นักวิจัยโครงการคนจนเมืองฯ ยืนยันนำเสนอผลสำรวจยึดเสรีภาพทางวิชาการ

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 3328 ครั้ง

นักวิจัยโครงการคนจนเมืองฯ ยืนยันนำเสนอผลสำรวจยึดเสรีภาพทางวิชาการ

คณะนักวิจัยโครงการ 'คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง' ออกจดหมายชี้แจง เรื่อง 'การแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ 'ฆ่าตัวตาย' จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ' ระบุนำเสนอผลการสำรวจและการรวบรวมข้อมูลโดยยึดหลักการเสรีภาพทางวิชาการ และความเคารพในความคิดที่แตกต่าง สกสว. มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ยืนยันว่าคณะนักวิจัยมิได้สนับสนุนกลุ่มการเมืองใดเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่มีจุดยืนในการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจรัฐเมื่อเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชน หรือมิได้เป็นการใช้อำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากเท่าที่ควร

29 เม.ย. 2563 เพจคนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19 เผยแพร่จดหมายชี้แจง เรื่อง 'การแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ 'ฆ่าตัวตาย' จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ' ของ คณะนักวิจัยโครงการ 'คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง' โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สืบเนื่องจาก "การแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ ‘ฆ่าตัวตาย’ จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ" ของคณะนักวิจัยโครงการ "คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง" ได้ทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งในด้านหนึ่งก็ส่งผลดีในแง่ที่ทำให้เกิดการมองปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรอบด้านมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดข้อกังขาบางประการในสังคม อีกทั้งยังมีความเข้าใจผิดอีกด้วยว่าเป็นการนำเสนอรายงาน “ผลการวิจัย” ทั้งๆ ที่เป็นเพียง “การแถลงผลการรวบรวมข้อมูล” เพื่อเสนอแง่คิดที่คณะนักวิจัยเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ควรจะได้รับการพิจารณาในการแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสในครั้งนี้ เพราะเป็นมิติที่มีรากฐานอยู่บนความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำได้ทำให้คนยากจนต้องทุกข์ยากมากยิ่งขึ้นและหลายคนถึงกับหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย

คณะนักวิจัยใคร่ขอย้ำว่า เราได้ใช้คำขึ้นต้นว่า “การแถลงผลการรวบรวมข้อมูล” ซึ่งบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าเราทำเพียงการรวบรวมข้อมูลจากสื่อที่ได้ระบุว่าแรงจูงใจสุดท้ายที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายนั้นสัมพันธ์กับผลกระทบอันเกิดการจัดการควบคุมไวรัสโควิด-19 และการไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐหรือยังไม่ได้รับ การรวบรวมข้อมูลชุดนี้เสนอต่อสังคม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาที่คำนึงถึงคนยากจนและมิติความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้คนยากจนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐนำมาใช้ เพื่อแสวงหาแนวทางในการช่วยเหลือคนยากจนทั้งหลายได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุม

การรวบรวมข้อมูลผู้ฆ่าตัวตายในเอกสารเน้นเฉพาะกรณีที่ได้ระบุไว้ว่าเกี่ยวพันกับไวรัสโควิดและการช่วยเหลือของรัฐเท่านั้น จึงไม่ได้เก็บข้อมูลผู้ที่ฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุอื่นๆ และไม่ได้คิดจะเปรียบเทียบศึกษาการฆ่าตัวตายในช่วงเวลาต่างๆแน่นอนว่า เราตระหนักดีว่าการฆ่าตัวตายมีสาเหตุหลากหลายปัจจัยซ้อนทับ แต่ในกรณีที่เก็บข้อมูลมานำเสนอก็เพี่อที่จะบ่งบอกถึง ฟางเส้นสุดท้ายของผู้คนกำลังกดทับจนไม่สามารถที่จะมองหาทางออกในชีวิตได้ การที่กรมสุขภาพจิตได้ท้วงติงเราถือเป็นเรื่องดี และขอให้กรมสุขภาพจิตได้ร่วมกันลดทอนน้ำหนักของฟางเส้นสุดท้ายนี้ด้วย

อนึ่งการแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ “ฆ่าตัวตาย” เกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่คณะนักวิจัยได้ร่วมกันทำโครงการวิจัยเรื่อง "คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง" มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 คณะนักวิจัยได้ทำงานวิจัยและทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาและการแก้ปัญหาความยากจนอันเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองร่วมกับพี่น้องคนจนทั้งในเมืองและชนบทมานาน จนคณะนักวิจัยตระหนักร่วมกันว่า “เมือง” ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลและลึกซึ้งนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างมากมายและคนที่ได้รับกระทบมากที่สุดก็คือ “คนจนเมือง” ซึ่งโครงการวิจัยเกี่ยวกับ “คนจนเมือง” นี้ ยังคงดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้การทำงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำวิจัยลำบากมากขึ้น แต่เราก็ตระหนักชัดเจนว่าผลกระทบของโควิด-19 และการจัดการแก้ปัญหาของรัฐมีผลกระทบต่อคนจนเมืองที่เรากำลังศึกษาวิจัยอย่างหนัก คณะนักวิจัยจึงได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่คนจนเมืองกำลังประสบจากมาตรการต่างๆ ในการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นงานเฉพาะกิจพิเศษนอกเหนือจากงานตามแผนการศึกษาที่วางไว้ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาที่คนจนเมืองกำลังเผชิญ ดังเอกสาร “ สรุปผลการสำรวจคนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19 และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ” ที่ได้เสนอต่อสังคมในวันที่ 13 เมษายน 2563 ซึ่งเราได้ออกแบบสอบถามทั้งหมด 507 ชุด สำรวจทั้งหมด 18 จังหวัด

สำหรับเอกสาร “การแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ” เป็นดังที่ได้ชี้แจงข้างต้นว่า "มาจากการรวบรวมข้อมูล" ที่ปรากฎในสื่อมวลชน "เฉพาะ" การฆ่าตัวตายหรือการพยายามฆ่าตัวตายที่มีการระบุว่าสัมพันธ์กับโควิด-19 เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้นักหนาสาหัสเพียงไรต่อคนยากจน ซึ่งรัฐบาลและสังคมจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาโรคระบาดโดยที่คำนึงถึงคนยากจนมากขึ้นและแก้ไขอย่างทันท่วงทียิ่งขึ้น

การนำเสนอตัวเลขเปรียบเทียบการตายของผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยตรง กับการฆ่าตัวตายที่สัมพันธ์กับมาตรการของรัฐในการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นความต้องการชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของปัญหาที่มีอยู่ในการทำงานช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาล คณะนักวิจัยมิได้มีเจตนาที่จะลดทอนผลสำเร็จของการทำงานด้วยความเสียสละ ความทุ่มเท และความอดทนของบุคลากรและหน่วยงานทางสาธารณสุขในทุกพื้นที่แต่ประการใด อีกทั้งตระหนักเป็นอย่างดีว่า ถ้าหากการควบคุมการระบาดและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ไม่บรรลุผล ก็จะเกิดการระบาดกว้างขวางจนทำให้คนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะคนยากจนต้องเดือดร้อนอย่างยิ่งทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่คณะนักวิจัยก็ต้องการเรียกร้องให้การออกมาตรการต่างๆ ของรัฐดำเนินไปโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อผู้คนและความเหลื่อมล้ำที่ทำร้ายคนอย่างรุนแรงเช่นกัน

การนำเสนอผลงานการสำรวจและการรวบรวมข้อมูลของโครงการวิจัยทั้งสองครั้ง คณะนักวิจัยมิได้เสนอโครงการขอรับงบประมาณเพิ่มจากงานเดิมแต่อย่างใด เป็นงานเสริมของคณะนักวิจัยที่ได้ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว และเป็นการทำงานด้วยความรู้สึกกังวลต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น คณะนักวิจัยก็เป็นเหมือนคนไทยทุกคนที่เป็นห่วงเป็นใยสังคม และยืนยันว่านี่เป็นการทำงานตามพันธกิจที่นักวิชาการพึงมีต่อสังคม ทั้งนี้การนำเสนอผลการสำรวจและการรวบรวมข้อมูลทั้งสองครั้งเป็นไปโดยยึดหลักการเสรีภาพทางวิชาการ และความเคารพในความคิดที่แตกต่าง โดยที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และต้องยืนยันว่าคณะนักวิจัยมิได้สนับสนุนกลุ่มการเมืองใดเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่มีจุดยืนในการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจรัฐเมื่อเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชน หรือมิได้เป็นการใช้อำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากเท่าที่ควร


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
กรมสุขภาพจิต ชี้แจงข้อสังเกตกรณีบทความคนฆ่าตัวตายช่วง COVID-19
จับตา: สรุปผลการสำรวจ 'คนจนเมืองในภาวะวิกฤต COVID-19' และข้อเสนอแนะ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: