รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) เผย อว.จับมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เปิดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ 100% เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 คาดว่าจะใช้เวลาราว 1 เดือน มหาวิทยาลัยทั้ง 150 แห่ง และนิสิต นักศึกษาราว 2 ล้านคน จะสามารถทำการเรียน การสอนผ่านออนไลน์ได้สมบูรณ์ 100% | ที่มาภาพประกอบ: Microsoft
เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2563 ว่านายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่าขณะนี้ อว.จับมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เปิดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ 100% เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ในพื้นที่สาธารณะและสถานศึกษา ทั้งยังเปิดให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งทั่วประเทศสามารถยกระดับให้การศึกษานอกสถานที่ให้เป็นไปในรูปแบบที่เกินกว่าแค่การประชุมทางไกลผ่านวิดีโอทั่วไป ด้วยเครื่องมือเฉพาะทางแบบครบวงจร สำหรับทั้งนิสิต-นักศึกษา และอาจารย์ผู้สอนทั่วประเทศ
“การเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ในปัจจุบัน เริ่มมีหลายมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ แล้ว แต่ในมหาวิทยาลัยอีกราว 100 สถาบัน ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคทั่วประเทศ หลายแห่งอาจยังไม่มีความพร้อม โดยจากนี้ ทีมเจ้าหน้าที่จากไมโครซอฟท์ จะเข้าไปอบรมการใช้งานโปรแกรมไมโครซอฟท์ทีมให้กับทุกมหาวิทยาลัย รวมถึงจะดูแลในส่วนของนิสิต นักศึกษา ที่มีปัญหาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้นั้น ก็อยู่ในส่วนที่ อว. และไมโครซอฟท์จะร่วมเข้าไปดูแลคาดว่าจะใช้เวลาราว 1 เดือน มหาวิทยาลัยทั้ง 150 แห่ง และนิสิต นักศึกษาราว 2 ล้านคน จะสามารถทำการเรียน การสอนผ่านออนไลน์ได้สมบูรณ์ 100%”รมว.อว.กล่าว
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับแอปพลิเคชัน ไมโครซอฟท์ทีม กับบริการไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 365 เอ 1 (Microsoft Office 365 A1) รองรับการใช้งานบนระบบคลาวด์แบบไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยทั้ง 150 แห่ง และนิสิต นักศึกษาอีก 2 ล้านกว่าคน ได้ใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์ทีมในการเรียนการสอนออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้ซอฟท์แวร์ จะถูกนำมาใช้เป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ซึ่งคุณสมบัติจะเหนือกว่าระบบประชุมทางไกลผ่านวีดีโอทั่วไป อาทิ OneNote Class Notebooks สมุดบันทึกรายวิชาสำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ Microsoft Whiteboard กระดานดิจิทัลที่ใช้วาดเขียนพร้อมกันได้หลายคน Student Analytics ระบบวิเคราะห์การเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้อาจารย์ผู้สอนได้วัดระดับความสนใจและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนของนิสิต-นักศึกษาแบบเรียลไทม์ พร้อมวิเคราะห์หาตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ต่อไป รองรับระบบการบ้านและการให้คะแนนในทุกขั้นตอน ทั้งยังเปิดให้ผู้เรียนสามารถตรวจสอบคะแนนจากการสอบและชิ้นงานต่าง ๆ ที่ส่งไปได้เสมอเพื่อความสะดวกสบาย รองรับการเปิดห้องสนทนาประจำกลุ่ม สำหรับการแบ่งกลุ่มทำงานในวิชานั้นๆ เป็นต้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ