ญาติผู้ถูกอุ้มหายเรียกร้อง ‘กฎหมายป้องกันการอุ้มหาย’ ขอให้นำคนผิดมาลงโทษ

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2131 ครั้ง

ญาติผู้ถูกอุ้มหายเรียกร้อง ‘กฎหมายป้องกันการอุ้มหาย’ ขอให้นำคนผิดมาลงโทษ

ญาติและครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายกล่าวในงานวันรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย เรียกร้องให้รัฐบาลติดตามหาความจริงเกี่ยวกับกรณีการสูญหายของคนไทยที่เกิดขึ้น โดยให้นำคนทำผิดมาลงโทษ ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย | ที่มาภาพ: Amnesty International Thailand

Amnesty International Thailand รายงานว่าเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดวันรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย เนื่องด้วยวันที่ 30 ส.ค. ของทุกปี เป็นวันผู้สูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances) ที่มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาวะสงคราม การปราบปรามจากรัฐ หรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศ

ญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหายสะท้อนถึงสิ่งที่เผชิญจากการที่คนในครอบครัวหายตัวไป

อดิศร โพธิ์อ่าน ลูกชายทนง โพธิ์อ่าน เล่าว่า พ่อของตนเป็นอดีตผู้นำแรงงานที่ถูกอุ้มหายปี 2534 ในรัฐบาลรสช. เหตุที่โดนอุ้มหายเพราะคัดค้านการยกเลิกกฎหมาย รสช. ฉบับที่ 54 ซึ่งเป็นการยกเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทนงเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน ก่อนการหายตัวมีทหารมาตามที่บ้านราวสองเดือน จนวันที่ 19 มิ.ย. 2534 จึงเกิดการอุ้มหาย

“ตอนนั้นผมอายุราว 17 ปี ยังเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ว่าพ่อเป็นคนที่ทำเพื่อสังคมและส่วนรวม แต่ครอบครัวกลับได้รับผลเช่นนี้ หลังจากพ่อหายไป ทางครอบครัว องค์กรด้านแรงงาน และเอ็นจีโอต่างๆ ร่วมกันทวงถามรัฐบาล แต่ไม่เคยมีความคืบหน้าเลย เข้าใจว่าสำหรับรัฐบาลทหารการฆ่าคนหรืออุ้มหายนั้นง่ายมากเพียงแค่อ้างความมั่นคง อยากให้คิดกลับกันว่าถ้าคนที่หายนั้นเป็นครอบครัวของคุณบ้างจะเป็นยังไง” อดิศรกล่าว

ด้าน จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หลานเตียง ศิริขันธ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนไม่ทราบเรื่องการอุ้มหายนัก ทราบเพียงว่ามีการหายไปของบุคคลที่เกี่ยวข้องทางการเมืองและรู้เรื่องในอดีตของครอบครัวว่าคุณเตียง ศิริขันธ์หายตัวไป จนเกิดการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมชีวิตของคนคนหนึ่งสามารถถูกทำให้หายไปได้ ทำไมไม่มีคนเคารพในสิทธิความเป็นคนของเขา เมื่อสนใจปัญหานี้มากขึ้น จึงเริ่มกิจกรรมผูกโบขาวตามหาผู้สูญหายและถูกดำเนินคดีตามมาอีกหลายคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

“เราทราบแล้วว่าประเทศนี้มีคนที่ทำให้คนหายไปได้จริง ตอนนี้เริ่มมีการคุกคามบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ภาครัฐไทยก็มีการลดทอนการต่อสู้ของคุณปู่เตียงผ่านการเรียนการสอนประวัติศาสตร์กระแสหลัก การออกมาเคลื่อนไหวนั้นเรายึดมั่นหลักการประชาธิปไตยและความเท่าเทียมมาตลอด แต่มีการพยายามให้ข้อมูลโจมตีเรา และคุกคามคนรอบตัว แต่ยืนยันว่าต่อจากนี้เราจะทำงานอย่างหนักเพื่อจะไม่มีใครต้องสูญหายเพราะการคิดต่างทางการเมือง เราจะต่อสู้เพื่อสร้างสังคมเท่าเทียมอย่างแท้จริง” จุฑาทิพย์กล่าว

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาสุรชัย แซ่ด่าน กล่าวว่า เดือนธันวาคมนี้จะครบสองปีที่สุรชัยหายตัวไปเพราะการต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ความเห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรรม หลังจากที่สุรชัยหายตัวไปได้ไปแจ้งความและร้องขอความเป็นธรรมทั้งจากกสม. กรมคุ้มครองสิทธิฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์การสหประชาชาติ และทางรัฐบาลก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

“ดิฉันไปร้องกรมคุ้มครองสิทธิฯ เขาจึงเรียกลูกชายสุรชัย แม่สยาม ธีรวุฒิ และแม่วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ไปตรวจดีเอ็นเอ เพื่อเอาหลักฐานไปตรวจหาศพไร้ญาติ ทำให้มีความหวังว่าอาจพบร่องรอยคุณสุรชัย เพื่อนำมาทำบุญตามหลักศาสนาและดำเนินคดีผู้ทำการอุ้มฆ่า-อุ้มหาย หวังว่าพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายจะออกมาบังคับใช้ที่ทำให้หาตัวผู้กระทำผิดและผู้สั่งการมารับโทษในฐานะอาชญากร และครอบครัวได้รับการเยียวยาตามสมควร เพราะครอบครัวได้รับผลกระทบสาหัสหลายด้าน

“นอกจากนี้คุณสุรชัยไม่ได้มีความผิดกรณีปี 2553 กรณีการประชุมอาเซียนที่พัทยา วันนั้นคุณสุรชัยถูกกักตัวอยู่ที่ชายทะเล ไม่ได้ไปที่โรงแรม แต่มีการแจ้งความเท็จจากเจ้าหน้าที่รัฐ พอมีการยึดอำนาจคุณสุรชัยลี้ภัยไปต่างประเทศ จึงไม่สามารถขึ้นศาลได้ นายประกันจึงถูกปรับห้าแสนบาท ดิฉันจึงต้องหาเงินมาจ่ายค่าปรับ ซึ่งไม่มีความเป็นธรรม ดิฉันก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนแจ้งความกลับได้ เพราะไม่มีหลักฐานว่าคุณสุรชัยถูกทำร้ายจนเสียชีวิต จึงขอให้มีมนุษยธรรมมากกว่าข้อกำหนดตามกฎหมายด้วย” ปราณีกล่าว

สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า วันเฉลิมหายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนเองจึงค้นหาน้อง เดินทางไปยื่นหนังสือตามสถานที่ต่างๆ ของรัฐ แต่ทั้งทางการไทยและกัมพูชากลับตอบไม่ได้เลยว่าสืบสวนถึงไหนแล้ว การหายไปของวันเฉลิมไร้ร่องรอยมาก ถ้าเป็นการกระทำของคนทั่วไปต้องมีร่องรอย เราข้องใจว่าการกระทำนั้นเกี่ยวข้องกับใครจึงไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการแจ้งอะไรให้ญาติทราบ เชื่อว่ารัฐบาลไทยเก่งในการสืบสวน มีหน่วยข่าวกรองที่เก่ง แต่ทำไมคนไทยคนหนึ่งหายไปอย่างไร้ร่องรอยได้แบบนี้ และไม่ได้เพิ่งเกิดคดีเดียว

“ไทยควรตื่นตัวเรื่องนี้และผลักดันพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ กฎหมายนี้จะทำให้เราอุ่นใจ และกรณีของวันเฉลิม ดิฉันจะตามหาข้อเท็จจริงให้ถึงที่สุด ไม่ว่าชะตากรรมของเขาจะเป็นอย่างไร เราจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ให้ผ่านไป จะทำเท่าที่ทำได้ ไม่ให้เรื่องนี้เงียบหายไปแน่นอน” สิตานันท์กล่าว

ด้าน กัญญา ธีรวุฒิ แม่สยาม ธีรวุฒิ กล่าวว่า ตนเองเจ็บปวดทุกวันทุกนาทีที่ลืมตาเพราะคิดถึงลูก ไม่รู้จะอธิบายยังไงกับความรู้สึกที่เจ็บปวดตลอดเวลา ทางการไม่สนใจ ไม่มองเห็นเราเป็นคนเหมือนเขาหรือเปล่า สยามเล่นละครเจ้าสาวหมาป่าก็โดนคดี 112 ลูกจึงหนี เขาบอกว่าถ้าติดคุกแล้วติดเชื้อในกระแสเลือดใครจะช่วย สยามไปอยู่ต่างประเทศได้ห้าปี ในปี 2562 ก็มีข่าวว่าเขาโดนจับเรื่องพาสปอร์ตปลอมที่เวียดนาม

“แม่ออกตามหาทุกที่ที่ไปได้ หาไม่เจอ ถามคนใหญ่โตก็บอกว่าไม่รู้จัก ไม่ทราบ ข้อมูลแค่นี้ไม่สามารถทำให้ตามหาได้ แม่เจ็บปวดเพราะคิดว่าแค่การแสดงละครเจ้าสาวหมาป่าทำให้เขาต้องดิ้นรนหนีไปต่างเมือง ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาทำลูกเราแบบนี้ ถ้าเป็นลูกของคุณจะเจ็บปวดเหมือนเราไหม สยามเหมือนเข็มที่โยนไปในทะเล หมดทางจะตามหา แม่ไม่รู้จะพูดอะไรแม่มีแต่น้ำตาจะให้ เหมือนว่าชีวิตคนทั้งคนไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา” กัญญากล่าว

กิตติธัช ซือรี ตัวแทนประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า ตนเองเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตในสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วยความหวาดระแวงตลอดมา มีการบิดเบือนความจริงเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่มาโดยตลอด ประชาชนพูดความจริงไม่ได้ เพราะอาจถูกรัฐบาลรังแกหรือใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึกมาดำเนินการได้ เยาวชนส่วนใหญ่จึงออกจากพื้นที่เพื่อไปศึกษาหรือทำงานทีอื่น เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้เหมือนในจังหวัดอื่น

“การบังคับสูญหายเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้มากที่สุดในประเทศ หนึ่งในนั้นก็มีรุ่นพี่ของผมคนหนึ่งที่ไม่สามารถบอกชื่อได้ ตอนที่เขาหายตัวไปลูกก็ยังอยู่ในท้องภรรยา ปัจจุบันภรรยาและญาติของเขาก็ยังคิดถึงเขาและคาดหวังจะได้เจอเขาอยู่” กิตติทัชกล่าว

เก็บตกเวทีเสวนา เรื่อง “ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย: แนวทางการแก้ไขการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย”

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวว่า ที่ผ่านมามี ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายทั้งหมดสี่ร่าง ผ่านมา 12 ปีแล้วกฎหมายนี้ก็ยังไม่สำเร็จ กฎหมายถูกส่งไปมา แก้กันหลายรอบจนล่าสุดวนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 กฎหมายกำลังจะผ่านสนช.ก็ถูกถอนออกในคืนสุดท้าย พอเลือกตั้งก็ต้องนับหนึ่งใหม่ ภาคประชาชนจึงสร้างพ.ร.บ.ฉบับคู่ขนานขึ้นมา ขณะที่ปัจจุบันร่างของทางรัฐบาลอยู่ที่กฤษฎีกา

“ร่างฉบับปัจจุบันของรัฐบาลระบุให้การทรมานและบังคับให้สูญหายเป็นความผิด มีการลงโทษผู้กระทำผิด ผู้สมคบ ผู้ให้ความร่วมมือและผู้บังคับบัญชาที่ทราบว่ามีการกระทำผิดแล้วไม่ห้ามปราม โดยให้ดีเอสไอเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินคดี เว้นแต่ดีเอสไอเป็นผู้ต้องสงสัยก็จะส่งให้ตำรวจแทน และให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งใช้ระบบไต่สวนเป็นผู้พิจารณาคดี นอกจากนี้มีมาตรการป้องกัน คือมีคณะกรรมการกำหนดกลไกป้องกันและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ กำหนดให้ทุกหน่วยงานที่มีการควบคุมหรือจำกัดเสรีภาพบุคลต้องเก็บข้อมูลให้ครบตามที่กำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้สูญหาย และเปิดช่องทางให้ศาลมีบทบาทมากขึ้น ญาติที่สงสัยว่ามีญาติถูกทรมานหรืออุ้มหายสามารถฟ้องศาลบังคับให้รัฐเปิดเผยข้อมูล และมีมาตรการชั่วคราวต่างๆ” สัณหวรรณกล่าว

สัณหวรรณ ตั้งข้อสังเกตว่าร่างฉบับรัฐบาลมีหลายมาตราที่ยังไม่เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ดังนี้

1.บทนิยามการทรมานและการอุ้มหายในกฎหมาย บางร่างครบถ้วน แต่บางร่างขาดหายขึ้นอยู่กับว่าผ่านการพิจารณาของหน่วยงานใด ซึ่งจะเป็นปัญหา เพราะอาจมีกรณีที่ควรดำเนินการตามกฎหมายนี้แต่ไม่สามารถเอาเข้าสู่การพิจารณาได้

2. การใช้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะเปิดโอกาสให้ใช้ศาลทหารได้ ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่กรณีการทรมานและบังคับสูญหายต้องขึ้นศาลพลเรือน

3. ต้องมีบทบัญญัติเรื่องการป้องกันการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศ หากเขามีความเสี่ยงว่าอาจถูกทรมานหรือบังคับสูญหาย

4. ตามกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากการทรมานยังมีการระบุถึง “การปฏิบัติที่โหดร้าย ทารุณ ไร้มนุษยธรรม” ซึ่งคือการทำร้ายที่ไม่ถึงขั้นทรมาน แต่ต้องดำเนินการให้มีการลงโทษด้วย

5. ความผิดต่อเนื่องของอาชญากรรมการบังคับให้สูญหาย สิ่งที่ญาติผู้ถูกอุ้มหายสงสัยคือหากพ.ร.บ.ออกมาจะบังคับใช้กรณีของเขาไหม ในพ.ร.บ.ของรัฐบอกว่าไม่บังคับใช้ ซึ่งขัดหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่บอกว่าตราบใดที่ยังไม่ทราบชะตากรรมผู้สูญหายถือว่าความผิดยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง

6. เรื่องอายุความ มีข้อเสนอแนะจากยูเอ็นมาถึงไทยโดยตรงว่าการทรมานและบังคับสูญหายไม่ควรมีอายุความ

สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ใช้เวลายาวนานมากและมีหลายร่างมาก จนภาคประชาชนผลักดันร่างกฎหมายขึ้นมาเสนอคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน แล้วกรรมาธิการร่วมกันปรับปรุงและเสนอไปยังประธานรัฐสภา ขณะนี้กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนทางเว็บไซต์ นอกจากนี้หลายพรรคการเมืองที่ตื่นตัวเรื่องนี้ก็มีการทำร่างกฎหมายขึ้นมาร่วมกันแล้วเสนอไปยังประธานรัฐสภา แต่เชื่อว่าเมื่อร่างภาคประชาชนไปจ่อคิวในสภาผู้แทนฯ แล้วจะเร่งให้รัฐบาลต้องรีบเสนอร่างของตัวเองเข้ามา

“การอุ้มหายและทรมานเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งนอกจากจะมีอำนาจอิทธิพลมากมายที่ทำให้ญาติพี่น้องไม่สามารถร้องเรียนติดตามดำเนินคดีได้แล้ว เจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังมีความเชี่ยวชาญในการทำลายหลักฐาน ที่นิยมทำกันคือการผ่าท้องเอาแท่งซีเมนต์ยัดแล้วถ่วงน้ำ หรือการเผาในถังน้ำมันจนไม่เหลือหลักฐานให้พิสูจน์ได้

“ปัจจุบันตัวเลขผู้ถูกอุ้มหายของไทยที่มีการร้องเรียนต่อสหประชาชาติมีราวแปดสิบกว่าราย แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกมากที่ญาติพี่น้องของเขาไม่ได้ร้องเรียนด้วยหลายสาเหตุ เช่น ผู้กระทำความผิดยังมีอิทธิพลอยู่ หรือหน่วยงานที่เขาสังกัดและรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดยังมีอำนาจอยู่ คนที่มาร้องเรียนไม่เชื่อมั่นว่าจะเอาคนทำผิดมาลงโทษได้เพราะไม่มีกฎหมาย ไม่มีพยานหลักฐาน ถ้าประเทศไทยมีบรรยากาศประชาธิปไตยมากขึ้น มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จนผลักดันกฎหมายนี้สำเร็จ จะมีคนอีกจำนวนมาก ทั้งเหยื่อของการทรมานโดยเจ้าหน้าที่และญาติเหยื่ออุ้มหายจะสามารถมาร้องเรียนและเอาเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษได้” สมชายกล่าว

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่า พันธะกรณีที่รัฐไทยให้ไว้กับประชาคมโลกในการยุติการอุ้มหายและซ้อมทรมานซึ่งเป็นอาชญากรรมด้านสิทธิมนุษยชน เป็นคำสัญญาที่รัฐไทยให้ไว้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ทำให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงเลย จนมาถึงวันนี้นานาชาติมองทะลุคำโกหกว่ารัฐบาลไทยไม่รักษาคำพูด ระหว่างที่มีการส่งร่างกฎหมายกลับไปกลับมาหลายรอบ มีสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำเพื่อลดความเสี่ยงการบังคับสูญหายและการซ้อมทรมานได้ คือการยุติมาตรการที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐคุมตัวบุคคลในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย การสอบสวนโดยไม่มีทนาย การคุมตัวที่ไม่เป็นไปตามหลักประกันภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรการเหล่านี้อยู่ภายใต้การปราบปรามยาเสพติดที่ให้คุมตัวแบบปิดลับได้ เช่นเดียวกับสภาพชีวิตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 16 ปีที่มีกฎหมายพิเศษมากมาย หากรัฐบาลต้องการให้ไม่เกิดการซ้อมทรมานหรือบังคับสูญหายสามารถทำได้โดยยกเลิกมาตรการเหล่านี้ทันที แต่รัฐบาลไม่ทำ นี่คือความไม่จริงใจ

“ร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับรัฐบาลนั้นไม่สอดรับกับสากลจึงไม่ควรสนับสนุนให้ร่างนั้นผ่าน คนไทยทั้งสังคมควรสนับสนุนร่างคู่ขนานที่มาจากข้อเสนอของภาคประชาสังคมและพรรคการเมืองต่างๆ ให้เข้าสู่รัฐสภา เพื่อให้ร่างกฎหมายผ่านออกมาโดยสอดรับมาตรฐานสากล จากการทำงานร่วมกับญาติผู้ถูกบังคับสูญหายมานานพบว่าความคืบหน้ากรณีผู้ถูกบังคับสูญหายไม่ได้มาจากการสืบสวนโดยหน่วยงานราชการเลย แต่มาจากการสืบสวนขององค์กรสิทธิมนุษยชน ญาติ และภาคประชาสังคม กลไกที่ภาครัฐบอกว่าตั้งขึ้นมารับเรื่องนั้นไม่ได้มีน้ำยาอะไร นี่เป็นอีกคำโกหกของรัฐบาลไทย

“จากกรณีวันเฉลิมทำให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ดูดำดูดีคนไทยที่ถูกบังคับสูญหายในต่างประเทศ ยังมีอีกหลายคนที่สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สยาม ธีรวุฒิชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และสุรชัย แซ่ด่าน แต่รัฐบาลไม่ติดตามเลย คนเหล่านี้คือคนที่รัฐไทยมองว่าเป็นผู้เห็นต่าง เป็นศัตรูของรัฐ ส่วนกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือถูกมองว่าเป็นคนชายขอบเช่นเดียวกับกรณีบิลลี่ ในบริบทการเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองทุกวันนี้ในทุกเวทีมีการชูโปสเตอร์ผู้ถูกบังคับสูญหาย เพราะนั่นคือภาพสะท้อนอาชญากรรมโดยรัฐ”

สุณัย กล่าวต่อไปว่า หากการเมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีมาตรฐานเรื่องกระบวนการรักษากฎหมายและการอำนวยความยุติธรรม การอุ้มหายก็จะไม่มีที่สิ้นสุด และถ้ายังถามหาความจริงใจจากรัฐไม่ได้ ก็จะเจอคำโกหกรายวัน ทำอย่างไรให้รัฐพูดแล้วไม่คืนคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนไทยและในเวทีระหว่างประเทศ

ด้าน อังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย กล่าวว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่โดนโกหกมานับครั้งไม่ถ้วนจนไม่เชื่อมั่นในกฎหมายและรัฐบาลนี้ ในประวัติศาสตร์ความรุนแรงของรัฐไทย การบังคับสูญหายเกิดขึ้นมานานมากแล้ว เริ่มมีการบันทึกตั้งแต่ปี 2490 สมัยคุณเตียง ศิริขันธ์และเพื่อนนักการเมืองของเขาถูกอุ้มไปฆ่า และยังมีนโยบายสำคัญของรัฐที่ทำให้เกิดการบังคับสูญหาย เช่น 1.นโยบายการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยระหว่าง 2490-2500 มีคนหายจำนวนมากในพัทลุงและภาคใต้ตอนบน จนชาวบ้านสร้างอนุสาวรีย์ถังแดงเพื่อประจานรัฐไทยว่ามีคนถูกอุ้มฆ่าเผาในถังน้ำมันจริง 2.นโยบายการปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่มีการบันทึกว่าน่าจะมีผู้ถูกบังคับสูญหายร้อยกว่าคน 3.การปราบปรามยาเสพติดและการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มในสมัยคุณทักษิณต่อเนื่องมา ชาวบ้านคนไหนที่ถูกเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายจะถูกซ้อมทรมาน ทนายที่เข้าไปช่วยก็ถูกอุ้มหาย

“นโยบายเหล่านี้ทำให้เกิดการบังคับสูญหายอย่างเป็นระบบ คือมีผู้ถูกบังคับใหญ่สูญหายมากกว่า 1-2 กรณี มีการอำพรางศพ การคุกคามญาติ ซึ่งตามกฎหมายสากลเมื่อการบังคับสูญหายมีการทำอย่างเป็นระบบและกว้างขวางตามนโยบายของรัฐที่กระทำต่อประชาชน จะถือเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งจะไม่มีอายุความตามหลักการธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ วันนี้ไม่มีใครทราบเลยว่าเหยื่อการบังคับสูญหายของไทยมีเท่าไหร่ ที่สำคัญคือไม่เคยมีการนำคนผิดมาลงโทษได้ แม้แต่กรณีสมชาย นีละไพจิตร ที่ใครๆ บอกว่ามีความก้าวหน้าในทางคดีมากที่สุด แต่สุดท้ายครอบครัวแพ้อย่างราบคาบและผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล

“ที่ผ่านมามีการส่งร่างพ.ร.บ.ฯ กลับไปกลับมาเพราะรัฐบาลไม่เต็มใจแก้ปัญหา ในฐานะเหยื่อเราถูกหลอกจนเบื่อแล้ว แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายหลายร่าง แต่ร่างกฎหมายของรัฐบาลคือร่างหลัก หากสภาผู้แทนฯ พิจารณากฎหมายแล้ว ร่างฉบับนี้จะถูกส่งไปให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เป็นผู้พิจารณา ถ้า ส.ว. ไม่เห็นด้วยต้องตั้งกรรมาธิการร่วม และอย่างที่ทราบว่า ส.ว. หลายคนเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย และหน่วยงานเหล่านี้ไม่สามารถยอมรับได้ว่าจะให้การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ หมายความว่าคดีที่แล้วๆ มาให้จบไป”

อังคณา ยืนยันว่า หากประเทศไทยยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ยังคงมี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ก็คงยากที่จะพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลได้

“ข้อมูลผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย จากรายงานของสหประชาชาติ เมื่อมิ.ย.2563 มี 87 ราย แต่รัฐบาลจะบอกว่าไม่รู้ เพราะไม่มีบันทึก ตัวเลขผู้ถูกบังคับสูญหายจึงยังเป็นปริศนา หากไม่มีใครยืนยันได้ว่ามีคนถูกบังคับสูญหายกี่คนเราจะมีกฎหมายไปคุ้มครองใคร ที่ผ่านมาต้องชื่นชมความกล้าหาญของญาติ แม้รัฐไม่ใส่ใจแต่การติดตามสืบสวนสอบสวนเริ่มมาจากญาติในการเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อปี 2560 รัฐไทยตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญที่ไม่มีส่วนรวมของภาคประชาชนหรือครอบครัวเหยื่อเลย คณะกรรมการฯ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการเปิดเผยความจริงและนำคนผิดมาลงโทษ แต่มีผลงานคือการส่งเจ้าหน้าที่ไปพบญาติผู้เสียหายในหลายพื้นที่และพยายามโน้มน้าวให้ครอบครัวถอนเรื่องจากคณะทำงานของสหประชาชาติ ญาติหลายคนกลัวและกังวลจึงต้องยอมลงนาม วันหนึ่งรายชื่อผู้สูญหายของคณะทำงานสหประชาชาติอาจเหลือศูนย์ก็ได้ แต่เรายังมีใบหน้าผู้สูญหายทั้งหลายปรากฏในสังคมเพื่อยืนยันว่าคนที่ถูกอุ้มหายโดยรัฐมีอยู่จริง”

อังคณาจึงมีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล ดังนี้

1. รัฐต้องหยุดกดดันหรือโน้มน้าวให้ครอบครัวยุติการร้องเรียนต่อคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายของสหประชาชาติโดยทันที รัฐบาลต้องยอมรับสิทธิของประชาชนในการส่งเรื่องร้องเรียนโดยตรงต่อสหประชาชาติได้ และการช่วยเหลือครอบครัวที่อยู่ในฐานะยากลำบากต้องไม่มีข้อแลกเปลี่ยนใดๆ

2. รัฐสภาควรมีมติให้สัตยาบันในอนุสัญญาต่อต้านการบังคับสูญหายฯ ของสหประชาชาติและธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

3. ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มีความเป็นประชาธิปไตย ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคง ในการร่างกฎหมายอุ้มหายต้องให้ครอบครัวเหยื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน

4. ให้รัฐบาลตอบรับคำขอของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติในการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อตรวจสอบสถานการณ์การบังคับสูญหายในประเทศไทย และเพื่อมีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย

“การอุ้มหายไม่ใช่เพียงการพรากใครสักคนไปจากครอบครัวตลอดกาล แต่การอุ้มหายทำให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ทุกคนอยากรู้คือความจริง ครอบครัวของเหยื่อพูดตรงกันว่าอยากให้คนในครอบครัวกลับคืนมาอย่างมีชีวิต หรืออย่างน้อยคืนศพให้เราก็ยังดี เด็กๆ จะได้หยุดรู้สึกทุกข์ทรมาน ทุกคนเหมือนถูกพันธนาการด้วยความเจ็บปวด เรามองไม่เห็นอนาคต และการสูญหายของใครสักคนหนึ่งหมายถึงการสูญเสียของอีกหลายชีวิตที่เราไม่สามารถประเมินได้” อังคณากล่าวปิดท้าย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: