องค์กรสิทธิมนุษยชน เรียกร้องสอบสวนและยุติ IO โจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ก.พ. 2563 | อ่านแล้ว 4319 ครั้ง

องค์กรสิทธิมนุษยชน เรียกร้องสอบสวนและยุติ IO โจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรพัฒนาเอกชน 33 องค์กร นำโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมออกแถลง เรียกร้องให้มีการสอบสวนและยุติการใช้ปฏิบัติการข่าวสารออนไลน์ของรัฐ (IO) โจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2563 มีแถลงการณ์ร่วมโดยองค์กรและบุคคลที่มีชื่อแนบท้าย เรียกร้องรัฐบาลไทยให้สอบสวนและยุติการโจมตีทางอินเตอร์เน็ตด้วยข้อมูลที่บิดเบือนและได้รับการสนับสนุนโดยรัฐอันมีเป้าหมายเป็น นักปกป้องสิทธิมนุษยชนนักกิจกรรมทางการเมือง นักวิจารณ์ด้านสังคมและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลโดยทันที

ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2563 ที่นำโดย ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ถูกยุบไปแล้วนั้นได้เผยให้เห็นหลักฐานหลายประการ ซึ่งกล่าวหาว่ากองทัพและรัฐบาลไทยได้ใช้ปฏิบัติการข่าวสารออนไลน์ (Information Operation หรือ IO) เพื่อโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางการเมือง นักการเมือง และบุคคลสาธารณะที่สำคัญอื่นๆ โดยในบรรดาหลักฐานต่าง ๆ ประกอบด้วยหนังสือรายงานผลการปฏิบัติการข่าวสารที่จัดทำโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีและหนังสือบันทึกข้อความของกองทัพภาคที่ 2 วีดิโอการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งมีส่วนร่วมในปฏิบัติการข่าวสาร โดยเป็นการใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เพื่อโจมตีผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและมีการเปิดเผยคิวอาร์โค้ดของกลุ่มไลน์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการข่าวสารดังกล่าว

การโจมตีทางออนไลน์เหล่านี้ ยังมีเป้าหมายเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานในประเด็นเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ โดยกล่าวหาว่าบุคคลเหล่านี้เป็นพวก “ชังชาติ” และ “ผู้ทรยศต่อชาติ” โดยเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า pulony.blogspot.com เผยแพร่ข่าวสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อโจมตีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น อังคณา นีละไพจิตร, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ โจมตีนักกิจกรรมทางการเมือง นักวิจารณ์ทางสังคม และนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตย เช่น ณัฏฐา มหัทธนา, สฤณี อาชวานันทกุล และกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ซึ่งต่างตกเป็นส่วนหนึ่งของบัญชีโซเชียลมีเดีย “ที่ถูกเฝ้าติดตาม” ทั้งยังมีการสร้างบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมหลายร้อยบัญชี เพื่อตอบโต้อย่างก้าวร้าวต่อผู้วิจารณ์รัฐบาลและเผยแพร่การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสาร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งปรากฎเป็นเอกสารที่ยื่นโดย พลตรีบุรินทร์ ทองประไพ อันเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลประกอบการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้จัดและผู้เข้าร่วม การชุมนุมอย่างสงบในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เอกสารดังกล่าวระบุถึงบทบาทของ “ไอโอ” ในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผู้จัดการประท้วงและทำให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าการชุมนุมโดยสงบเหล่านี้ไม่ได้จัดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษา หากมีเบื้องหลังเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง

องค์กรและบุคคลในรายชื่อแนบท้าย ขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็วและอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงต่อปฏิบัติการข่าวสารที่ได้รับการสนับสนุนของรัฐนี้อันมุ่งเผยแพร่ข้อมูลเท็จและยุยง ให้เกิดความไม่ไว้วางใจและความแตกแยกในบรรดาประชาชนคนไทย เราเห็นว่ารัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบต่อผู้เสียภาษีของประชาชน โดยการเปิดเผยเอกสารและข้อมูลทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการข่าวสารนี้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่ถูกปฏิบัติการนี้และหยุดปฏิบัติการนี้โดยทันที อีกทั้งบรรดาผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เอง ต้องรับผิดชอบปิดบัญชีปลอมที่จัดทำขึ้นอย่างไม่ถูกต้องโดยความสนับสนุนของรัฐเหล่านี้

ประการสุดท้าย เราเรียกร้องรัฐบาลไทยโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้ยุติการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและการยุยงใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางการเมือง นักการเมืองฝ่ายค้านและบุคคลสาธารณะโดยทันที เพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนคนไทย และเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนและการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR)

องค์กรร่วมลงนาม

1. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights)
2. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation)
3. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation)
4. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association)
5. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (Center for Protection and Revival of Local Community Rights)
6. กลุ่มด้วยใจ
7. องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)
8. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)
9. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
10. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
11. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLAW)
12. เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้
13. สื่อเถื่อน
14. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
15. มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
16. สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
17. ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน
18. สมาคมผู้บริโภคสงขลา
19. สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา
20. เครือข่ายเทใจให้เทพาหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน
21. เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas)
22. ศูนย์สร้างจิตสํานึกนิเวศวิทยา
23. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ)
24. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง (กป.อพช.นล.)
25. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
26. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
27. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ชาติ)
28. กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai)
29. กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch)
30. กลุ่มศึกษาเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
31. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
32. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
33. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่


บุคคลร่วมลงนาม

1. ทิตศาสตร์ สุดแสน
2. เฉลิมศรี ประเสริฐศรี
3. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
4. วันชัย พุทธทอง
5. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
6. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ
7. สายฝน สิทธิมงคล
8. เกื้อ ฤทธิบูรณ์
9. ฐิตารัตน์ แก้วศรี
10. ชนาง อาภารักษ์
11. สมบูรณ์ คำแหง
12. กรรณิการ์ แพแก้ว
13. วรา จันทร์มณี
14. สุพรรษา มะเหร็ม
15. ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
16. เอกชัย อิสระทะ
17. บัณฑิต ไกรวิจิตร
18. อันธิฌา แสงชัย
19. กฤษดา ขุนณรงค์
20. สุไรนี สายนุ้ย
21. ดวงยิหวา อุตรสินธุ์
22. วัชระ ทิพทอง

ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: