สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 28 เม.ย. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1426 ครั้ง

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 28 เม.ย. 2563

เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 28 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา

 

28 เมษายน 2563)  เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ  Video Conference ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
 

กฎหมาย

                    1.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ [มาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐาน การผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package)]
                    2.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                    3.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                    4.       เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 พ.ศ. ….
                    5.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และ                                     อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วง  ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) รวม 2 ฉบับ 
                    6.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)
                    7.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                    8.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขการบำรุงรักษารถไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พ.ศ. ….
                    9.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. ....
                    10.      เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดผู้ใช้พลังงานไฟฟ้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    11.      เรื่อง     การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
                    12.      เรื่อง     ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นในการจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล และการเข้า ร่วมทุน ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เพื่อดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พ.ศ. ....
 

เศรษฐกิจ - สังคม

                    13.      เรื่อง     ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัดพีรพลศิลาและห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนบดีศิลา ที่จังหวัดยะลา (รวม 2 เรื่อง)                                                           
                    14.      เรื่อง     โครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน สำหรับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล
                    15.      เรื่อง     ขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวง หมายเลข 101 สาย อำเภอร้องกวาง – น่าน ตอน บ้านห้วยแก๊ต – บ้านห้วย       น้ำอุ่นจังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน
                    16.      เรื่อง     การขอรับจัดสรรงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/63 (เพิ่มเติม)
                    17.      เรื่อง     มติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 (คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ)
                    18.      เรื่อง     รายงานความก้าวหน้าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา 
                    19.      เรื่อง     สรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 และข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน
                    20.      เรื่อง     แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2570)
                    21.      เรื่อง     ผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563
                    22.      เรื่อง     มาตรการเยียวยาช่วยเหลือคนพิการในช่วงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)
                    23.      เรื่อง     ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม  ครั้งที่ 2/2563
                    24.      เรื่อง     ผลการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 3/2563
 

ต่างประเทศ

 
                    25.      เรื่อง     การเข้าร่วมกลไกความร่วมมือการจัดเก็บภาษีภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative Tax Administration Cooperation Mechanism:   BRITACOM)
                    26.      เรื่อง     ขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายงานระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (NEDAC)
                    27.      เรื่อง     การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล (Special Meeting of ASEAN Tourism Minister on COVID-19)
                    28.      เรื่อง     ผลการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2563 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (สศช.)
                    29.      เรื่อง     ร่างปฏิญญาทางการเมือง COVID-19 ของการประชุมสุดยอดกลุ่มเฉพาะกิจของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดโดยวิธีออนไลน์ เพื่อรับมือกับ COVID-19 (Online  Summit Level Meeting of the NAM Contract Group in response to COVID-19)
 
 

แต่งตั้ง

 
                    30.      เรื่อง     แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช
                    31.      เรื่อง     แต่งตั้งประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาด
                    32.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง  (กระทรวงยุติธรรม)

*******************
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ [มาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package)]
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
                   กค. เสนอว่า
                   1. โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 และวันที่ 7 ตุลาคม 2562 รับทราบสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 เกี่ยวกับมาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) และมอบหมายให้ กค. ดำเนินการจัดทำมาตรการภาษีดังนี้  
                             1.1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation)   
                             1.2 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง 
                             1.3 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง  
                   2. กค. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสถาบันไทย - เยอรมัน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามมติคณะรัฐมนตรีในข้อ 1. แล้ว เห็นว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านการสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ (Automation) และนโยบายด้านการพัฒนาศักยภาพคนในการส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูง และการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ สมควรกำหนดมาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม การจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูง หรือการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าว สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
                   3. การดำเนินการตามมาตรการนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้  
                             3.1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation) 
                                      3.1.1 ประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล 20,000 ล้านบาท (ข้อมูลที่กระทรวงอุตสาหกรรมคาดการณ์ในปี 2561 – 2564) ว่า จะมีการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบ Automation ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท 
                                      3.1.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาตรการดังกล่าวจะช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย 
                             3.2 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง  
                                      3.2.1 ประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 10,800 ล้านบาท 
                                      3.2.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทยและก่อให้เกิดการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นจำนวน 40,000 คน 
                             3.3 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง 
                                      3.3.1 ประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 2,400 ล้านบาท 
                                      3.3.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีทักษะสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีการฝึกอบรมลูกจ้างจำนวน 40,000 คน และยังช่วยส่งเสริม              การลงทุนในประเทศและการพัฒนาการประกอบกิจการของภาคเอกชน
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 3 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ
                    สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา  
                   1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation)] เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักร ตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซ่มให้คงสภาพเดิม สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
                   2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง) เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่การจ้างงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ตามสัญญาจ้างแรงงานในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เฉพาะส่วนที่เป็นเงินเดือน (จำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนค่าจ้างที่ไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อเดือน) สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่              31 ธันวาคม 2563
                   3. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง) เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้างในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่กำหนด สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
 
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้ 
                   1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการตรวจพิจารณา ทั้งนี้ ให้พิจารณาการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ให้สอดคล้องตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 (เรื่อง แนวทางการทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ) ด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป  
                   2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
                   มท. เสนอว่า 
                   1. พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 กำหนดให้สภาสถาปนิกเป็นองค์กรควบคุมการประกอบอาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม มีภารกิจเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ควบคุมมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม และยังต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพันธะผูกพันกับนานาชาติตามข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม ตามข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Service, GATS) ภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization, WTO)  
                   2. โดยที่บริการด้านสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งในสาขาบริการด้านธุรกิจและวิชาชีพ (Business and Profession Services) ในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยได้มีการลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วมกันของอาเซียนด้านการบริการสถาปัตยกรรม (Asean Mutual Recognition Arrangement on Architectural Services : MRA) จึงมีพันธะผูกพันตามข้อตกลง MRA ดังกล่าว โดยข้อตกลง MRA นี้ จะใช้เป็นมาตรฐานในการกำหนดคุณสมบัติสำหรับสถาปนิกในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้สามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันได้ ในตลาดวิชาชีพสถาปัตยกรรม ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมสามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในประเทศที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน  
                   3. อย่างไรก็ตาม กฎหมายว่าด้วยสถาปนิกยังไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาสถาปนิกและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาสถาปนิก ในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศตามข้อตกลง MRA ประกอบกับพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ทำให้บทบัญญัติบางเรื่องและอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้น จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสถาปนิกฯ ดังกล่าว เพื่อรองรับการปฏิบัติตามข้อตกลงฯ และสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
                   4. คณะกรรมการสภาสถาปนิก ในคราวประชุมครั้งที่ 14/2559 วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสถาปนิกฯ ดังกล่าว  
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                   1. กำหนดให้สภาสถาปนิกมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดมาตรฐานวิชาการเพื่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม และกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมและสถาปนิกต่างชาติให้เป็นไปตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ 
                   2. กำหนดให้สภาสถาปนิกมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 
                             2.1 รับรองปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตร เพื่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมโดยการรับรองหลักสูตร การจัดการศึกษา การสำเร็จการศึกษา และชื่อปริญญา  
                             2.2 กำหนดหลักการและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านสถาปัตยกรรมหรือการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม 
                             2.3 ให้การรับรองผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม เพื่อการประกอบวิชาชีพในต่างประเทศตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ 
                             2.4 ควบคุมการทำงานของสถาปนิกต่างชาติที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทยตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ 
                             2.5 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นตัวแทนของสภาสถาปนิกในการกำกับดูแลการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามโครงการซึ่งอยู่ภายใต้ข้อผูกพันระหว่างประเทศ   
                   3. กำหนดให้คณะกรรมการสภาสถาปนิกมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศ ดังนี้ 
                             3.1 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมเพื่อใช้สำหรับการประกอบวิชาชีพในต่างประเทศ ตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ  
                             3.2 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนสถาปนิกต่างชาติที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพในราชอาณาจักรไทยตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ   
                             3.3 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสอบสวนสถาปนิกต่างชาติผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้  
                             3.4 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของสภาสถาปนิกในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมและสถาปนิกต่างชาติตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ 
                             3.5 กำหนดค่าธรรมเนียมที่สภาสถาปนิกอาจเรียกเก็บสำหรับการขึ้นทะเบียนหรือการรับรองตาม 3.2 และ 3.3 ซึ่งต้องไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัติ  
                   4. กำหนดให้คณะกรรมการสภาสถาปนิกแต่งตั้งกรรมการจรรยาบรรณตามมติของที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกจากสมาชิกสภาสถาปนิกซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้  
                             4.1 เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี 
                             4.2 ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณ 
                             4.3 ไม่เป็นกรรมการ
 
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามหลักการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงานศาลปกครองไปประกอบการพิจารณาด้วย 
                   สาระสำคัญของหลักการ  
                   1. การเพิ่มบทบัญญัติใหม่และยกเลิกบทบัญญัติเดิมในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 
                             1.1 เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำทางปกครองรูปแบบอื่น นอกจากคำสั่งทางปกครองเฉพาะราย เช่น กฎ คำสั่งทางปกครองทั่วไป สัญญาทางปกครอง เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ชัดเจน 
                             1.2 เพิ่มหลักกฎหมายใหม่เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น หลักโมฆะกรรมของคำสั่งทางปกครอง หลักการจำกัดผลกระทบของความบกพร่องในวิธีพิจารณาและรูปแบบคำสั่งทางปกครอง และหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตหรืออนุมัติโครงการขนาดใหญ่ เป็นต้น  
                             1.3 เพิ่มหลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง เช่น การยื่นอุทธรณ์โดยวิธีการส่งหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่าการอุทธรณ์มีผลในวันที่ส่งหนังสืออุทธรณ์ตามหลักฐานทางไปรษณีย์หรือหลักฐานที่มีการยื่นอุทธรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 
                             1.4 เพิ่มบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการติดต่อระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การยื่นคำขอ การยื่นอุทธรณ์ การแจ้งคำสั่งทางปกครอง  
                             1.5 ยกเลิกบทบัญญัติที่พ้นสมัย เช่น มาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 
                   2. การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่มีอยู่เดิมในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539 ให้มีความชัดเจน ครบถ้วน หรือมีหลักการที่เหมาะสมยิ่งขึ้น 
                             2.1 แก้ไขเพิ่มเติมกรณีคำสั่งทางปกครองที่อาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีซึ่งจะต้องมีการรับฟังคู่กรณีนั้น ให้หมายความรวมถึงคำสั่งทางปกครองที่ปฏิเสธการก่อตั้งสิทธิแก่บุคคลด้วย  
                             2.2 กำหนดข้อยกเว้นไม่ต้องรับฟังคู่กรณีตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 30 วรรคสอง (6) เกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งให้หมายความเฉพาะการพ้นจากตำแหน่งหนึ่งเพื่อไปดำรงตำแหน่งอื่นเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงการพ้นจากตำแหน่งเป็นการถาวรซึ่งมีผลกระทบรุนแรงต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง 
                             2.3 แก้ไขเพิ่มเติมบุคคลที่ต้องห้ามมิให้ทำการพิจารณาทางปกครอง โดยกำหนดให้รวมถึงกรณีลุง ป้า น้า อา ด้วย  
                             2.4 ขยายระยะเวลาในการเยียวยาความบกพร่องในวิธีพิจารณา หรือรูปแบบคำสั่งทางปกครองออกไป โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสามารถเยียวยาความบกพร่องได้จนกว่าจะสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาล  
 
4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงกลาโหมรับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   กห. เสนอว่า 
                   1. โดยที่พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ได้แก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า “ยุทธภัณฑ์” และยุทธภัณฑ์ตามประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 บางรายการไม่เป็นไปตามหลักสากล เช่น เครื่องยิงลูกระเบิดตามหลักสากล EU Military List 2015 จะรวมถึงเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังด้วย หรือบางรายการมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นซึ่งอาจเกิดปัญหาในการควบคุม เช่น ACETLY BROMIDE ซึ่งเป็นสารเสพติดประเภท 4 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522  
                   2. ดังนั้น จึงเห็นควรปรับปรุงประกาศกระทรวงกลาโหมดังกล่าว เพื่อให้รายการยุทธภัณฑ์สอดคล้องกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 เป็นไปตามหลักสากลและสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธะผูกพัน โดยเพิ่มตัวอย่างและคุณลักษณะเฉพาะของยุทธภัณฑ์บางรายการเพื่อให้เกิดความชัดเจน และปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมยุทธภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบัน เช่น การยกตัวอย่างสำหรับเครื่องพรางสำหรับใช้ในทางทหาร การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะเครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์                การปรับเปลี่ยนยุทธภัณฑ์ภาพถ่ายทางอากาศให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบัน และการกำหนดให้อุปกรณ์หรือระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti – drone) เป็นยุทธภัณฑ์ รวมทั้งเพิ่มเติมยุทธภัณฑ์ที่เป็นสารเคมี และหมายเลข Cas No. ของยุทธภัณฑ์ที่เป็นสารเคมี และตัดยุทธภัณฑ์บางรายการที่มีการควบคุมซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ตลอดจนกำหนดคำอ่านภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศสำหรับชื่อสารเคมีที่เป็นยุทธภัณฑ์ 
                   3. คณะกรรมการควบคุมยุทธภัณฑ์ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 และสภากลาโหม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงร่างประกาศกระทรวงกลาโหมดังกล่าว 
                   4. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
จึงได้เสนอร่างประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ 
 
                   สาระสำคัญของร่างประกาศ  
                   เป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 เพื่อปรับปรุงรายการยุทธภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น สารเคมี สารชีวภาพให้มีความทันสมัย ครบถ้วน และอยู่ในระดับเดียวกับสากล รวมถึงสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธะผูกพัน เพิ่มเติมคำอ่านภาษาไทยควบคู่ไปกับชื่อยุทธภัณฑ์ภาษาอังกฤษ รวมถึงตัดยุทธภัณฑ์บางรายการที่มีหน่วยงานหลักรับผิดชอบแล้ว
 
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) รวม 2 ฉบับ 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร  เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ 
                   ทั้งนี้ คค. พิจารณาแล้วยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วต่อไป สำหรับงบประมาณดำเนินงานนั้น สำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ รฟม. ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายเงินเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง  2 ฉบับ ได้ใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว  
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 2 ฉบับ
                   เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า สถานที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้า และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการขนส่งมวลชน ตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ  (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์  เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง              จังหวัดสมุทรปราการ
 
6. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รวมพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้กับร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกันซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้เป็นฉบับเดียวกัน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอว่า
                   1. สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. ยังไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 
                   2. โดยที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้ “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการ ส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย ซึ่งการกำหนดให้หน่วยงานอื่นของรัฐเป็น “หน่วยงานของรัฐ” จึงต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา  
                   3. ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สมควรกำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ช เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
 
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่แก้ไขเพิ่มเติมจากร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. 2558 โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์ หรือสิ่งของทุกประเภทการขนส่งต้องจัดให้มีระบบการจัดการความปลอดภัยในการขนส่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งมีการวางแผนและควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยในการขนส่งทุกขั้นตอน รวมทั้งแผนการจัดการและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉิน อันจะทำให้การขนส่งเป็นไปด้วยความปลอดภัยและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการขนส่งทางถนน
 
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขการบำรุงรักษารถไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขการบำรุงรักษารถไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พ.ศ. …. ที่แก้ไขเพิ่มเติมจากร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดให้มีการบำรุงรักษารถที่ให้นายทะเบียนกำหนดไว้ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการบำรุงรักษารถตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
9.  เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   อก. เสนอว่า
                   1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ 17 มีนาคม 2563 ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยให้ อก. ยกเลิกค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าของกิจการโรงงาน ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และเพื่อลดภาระและบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการกิจการโรงงานจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อก.  จึงเห็นควรยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่เมื่อจะประกอบกิจการต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน เช่น โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตผลเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (8) การเพาะเชื้อเห็ด กล้วยไม้ หรือถั่วงอก เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า และคนงานไม่เกิน 50 คน และไม่จัดอยู่ในจำพวกที่ 1 และผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่การตั้งโรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้ เช่น โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งมิใช่สัตว์น้ำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้ (1) การฆ่าสัตว์ โรงงานทุกขนาด ทั้งนี้ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับโรงงานทุกขนาด ทั่วประเทศ เป็นเวลา 1 ปี ดังนั้น อก. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ประกอบกับมาตรา 43 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ในกรณีของค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 ที่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐมนตรีแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรอันเกิดจากภัยธรรมชาติ หรือภาวะทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเหตุดังกล่าวได้
                   2. อก. ได้จัดทำรายงานตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยรายงานว่าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
                             2.1 ประมาณการสูญเสียรายได้ซึ่งได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่จะต้องเรียกเก็บจากผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 เป็นเวลา 1 ปี จะมีการสูญเสียรายได้ประมาณ 231,120,600 บาท
                             หมายเหตุ เฉพาะโรงงานที่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 สถานะแจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงานแล้ว ซึ่งมีเครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 50 แรงม้า ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คน ขั้นไป ทั้งนี้ ไม่รวมโรงงานในพื้นที่การนิคมอุตสาหกรรม
                             2.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบกิจการโรงงาน อันเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อเป็นการพยุงสถานะของโรงงานให้มีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่ามากกว่ารายได้ที่รัฐจะต้องสูญเสียไป
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ทุกขนาด เป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่พ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
10. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดผู้ใช้พลังงานไฟฟ้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดผู้ใช้พลังงานไฟฟ้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ พน. รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   พน. เสนอว่า
                   1. ด้วยนโยบาย Thailand 4.0 ที่กำหนดให้ยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่หรือยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ ข้อ 3.6 ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งส่งเสริมให้มีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย ประกอบกับ พน. ได้มีนโยบาย Energy 4.0 ในการออกมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ และการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานด้วยการให้เงินทุนสนับสนุนการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า
                   2. กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัด พน. เป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีบทบาทในการจัดเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Preparation) เช่น กำหนดมาตรฐานของสถานีอัดประจุไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบรวดเร็วและโครงการนำร่องสาธิตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า นอกจากนี้ ในอนาคต กฟผ. จะนำยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ในกิจการทุกภาคส่วนของ กฟผ. ผ่านแผนแม่บทการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศ
                   3. โครงการนำร่องสาธิตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งเป็นแผนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อรองรับแผนขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า            ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2579 ซึ่งได้ดำเนินการโครงการใช้งานรถมินิบัสไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในพื้นที่สำนักงาน กฟผ. และโรงไฟฟ้า กฟผ. จำนวน 8 แห่ง ดังนี้

สถานที่ มินิบัสไฟฟ้า
(คัน)
Quick Charger
(สถานี)
Normal Charger
(สถานี)
1. โรงไฟฟ้าวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 1 1
2. โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 2 2 2
3. โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น 1 1 1
4. โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา 1 1 1
5. โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา 1 1 1
6. โรงไฟฟ้าลำตะคองฯ จังหวัดนครราชสีมา 1 1 1
7. โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี 1 1 1
8. สำนักงานกลาง และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จังหวัดนนทบุรี 3 4 3
รวม 11 12 11

 
                   4. กฟผ. พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่ในปัจจุบัน กฟผ. ไม่สามารถให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่บุคคลทั่วไปได้ ดังนั้น เพื่อสนองต่อนโยบายภาครัฐดังกล่าวข้างต้น เสริมสร้างภาพลักษณ์ในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า และเพื่อให้การใช้ทรัพยากรของ กฟผ.   เกิดประโยชน์สูงสุด สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดผู้ใช้พลังงานไฟฟ้า พ.ศ. 2512 เพื่อกำหนดให้ผู้ใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นผู้ใช้พลังงานไฟฟ้า อันจะทำให้ กฟผ. สามารถนำสถานีอัดประจุไฟฟ้ามาดำเนินการในเชิงพาณิชย์กับยานยนต์ของประชาชนได้
                   5. คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 มีมติเห็นชอบกับการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
                   6. ผลกระทบของการดำเนินงานของ กฟผ. ดังกล่าว จะเป็นการลดภาระการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่จะนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในกิจการ ซึ่ง กฟผ. มีศักยภาพในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพในการให้บริการ ทั้งนี้ จะมีการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในทุกพื้นที่และทุกภาคของประเทศทำให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ การใช้พลังงานไฟฟ้าจะสามารถลดการปล่อยมลพิษที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์จึงช่วยลดปัญหาเรื่องมลภาวะและภาวะโลกร้อนได้
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดผู้ใช้พลังงานไฟฟ้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   กำหนดให้ กฟผ. สามารถจัดส่งหรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นผู้ใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ.
 
11.  เรื่อง การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 – 31 พฤษภาคม 2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ              
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                        สมช. เสนอว่า
                        เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2563 เพื่อบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ
                   การดำเนินการที่ผ่านมา  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2563 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.)  ได้เชิญผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาคมข่าวกรองเข้าร่วมการประชุม โดยมี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในห้วงต่อไปเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด–19  สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
                   1. จากการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาและรักษาประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด–19 พบว่าการดำเนินการดังกล่าว ทำให้การบริหารจัดการเป็นเอกภาพส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายวันของประเทศไทยมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการของศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี/ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) เป็นไปด้วยความรวดเร็วและทันท่วงทีต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ               โควิด-19
                   ประกอบกับหน่วยงานด้านการข่าวได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่าประชาชนที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เห็นด้วยและพึงพอใจต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล และเห็นด้วยที่รัฐบาลจะพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป ที่ประชุมจึงเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน (มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563  – 31 พฤษภาคม 2563)
                   2. ที่ประชุมเห็นควรดำรงมาตรการ/ข้อกำหนดที่ปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ
                                  2.1 จำกัดการเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ (สำหรับทางอากาศ ให้ขยายระยะเวลาการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน มีผลตั้งแต่   วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 – 31 พฤษภาคม 2563)
                                  2.2 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน (Curfew) ระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น
                                  2.3 งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดโดยไม่จำเป็น
                                  2.4 ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคติดเชื้อโควิด - 19 เป็นการชั่วคราว
                   3. สำหรับการปฏิบัติในห้วงต่อไปภายหลังการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้ ศบค. เป็นกลไกหลักในการกำหนดกรอบแนวทางการบังคับใช้อำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และให้ศูนย์ปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โรคโควิด - 19 ในด้านต่าง ๆ กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด กำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติงานตามประเภทของภารกิจและความรับผิดชอบของตนในพื้นที่
                   4. ให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดตรวจสอบและรวบรวมจำนวนคนไทยในต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย (ซึ่งจะมีจำนวนมากขึ้นเนื่องจากมีตัวเลขคนไทยตกค้างในต่างประเทศสะสม) ให้ได้จำนวนที่ชัดเจนและประสานงานกับสำนักงานประสานงานกลางของ ศบค. เตรียมการรองรับกลุ่มบุคคลดังกล่าวเดินทางกลับประเทศเพื่อเข้าสู่มาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด
                   5. สำหรับการปฏิบัติงานในห้วงต่อไป เพื่อเป็นการผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมายบางอย่างให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติขึ้น และเพื่อเป็นการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านความมั่นคงภายใต้ความปลอดภัยของประชาชน สำนักงานประสานงานกลางจะได้ร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ศบค. ภาคธุรกิจและทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดมาตรการผ่อนคลาย ตามแนวทางดังนี้
                       5.1 การผ่อนคลายมาตรการในการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฯ จะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านการสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยด้านอื่น ๆ มาใช้ประกอบการพิจารณา อาทิ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านสังคม
                       5.2 การดำเนินมาตรการผ่อนคลายให้พิจารณาจากประเภทของกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในลำดับแรก และมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดควบคู่กันไปด้วยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ จะต้องจัดเจ้าหน้าที่ และ/หรือใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดอย่างต่อเนื่อง
                       ทั้งนี้ ภายหลังการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการตามวงรอบ หากพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มที่ภาครัฐสามารถควบคุมได้ดีขึ้นจะพิจารณากำหนดมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม แต่หากพบว่ามีการฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด หรือสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นให้ยกเลิกมาตรการผ่อนคลายในทันที
                       5.3 ในห้วงที่มีการดำเนินมาตรการผ่อนคลาย จะต้องเร่งรัดการตรวจเชื้อโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาทิ กลุ่มสาขาอาชีพบริการ กลุ่มแรงงานต่างด้าว และมีการใช้เทคโนโลยีติดตามเพื่อตรวจตรากิจกรรมควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมและป้องกันมิให้เชื้อโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดได้อีก
                      
12. เรื่อง ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นในการจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล และการเข้าร่วมทุน ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เพื่อดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นในการจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล และการเข้าร่วมทุน ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เพื่อดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญ
                   ร่างระเบียบฯ นี้มีสาระสำคัญแบ่งเป็น 5 หมวด รวมจำนวน 39 ข้อ สรุปดังนี้
                             1. ร่างระเบียบฯ ข้อ 1-4 จะเป็นส่วนนำ ประกอบด้วย คำปรารภ วันใช้บังคับ บทนิยาม และผู้รักษาการตามระเบียบ
                             2. หมวด 1 เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล สาระสำคัญ เช่น กำหนดให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) อาจจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล ซึ่งจะจัดตั้งโดยลำพังหรือร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เพื่อดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน การกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดตั้งองค์กร และการกำหนดให้พิจารณาถึงสัดส่วนการถือหุ้นของต่างด้าวตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเรื่องการตัดจำหน่าย
                             3. หมวด 2 เกี่ยวกับการเข้าร่วมทุน ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นมีสาระสำคัญ เช่น รูปแบบการเข้าร่วมทุน ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น การให้อำนาจผู้อำนวยการ สทป. และคณะกรรมการ สทป. ในการให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมทุน ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วน รวมถึงการสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา กลั่นกรองหรือให้ความเห็นต่อผู้อำนวยการ สทป. ในการพิจารณาอนุมัติได้รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล
                             4. หมวด 3 เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลหรือนิติบุคคลในการร่วมจัดตั้งองค์กรนิติบุคคลหรือการเข้าร่วมทุน ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วน มีสาระสำคัญ เช่น รูปแบบหรือวิธีการการคัดเลือกบุคคลหรือนิติบุคคลในการร่วมจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล หรือการเข้าร่วมทุน ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วน การกำหนดให้คณะกรรมการ สทป. และผู้อำนวยการ สทป. เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติโครงการ
                             5. หมวด 4 เกี่ยวกับข้อกำหนดมาตรฐานของสัญญา มีสาระสำคัญ เช่น การกำหนดให้มี  ร่างสัญญา และการกำหนดให้ร่างสัญญาดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ก่อนการลงนามสัญญา รวมทั้งข้อกำหนดมาตรฐานที่ต้องมีในสัญญา
                             6. หมวด 5 เกี่ยวกับการกำกับดูแลโครงการ มีสาระสำคัญ เช่น การกำหนดให้มีมาตรการกำกับดูแลหรือมาตรการควบคุมของสถาบันตามที่กำหนด และการส่งผู้ปฏิบัติงานของสถาบันให้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้น การประเมินผลการดำเนินการขององค์กรนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นการเปลี่ยนแปลง การยกเลิกการจัดตั้งหรือร่วมจัดตั้งองค์กรนิติบุคคลหรือถอนการร่วมทุน รวมถึงการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน
 

เศรษฐกิจ - สังคม

13. เรื่อง ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัดพีรพลศิลาและห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนบดีศิลา ที่จังหวัดยะลา (รวม 2 เรื่อง)                                                           
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างตามคำขอประทานบัตรที่ 2/2558 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พีรพลศิลา และคำขอประทานบัตรที่ 3/2558 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนบดีศิลา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่   7 พฤศจิกายน 2532 และ 15 พฤษภาคม 2533 และขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  15 พฤษภาคม 2533 และ 4 ตุลาคม 2559 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ โดยเมื่อหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว ให้ อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามคำขอประทานบัตรที่ 2/2558 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พีรพลศิลา และคำขอประทานบัตรที่ 3/2558 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนบดีศิลา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 และ 15 พฤษภาคม 2533 และขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และ 4 ตุลาคม 2559 ที่กำหนดให้โครงการที่จะขออนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อการทำเหมืองแร่และเพื่อการต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่จะต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่เดิมที่มีการทำเหมืองมาก่อน โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่  1 บี เพื่อทำเหมืองแร่แล้ว และหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะได้ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป
                   2. คำขอประทานบัตรที่ 2/2558  มีเนื้อที่รวม 56 ไร่ 1 งาน 57 ตารางวา และคำขอประทานบัตรที่ 3/2558 มีเนื้อที่รวม 29 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา โดยคำขอของผู้ขอประกอบการทั้ง 2 ราย เป็นพื้นที่ประทานบัตรเดิมเต็มทั้งแปลง (ประทานบัตรเดิมมีกำหนดสิ้นอายุเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ทั้ง 2 ราย) และขยายพื้นที่เพิ่มเติมในพื้นที่ที่ไม่เคยผ่านการทำเหมืองมาก่อนซึ่งไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และ 4 ตุลาคม 2559 ที่กำหนดให้โครงการที่จะขออนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อการทำเหมืองแร่และเพื่อการต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่จะต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่เดิมที่มีการทำเหมืองมาก่อนซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ผู้ขอประกอบการ พื้นที่ประทานบัตรเดิม (มีการทำเหมืองมาก่อนและหมดอายุแล้ว) ขยายพื้นที่เพิ่มเติม* (เป็นพื้นที่ที่ไม่เคยผ่านการทำเหมืองมาก่อน)
ห้างหุ้นส่วนจำกัด
พีรพลศิลา
เนื้อที่ 40 ไร่ 3 งาน 05 ตารางวา (ประทานบัตรเดิมที่ 12337/15272
มีกำหนดสิ้นอายุเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562)
15 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา
ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ธนบดีศิลา
เนื้อที่ 27 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา (ประทานบัตรเดิมที่ 31530/15236 มีกำหนดสิ้นอายุเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562) 2 ไร่ 1 งาน 59 ตารางวา

          หมายเหตุ : *เป็นพื้นที่ต่อเนื่องพื้นที่ประทานบัตรที่ทำเหมืองมาก่อนซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์และเป็นเขต แหล่งหินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 ที่เห็นชอบและอนุมัติให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ดังกล่าวเพื่อกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรม
                   3. พื้นที่ที่ยืนคำขอประทานบัตรทั้งหมดของผู้ขอประกอบการทั้ง 2 ราย เป็นที่ป่า ซึ่งได้มีการ ยืนคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ไว้แล้ว และคำขอประทานบัตรที่ 2/2558 กับคำขอประทานบัตรที่ 3/2558 ได้ร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกัน โดยพื้นที่อยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งสามารถพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมืองได้ตามมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 พื้นที่ดังกล่าวไม่อยู่ในแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับ การทำเหมืองตามระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ และการปิดประกาศการขอประทานบัตรไม่มีผู้ร้องเรียนคัดค้าน  ซึ่งจากการประเมินพบว่า โครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อท้องถิ่นและประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าความเสียหายจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น
 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด พีรพลศิลา ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนบดีศิลา
พบว่า ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 279.87  ล้านบาท มีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 1.36 ปี และ ปรากฏว่า มูลค่าผลตอบแทนโครงการสุทธิภายหลังหักมูลค่าที่สูญเสียไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการเท่ากับ 275.16 ล้านบาท พบว่า ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุดทธิ (NPV) เท่ากับ 5.77 ล้านบาท มีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 9.99 ปี และปรากฏว่า มูลค่าผลตอบแทนโครงการสุทธิภายหลังหักมูลค่าที่สูญเสียไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการเท่ากับ 3.30 ล้านบาท

ทั้งนี้ การตรวจสอบพื้นที่ปรากฏว่า มีสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีปัญหาการร้องเรียนคัดค้านเกี่ยวกับคำขอประทานบัตร และการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือสร้างความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่แต่อย่างใด ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความเห็นชอบคำขอประทานบัตรของผู้ขอประกอบการทั้ง 2 ราย แล้ว โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่ ในการประชุม ครั้งที่ 22/2560 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ได้มีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับคำขอประทานบัตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาแล้ว เห็นชอบในการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ตามคำขอประทานบัตรดังกล่าว เนื่องจากเป็นคำขอในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลลิดลได้ให้ความเห็นชอบในการขอประทานบัตร และสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลาได้ตรวจสอบพื้นที่คำขอประทานบัตรแล้ว ไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี โบราณสถาน ศิลปวัตถุ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์บริเวณผิวดินแต่อย่างใด และเห็นว่าหากผู้ขอประกอบการดำเนินการใด ๆ และพบหลักฐานทางโบราณคดีหรือร่องรอยผิดวิสัยและเป็นประโยชน์ในทางโบราณคดี ขอให้ชะลอการดำเนินงานดังกล่าวและแจ้งข้อมูลให้สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ทราบเพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบต่อไป
 
14. เรื่อง โครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน สำหรับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน สำหรับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และมอบหมายสำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 51,904.73  ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 (3 ปี)
                   ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เห็นสมควรที่ สพฐ. จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ สงป. ได้ให้ความเห็นชอบไว้และอนุมัติเงินจัดสรรไว้แล้ว สำหรับการดำเนินการในปีต่อ ๆ ไป เห็นสมควรให้ สพฐ. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป โดยดำเนินการอย่างโปร่งใส คำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด ต้นทุนที่เหมาะสม ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ รวมถึงความครอบคลุมของงบประมาณ เพื่อลดภาระงบประมาณของภาครัฐในระยะยาวอันจะนำไปสู่เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของภาครัฐในภาพรวมโดยพิจารณาเป้าหมายและประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                   กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล หรือ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 8,224 โรง (ระดับประถมศึกษา 7,079 โรง และระดับมัธยมศึกษา 1,145 โรง) ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามบริบทของชุมชนตนเอง ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาส     ในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมทุกพื้นที่ทั่วประเทศและมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน บ้าน (ครอบครัว) วัด/ศาสนสถานอื่น ๆ และโรงเรียน ซึ่งจะทำให้ชุมชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ และทำให้ “โรงเรียนกลายเป็นศูนย์กลางในชุมชน” อย่างแท้จริง โดยในส่วนของการดำเนินโครงการนั้น สพฐ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา    ดังนั้น เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ศธ. จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินการใน 3 ด้านที่สำคัญ คือ               (1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (2) ด้านการส่งเสริมการศึกษา เพื่อเพิ่มทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับผู้เรียน และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา และ (3) ด้านการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่นั้น ๆ ในการบริหารจัดการการศึกษาโดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการใน 5 ประเด็น ได้แก่ (1) การพัฒนาตามแนวนโยบายโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลทั้งในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและผู้เรียน รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา (2) การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency – Based Curriculum)   (3) การพัฒนาด้านภาษาอังกฤษด้วยการจ้างครูชาวต่างชาติ (4) การพัฒนาด้านการเรียนการสอนภาษาจีน และ   (5) การพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 51,904.73 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) งบลงทุน 19,766.02 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วัสดุอุปกรณ์ สื่อและสถานที่ให้เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น ห้องเรียนอัจฉริยะ ห้องปฏิบัติการและแหล่งเรียนรู้ Coding STEM ห้องปฏิบัติการด้านภาษา (Sound Lab) และสนามกีฬา เป็นต้น (2) งบดำเนินงาน 30,477.49 ล้านบาท สำหรับใช้ในการจัดกิจกรรมเสริมสร้างการพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีนของผู้เรียน และกิจกรรมพัฒนาบุคลากร เป็นต้น และ (3) งบรายจ่ายอื่น 1,661.22 ล้านบาท เพื่อดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวทางการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลในต่างประเทศ และการจัดทำเครื่องมือวัดประเมินผลระดับชั้นเรียนที่มุ่งเน้นวิทยาการคำนวณ และการออกแบบเทคโนโลยี เป็นต้น
 
15. เรื่อง ขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 101 สาย อำเภอร้องกวาง – น่าน ตอน บ้านห้วยแก๊ต – บ้านห้วยน้ำอุ่น จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2529    [เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำยมและน่าน และข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำ] และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 (เรื่อง ขอผ่อนผันใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อก่อสร้างทางเพื่อความมั่นคง) เพื่อให้กระทรวงคมนาคม (คค.) โดยกรมทางหลวงใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 101 สาย อำเภอร้องกวาง – น่าน ตอน บ้านห้วยแก๊ต – บ้านห้วยน้ำอุ่น จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน (โครงการฯ) ตามที่ คค. เสนอ ซึ่ง กก.วล. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) เพื่อใช้ประกอบการดำเนินโครงการแล้ว
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   คค. รายงานว่า
                   1. โครงการฯ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสายทางของโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) เพื่อเป็นโครงข่ายถนนสายหลักในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย แพร่ และน่าน ตามโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 101 หรือโครงการก่อสร้างทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ (ประเทศไทย – สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว – สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม – สาธารณรัฐประชาชนจีน) ตามแนวทางหลวงอาเซียนหมายเลข 13 (AH 13) ซึ่งทางหลวงหมายเลข 101 เป็นสายทางหลักจากจังหวัดแพร่ไปยังจังหวัดน่าน ในปัจจุบันมีปริมาณรถบรรทุกที่ใช้เส้นทางดังกล่าวในการเดินทางไปยังด่านห้วยโก๋นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวจะมีปริมาณจราจรที่หนาแน่น เนื่องจากจังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติขุนเขา อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันถนนดังกล่าวบางช่วงมีขนาดเป็น 2 ช่องจราจร สภาพเส้นทางเป็นเขาคดเคี้ยว เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องทางจราจร
                   2. โครงการฯ มีจุดเริ่มต้นโครงการจากอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ที่ กม. 183 + 750 (กม. 300 + 049 ใหม่) และสิ้นสุดโครงการที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ที่ กม. 199 + 900 (กม. 316 + 199 ใหม่) ระยะทางรวม 16.150 กิโลเมตร ใช้มาตรฐานชั้นทางพิเศษ ผิวทางแอสฟัลติกคอนกรีต (Asphaltic Concrete) กว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร เกาะกลางแบบยก (Raised Median) หรือแบบกำแพงคอนกรีต (Concrete Barrier) โดยโครงการฯ ตัดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ จำนวน 1 จุด เริ่มต้นที่ กม. 199 + 700 ถึง กม. 199 + 900 (กม. 315 + 999 ถึง กม. 316 + 199 ใหม่) รวมระยะทาง 200 เมตร
                   3. กรมทางหลวงได้จัดทำรายงาน EIA ภายใต้ชื่อโครงการทางหลวงหมายเลข 101 สาย อำเภอ ร้องกวาง – น่าน ตอน 2 เริ่มต้นที่ กม. 190 + 225 (กม. 306 + 524) ถึง กม. 200 + 400 (กม. 316 + 699 ใหม่) รวมระยะทาง 10.175 กิโลเมตร (ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการฯ) โดยได้ระบุว่า สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันและเป็นที่ราบสลับเนินเขา สภาพพื้นที่สองข้างทางเป็นป่า ป่าละเมาะ สวนไม้สัก และไร่ข้าวโพด มีพื้นที่ชุมชนอยู่ตามแนวสองข้างทางในบางส่วน แนวโครงการตัดผ่านแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ ห้วยแม่คำมี ห้วยแม่สาคร และห้วยน้ำอุ่น ผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำสาและป่าแม่สาครฝั่งซ้าย อีกทั้งตัดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ จำนวน 2 จุด รวมระยะทาง 400 เมตร ได้แก่ (1) เริ่มต้นที่ กม. 199 + 700 ถึง กม. 199 + 900 (กม. 315 + 999 ถึง กม. 316 + 199 ใหม่) ระยะทาง 200 เมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ที่ คค. นำเสนอมาในครั้งนี้ และ (2) เริ่มต้นที่ กม. 200 + 200 ถึง กม. 200 + 400 (กม. 316 + 499 ถึง กม. 316 + 699 ใหม่) ระยะทาง 200 เมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ คค. นำเสนอมาในครั้งนี้ โดยโครงการมีอัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 15.37
                   4. กก.วล. ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 ได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ (คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ) โดยให้กรมทางหลวงรับความเห็นของ กก.วล. ไปพิจารณาดำเนินการในประเด็นความเหมาะสมของท่อลอดและทางระบายน้ำ รวมถึงการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรื่องสัตว์ในระบบนิเวศและดำเนินการ ดังนี้
                             4.1 ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในการประชุมครั้งที่ 15/2561 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 อย่างเคร่งครัด
                             4.2 ให้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ เช่น

องค์ประกอบ
ที่เกี่ยวข้อง
มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามและตรวจสอบ
ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรดิน - บำรุงรักษาโครงสร้างที่ช่วยในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินอย่างต่อเนื่อง
- ดูแลพืชคลุมดินอยู่เสมอ หากพบว่าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ให้ปลูกใหม่ทดแทน
- สำรวจสภาพโครงสร้างป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
- สำรองสภาพพืชที่ปลูกคลุมดินไว้
- สำรวจสภาพรางรับน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อยู่เสมอ
ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ
ชั้นที่ 1 เอ
- ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านทรัพยากรดิน คุณภาพน้ำผิวดิน และนิเวศวิทยาทางน้ำอย่างเคร่งครัด
- กำหนดเขตการก่อสร้างให้ชัดเจน ควบคุมผู้รับจ้างให้ดำเนินการก่อสร้างภายในเขตก่อสร้างที่กำหนดไว้เท่านั้น และห้ามใช้พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ในการทำกิจกรรมอื่น ๆ
-
การโยกย้าย
และการเวนคืน
- กำหนดให้มีขั้นตอนการจัดซื้อโดยวิธีปรองดอง
- จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่
- จ่ายเงินภายใน 120 วัน นับแต่วันทำสัญญา
-

 
                             4.3 นำความเห็นของ กก.วล. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาตามมาตรา 49 และมาตร 51/6 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ต่อไป โดย กก.วล. ได้มีความเห็น ดังนี้
                                 4.3.1 การออกแบบท่อลอดและทางระบายน้ำสำหรับสัตว์ป่าขนาดเล็กที่อาศัยและหากินตามพื้นดิน โดยเฉพาะสัตว์เลื้อยคลาน ควรมีการปรับขนาดและรูปแบบให้เหมาะสมกับสัตว์ที่สำรวจพบในพื้นที่โครงการและความเหมาะสมในการใช้งาน
                                 4.3.2 ควรดำเนินการมาตรการติดตามและตรวจสอบผลกระทบอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องสัตว์ในระบบนิเวศควรมีการสำรวจและติดตามอย่างต่อเนื่องและชัดเจนมากกว่าปีละครั้ง เนื่องจากจะมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละฤดูกาล
                   5. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่บางส่วนได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ดังนั้น หาก คค. พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ ขอให้ คค. ดำเนินการผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2529 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 รวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน การบำรุงรักษาป่าธรรมชาติ การปลูกป่าทดแทน และการป้องกันการบุกรุกป่าจากการดำเนินโครงการ ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะเปิดดำเนินการ และขอให้ คค. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
                   6. ในส่วนของงบประมาณ สำนักงบประมาณ (สงป.) ได้เห็นชอบความเหมาะสมของราคาค่าก่อสร้างโครงการฯ ในวงเงิน 1,093,900,000 บาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 220,000,000 บาท ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายแล้ว ส่วนที่เหลือ จำนวน 873,900,000 บาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2565 ต่อไป
 
16. เรื่อง การขอรับจัดสรรงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 (เพิ่มเติม)
                    คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง การขอรับจัดสรรงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 (เพิ่มเติม) ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ แล้วมีมติรับทราบประมาณการวงเงินชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 และอนุมัติการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 โดยอนุมัติในส่วนที่ขาดอยู่ จำนวน 454,292,431.18 บาท ประกอบด้วยวงเงินที่จ่ายให้เกษตรกร จำนวน 448,226,666.97 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร     (ธ.ก.ส.) จำนวน 6,065,764.21 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการจ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   พณ. รายงานว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 มีมติ ดังนี้
                   1. รับทราบผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ธ.ก.ส. จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรรวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง จำนวน 391,452 ครัวเรือน เป็นเงิน 4,764.516 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.46 ของวงเงินจ่ายขาดทั้งหมด คงเหลืองบประมาณจ่ายขาด 4,677.826 ล้านบาท
2. รับทราบประมาณการวงเงินชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 สำหรับงวดที่เหลือ (งวดที่ 6 – 12) โดยคำนวณจากข้อมูลจำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม 2563 ของกรมส่งเสริมการเกษตร และประมาณการราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจากราคารับซื้อหัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ของผู้ค้าท้องถิ่นในจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา กำแพงเพชร ชัยภูมิ กาญจนบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี กาฬสินธุ์ และชลบุรี เฉลี่ยรายเดือนของปี 2562 ที่ต้องใช้วงเงินประมาณ 5,126.053 ล้านบาท ซึ่งวงเงินชดเชยที่ได้รับอนุมัติไว้จำนวน 9,442.343 ล้านบาทไม่เพียงพอ โดยมีงบประมาณส่วนขาดจำนวน 448.227 ล้านบาท
3. มอบหมายฝ่ายเลขานุการ นบมส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติม
 
17. เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 (คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ  ครั้งที่ 1/2563   ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะประธานกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติเสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. วาระเพื่อทราบ
                              1.1 ร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. 2563 – 2580 (National Space Master Plan 2020-2037)
                             คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่  27 กรกฎาคม 2560 มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 หรือ ร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 และส่งให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา โดยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) มีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้   1) ยุทธศาสตร์การพัฒนา ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนวิจัยและพัฒนาอวกาศ  ให้ความสำคัญกับแนวโน้ม                การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และมีการจัดทำแนวทางการพัฒนากำลังคน 2) การกำหนดตัวชี้วัด ให้ทบทวนการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น 3) กลไกการขับเคลื่อน กำหนดให้มีการดำเนินการแบบบูรณาการ  ภายใต้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน    
                             มติที่ประชุม
                              รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติฯ ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติฯ   ตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
                              1.2 ร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ....
                              คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... ฉบับแก้ไขโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งขาติ โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงแก้ไขร่างดังกล่าวคือ มีการจัดตั้ง 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่  คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทด้านการจัดทำนโยบาย                ด้านกิจการอวกาศของประเทศ และสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ
                              มติที่ประชุม 
                              รับทราบการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. .... และให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ และเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายอวกาศ ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติต่อไป
                              1.3 การดำเนินการเรื่อง สำนักงานประสานงานภูมิภาคของ The United Nations Office for Outer Space Affairs (UNOOSA) ในประเทศไทย  (Regional Liaison Office : RLO) 
                             คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 มีมติเห็นชอบให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งสำนักงานประสานงานภูมิภาคของ UNOOSA  ในประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อคิดเห็นในการจัดตั้ง RLO 2 ประเด็น ดังนี้  1) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มีความกังวลในเรื่องความยั่งยืนของ RLO ภายหลังจาก 3 ปีแรก  (ประเทศไทยสนับสนุนงบประมาณ    เต็มจำนวน 3 ปีแรก) ซึ่ง UNOOSA ปฏิเสธที่จะจัดทำแผนความยั่งยืนภายหลัง 3 ปี 2) การให้มีหน่วยงานเพื่อรับเงินงบประมาณ ตามกระบวนการของการรับงบประมาณ โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  รับเป็นหน่วยงานในการรับงบประมาณเพื่อการดำเนินการของ RLO ไปพลางก่อน 
                              มติที่ประชุม รับทราบและให้ฝ่ายเลขานุการฯ รับข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ   ไปดำเนินการก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติต่อไป
                              1.4 ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการในการเปิดตลาดในระดับรัฐ (State Level) ของนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ (Landing Rights)
                              คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (5 มีนาคม 2562) เห็นชอบในหลักการร่างนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ และให้ ดศ. รับข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดย ดศ. ได้เชิญผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย  กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง  กิจการโทรทัศน์  และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เข้าร่วมการประชุมเพื่อพิจารณาให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นแนวทางการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการเปิดตลาดให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศ 
                              มติที่ประชุม รับทราบการดำเนินการต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการในการเปิดตลาดในระดับรัฐ (State Level) ของนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ (Landing Rights)  ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติต่อไป
                              1.5 ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ
                              คณะกรรมการ กสทช. ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงฯ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 โดยมีสาระสำคัญของร่างดังกล่าว เช่น ขอบเขตบังคับใช้คุณสมบัติผู้ขอรับอนุญาต รูปแบบการอนุญาต เงื่อนไขด้านความมั่นคง
                              มติที่ประชุม   รับทราบร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงฯ ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง  กิจการโทรทัศน์   และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563
                              1.6 แนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
                              ดศ. ได้ลงนามจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ที่ปรึกษาโครงการ)  โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 270 วัน (สิ้นสุด ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2563) ปัจจุบันที่ปรึกษาโครงการ ได้เสนอทางเลือก เป็น 4 กรณี ได้แก่ 1) กรณีที่ ดศ. ดำเนินงานเอง 2) กรณีที่ ดศ.มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินงาน 3) กรณีที่ให้เอกชนรายเดิมดำเนินงาน และ 4) กรณีเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนรายใดรายหนึ่งดำเนินการ                 ซึ่งที่ปรึกษาโครงการเสนอแนะให้ ดศ. ดำเนินการในรูปแบบการให้บริการภาครัฐสู่ภาครัฐ (G2G)  โดยพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ดศ. [บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)] เข้ามาบริหารจัดการดาวเทียมทั้ง   3 ดวงที่มีอายุเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญาฯ (ดาวเทียมไทยคม 4 ไทยคม 5 และไทยคม 6) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
                              มติที่ประชุม  รับทราบแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ โดยเปรียบเทียบประโยชน์ (รายได้) ของแต่ละทางเลือกในการบริหารจัดการดาวเทียม และเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีตามลำดับต่อไป
                              1.7 กรณีขัดข้องทางเทคนิคของดาวเทียมไทยคม 5
                              เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ผู้แทน ดศ. ได้เข้าร่วมการประชุมหารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม)  ในประเด็นข้อสัญญาฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  กรณีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงาน กสทช. ซึ่งที่ประชุมมีข้อสรุป ดังนี้ 1) คู่สัญญามีหน้าที่จะต้องจัดสร้างดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 ตามข้อกำหนดของสัญญาฯ ในกรณีที่ไม่สามารถซ่อมแซมดาวเทียมได้ 2) ดศ. ควรเร่งตรวจสอบเงื่อนไขการรับเงิน             ค่าสินไหมทดแทนตามกรธรรม์ประกันภัยของดาวเทียมไทยคม 5 3) เห็นควรให้ ดศ. มีหนังสือถึง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดส่งแผนการดำเนินการตามข้อกำหนดของสัญญาฯ โดยให้ ดศ. พิจารณาโดยด่วน และ  4) เห็นควรให้ ดศ. มีหนังสือหารือ  สคก. อีกชั้นหนึ่งเมื่อได้ข้อสรุปการดำเนินการตามข้อกำหนดของสัญญาฯ  และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป 
                              มติที่ประชุม รับทราบกรณีขัดข้องทางเทคนิคของดาวเทียมไทยคม 5  ทั้งนี้ ดศ. ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะ คือ 1) คณะทำงานพิจารณาข้อกฎหมายในการปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานกรณีดาวเทียมไทยคม 5 2) คณะทำงานตรวจสอบทางเทคนิคกรณีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5    ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563
                    2. วาระเพื่อพิจารณา
                    การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ (Space Situational Awareness and Space Traffic Management)
                    ที่ประชุมได้พิจารณาร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวัง และบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ โดยมีรองปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธานกรรมการผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการอวกาศ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ผู้แทนสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ  (องค์การมหาชน) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1) จัดทำนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวัง   และบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศของประเทศ ครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้ง กฎ ระเบียบ งบประมาณ บุคลากรและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) จัดทำข้อเสนอแนะในการกำหนดหน่วยงานเพื่อดำเนินการติดตามเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศได้อย่างต่อเนื่องและติดตามผลการดำเนินงานเพื่อรายงาน ต่อคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ 3) แต่งตั้งคณะทำงานหรือชุดปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนภารกิจตามอำนาจหน้าที่และ 4) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติมอบหมาย 
                              มติที่ประชุม เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ
 
18. เรื่อง  รายงานความก้าวหน้าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา 
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบร่วมกับภาคีเครือข่าย
                    สาระสำคัญ
                    พม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายลงพื้นที่เยี่ยมบ้านให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประเมินสภาพปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือ 68 ครอบครัว ซึ่งสรุปปัญหาและความต้องการ ดังนี้
                              - ด้านเศรษฐกิจ  มีผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในภาวะว่างงานและไม่มีอาชีพ  17 ราย  ไม่มีทุนประกอบอาชีพ  6 ราย และมีภาระหนี้สิน 6 ราย เป็นเงิน 3,284,000 บาท โดยเป็นหนี้ของสถาบันการเงิน
                              - ด้านสุขภาพ  มีผู้ได้รับผลกระทบรักษาตัวในโรงพยาบาล 4 ราย (โรงพยาบาลตำรวจ   1 ราย และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 3 ราย) ซึ่งเป็นผู้มีภาวะเสี่ยงเป็นผู้พิการ
                              - ด้านจิตใจ  มีผู้ได้รับผลกระทบมีปัญหาด้านจิตใจ 25 ราย เช่น มีอาการเครียด มีภาวะซึมเศร้า  มีอาการหวาดระแวง จำเป็นต้องได้รับการดูแลด้านจิตใจ โดย พม. ได้ประสานจิตแพทย์จากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว มีผู้ได้รับผลกระทบที่มีอาการดีขึ้น ซึ่งแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ 22 ราย ทั้งนี้ มีการติดตามฟื้นฟูทางด้านจิตใจอย่างต่อเนื่องและประสานส่งต่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน  เพื่อติดตามผลต่อไป
                              - ด้านที่อยู่อาศัย  มีผู้ได้รับผลกระทบ 12 ราย  โดยไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเอง 6 ราย และมีสภาพที่อยู่อาศัยทรุดโทรม  ไม่มั่นคง และมีที่อยู่อาศัย ซึ่งมีผู้พิการและผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยและจำเป็นต้องปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม 6 ราย
                              - ด้านการศึกษา   มีสมาชิกครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบที่ขาดแคลนเงินเพื่อใช้จ่ายในการศึกษา 27 ราย
                              - ด้านงานยุติธรรม มีผู้ได้รับผลกระทบต้องการความช่วยเหลือด้านคดีความ 3 ราย และเรียกร้องสิทธิ 7 ราย
                              - ด้านครอบครัวและสังคม จากเหตุการณ์ฯ มีสตรีหม้าย 5 ราย บุรุษหม้าย 1 ราย และเด็กกำพร้า 6 ราย โดยจำแนกเป็น กลุ่มเด็กปฐมวัย 0-6 ปี  1 ราย วัย 7-12 ปี 2 ราย  อายุ 13-15 ปี 2 ราย และ 15 ปี ขึ้นไป 1 ราย  นอกจากนี้  มีเด็กที่ต้องได้รับการฟื้นฟูจิตใจและเตรียมความพร้อม เพื่อใช้ชีวิตอยู่กับญาติพี่น้องหรือครอบครัวใหม่ 1 ราย
                    2. การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตโดยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์และครอบครัว 
                    สาระสำคัญ
                              - การช่วยเหลือทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน  ได้แก่  เงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน 23 ราย รายละ 1,000 บาท เป็นเงิน 23,000 บาท และเงินสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต (ทั้งภายในจังหวัดนครราชสีมาและต่างจังหวัด) 27 ราย  รายละ 10,000 บาท เป็นเงิน 270,000 บาท กรณีผู้บาดเจ็บ (ทั้งภายในจังหวัดนครราชสีมาและต่างจังหวัด)  68 ราย รายละ 5,000 บาท เป็นเงิน 340,000 บาท
                              - การช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา ขอรับการสนับสนุนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาจากกองทุนคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นบุตรของผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ 8 ราย  เป็นเงิน 22,500 บาท
                              - การช่วยเหลือเป็นสิ่งของ ได้แก่  สิ่งของจำเป็นและเครื่องอุปโภคบริโภค การมอบ พวงหรีดในนาม พม. ให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต 27 ราย และการมอบกระเช้าในนาม พม. ในการเยี่ยมให้กำลังใจผู้ได้รับบาดเจ็บ 32 ราย
                              - การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย  ได้แก่ การซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ 6 ราย และการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัย 6 ราย
                              - การประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการ  จังหวัดนครราชสีมา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 31 กองพันทหารราบ มณฑลทหารที่ 21 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนครราชสีมา  โรงเรียนสุรนารีวิทยา  ธนาคารออมสิน  สาขาหัวทะเล  ธนาคารกรุงไทย สาขานครราชสีมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น  สำนักงานจัดหางาน จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา
 
19. เรื่อง  สรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 และข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบมติคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในการประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้ง 2 ข้อตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เสนอ ดังนี้
                    1. รับทราบสรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 และข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน
                   2. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ศปถ. ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการต่อคณะกรรมการ ศปถ. อย่างต่อเนื่อง
                    และให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนรับความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562-2 มกราคม 2563  (รวม 7 วัน) และเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและขับเคลื่อนการดำเนินการ พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการต่อคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนตามมติคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 สรุปได้ดังนี้
ตารางเปรียบเทียบสถิติต่าง ๆ ช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2563 (รวม 7 วัน) และปี 2562

รายการ ปี 2562 ปี 2563 ผลเปรียบเทียบปี 2563 กับปี 2562
จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ (ครั้ง) 3,791 3,421 ลดลง ร้อยละ  7.91 (370 ครั้ง)
จำนวนผู้บาดเจ็บ (ราย) 3,892 3,499 ลดลง ร้อยละ 10.09 (393 ราย)
จำนวนผู้เสียชีวิต (ราย) 463 373 ลดลง ร้อยละ 19.43 (90 ราย)

 
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ เช่น

รายการ สถิติ
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.68 รองลงมา คือ การขับรถเร็ว                เกินกว่ากฎหมายกำหนด ร้อยละ 29.00
สาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ร้อยละ 42.90 รองลงมา คือ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 28.86
ประเภทยานพาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงสุด รถจักรยานยนต์ (อุบัติเหตุ ร้อยละ 79.97 และ เสียชีวิต ร้อยละ 76.94)

ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ดำเนินการจัดประชุมถอดบทเรียนการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนและกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะต่อไป พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยงข้องดำเนินการโดยแบ่งออกเป็น 4 มาตรการสำคัญ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

มาตรการ หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก
1. การเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย (1) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและกำหนดเป้าหมายในการตรวจจับและดำเนินคดีกลุ่มเสี่ยงหลักให้ชัดเจน และ (2) กำหนดแนวทางปฏิบัติของพนักงานสอบสวนในการตรวจวัด แอลกอฮอล์ผู้ขับขี่กรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตทุกรายให้เป็นรูปธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก
2. การสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน  โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก และส่งเสริมให้มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทั้งในสถานศึกษา และการปรับวิธีการหรือหลักสูตรในการอบรมขอรับใบอนุญาตขับขี่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน  กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง  กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวงชนบท) กระทรวงมหาดไทย
(กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
3. การลดปัจจัยเสี่ยงทางถนนและสภาพแวดล้อม (1) ตรวจสอบ วิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในสายทางที่อยู่ในความรับผิดชอบเพื่อกำหนดมาตรการ หรือดำเนินการแก้ไขปัญหาในบริเวณที่เป็นความเสี่ยงให้เกิดความปลอดภัย (2) กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีการชนท้ายรถบรรทุกขณะขับหรือขณะจอดบนไหล่ทาง  การติดสติกเกอร์สะท้อนแสงที่มีมาตรฐาน และ (3) จัดทำคู่มือมาตรฐานงานก่อสร้างทาง โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง  กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวงชนบท)  กระทรวงมหาดไทย  (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4. ด้านบริหารจัดการและการติดตามประเมินผล (1) ผลักดันให้การสวมหมวกนิรภัยในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และการแก้ปัญหาการขับขี่ด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  (2) จัดทำแนวทางการใช้งบประมาณท้องถิ่นเพื่อความปลอดภัยทางถนน (3) พัฒนากลไกลการจัดการทั้งด้านบุคลากร ด้านข้อมูล ด้านการสอบสวนและวิเคราะห์สาเหตุกรณีเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่มีผู้เสียชีวิตให้มีประสิทธิภาพ และ                    (4) กำหนดแนวทางในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนให้เป็นรูปธรรมและเกิดความต่อเนื่อง ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน  กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานตรวจแห่งชาติ

 
20. เรื่อง แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2570)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบดังนี้ 
                    1. รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป และในส่วนของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 
                    2. ให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร  ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2570) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้  ให้ดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการติดตามการดำเนินงานตามมาตรการฯ เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรมได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2570) เพื่อวางกรอบแนวทางการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก  โดยการจัดทำแผนดังกล่าวได้มีการสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำความเห็นมาปรับปรุงเพิ่มเติมในแผนปฏิบัติการฯ และนำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศพิจารณาเห็นชอบแล้ว รวมทั้งนำเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว  ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  4 ธันวาคม 2560 โดยแผนปฏิบัติการฯ มีรายละเอียด ดังนี้
 

วิสัยทัศน์ : ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย :
1. สินค้า Commodity  เช่น กลุ่มข้าวและธัญพืช กลุ่มปศุสัตว์ ประมง กลุ่มผักผลไม้  กลุ่มเครื่องปรุงรส อาหารพร้อมรับประทาน/เกษตรอินทรีย์/เครื่องดื่มสุขภาพ (Healthy drinks) รวมถึงสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ทันสมัย/ บรรจุภัณฑ์ฉลาด รวมถึงอาหารที่ยกระดับด้วยการคัดแยกเกรด
2. สินค้าอนาคต Future Food  เช่น อาหารสุขภาพและอาหารฟังก์ชัน (Healthy and Functional Food)  ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ  อาหารใหม่ (Novel Food) อาหารและวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารคุณภาพสูง  และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร  เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น
มาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการ 4 มาตรการ :
มาตรการ หน่วยงานรับผิดชอบหลัก งบประมาณ
(ล้านบาท)
1) มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warrios)  เป็นมาตรการสร้างผู้ประกอบอาหารรุ่นใหม่ให้มีนวัตกรรมอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ใช้ฐานความรู้และทักษะเพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่ม  สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจไทย โดยให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารอนาคต  (Future Food)   เช่น อาหารสุขภาพ  (Healthy Foods)  ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ  (Food Biotechnology Products)  และอาหารใหม่ (Novel Food)  กระทรวงอุตสาหกรรม 2,100.02
2) มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation)  เป็นมาตรการยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม
3,839.94
3) มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจ  (New Marketing Platform)    เป็นมาตรการเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม (Platform)  ที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารไทยมีบทบาทในตลาดโลก  โดยการเชื่อมโยงสู่ภาคการผลิต การค้าสู่สากล  รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์และเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อาหารกับการท่องเที่ยว กระทรวงพาณิชย์ 350.00
4) มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling) เป็นมาตรการสร้างปัจจัยเอื้อสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยและลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business)  ที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความโปร่งใส สุจริต ยุติธรรม รับผิดชอบต่อสาธารณะ  และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน                   ในการพัฒนาประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม 382.00
งบประมาณ : ประจำปี (ปี 2563 – 2566) ภายใต้งบบูรณาการและงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงาน จำนวน 6,671.96 ล้านบาท
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ :
1) ภาพรวมของประเทศ - ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตในอาเซียนใน ปี 2570
- ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก
2) เศรษฐกิจของประเทศ - ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) อาหารของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.42 ล้านล้านบาท
- รายได้ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท
หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี
- เกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศ 0.48 ล้านล้านบาท  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี
กลไกการดำเนินการ : ใช้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนโดยผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) * ในการกำกับการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ  ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ รวมถึงการติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้มาตรการดังกล่าว เพื่อให้มีการบูรณาการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ
       

หมายเหตุ :* เป็นคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ  (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ
 
21. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอดังนี้
                   1. รับทราบผลการประชุม กนช. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563
                   2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติ กนช. และข้อสั่งการประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กนช. ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. เรื่องเพื่อทราบ 4 เรื่อง
                       1.1 รับทราบผลการประชุมของคณะอนุกรรมการภายใต้ กนช. ทั้ง 5 คณะ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และข้อสั่งการเพิ่มเติมของประธาน กนช. ไปพิจารณาดำเนินการ
                       1.2 รับทราบความก้าวหน้าแผนงานโครงการที่เสนอในคณะรัฐมนตรี และงานนโยบายที่นายกรัฐมนตรีตรวจพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562-7 มกราคม 2563 จำนวนทั้งสิ้น 27,969 โครงการ วงเงิน 32,392.95 ล้านบาท
                       1.3 รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (เพิ่มเติม) ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด และให้ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด โดยให้เพิ่มเติมปลัดจังหวัด ในคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดดังกล่าว
                       1.4 รับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำ ครั้งที่ 1/2563 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการลุ่มน้ำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
                    2. เรื่องเพื่อพิจารณา 3 เรื่อง
                       2.1 แผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) กนช. ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ 2 เรื่อง ดังนี้
                             (1) แผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยได้คัดเลือกพื้นที่ จำนวน 715 พื้นที่ชุมชน และได้ดำเนินการแล้ว 166 พื้นที่ชุมชน คงเหลือที่ต้องดำเนินการอีก 549 พื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ซึ่งมีความสอดคล้องกับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม (Area Based) ของ สทนช. โดยพิจารณาตามความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาน้ำท่วม แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
 

ระยะ (พ.ศ.) พื้นที่ชุมชน (ชุมชน/ไร่) ประมาณการวงเงิน (ล้านบาท) ผู้ได้รับผลประโยชน์
ระยะเร่งด่วน (ปี 2564-2565) 52 ชุมชน
(260,000 ไร่)
17,675 320,000 ครัวเรือน
(980,000 คน)
ระยะกลาง (ปี 2566-2570) 157 ชุมชน
(360,000 ไร่)
43,128 720,000 ครัวเรือน
(2.17 ล้านคน)
ระยะยาว (ปี 2571 เป็นต้นไป) 340 ชุมชน
(9.13 ล้านไร่)
- 5.48 ล้านครัวเรือน
(12.26 ล้านคน)

                                      มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการแผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนของกรมโยธาธิการและผังเมือง และให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปพิจารณดำเนินการ
                             (2) โครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาค (เพิ่มเติม) จำนวน 6 โครงการ
 
 
 

โครงการ วงเงิน (ล้านบาท)
(1) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาเดิมบางนางบวช 253.14
(2) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาด่านช้าง 202.47
(3) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุงกิจการประปา อปท. กปภ. สาขานครศรีธรรมราช (อบต.ท่าเรือ) 42.96
(4) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุงกิจการประปา อปท. กปภ. สาขานครศรีธรรมราช (ทต. การะเกด) 33.05
(5) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาเพชรบูรณ์-หล่มสัก 1,567.86
(6) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม 9,351.79

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 475,200 ลูกบาศก์เมตร/วัน สามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 126,750 ราย (ประมาณ 305,625 คน)
                                      มติที่ประชุม
                                      (1) เห็นชอบในหลักการโครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 ของ กปภ. (เพิ่มเติม) จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 11,451.56 ล้านบาท
                                      (2) เห็นชอบในหลักการแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อรองรับโครงการเพื่อการพัฒนา ของ กปภ. ปี 2563 (เพิ่มเติม) 3 แห่ง วงเงินรวม 346.40 ล้านบาท
                                      (3) ให้ กปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ กนช. ไปพิจารณาดำเนินการ
                                      ข้อสั่งการเพิ่มเติมของประธาน กนช. ให้ กปภ. เตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้สำหรับการผลิตน้ำประปาทุกแห่ง
                       2.2 โครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ กนช. ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ 2 เรื่อง ดังนี้
                             (1) โครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 ของ กปภ. (เพิ่มเติม) วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาเพชรบูรณ์-หล่มสัก วงเงิน 1,567.86 ล้านบาท และ              2) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม วงเงิน 9,351.79 ล้านบาท เมื่อทั้ง 2 โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 456,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 114,300 ราย (ประมาณ 273,367 คน)
                             มติที่ประชุม
                             (1) เห็นชอบในหลักการโครงการเพื่อการพัฒนาของ กปภ. ปี 2563 (เพิ่มเติม) จำนวน   2 โครงการ วงเงินรวม 10,919.66 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการก่อสร้างปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาเพชรบูรณ์-หล่มสัก วงเงินรวม 1,567.86 ล้านบาท 2) โครงการก่อสร้างปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม วงเงินรวม 9,351.79 ล้านบาท และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบโครงการต่อไป
                             (2) เห็นชอบในหลักการแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองเพื่อรองรับโครงการเพื่อการพัฒนาขนาดใหญ่ ของ กปภ. ปี 2563 (เพิ่มเติม) วงเงินรวม 244.36 ล้านบาท
                             (3) ให้ กปภ. นำความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญไปพิจารณาดำเนินการ
                             (2) โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จังหวัดฉะเชิงเทรา ของกรมชลประทาน เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปี 2563-2580 และสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) สามารถเพิ่มแหล่งเก็บน้ำต้นทุนได้ 19.20 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 10,000 ไร่ และในพื้นที่ EEC จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ปีละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศวิทยาในการเสริมศักยภาพการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง ประมาณ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอท่าตะเกียบ
                             มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จังหวัดฉะเชิงเทรา ของกรมชลประทาน วงเงินรวม 1,880 ล้านบาท และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการต่อไป
                       2.3 การเพิ่มปริมาณการผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำกลอง มาลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อรักษาระบบนิเวศ (ป้องกันน้ำเค็มรุกตัว) อีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในฤดูแล้งปี 2562/2563 โดยคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีความเห็นดังนี้
                             (1) เห็นชอบในหลักการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพิ่มจากแผนการจัดสรรน้ำเดิมอีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยให้เสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
                             (2) ให้ สทนช. นำความเห็นเพิ่มเติมของคณะกรรมการลุ่มน้ำไปพิจารณาดำเนินการให้เป็นรูปธรรม
                             (3) ให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการประปานครหลวง (กปน.) บริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ และเฝ้าระวัง มิให้เกิดการสูญเสียน้ำระหว่างการผันน้ำ
                             (4) ให้ กปน. พิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการลำเลียงน้ำคลองประปาเต็มศักยภาพคลอง
                             มติที่ประชุม
                             (1) เห็นชอบในหลักการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพิ่มจากแผนการจัดสรรน้ำเดิมอีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตร
                             (2) ให้กรมชลประทาน กฟผ. กปน. และ สทนช. นำความเห็นของคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง และ กนช. ไปพิจารณาดำเนินการ
                             ข้อสั่งการเพิ่มเติมของประธาน กนช.
                             (1) ให้ สทนช. จัดทำแผนระยะยาวรองรับสถานการณ์น้ำแล้ง และแก้ไขปัญหาที่ทำให้น้ำในแม่น้ำและน้ำประปากร่อยด้วย
                             (2) การผลิตน้ำประปาหมู่บ้านแต่ละแหล่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ด้วย และให้ กปภ. ที่อยู่ใกล้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาพิจารณานำความเห็นของ กนช. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
                    3. เรื่องอื่น ๆ 1 เรื่อง
                   แผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืช ฤดูฝนปี 2563 คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในการประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 มีมติเห็นชอบแผนการส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ณ วันที่ 1 เมษายน 2563 เพื่อการเพาะปลูก จำนวน 265,000 ไร่ โดยใช้น้ำ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร และแผนการส่งน้ำในพื้นที่ชลประทานทุกลุ่มน้ำ ได้แก่ 1) ลุ่มน้ำที่สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ ทั้งหมด 12 ลุ่มน้ำ 2) ลุ่มน้ำที่ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ ทั้งหมด 8 ลุ่มน้ำ และ 3) ลุ่มน้ำที่ส่งนอกภาคการเกษตร ทั้งหมด 3 ลุ่มน้ำ
                             มติที่ประชุม
                             (1) เห็นชอบแผนการส่งน้ำฤดูฝน ปี 2563 ของทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ณ วันที่1 เมษายน 2563 เพื่อการเพาะปลูก จำนวน 265,000 ไร่ โดยใช้น้ำ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร
                             (2) เห็นชอบในหลักการแผนการส่งน้ำฤดูฝนในพื้นที่ชลประทานทุกลุ่มน้ำ ประกอบด้วย    1) ลุ่มน้ำที่สามารถส่งน้ำชลประทานเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ จำนวน 12 ลุ่มน้ำ 2) ลุ่มน้ำที่ไม่สามารถส่งน้ำชลประทานเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ จำนวน 8 ลุ่มน้ำ (ใช้น้ำฝน) และ 3) ลุ่มน้ำที่ส่งน้ำนอกภาคการเกษตร จำนวน 3 ลุ่มน้ำ
 
                             ข้อสั่งการเพิ่มเติมของประธาน กนช.
                             (1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความเห็นของคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                             (2) หากสภาพอากาศพร้อม ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้ทันทีและตลอดเวลา
                            
                            
22.  เรื่อง มาตรการเยียวยาช่วยเหลือคนพิการในช่วงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)
                             คณะรัฐมนตรีมีมติ รับทราบ อนุมัติ และเห็นชอบมาตรการเยียวยาช่วยเหลือคนพิการในช่วงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอดังนี้
                              1. รับทราบ
                             1.1 การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาคนพิการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID – 19 เฉพาะคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ คนละ 1,000 บาท จำนวน 1 ครั้ง จากงบประมาณกองทุนส่งเสริมและพัฒนคุณภาพชีวิตคนพิการ (กองทุนฯ)
                             1.2 การพักชำระหนี้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่กู้เงินจากกองทุนฯ เป็นระยะเวลา 12 เดือน (เมษายน 2563 – มีนาคม 2564)
                             1.3 คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการสามารถกู้ยืมเงินกองทุนฯ เพื่อประกอบอาชีพ (เป็นกรณีพิเศษ) ในสภาวะ COVID – 19 ในวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ผ่อนชำระภายใน 5 ปี ปลอดชำระหนี้ในปีแรกตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน – 30 กันยายน 2563
                             2. อนุมัติ
                             2.1 ภายหลังจากการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลคนพิการที่มีสิทธิรับเงินตามมาตรการเยียวยาช่วยเหลือคนพิการในช่วงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID – 19 (ตามข้อ 1.1) กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแล้ว ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยาส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลาง
                             2.2 ให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่จ่ายเงินให้คนพิการตามข้อ 2.1 โดย
                                      - กรณีมีบัญชีเงินฝากธนาคารให้โอนเข้าบัญชีคนพิการโดยตรง
                                      - กรณีคนพิการไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร ให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กทม. และเมืองพัทยา เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้กับคนพิการในพื้นที่ต่อไป 
                         3. เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 มกราคม 2563 เรื่อง การปรับสวัสดิการเบี้ยความพิการ  โดยเห็นชอบในหลักการให้ปรับสวัสดิการเบี้ยความพิการ ให้แก่ผู้ถือบัตรประจำตัวผู้พิการ ที่อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 1.2 แสนคน จากเดือนละ 800 บาท เป็น 1,000 บาท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป  เพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่มีมติเห็นชอบเพิ่มสวัสดิการเบี้ยความพิการ เป็น 1,000 บาท แก่ผู้ถือบัตรประจำตัวผู้พิการและมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี) จำนวน 1 ล้านคน
                              สาระสำคัญของเรื่อง
                             พม. รายงานว่า
                             1. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ขยายวงกว้างขึ้น ทำให้ประเทศ            ต่าง ๆ ต้องมีมาตรการดูแลสุขภาพของประชาชนพร้อมกับการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ COVID – 19  ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่สุขภาพของประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคุมและการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนพิการที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะที่ประกอบอาชีพอิสระ อาทิ ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ค้าขาย หมอนวด ผู้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ เป็นต้น
                             2. จากเหตุผลตามข้อ 1 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจึงได้มีการหารือร่วมกับองค์กรคนพิการระดับชาติและผู้แทนคนพิการ เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 และเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ประชุมฯ ได้มีมติ ดังนี้
                             2.1 รับทราบ 2 เรื่อง ได้แก่
                                      2.1.1 สรุปการประชุมหารือมาตรการช่วยเหลือเยียวยาสำหรับคนพิการในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID – 19  
                                      2.1.2 มาตรการพักชำระหนี้เงินกู้ยืมประกอบอาชีพอิสระ (ได้แก่ ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ค้าขาย หมอนวด เป็นต้น) ของกองทุนฯ สำหรับคนพิการและผู้ดูแล เป็นระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ถึง เดือนมีนาคม 2564
                             2.2 เห็นชอบ 3 เรื่อง ได้แก่
                                      2.2.1 โครงการเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือคนพิการผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 คนละ 1,000 บาท จำนวน 1 ครั้ง สำหรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2.03 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563) จากกองทุนฯ ภายในกรอบวงเงิน จำนวน 2,027.46 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ขยายวงกว้างขึ้น โดยคนพิการนับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับเชื้อไวรัส COVID – 19 ได้ง่าย ประกอบกับคนพิการจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขได้เท่าเทียมคนทั่วไป ทั้งการหาซื้อเวชภัณฑ์จำเป็นและการเข้าถึงบริการของการตรวจโรค ซึ่งอาจจะส่งผลให้เสียชีวิตได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนพิการให้มีรายได้เพียงพอเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในช่วงเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ อนุมัติหลักการให้จ่ายเงินสำหรับโครงการดังกล่าวได้ตามความเป็นจริงตามจำนวนคนพิการที่เพิ่มมากขึ้นหรือลดลงจากสถิติ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 (จำนวน 2.03 ล้านคน)
                                       2.2.2 ให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการกู้ยืมเงินกองทุนฯ (เป็นกรณีพิเศษ) เพื่อการประกอบอาชีพในสภาวะวิกฤติ COVID – 19 ในวงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย และให้เริ่มชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนด 12 เดือน เนื่องจากกลุ่มผู้ดูแลคนพิการต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องการกู้ยืมเงินกองทุนฯ โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพราะมีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ของกองทุนฯ ได้ และไม่สามารถออกจากบ้านได้ ซึ่งการให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้สามารถกู้ยืมได้ โดยไม่มีผู้ค้ำประกันจะทำให้สามารถประกอบอาชีพที่บ้านหรือในชุมชนได้
                                      2.2.3 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 เรื่อง การปรับเพิ่มสวัสดิการเบี้ยความพิการ
 

 
23. เรื่อง  ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2563 ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ที่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา  และชดเชยให้กับภาคประชาชน  เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชกำหนดฯ ประกอบด้วย
                    1. โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง  เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ จำนวนไม่เกิน 16 ล้านราย วงเงินของโครงการฯ ไม่เกิน 240,000 ล้านบาท (โดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา  และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ไม่เกิน 170,000 ล้านบาท)
                    2. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ จำนวนไม่เกิน 10 ล้านราย วงเงินของโครงการฯ ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท  (โดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท)
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ  ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ จำนวนไม่เกิน 16 ล้านคน  วงเงินโครงการรวมไม่เกิน 240,000 ล้านบาท  ซึ่งเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมจำนวนไม่เกิน 70,000 ล้านบาทและเงินกู้ตามพระราชกำหนด  จำนวน 170,000 ล้านบาท  โดยจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 5,000 บาท/เดือน  เป็นระยะเวลา 3 เดือน  ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2563
                    กลุ่มเป้าหมายที่ให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย
                    ประชาชนสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป  ณ วันลงทะเบียน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 16 ล้านคน  ประกอบด้วยผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิ 4 กลุ่มย่อย ดังนี้
                                        1) ผู้ประกอบอาชีพอิสระ  รับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว ค้าขาย
                                        2) ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40
                                        3) สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ
                                        4) ผู้ได้รับผลกระทบที่มีรายชื่อปรากฏในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก (หากผู้ได้รับผลกระทบได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ แล้วจะไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ได้อีก)  และผู้ได้รับผลกระทบที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลนักเรียน / นักศึกษา แต่เป็นนักเรียน / นักศึกษาไม่เต็มเวลา และประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก
                    ผลที่คาดว่าจะได้รับ โครงการฯ สามารถช่วยเหลือเยียวยาให้กับแรงงาน ลูกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ  หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงที่สถานประกอบการหยุดประกอบกิจการหรือมีรายได้ลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีตัวชี้วัดคือผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ ได้รับเงินชดเชยรายได้ จำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน
                    2. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา  และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว  โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ  5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน  ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย (1) เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มแรก  ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง  จำนวน  8.43 ล้านราย และ (2) เกษตรกรเป้าหมาย กลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน ไม่เกิน 1.57 ล้านราย รวมวงเงินของโครงการไม่เกิน 150,000 ล้านบาท
                     กลุ่มเป้าหมายที่ให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย  ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายการจ่ายช่วยเหลือในรอบที่ 1 รวม  8.43 ล้านราย ได้แก่ เพาะปลูกพืช  ประมาณ 6.19 ล้านราย  ปศุสัตว์ ประมาณ 1.60 ล้านราย ทำประมง ประมาณ 0.64 ล้านราย และกลุ่มเป้าหมายการจ่ายช่วยเหลือในรอบที่ 2 ประมาณ 1.57 ล้านราย ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน
                    ผลที่คาดว่าจะได้รับ
                    เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 10 ล้านราย  (ไม่ซ้ำซ้อนกับการได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการเราไม่ทิ้งกัน)  ได้รับเงินจ่ายตรงรวม 15,000 บาท/ราย และมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในช่วงภาวะวิกฤติ และมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มเติมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ  และป้องกันการเกิดปัญหาทางสังคมที่อาจจะตามมา
 
24. เรื่อง  ผลการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 3/2563
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควัด -19) ครั้งที่ 3/2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ดังนี้
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ศบค.) ได้จัดการประชุมครั้งที่ 3/2563 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและกำหนดมาตรการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติยิ่งขึ้น
                    ผลการดำเนินการ
                    1. ประชุมพิจารณาแล้วเห็นควรนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลา            การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายสนับสนุนการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีความเป็นเอกภาพ และสามารถดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที  รวมทั้งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เห็นควรให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกด้วย
                    2. เห็นควรคงมาตรการที่จำเป็นเมื่อมีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  เพื่อให้ภาครัฐสามารถรักษาประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ดังนี้
                              2.1 ให้ควบคุมการเข้าราชอาณาจักร  ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ สำหรับการเข้าราชอาณาจักรทางอากาศให้ขยายระยะเวลาการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน
                              2.2 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน  หรือ Curfew ในระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา 
                              2.3 งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดโดยไม่จำเป็น
                              2.4 ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกัน
                    3. สำหรับแนวทางการผ่อนปรนมาตรการบังคับใช้กฎหมายภายหลังการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดกรอบแนวคิดเพื่อผ่อนปรนมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติยิ่งขึ้น และเป็นการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  ด้านสังคม และด้านความมั่นคง ดังนี้
                              3.1 ให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณามาตรการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 กำหนดมาตรการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดมาตรฐานกลางของประเทศและมีความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ และมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับ                     1) สภาพปัญหาการแพร่ระบาดของโรคในแต่ละพื้นที่ 2) ความพร้อมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และ  3) การได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่
                              3.2 กำหนดแนวคิดการดำเนินการให้คำนึงถึงปัจจัยทางด้านการสาธารณสุขเป็นหลัก  และนำปัจจัยด้านอื่น ๆ มาใช้ประกอบการพิจารณา อาทิ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ  และปัจจัยด้านสังคม และให้คงแนวทางการทำงานที่บ้านให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50
                              3.3 สำหรับวิธีดำเนินการให้พิจารณาจากประเภทของกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นลำดับแรก  และมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดควบคู่กันไปด้วยอย่างเข้มงวด อาทิ 1) การเว้นระยะห่างทางสังคม 2) การวัดอุณหภูมิ 3) การมีจุดบริการแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ/เจลล้างมือ และ 4) การจำกัดจำนวนคนในกิจกรรมให้เหมาะสมต่อกิจกรรมและสถานที่ นอกจากนี้ยังต้องจัดเจ้าหน้าที่และ/หรือใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
                              3.4 ทั้งนี้  ในช่วงที่มีการดำเนินการมาตรการผ่อนปรนจะต้องเร่งรัดให้มีการค้าหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case finding) โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาทิ  กลุ่มสาขาอาชีพบริการ กลุ่มแรงงานต่างด้าว และมีการใช้เทคโนโลยีติดตามเพื่อตรวจตรากิจกรรมควบคู่กันไป เพื่อควบคุมและป้องกันมิให้เชื้อโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกด้วย
                    4. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังได้ร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดรายละเอียดในการผ่อนปรนมาตรการบังคับใช้กฎหมาย และจะดำเนินการเมื่อมีความพร้อมภายหลังดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยงของสถานประกอบการและพื้นที่ตามระดับความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดขึ้นจริงและมีการกำหนดมาตรฐาน/คู่มือให้ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะเปิดกิจการถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งมีการกำหนดแอปพลิเคชัน (Application) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชนในการใช้บริการและเอื้อประโยชน์ด้านการรักษามาตรฐานสาธารณสุขอีกด้วย
                    5. ที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมเพื่อพัฒนากรอบแนวทางการผ่อนปรนการกำหนดมาตรการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
                              5.1 ให้ดำเนินการในกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นลำดับแรกและมีการดำเนินการพร้อมกันทั้งประเทศ ทั้งนี้กิจกรรมและพื้นที่ที่ได้รับการผ่อนปรนจะต้องเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
                              5.2 ให้ดำเนินมาตรการผ่อนปรนตามห้วงระยะเวลา โดยกำหนดให้ดำเนินการเป็น 4 ระยะ ตามวงรอบของการประเมินผลสัมฤทธิ์ในทุกห้วงระยะเวลา 14 วัน
                              5.3 ให้คงมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างกัน (Social Distancing) ในระยะ 2 เมตร ต่อไปอย่างเคร่งครัด และให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการทำการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเฉพาะต่อกลุ่มเสี่ยง อาทิ แรงงานต่างด้าว ผู้ทำงานในภาคบริการ ผู้บริการรับส่งอาหาร (Food Delivery) และผู้ขนส่งสาธารณะ
                              5.4 ให้มีเทคโนโลยีเพื่อติดตามกิจกรรมของผู้ประกอบการที่ได้รับการผ่อนปรนโดยการใช้กล้องวงจรปิด (CCTV) และจัดทำแอปพลิเคชันติดตามที่ไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
                              5.5 ให้จัดทำคู่มือให้สถานประกอบการที่ได้รับการผ่อนปรนถือปฏิบัติอย่างชัดเจน และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติภายหลังยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงควรกำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายในภาวะปกติเป็นหลักในคู่มือดังกล่าว
                              5.6 ปรับแนวทางการประชาสัมพันธ์ในห้วงระยะต่อไปให้เกิดความสมดุลระหว่างการสร้างความเชื่อมั่นถึงประสิทธิภาพของรัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และการให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเยียวยาผลกระทบของประชาชน
 

ต่างประเทศ

 
25. เรื่อง การเข้าร่วมกลไกความร่วมมือการจัดเก็บภาษีภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative Tax Administration Cooperation Mechanism: BRITACOM)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเข้าร่วมกลไกความร่วมมือการจัดเก็บภาษีภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative Tax Administration Cooperation Mechanism: BRITACOM) ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี และสามารถเข้าร่วมประชุมเวทีความร่วมมือด้านภาษี (Belt and Road Initiative Tax Administration Cooperation Forum: BRITACOF) ได้ และเห็นชอบการเข้าร่วมเวทีเครือข่ายความร่วมมือด้านภาษีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดเก็บภาษี (Belt and Road Initiative Tax Administration Capacity Enhancement Group: BRITACEG) ในฐานะสมาชิก ซึ่งไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี และเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรสามารถเข้าร่วมฝึกอบรมและวิจัยได้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
                    สาระสำคัญ
                    สรรพากร สาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะประธาน BRITACOM ได้กำหนดให้ประชุม BRITACOF ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2563 ณ สาธารณรัฐคาซัคสถาน และได้เชิญกรมสรรพากรเข้าร่วมประชุม โดยกำหนดเนื้อหาการประชุมเพื่อมุ่งเน้นการนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารจัดเก็บภาษี (Digitalization of Tax Administration) ทั้งนี้ การเข้าร่วม BRITACOM และ BRITACEG จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกรมสรรพากรในการยกระดับความร่วมมือด้านการจัดเก็บภาษีกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา บนพื้นฐานการจัดเก็บภาษีอย่างเท่าเทียม ยั่งยืน และสอดคล้องตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการปฏิบัติงานของบุคคลากรในหน่วยจัดเก็บภาษีผ่านการฝึกอบรมและวิจัย โดยนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาต่อยอดเพื่อพัฒนาสถาบันฝึกอบรมของกรมสรรพากร
 
26.  เรื่อง  ขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายงานระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (NEDAC)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 รวมทั้งยุติการจ่ายเงินค่าบำรุงสมาชิกให้กับเครือข่ายงานระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Regional Network for the Development of Agricultural Cooperatives in Asia and the Pacific: NEDAC) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ
 
 
สาระสำคัญ
                    คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (10 มีนาคม 2535) อนุมัติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายงานระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Regional Network for the Development of Agriculture Cooperatives in Asia and the Pacific: NEDAC) ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ทางด้านวิชาการสหกรณ์การเกษตรระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และจ่ายค่าบำรุงสมาชิกปีละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ต่อมาในปี 2556 ปรับเป็น 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ ไทยได้ดำเนินกิจกรรมกับ NEDAC มาโดยตลอด ต่อมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับแจ้งว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ยุติการสนับสนุน NEDAC แล้ว ทำให้ NEDAC ไม่อยู่ในสถานะที่จะปฏิบัติภารกิจส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรต่อไปได้ รวมถึงการทำให้ไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก NEDAC ตามคำร้องขอของ FAO ต่อไป  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเสนอขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (10 มีนาคม 2535) และยุติการจ่ายเงินค่าบำรุงสมาชิกตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
 
27. เรื่อง การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล (Special Meeting of ASEAN Tourism Minister on COVID-19)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมฯ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสามารถดำเนินการได้โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลัง หากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกลและให้ร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมฯ โดยไม่มีการลงนามในการประชุมดังกล่าว ในวันที่  29 เมษายน 2563 เวลา 09.00 – 11.00 น. ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ
                   สาระสำคัญ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
                   1. การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล (Special Meeting of ASEAN Tourism Minister on COVID-19) ในวันที่ 29 เมษายน 2563 เวลา 9.00 – 11.00 น. มีรัฐมนตรีท่องเที่ยวกัมพูชาในฐานะประธานหัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (Chair of Head of ASEAN NTOs) ปี พ.ศ. 2563 เป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อินโดนีเซีย เป็นรองประธานการประชุม
                   2. เลขาธิการอาเซียนด้านการท่องเที่ยวในฐานะฝ่ายเลขานุการการประชุม ได้ยกร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมฯ ซึ่งจะเป็นผลผลิตของการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล มีสาระสำคัญ ดังนี้
                             รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนแสดงความห่วงใยและยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในการเสริมสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในวงกว้างตลอดจนเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์คลี่คลายลงเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและคืนความเป็นปกติสุขกลับสู่ภูมิภาคในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยที่ประชุมมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยอาศัยการดำเนินงานของทีมสื่อสารในภาวะวิกฤติการท่องเที่ยวอาเซียน (ATCCT) เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ทันเวลา เชื่อถือได้ ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับคู่เจรจาและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในมาตรการสนับสนุนและบรรเทาทุกข์ในภาคการท่องเที่ยว เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจอันเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมถึงการจัดการกับผลกระทบในภายหลัง เมื่อวิกฤตการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อจัดการกับโรคอุบัติใหม่หรือภัยร้ายแรงในรูปแบบอื่น ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต นอกจากนี้ รัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งระดับจุลภาคและมหาภาค เพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคอาเซียนให้มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง และรายย่อย ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มอื่น ๆ เพื่อเร่งให้เกิดการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาเซียนที่เข้มแข็งและยั่งยืน
                   3. ประเด็นการหารือและข้อเสนอของประเทศไทย ในการประชุมดังกล่าว ดังนี้
                             3.1 แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สุขภาวะของประชาคมอาเซียนและการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมของภูมิภาคและของโลกโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
                             3.2 แสดงความยินดีที่จะให้การสนับสนุนอาเซียนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และเตรียมพร้อมที่จะจัดการกับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่จะตามมาร่วมกันกับประเทศสมาชิกอาเซียน  
 
28. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2563 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (สศช.)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2563 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 13 – 17 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ประเทศมาเลเซีย ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาต (สศช.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนานโยบายกำกับเศรษฐกิจแบ่งปันอย่างมีนวัตกรรม (Workshop on Innovative Regulatory Policy Development :APEC Economies’ Approaches on Sharing Economy) ระหว่างวันที่ 13 - 14 กุมภาพันธ์ 2563 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการพัฒนานโยบายกำกับเศรษฐกิจแบ่งปันของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยภาครัฐจำเป็นต้องควบคุมดูแลด้านต่าง ๆ เช่น การกำหนดมาตรฐาน การออกกฎหมาย/กฎระเบียบ การจัดเก็บภาษี และการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
                   2. การประชุมเชิงปฏิบัติการในการหาข้อสรุปสำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการเอเปค เรื่อง ความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ ระยะที่ 3 [Workshop to Finalize the Third APEC Ease of Doing Business (EoDB) Action Plan] ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาข้อสรุปในการจัดทำแผนปฏิบัติการเอเปคฯ ระยะที่ 3 โดยจะให้ความสำคัญใน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) การเข้าถึงเครดิต (2) การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (3) การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย (4) การจดทะเบียนทรัพย์สิน และ (5) การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ทั้งนี้ จะได้มีการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับช่วงระยะเวลาบังคับใช้และการกำหนดค่าเป้าหมายอีกครั้งหนึ่ง
                   3. การประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2563 ระหว่างวันที่
16 – 17 กุมภาพันธ์ 2563 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

หัวข้อ สาระสำคัญ
1. การจัดทำโครงการด้านการปฏิรูปโครงสร้างเอเปคฉบับใหม่ Renewed APEC Agenda for Structural Reform (RAASR)               คณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค (Economic Committee : EC) กำหนดให้มีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง (Structural Reform Ministerial Meeting : SRMM) ขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 18 สิงหาคม 2563 ณ เมืองสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย
              นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการหารือเชิงนโยบายเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างปี 2564 – 2568 โดยการปฏิรูปโครงสร้างฉบับใหม่จะครอบคลุมใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง โปร่งใส และมีกลไกที่มีประสิทธิภาพ 2) การยกระดับการมีส่วนร่วมของ            ทุกภาคส่วนในสังคม เช่น สตรี คนชรา และคนพิการ 3) นโยบายทางสังคที่มีความยั่งยืน และ 4) ความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ
2. การจัดทำรายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปค ปี 2563             รายงานนโยบายเศรษฐกิจปี 2563 จัดทำขึ้นในหัวข้อ “การปฏิรูปโครงสร้างและการเพิ่มบทบาทให้กับสตรี” (Structural Reform and Women Empowerment) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เขตเศรษฐกิจในการยกระดับการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มบทบาทให้สตรีมีความเท่าเทียมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
3. การวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจในกลุ่มเอเปค            ผู้แทนจากหน่วยสนับสนุนด้านนโยบายเอเปค (Policy Support Unit : PSU) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และสำนักเลขาธิการอาเซียนได้มีการกล่าวถึงตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจนอกเหนือจากการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพียงอย่างเดียว เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียว ดัชนีการพัฒนามนุษย์ ดัชนีความเท่าเทียมกันทางเพศ รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเขตเศรษฐกิจจำเป็นต้องปรับระบบการศึกษาให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ถูกต้องให้กับประชาชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
4. การปฏิรูปโครงสร้างและเพศ (Structural Reform and Gender)            ประเทศชิลีได้นำเสนอการจัดทำแผนสำหรับสตรีและการเติบโตอย่างทั่วถึงภายใต้ชื่อ Le Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth เพื่อเพิ่มอำนาจให้สตรีสามารถเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน มีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เข้าถึงตำแหน่งผู้นำที่มีอำนาจการตัดสินใจ ส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษา อบรมและการพัฒนาทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจ
           นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาได้รายงานถึงผลของโครงการ Women@Work ที่ให้ความสำคัญกับได้การเข้าถึงตลาดแรงงานของสตรี โดยในปี 2563 จะจัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและจัดกิจกรรมเพื่อค้นหาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างที่จะก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป
5. การหารือเชิงนโยบาย เรื่อง             การปฏิรูปโครงสร้างและตัวชี้วัดนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Structural Reform and Beyond GDP)           หารือถึงตัวชี้วัดที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนนอกเหนือจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่าง GDP ซึ่งเขตเศรษฐกิจสมาชิกได้มีการนำเสนอตัวอย่างต่าง ๆ เช่น แคนาดานำเสนอเกี่ยวกับดัชนีความเป็นอยู่ที่ดี และอินโดนีเซียได้นำเสนอเกี่ยวกับดัชนีการพัฒนาอย่างทั่วถึง
6. การหารือเชิงนโยบาย เรื่อง การระงับข้อพิพาทออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR)          กล่าวถึงการระงับข้อพิพาทออนไลน์เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจระงับข้อพิพาทระหว่างกันด้วยกระบวนการที่รวดเร็วและน่าเชื่อถือ รวมถึงการลดอุปสรรคของพรมแดน ความแตกต่างด้านภาษาและกฎหมาย อย่างไรก็ดีการที่จะนำกรอบแนวทางและแบบจำลอง ODR เข้ามาปรับใช้ จำเป็นจะต้องมีการหารือเป็นการภายในกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

                  
          ทั้งนี้  สศช. เห็นว่า ไทยจำเป็นจะต้องเตรียมการเกี่ยวกับประเด็นที่จะบรรจุไว้ในวาระการปฏิรูปโครงสร้างฉบับใหม่ รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง (SRMM) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2563  ซึ่งไทยได้เสนอการพัฒนาตัวชี้วัดนอกเหนือจาก GDP  เช่นดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย (Green and Happiness  Index : GHI) รวมทั้ง ให้ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัลให้มากขึ้น
 
29. เรื่อง ร่างปฏิญญาทางการเมือง COVID-19 ของการประชุมสุดยอดกลุ่มเฉพาะกิจของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดโดยวิธีออนไลน์ เพื่อรับมือกับ COVID-19 (Online Summit Level Meeting of the NAM Contract Group in response to COVID-19)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรับรองการร่างปฏิญญาทางการเมือง COVID-19 (Political Declaration of NAM on COVID-19) ของการประชุมสุดยอดเฉพาะกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยวิธีออนไลน์ เพื่อรับมือกับ COVID-19 โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของร่างเอกสารฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยก่อนการรับรอง ให้กระทรวงการต่างประเทศใช้ดุลยพินิจดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
                    สาระสำคัญ ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย
                   1. ให้ความสำคัญกับความร่วมมือของประชาคมโลกเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านการส่งสินค้า โดยเฉพาะเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหารให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบ โดยตระหนักว่าประเทศกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากการระบาดนี้มากที่สุด และต้องได้รับการเยียวยาและฟื้นฟู นอกจากนี้ มาตรการการให้ความช่วยเหลือจะต้องดำเนินการอย่างทั่วถึง ไม่แบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ และต้องไม่มีการใช้มาตรการบังคับฝ่ายเดียวด้านการเงินและการค้า ซึ่งจะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                   2. สนับสนุนการดำเนินงานของเลขาธิการสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 พร้อมทั้งสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัยด้านการแพทย์ และความร่วมมือจากนานาประเทศในการพัฒนาวัคซีนและแนวทางการรักษาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนจากทุกประเทศต่อไป
                   3. การจัดตั้งกลุ่มผู้ประสานงาน NAM (NAM Task Force) โดยมีภารกิจในการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม และตรวจสอบการดำเนินการตามร่างปฏิญญาฯ ฉบับนี้ รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกที่ปฏิบัติได้จริง และเพื่อผลประโยชน์ร่วมกับประเทศอื่น ๆ องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
                   ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาฯ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาปรับถ้อยคำ และเมื่อประเทศสมาชิกสามารถตกลงกันจนได้ร่างสุดท้าย จะเสนอให้ที่ประชุมฯ ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 รับรองต่อไป
 

แต่งตั้ง

 
30. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช จำนวน 12 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ดังนี้
                   1. ว่าที่ร้อยตรี ชนะ ไชยชนะ ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคเหนือ 
                   2. นายธวัชชัย ถนอมลิขิต ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคกลาง
                   3. นายบุญถม วงศรีเทพ ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
                   4. นายวรพจน์ กุศลสงเคราะห์กุล ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคตะวันออก 
                   5. นายวิเชียร เอกศิริวรานนท์ ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคตะวันตก 
                   6. นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคใต้ 
                   7. นางสาวภัทรพร ภักดีฉนวน ผู้แทนนักวิชาการด้านปรับปรุงพันธุ์พืช  
                   8. นางสาววิมล พรหมทา ผู้แทนนักวิชาการด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  
                   9. นางกนกพร ดิษฐกระจันทร์ ผู้แทนองค์การพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตร  
                   10. นางสาวกัญญณัช ศิริธัญญา ผู้แทนองค์การพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 
                   11. นายปิยะ กิตติภาดากุล ผู้แทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช 
                   12. นางฐะปานี อาตมางกูร ผู้แทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์พืช 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
 
31. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาด
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้คณะกรรมการองค์การตลาดมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 14 คน (นับรวมกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไว้แล้ว และผู้อำนวยการซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง) ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ  พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติให้รัฐวิสาหกิจใจมีความจำเป็นต้องมีกรรมการเกินกว่าสิบเอ็ดคน ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีได้เป็นการเฉพาะราย แต่ทั้งนี้จำนวนกรรมการรวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินสิบห้าคน และแต่งตั้งประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาด รวม 7 คน แทนตำแหน่งที่ว่าง ตามที่ประธานกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้เห็นชอบแล้ว ดังนี้
                   1. นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ แทน นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์  
                   2. นายศุภสิทธิ์ ศิริศักดิ์ ดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการ (บุคคลในบัญชีรายชื่อ) แทนนายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ 
                   3. นายทศพล สังขทรัพย์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการอื่น แทน นายธนา ตันตรโกวิท 
                   4. นายสุรเชษฐ์ ลักษมีพงศ์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการอื่น แทน รองศาสตราจารย์รัตนา จักกะพาก
                   5. นายศุภกร พจมานศิริกล ดำรงตำแหน่ง กรรมการอื่น แทน นายประวิช สุขุม
                   6. นายสมศักดิ์ วรวิจักษณ์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการอื่น (บุคคลในบัญชีรายชื่อ) แทน นายอนุกูล  ตังคณานุกูลชัย 
                   7. นางญาใจ พัฒนสุขวสันต์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการอื่น (บุคคลในบัญชีรายชื่อ) แทนนายกฤดิธาดา จารุสกุล 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
 
 
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอรับโอน พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
 
.............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

 

ที่มา: เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: