ศึกษาแนวทางแยกโครงสร้าง 'ค่าไฟบ้าน-ขนส่งสาธารณะ' รองรับตลาดรถ EV

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2180 ครั้ง

ศึกษาแนวทางแยกโครงสร้าง 'ค่าไฟบ้าน-ขนส่งสาธารณะ' รองรับตลาดรถ EV

รมว.พลังงาน มอบหมายให้ สนพ. และ กกพ. ศึกษาแนวทางการแยกโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าบ้าน และค่าไฟฟ้าภาคขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่คาดว่าจะเติบโตมากขึ้นในอนาคต ตามแนวโน้มการคมนาคมขนส่งสาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้า วินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า รถแท็กซี่ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งการส่งเสริมการใช้รถอีวีสาธารณะประเภทต่าง ๆ มากขึ้นก็จำเป็นต้องทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาถูกลงด้วย | ที่มาภาพประกอบ: Greentech Media

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. 2563 ว่านายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษาแนวทางการแยกโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าบ้าน และค่าไฟฟ้าภาคขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่คาดว่าจะเติบโตมากขึ้นในอนาคต ตามแนวโน้มการคมนาคมขนส่งสาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้า วินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า รถแท็กซี่ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งการส่งเสริมการใช้รถอีวีสาธารณะประเภทต่าง ๆ มากขึ้นก็จำเป็นต้องทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาถูกลงด้วย

ส่วนราคาค่าไฟฟ้าสำหรับการชาร์จประจุไฟฟ้านั้น ปัจจุบัน กกพ.อยู่ระหว่างดำเนินการทดลองในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) เพื่อคำนวณค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม ขณะเดียวกันมอบหมายให้กฟผ. เป็นหน่วยงานแรกที่จะเป็นแหล่งพลังงานด้านสถานีชาร์จ สำหรับการขนส่งสาธารณะด้วยการมุ่งพัฒนาวิจัยแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charger) โดยจะร่วมกับบมจ.ปตท. (PTT) พัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันของกลุ่มปตท.

ทั้งนี้ กฟผ.มีแผนยุทธศาตร์ที่จะพัฒนานวัตกรรมพลังงานเพื่อให้เป็นรูปแบบธุรกิจ โดยจะดำเนินงานภายใต้บริษัท อีแกท อินโนเวชั่น โฮลดิ้งส์ คัมปานีส์ จำกัด ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจัดตั้งบริษัทจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

โดยเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 กฟผ.จัดพิธีเปิดงาน "E Trans E" (Electric Transportation of EGAT) นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. พร้อมปล่อยขบวนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และเปิดตัวเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 จากภาคการขนส่ง โดยในปีนี้ กฟผ. มีเป้าหมายนำร่องวินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จำนวน 51 คัน ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร โดยผู้ขับขี่สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำรองได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในปลายปี 2563

นอกจากนี้ กฟผ. ได้พัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้า จำนวน 2 ลำ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 214 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถแล่นด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 10 น็อต ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยระบบปรับอากาศในห้องโดยสารถูกออกแบบให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหลังคาเรือทั้ง 2 ลำ รองรับผู้โดยสารได้ลำละ 80 คน ซึ่งในระยะแรกจะทดสอบการเดินเรือเพื่อศึกษาวิจัยและประเมินสมรรถนะของเรือ

ทั้งนี้ กฟผ.จะนำเรือดังกล่าวมาใช้ในภารกิจของ กฟผ. ก่อน แล้วจึงจะขยายผลสู่การใช้ประโยชน์สำหรับภาคประชาชนในอนาคตเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง "ล้อ ราง เรือ" ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเรือไฟฟ้าอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ.

ส่วนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า กฟผ. ได้นำรถยนต์เก่าใช้แล้วมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าด้วยชุด EV Kit ที่ กฟผ. และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันพัฒนาขึ้น ให้สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 200 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงไม่รวมแบตเตอรี่ประมาณ 200,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดัดแปลงรถยนต์ให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการดัดแปลงรถเมล์เก่าที่หมดอายุการใช้งานแล้วของ ขสมก. ให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ วิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 100-250 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร ความเร็วสูงสุดมากกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถรับผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 80 คน และจะนำไปใช้ทดสอบเดินรถจริงในเส้นทางสาย 543ก (ท่าน้ำนนทบุรี – อู่บางเขน)

การพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจของ กฟผ. ในการแสวงหาองค์ความรู้สำหรับพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งชุดอุปกรณ์ดัดแปลง แบตเตอรี่ หรือชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าผลักดันไทยสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าในวงกว้างมากขึ้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: