29 เม.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 9 คน สะสม 2,947 คน เสียชีวิต 0 คน สะสม 54 คน รักษาหายสะสม 2,665 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1387 ครั้ง

29 เม.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 9 คน สะสม 2,947 คน เสียชีวิต 0 คน สะสม 54 คน รักษาหายสะสม 2,665 คน

29 เม.ย. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 9 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,947 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมผู้เสียชีวิตสะสม 54 คน รักษาหาย 13 คน รักษาหายสะสม 2,665 คน ตัวเลขต่ำสิบ ติดต่อ 3 วัน เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 228 คน ขณะที่มีรายงานกลุ่มเด็กป่วย 88 คน อายุน้อยสุดแค่ 1 เดือน น่าห่วง 45% ติดเชื้อจากพ่อแม่โดยเฉพาะ จ.ยะลา ปัตตานี ภูเก็ต

29 เม.ย. 2563 Thai PBS รายงานว่านพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า มีผู้ป่วยเพิ่ม 9 คนต่ำกว่าสิบคนเป็นวันที่ 3 แล้วทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,947 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่มอีก 13 คนรวมหายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,665 คน รักษาในโรงพยาบาล 228 คนวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยวัยทำงาน 39 ปี

สำหรับผู้ป่วยใหม่ 9 คน พบว่าเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน 6 คน โดยอยู่ในกทม.3 คน ภูเก็ต 3 คน โดยพบสว่า 2 คนเป็นครอบครัวเดียวกัน นอกจากนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ 2 คน และรอสอบสวนโรค 1 คน

“พบว่า 9 จังหวัดเดิมยังไม่มีรายงานผู้ป่วยติด COVID-19 ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วันที่ผ่านมา มีจ.สระบุรี ศรีสะเกษ และหนองบัวลำภู เพิ่มเข้ามา”

เด็กป่วย COVID-19 ร้อยละ 45 ติดจากพ่อแม่

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา เพิ่งมีเด็กติดเชื้ออายุ 1 เดือนหายป่วยกลับบ้านแล้ว ทางกรมควบคุมโรคได้มีการติดตามว่าเมื่อเด็กป่วย COVID-19 ซึ่งจากการศึกษาเด็ก 88 คนที่ป่วยหรือประมาณ 3% ของผู้ป่วย และโชคดีที่ไม่มีเสียชีวิต

โดยเด็กที่ป่วยอายุต่ำสุด 1 เดือน อายุเฉลี่ยระหว่าง 0-4 ขวบ อายุ 5-9 ปี และ 10-14 ปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กไทย 90% และปัจจัยเสี่ยงมาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนก่อนหน้า พบในพื้นที่จ.ภูเก็ต ยะลา และปัตตานี และเชื่อมโยงกับกลุ่มพิธีทางศาสนาจากต่างประเทศ

“ข้อมูลที่พบคือเด็กติด COVID-19 จากพ่อแม่มากที่สุด 45% รองลงมาคือคนในบ้าน 24% และอื่นๆ 8% ส่วนข้อกังวลว่าที่คิดจากแม่ได้ เพราะต้องดูแลลูก มีการยืนยันว่าเชื้อไม่ได้ส่งต่อผ่านทางน้ำนม ”

คนไทยเริ่มคลายล็อกเว้นระยะห่าง

โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ยังพบอีกว่า ช่วง มี.ค.คนไทยรักษาระยะห่าง 86.9% แต่เมื่อถึงช่วงเดือน เม.ย.พบว่าคนเว้นระยะห่างน้อยลงเหลือ 82.4% ส่วนการล้างมือเมื่อเดือน มี.ค.พบว่ามีการล้างมือ 83.6% แต่เมื่อต้นเดือน เม.ย.มีการล้างมือดีขึ้นเป็น 87.5% ส่วนการสวมหน้ากากอนามัย มีการสวมหน้ากากเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 96.8% ในเดือน เม.ย.

ส่วนคำถามที่ว่าตอนนี้ตัวเลขลดลงจะผ่อนคลายบางกิจกรรมลงได้หรือไม่ นพ.ทวีศืลป์ กล่าวว่า ตัวเลขลดลง แต่ยังวางใจไม่ได้ มาตรการที่คนติดเชื้อลดลง แสดงถึงมาตรการจัดการของรัฐและประชาชนที่ร่วมกันมา และเอกชนถึงได้ผล

“บางประเทศผ่อนปรนทำให้มีการระบาดระลอก 2-3 มา สิ่งที่เราจะผ่อนคลายต้องทำอย่างระวังในทกก้าวเดิน ข่าวว่าจะเป็นช่วงหลังวันที่ 1 พ.ค.นี้หรือไม่ ขอให้ออกจาก ศบค.จึงจะยืนยัน”

ร้านส้มตำ อาหารตามสั่ง ปฏิบัติอย่างไร

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า กิจกรรมต่างๆ ต้องยึดหลักกินร้อนช้อนกลางและเว้นระยะห่าง การสัมผัสอะไรที่จะเกิดขึเนนในการให้บริการ และจะมีรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละกิจกรรม ซึ่งมีการคุยในกลุ่มย่อยของศบค.โดยเฉพาะสมาคม ชมรมที่มีร้านลักษณะเดียวกัน ขอให้ส่งข้อมูล และฝากส่งกัน ส่วนผู้มาใช้บริการก็ต้องปรับให้กับผู้ให้บริการด้วย ไม่ใช่มายืนออกันหน้าร้าน ก็จะไม่ประสบผล

ทั้ง 2 ส่วนต้องมีการเตรียม ถ้ายอมรับกติกาและยอมรับชีวิตวีถีใหม่ จะทำ ให้เราห่างไกลจากการติดเชื้อได้ หากบกพร่องแค่จุดเดียวอาจไม่เห็นตัวเลขหลักเดียว และตัวเลขพุ่งพรวดแบบบางประเทศ สิ่งที่ทำมาพังครืนลงไป

“ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ขอให้รับฟังและเปลี่ยนเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ ฝากว่าการผ่อนปรนที่จะเกิดขึ้นได้ร่วมมือทั้งประชาชน ผู้ประกอบการที่จะให้ความร่วมมือ หลายคนอยากจะเปิด แต่มาตรการต้องคิดอย่างถี่ถ้วน เพื่อยืนตัวเลขหลักเดียวได้นานจนกว่าตัวเลขทั้งโลกจะลดลง”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: