คุยกันหลังหนังจบ: Enola Holmes อดีตที่ช่วงชิงอนาคตของเหล่าดรุณ

ธนเวศม์ สัญญานุจิต | 29 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 4770 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

 

ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายของ แนนซี่ สปริงเกอร์ ซึ่งดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ เซอร์ อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ อีกที ว่าด้วย เอโนล่า โฮล์มส น้องสาวสุดท้องแห่งตระกูลโฮล์มส ซึ่งพี่ชายของเธอก็คือ เชอร์ล็อค นักสืบที่ปรึกษาแห่งสกอตแลนด์ยาร์ดอันลือลั่นของเกาะอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 19

เอโนล่าอาศัยอยู่กับแม่ เรียนหนังสือ วิธีการใช้ชีวิต และต่อสู้ จากแม่ของเธอ จนอายุ 16 ปี แม่ของเธอหายตัวไปจากบ้าน เธอจึงออกตามหาแม่ โดยที่ไม่รู้เรื่องโลกภายนอกเลย

ฉากหน้าของมันคือเด็กสาวแก่นกะโหลก ไม่มีความเป็นกุลสตรีตามแบบฉบับอังกฤษ ออกตามหาแม่ในกรุงลอนดอน ซึ่งปลายศตวรรษที่ 19 สังคมอังกฤษผู้หญิงจะต้องอยู่ในชุดรัดทรง เสริมอก สะโพก สงวนเสียงหัวเราะ และอยู่ในโอวาทของผู้ชาย เด็กสาวจะต้องถูกเลี้ยงดูเพื่อเป็นภรรยา และแม่ การพูดถึงสิทธิ อิสระเสรี หรือการแหวกขนบ นับเป็นสิ่งน่าขันและต้องห้ามในสังคม

การมีอยู่ของเอโนล่า และแม่ของเธอนับเป็นสิ่งแปลกประหลาด ผู้หญิงที่เรียนยิวยิตสุ ต่อสู้กับผู้ชายได้ ห้าวแก่น นับเป็นสิ่งขัดแย้งกับสังคมโดยแท้ จนหน้าหนังดูเป็นหนังเฟมินิสต์ที่เชิดชูสตรี ที่จะกำหนดชีวิตของตัวเองในสังคมชายเป็นใหญ่ และแม่ของเธอที่วางแผนกับเหล่าหญิงสาว ว่าจะหาทางปฏิวัติอังกฤษให้ยอมรับเสียงของผู้หญิง หรือนั่นก็คือ การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง ยิ่งตอกย้ำในประเด็นเฟมินิสต์

กลับกลายเป็นว่า หากมองให้ดีเราจะพบกับอีกประเด็นที่แอบอยู่ตรงหน้าคนดู คือ การเปลี่ยนแปลงสังคมของอังกฤษไปสู่อนาคตโดยอิงความเป็นจริงนิดหน่อย ซึ่งในยุคก่อนนั้น สิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนในอังกฤษ ไม่ใช่สิทธิพื้นฐานที่ทุกคนมี ในขณะที่เอโนล่าออกตามหาแม่ของเธอ เธอไปพัวพันกับคดีหายสาบสูญของขุนนางหนุ่มตระกูลทิวส์เบอร์รี่ เขาถูกปองร้าย เพราะเสียงโหวตของเขาในสภาสูง อาจจะทำให้ร่างกฎหมายปฏิรูปผ่านรัฐสภาอังกฤษ และนั่นคือฝันร้ายของคนรุ่นเก่าของอังกฤษ

ร่างกฎหมายดังกล่าวคือ ร่างกฎหมายว่าด้วยผู้แทนราษฎร 1884 (ปีเดียวกับเหตุการณ์ในภาพยนตร์) ร่างกฎหมายนี้ผ่านรัฐสภาจริงๆ ในปีนั้น และเป็นใบเบิกทางสำคัญที่นำไปสู่การทำให้สิทธิการเลือกตั้ง กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคนในอังกฤษ ไม่ว่าจะเพศใด มีฐานะใด ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน (อังกฤษทำให้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแก่พลเมืองทุกคนจริงๆ เอาในปี 1928 ซึ่งผ่านมาด้วยร่างกฎหมายหลายฉบับ)

คดีของเอโนล่าจึงเป็นการที่ชายหนุ่มคนรุ่นใหม่ ถูกเหล่าคนชราหมายเอาชีวิต เพื่อหยุดยั้งไม่ให้อนาคตมาถึง อนาคตที่สิทธิการเลือกตั้งกระจายออกไปยังบุคคลต่างฐานะ ต่างเพศ ต่างสถานะทางสังคม คนรุ่นเก่า รุ่นชราต่างคิดว่าการกระจายสิทธิการเลือกตั้งออกไปเป็นสิทธิพื้นฐาน จะนำอังกฤษไปสู่หายนะ ความเกริกเกียรติสง่างามแห่งแผ่นดินจะมลายหายไป เพราะคนโง่เง่า คนจน สตรีเพศ ที่มีสิทธิมีเสียง

“เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของอนาคตของประเทศเรา...ความรุ่งโรจน์อันแท้จริงของอังกฤษ คือสิ่งที่มันเป็นอยู่นี่” คำพูดของคุณย่าแห่งตระกูลทิวส์เบอร์รี่ได้สะท้อนถึงแนวคิดรุ่นเก่าที่จะปกปักษ์แนวคิดเดิมเอาไว้ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ หรือแม้แต่ตอนที่มือสังหารเฉลยว่า เขาทำงานให้ใคร เขาก็พูดอย่างภาคภูมิใจว่า เขาทำงานไล่ล่าสังหารขุนนางหนุ่มก็เพื่อรับใช้ชาติ

หรือแม้นวินาทีที่คุณย่ายิงหลานในไส้ของตัวเองเพื่อพิทักษ์สิทธิการเลือกตั้งเอาไว้สำหรับพวกเขาเท่านั้น เพื่อไม่ให้ขุนนางหนุ่มไปลงคะแนนให้ร่างกฎหมายปฏิรูปผ่าน เธอก็พร่ำบอกว่า เธอก็ทำเพื่ออนาคตของประเทศ

แต่สุดท้ายคนหนุ่มสาวก็จะชนะ ขุนนางทิวส์เบอร์รี่รอดชีวิตไปถึงสภา และลงคะแนนให้ร่างกฎหมายผ่าน เปิดทางให้อังกฤษเดินหน้าสู่เส้นทางที่สิทธิการเลือกตั้งจะไปสู่ทุกคนในประเทศ รวมถึงผู้หญิง

ประโยค “เวลาของคุณหมดแล้ว” ของทิวส์เบอร์รี่ ไม่ได้แค่เพียงกล่าวกับย่าของตน แต่กล่าวกับระบบสังคมการเมืองอันล้าหลังของอังกฤษ ให้คนรุ่นใหม่ได้เปิดทางให้ประเทศไปสู่อนาคตที่คนรุ่นเก่าหวาดกลัวนักหนา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: