไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และนำมาเป็นหลักประกันทรัพย์สินสำหรับขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ อีกทั้งเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชุมชนร่วมกัน เพิ่มพื้นที่ป่ารักษาระบบนิเวศ สร้างสิ่งแวดล้อมให้สมดุล และลดภาวะโลกร้อน"
"โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่รับไม้ยืนต้น เป็นหลักประกัน ถือเป็นการนำร่องให้ธนาคารพาณิชย์อื่นนำไปเป็นแบบอย่างที่จะช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไม้รายอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ คาดว่าตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ยืนต้นเพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ จำนวน 100 ล้านต้น"
"นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรที่ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นและการปลูกป่ามาร่วมเสวนา หัวข้อ "ปลูกไม้ยืนต้น สร้างมูลค่าไม้เศรษฐกิจไทย" ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO) ตัวแทนเกษตรกร และมีหน่วยงานที่ร่วมจัดนิทรรศการให้ความรู้ภายในงาน เช่น กรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์"
"การปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจเป็นแนวทางสำคัญที่มีการพูดถึงทั้งด้านการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ให้กับเกษตรกร พร้อมๆ กับการเพิ่มความยั่งยืนให้กับทรัพยากรและระบบนิเวศของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างสินทรัพย์และความเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจฯ ที่ต้องการให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายสะดวกมากขึ้น" รมช.พณ. กล่าวสรุป
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ย. 2563) มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 111,365 ต้น มูลค่ารวมกว่า 132,169,000 ล้านบาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 4944 สายด่วน 1570 www.dbd.go.th และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ