เผย 'เกลืออินเดีย' ราคาถูกแค่ กก.ละ 1 บาท ทะลักเข้าไทย 18,432 ตัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 4277 ครั้ง

เผย 'เกลืออินเดีย' ราคาถูกแค่ กก.ละ 1 บาท ทะลักเข้าไทย 18,432 ตัน

รายงานพิเศษจากสื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' ระบุ 'เกลืออินเดีย' ราคาถูกแค่ กก.ละ 1 บาท ทะลักเข้าไทย 18,432 ตัน พ่อค้าคนกลางฉวยโอกาสกดราคารับซื้อเกลือในประเทศแค่ กก.ละ 50 สตางค์ ชาวนาเกลือรวมตัวเรียกร้องใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าพร้อมเก็บภาษี Safeguard ช่วยชาวนาเกลือปรับตัว 3 ปี | ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2563 ว่าสภาพการค้าเกลือทะเลในประเทศว่า ขณะนี้มีเกลือทะเลจากประเทศอินเดียทะลักเข้ามาจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยราคาเกลืออินเดียเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 1 บาทกว่า หรือ “ต่ำกว่า” ราคาเกลือทะเลภายในประเทศกก.ละ 3-5 บาท โดยปัจจุบันราคาในประเทศอยู่ที่ กก.ละ 4-6 บาทประกอบกับภาษีนำเข้าเกลือปัจจุบันอยู่ที่อัตราร้อยละ 0 ทำให้ตัวเลขนำเข้าเกลือ 11 เดือนแรกของปี 2562 มีปริมาณสูงถึง 18,498 ตันคิดเป็นมูลค่า 20.7 ล้านบาทในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าเกลือจากอินเดียเกือบทั้งหมด คิดเป็นปริมาณ 18,432 ตัน มูลค่า 20.11 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้นำเข้าเกลือ (พิกัด 25010099) จากอินเดีย ประกอบไปด้วย บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด, หจก.วรวัฒน์ยูเนี่ยน ซอลท์, บริษัท เกลือมหาชัย จำกัด, บริษัท สยามควอลิตี้ซอลท์ จำกัด และบริษัท ที ที เอช ซัพพลาย จำกัด โดยเกลือทะเลจากอินเดียที่ทะลักเข้ามาภายในประเทศได้สร้างความเสียหายให้กับกลุ่มผู้ผลิตเกลือสมุทร จนถึงขั้นต้องทำหนังสือร้องเรียนไปยัง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ออกมาช่วยเหลือชาวนาเกลือด้วย

นายเลอพงษ์ จั่นทอง ประธานสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด จ.สมุทรสาคร กล่าวกับประชาชาติธุรกิจว่า สถานการณ์ราคาเกลือในประเทศลดต่ำลงอย่างมาก จากที่เคยขายได้ตันละ 3,000 บาท ตอนนี้ลดลงเหลือเพียงตันละ 500-600 บาท หรือลดลง 6 เท่า ส่งผลให้ชาวนาเกลือเดือดร้อน ประกอบกับตอนนี้มีสต๊อกเกลือจากปี 2562 เหลือตกค้างอยู่อีก 5,000 ตัน ที่สำคัญก็คือปีนี้ ประเทศไทยประสบกับปัญหาภัยแล้ง ฝนตกน้อยลง และมีแดดแรงมาก ทำให้สามารถผลิตเกลือทะเลได้เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ โดยสังเกตได้จากสต๊อกเกลือของเดือนมกราคม 2563 เพิ่มขึ้นถึง 1,440 ตัน พ่อค้าเกลือคนกลางก็ทราบสถานการณ์ดี และได้รวมหัวกันกดราคารับซื้อเกลือสมุทรในประเทศอย่างหนัก และยังหันไปซื้อเกลือนำเข้าจากอินเดียที่มีราคาถูกกว่าแทน

“ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาช่วยเหลือ เราแย่แน่นอน ราคาเกลือจะต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอยู่แล้ว ตอนนี้ทางสหกรณ์ได้ประกันราคารับซื้อเกลือจากชาวนาเกลือไว้ที่ กก.ละ 1 บาท แต่ราคาขายจริงกลับอยู่ที่ประมาณ 70-80 สตางค์ ผมได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือจากประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งภาครัฐและเอกชน ขอให้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาเกลือ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็ช่วยขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งประสานงานกับภาคอุตสาหกรรมจนได้โรงงานเข้ามารับซื้อเกลือไปบางส่วน” นายเลอพงษ์กล่าว

ด้าน น.ส.เกตุแก้ว สำเภาทอง เลขาฯสมาพันธ์ชาวนาเกลือทะเลไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกลือที่ชุมนุมสหกรณ์เกลือผลิตมีปริมาณ 20,000 กว่าตัน แต่เป็นเกลือที่ชาวนาเกลือขายไม่ได้ เพราะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อมาก โดยอ้างราคาเกลือนำเข้าจากอินเดียที่จำหน่ายอยู่ประมาณ กก.ละ 90 สตางค์เท่านั้น ขณะที่ราคาเกลือไทยอยู่ที่ 1.5-2 บาท/กก. ดังนั้นพ่อค้าจึงกดราคาเกลือไทยลงจนเหลือ 50-70 สตางค์/กก. แต่ชาวนาเกลือบางรายต้องยอมขาย เพราะหากไม่ขายก็ไม่สามารถระบายเกลือที่มีอยู่ในสต๊อกออกไปได้

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เกลือสมุทรมีราคาตกต่ำจากการถูกเกลืออินเดียตีตลาด ได้เข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คปป.) ครั้งที่ 1/2563 แล้ว โดยที่ประชุมมีมติให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการผลการศึกษาเบื้องต้น คาดว่าสามารถนำมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น หรือ safeguard มาใช้ได้ทันที หากพบว่าเกิดความเสียหายจากการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ ประกอบกับการใช้มาตรการ safeguard สามารถดำเนินการไต่สวนได้เร็วกว่ามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (antidumping) นอกจากนี้แล้ว การใช้มาตรการ safeguard ยังสามารถบังคับใช้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าเกลือมีระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเพียงพอให้ชาวนาเกลือปรับตัวและพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตแข่งขันกับเกลือนำเข้าจากต่างประเทศได้

“กระบวนการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการ safeguard จะต้องหาเจ้าภาพก่อน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรมีคณะทำงานพัฒนาเกลือที่ใช้กำกับดูแลสินค้ารายการนี้อยู่แล้ว และคณะทำงานกำลังรวบรวมรายชื่อเกษตรกรผู้ผลิตเกลือสมุทรว่ามีจำนวนเท่าไร จากปัจจุบันชาวนาเกลือค่อนข้างกระจัดกระจาย เพื่อให้ทราบข้อมูลแน่ชัดว่า ต้นทุนการผลิตเกลือในประเทศอยู่ที่เท่าไร จะได้นำมาคำนวณผลความเสียหายจากเกลือนำเข้าราคาถูกจากอินเดีย เมื่อได้ตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจนแล้วจึงจะยื่นคำร้องมายัง คปป. พิจารณาเปิดไต่สวน หากเข้าเกณฑ์การใช้มาตรการ 8 ข้อ ก็จะประกาศใช้มาตรการ safeguard ซึ่งจะเป็นการขึ้นภาษีนำเข้าเกลือเป็นเวลา 3 ปีได้” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกจากการหาตัวเลขความเสียหายจากการนำเข้าเกลือจากอินเดียแล้ว ทางกระทรวงพาณิชย์ยังได้ประสานไปยังกรมศุลกากร ขอให้แยกพิกัดการนำเข้าสินค้าเกลือที่เพิ่มขึ้นว่า เป็นเกลือเพื่อการบริโภค หรือเกลือสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม มีปริมาณมากน้อยเพียงใด หากพบว่าเกลือที่นำเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็นเกลือที่ใช้สำหรับบริโภค กระทรวงก็จะประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อพิจารณาขอให้มีการใช้มาตรการกำกับเกลือบริโภค เพื่อดูว่าเกลือบริโภคนำเข้ามีสารอาหารไอโอดีนเพียงพอหรือไม่ ซึ่งสามารถทำได้ภายใต้ พ.ร.บ.สาธารณสุข หากจำเป็นอาจจะต้องใช้มาตรการขออนุญาตนำเข้าเกลือ เพื่อดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบผู้บริโภคก็ทำได้เช่นกัน

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าผู้ผลิตอาหารไม่ใช่กลุ่มหลักที่ใช้เกลือทะเล ส่วนใหญ่ผู้ผลิตอาหารจะใช้เกลือสินเธาว์ เพราะมีกฎระเบียบต่าง ๆ ที่บังคับไว้ว่าจะต้องมีมาตรฐานสารไอโอดีนเท่าไร ซึ่งการใช้เกลือทะเลควบคุมตามมาตรฐานได้ยาก และเกลือดังกล่าวมีสารโลหะหนักที่เป็นส่วนผสมอยู่สามารถแยกออกได้หรือไม่ ทางกลุ่มอาหารจึงไม่นิยมใช้เกลือทะเลเทียบกับกลุ่มผู้ผลิตแก้วและกระจกจะใช้เกลือทะเลมากกว่า โดยราคาเกลือสินเธาว์ที่ใช้เฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 6 บาท และเกลือสมุทร กก.ละ 4 บาท

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เผยนำเข้า 'เกลือ' จากต่างประเทศ กก.ไม่ถึง 1 บาท ทำเกลือในประเทศขายไม่ออก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: