จับตา: เตรียมเสนอ 'สงกรานต์' เป็นมรดกวัฒนธรรมฯ ของมนุษยชาติ

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2599 ครั้ง


ครม. อนุมัติเสนอ 'สงกรานต์ในประเทศไทย' เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อ UNESCO | ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

ข้อมูลจาก สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 24 มี.ค. 2563 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบเอกสารนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก
                  
2. เห็นชอบให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นผู้ลงนามในเอกสารนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก
                   
สาระสำคัญของเรื่อง
                  
วธ. รายงานว่า

1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 มีนาคม 2560 และ 12 มีนาคม 2562) เห็นชอบเอกสารนำเสนอโขน นวดไทย และโนราขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกแล้ว วธ. ได้ดำเนินกระบวนการเสนอเอกสารดังกล่าวให้ยูเนสโกพิจารณา ซึ่งต่อมาโขนและนวดไทยเป็นรายการของประเทศไทยที่ได้รับการประกาศให้ขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2561 และ 2562 ตามลำดับ สำหรับโนราขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อขึ้นบัญชีฯ ภายในปี พ.ศ. 2564

2. การยื่นเสนอรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ รัฐภาคีจะต้องดำเนินการยื่นต่อฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาของยูเนสโกภายในเดือนมีนาคมของทุกปี และต้องใช้เวลาในการพิจารณารายการอีกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Committee - IC) เพื่อพิจารณาในการประชุมสมัชชาสมัยสามัญ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนัยข้อ 1.15 ของเอกสารแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ [Operational Directives for the implementation of the Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage] ทั้งนี้ คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงปี พ.ศ. 2565

3. วธ. (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการและแนวทางการนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก โดยร่วมมือกับนักวิชาการและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเอกสารตามแบบฟอร์มที่ยูเนสโกกำหนด [UNESCO (แบบ ICH – 02)] เพื่อเตรียมเสนอสงกรานต์ในประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ประเด็น รายละเอียด
ชื่อการนำเสนอ (ข้อ B) สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand)
ชื่อชุมชน/คณะ/กลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ข้อ C) กลุ่มคนไทยทั่วประเทศซึ่งนับถือพุทธศาสนาและตระหนักในความกตัญญูและการสืบสานประเพณี ประกอบด้วย
ชุมชน รายละเอียด
กลุ่มคนไทย
ในภูมิภาคต่างๆ
ได้แก่ กลุ่มคนไทยล้านนา กลุ่มคนไทยอีสาน กลุ่มคนไทยในภาคกลาง กลุ่มคนไทยพุทธในภาคใต้
กลุ่มคนไทยที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญ กลุ่มคนไทยเชื้อสายลาว กลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมร
กลุ่มผู้สืบทอด
ความรู้เฉพาะด้าน
ได้แก่ กลุ่มนักโหราศาสตร์ กลุ่มช่างฝีมือ (เช่น ช่างแกะสลัก ช่างทำเครื่องหอม ช่างทำตุง) กลุ่มผู้ประกอบอาหาร
กลุ่มผู้เข้ารวมประเพณี ประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
พื้นที่และขอบเขต
อาณาบริเวณ
ของเรื่องที่นำเสนอ
(ข้อ D)
ประเพณีสงกรานต์มีการเฉลิมฉลองทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยตามภูมิหลังทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน โดยมีพื้นที่ที่โดดเด่นสำคัญ ได้แก่ ชุมชนไทยในจังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนไทยในจังหวัดขอนแก่น ชุมชนไทยในกรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี ชุมชนไทยมอญในจังหวัดสมุทรปราการ ชุมชนชาวไทยพุทธในจังหวัดนครศรีธรรมราช
อย่างไรก็ตาม นอกจากพื้นที่ในประเทศไทยแล้ว สงกรานต์ยังมีการปฏิบัติในพื้นที่อื่นด้วย ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน [ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 7/2563 มีมติให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อมูลในกรณีที่จะเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกร่วมกับต่างประเทศ (ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและประเทศจีน)]
หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการเสนอรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก สรุปได้ ดังนี้
เกณฑ์ R.1 ประเทศผู้เสนอแสดงให้เห็นว่า “เรื่องที่นำเสนอนี้สอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญา                                               
              ทางวัฒนธรรม ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาฯ”
สงกรานต์ในประเทศไทยสอดคล้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมใน 4 ลักษณะ คือ (1) ธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะ รวมทั้งภาษาที่ใช้สื่อในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (2) การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล (3) ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และ (4) งานช่างฝีมือดั้งเดิม
หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการเสนอรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ต่อยูเนสโก สรุปได้ ดังนี้
เกณฑ์ R.2 ประเทศผู้เสนอพึงแสดงให้เห็นว่า “การขึ้นทะเบียนเรื่องที่เสนอนี้จะเป็นคุณประโยชน์ต่อการ  
              สร้างความมั่นใจว่า ความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนั้นจะเป็นที่ประจักษ์         
              และตระหนักรู้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันแสดงถึงความหลากหลาย
              ทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์”
การขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยจะกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมทั้งในประเทศที่มีความเชื่อที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มคนได้เข้าร่วมประเพณีอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน นำไปสู่ความร่วมมือ การเรียนรู้ และแบ่งปันซึ่งกันและกัน เกิดความภาคภูมิใจและหวงแหนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการฟื้นฟูกิจกรรมในบางท้องถิ่นที่ใกล้สูญหาย รวมถึงการสร้างสรรค์ประยุกต์ประเพณีให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์ R.3 ประเทศที่นำเสนอพึงแสดงให้เห็นถึง “มาตรการสงวนรักษาอย่างละเอียดที่สามารถจะคุ้มครอง
              และส่งเสริมเรื่องที่นำเสนอนั้น”
มาตรการสงวนรักษาประเพณีสงกรานต์ มีแนวทางสำคัญดังนี้ 1) การสร้างความตระหนักรู้ในสาระคุณค่าของประเพณีสงกรานต์ที่ถูกต้อง 2) การพัฒนาศักยภาพบุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์ เช่น การพัฒนาระบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการ และ 3) การบริหารจัดการประเพณีสงกรานต์ โดยการบริหารการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในประเพณีสงกรานต์ให้มีความร่วมสมัย และยังคงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ที่สืบทอดกันมา
เกณฑ์ R.4 ประเทศผู้เสนอพึงแสดงให้เห็นว่า “ชุมชน กลุ่มคน และปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง (หากมี)
              ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในการนำเสนอ โดยได้รับการบอกแจ้ง  
              ล่วงหน้า ทั้งได้ให้ความเห็นชอบและยินยอมพร้อมใจ”
ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับตัวแทนจาก 5 จังหวัดหลักที่มีการปฏิบัติประเพณีสงกรานต์ที่โดดเด่น คือ จังหวัดชลบุรีและจังหวัดสมุทรปราการ (ภาคกลาง) จังหวัดเชียงใหม่ (ภาคเหนือ) จังหวัดขอนแก่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดนครศรีธรรมราช (ภาคใต้) ได้แก่ ศิลปินแห่งชาติ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญา พระสงฆ์ นักวิชาการ ครูอาจารย์ เยาวชน ผู้แทนจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ในฐานะผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาเข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่นในการประสานงานอย่างเข้มแข็ง แสดงถึงความจริงใจและการยินยอมพร้อมใจในการเสนอขึ้นทะเบียนในครั้งนี้
เกณฑ์ R.5 ประเทศผู้เสนอพึงแสดงให้เห็นว่า “เรื่องที่นำเสนอนั้นอยู่ในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
              ของประเทศผู้เสนอ”
สงกรานต์ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2554 สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

 

4. ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดทำข้อมูลรายการ “สงกรานต์” โดยใช้ชื่อว่า “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand) เพื่อเสนอต่อยูเนสโก โดยให้เสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อมวลมนุษยชาติ ให้ทันภายในเดือนมีนาคม 2563

5. วธ. แจ้งว่า การนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทยขึ้นทะเบียนฯ เป็นการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเข้าข่ายที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามนัยมาตรา 4 (7) ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ประกอบกับการดำเนินการในเรื่องนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและพัฒนาการส่งเสริมรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของประเทศไทยให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ปฏิบัติและผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตระหนักและเห็นคุณค่าของชนกลุ่มน้อยและชุมชนระดับนานาชาติอีกด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: