คาด ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ กระทบอุตสาหกรรมแบบเก่า-คนตกงาน

กองบรรณาธิการ TCIJ: 29 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 8834 ครั้ง

 

ในอนาคตหาก 'รถยนต์ไฟฟ้า’ คืบคลานมาแทน ‘รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน’ ชิ้นส่วนรถยนต์จะลดลงอย่างมาก ชิ้นส่วนที่จะหายไปได้แก่ เครื่องยนต์ ระบบไอเสียหม้อน้ำ ถังน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้กว่า 800 แห่ง จ้างแรงงาน 326,400 คน คิดเป็น 47% ของแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ‘ซับคอนแทรค’ จะตกงานก่อนเพื่อน คนจบการศึกษาใหม่จะหางานทำในโรงงานได้ยากขึ้น | ที่มาภาพประกอบ: Reuters (อ้างใน Nikkei Asian Review)

'รถยนต์ไฟฟ้า-ยานยนต์ไฟฟ้า' (Electric Vehicles - EV) หนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล กำลังได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ภาคเอกชนต่างหันมาเร่งผลิต-ผลักดัน การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้านี้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งการมาของรถยนต์ไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน กล่าวคือความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์บางประเภทจะลดลง โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์

ชิ้นส่วนรถยนต์จะลดลงอย่างมากจาก 30,000 ชิ้นเหลือเพียง 1,500-3,000 ชิ้น

ในงานวิจัย 'ผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์' (Impact of Transition to Electrical Vehicles on Workers in Auto-parts Manufacturing) โดย รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ ที่ได้ศึกษาเฉพาะผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เท่านั้น โดยการวิเคราะห์ข้อมูล 2 ส่วนคือ 1.ผลกระทบเชิงปริมาณต่อแรงงาน ซึ่งใช้ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามจากสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ข้อมูลผู้มีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และ 2.ผลกระทบเชิงคุณภาพต่อแรงงาน ซึ่งใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และสนทนาเฉพาะกลุ่มผู้เกี่ยวข้องได้แก่ นายจ้าง แรงงาน นักวิจัย/นักวิชาการ และหน่วยงานของรัฐ

งานวิจัยฯ ชิ้นนี้ระบุว่าการเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปภายในไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภัณฑ์ (product) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคน (people) อันได้แก่ผู้ประกอบการและแรงงาน ชิ้นส่วนรถยนต์จะลดลงอย่างมากจาก 30,000 ชิ้นเหลือเพียง 1,500-3,000 ชิ้น ชิ้นส่วนที่จะหายไปได้แก่ เครื่องยนต์ ระบบไอเสียหม้อน้ำ ถังน้ำมัน เป็นต้น โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้จำนวน 816 แห่งจาก 2,500 แห่ง บริษัทเหล่านี้จ้างแรงงานอยู่จำนวน 326,400 คน คิดเป็นร้อยละ 47 ของแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่จะได้รับผลกระทบอีกจำนวน 183 แห่งที่มีการจ้างงานจำนวนมาก อย่างไรก็ดี สถานประกอบการขนาดใหญ่มักจะผลิตชิ้นส่วนหลากหลายกลุ่มจึงสามารถปรับตัวและจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าสถานประกอบการ SMEs ที่มักจะผลิตชิ้นส่วนเพียงกลุ่มเดียว โดยสถานประกอบการ SMEs มีจำนวนประมาณร้อยละ 60-75 ของผู้ประกอบการทั้งหมดในอุตสาหกรรมและร้อยละ 25 ที่ผลิตชิ้นส่วนที่จะหายไป ซึ่งคาดว่าจะมี SMEs ได้รับผลกระทบจำนวน 438-571 แห่ง

ทั้งนี้ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย พบว่ามีการจ้างงานโดยประมาณ 890,000 คนแบ่งเป็น แรงงานของผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ประมาณ 100,000 คน ตัวแทนจำหน่าย 200,000 คน และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 590,000 คน ซึ่งยังไม่รวมถึงแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในประกันสังคม ณ เดือน เม.ย. 2562 จำนวน 380,802 คน คิดเป็นร้อยละ 43 ของการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

ประเมินผลกระทบผ่านมุมมอง แรงงาน ความท้ายทายของการจ้างงานในอนาคต

งานวิจัยฯ ของ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ  ได้สำรวจมุมมองของกลุ่มแรงงาน โดยระบุว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีการรวมกลุ่มของแรงงานจำนวน 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีสหภาพแรงงานเป็นสมาชิกอยู่จำนวน 94 สหภาพและมีแรงงานเป็นสมาชิกรวมจำนวน 73,200 คน และสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยมีสหภาพแรงงานเป็นสมาชิกจำนวน 54 แห่ง และมีแรงงานเป็นสมาชิกรวมประมาณ 40,000 คน

โดยสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้านี้เป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้แรงงานต้องตกงานเป็นจำนวนมาก แม้จะมองว่าการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอาจยังต้องใช้เวลา 5-10 ปี เป็นอย่างน้อยก็ตามแต่ในปัจจุบันจำนวนพนักงานก็มีเกินความต้องการในการผลิตอยู่แล้ว ซึ่งสภาองค์การลูกจ้างฯ มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะพยุงลูกจ้างเหล่านั้นไว้ในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ สภาองค์การลูกจ้างฯ ยังได้ประสานความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารและความรู้กับองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพแรงงานในประเทศญี่ปุ่น โดยมองว่า ความท้าทายที่สำคัญในอนาคตคือ การจ้างงานส่วนใหญ่จะเป็นระยะสั้น ความมั่นคงในอาชีพจึงน้อยลงสำหรับบทบาทภาครัฐนั้น สภาองค์การลูกจ้างฯ มองว่าที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและปัญหาโลกร้อนที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานเท่าที่ควร

หวั่นนายจ้างไม่มีมาตรการรองรับแรงงานจากการเปลี่ยนเทคโนโลยี

หุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก | ที่มาภาพประกอบ: Robotic Industries Association

นอกจากนี้สหภาพแรงงานแห่งหนึ่งได้ให้ข้อมูลกับงานวิจัยฯ ของ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ  ว่าอย่างที่ทราบกันว่าทางบริษัทญี่ปุ่นยึดครองเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปทั่วโลก ซึ่งใช้การลงทุนหลายแสนล้าน ทำให้ยากที่จะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าในทันที โดยทางนายจ้างไม่ได้กล่าวถึงการรองรับลูกจ้างจากการเปลี่ยนเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอนาคต ทำให้ฝ่ายลูกจ้างค่อนข้างอึดอัดใจต่อทิศทางในอนาคต ซึ่งทางสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย มีจำนวนสมาชิกทั้งหมดประมาณ 20,000 คน และมีส่วนที่ผลิตหม้อน้ำ ถังน้ำมัน ท่อไอเสีย เป็นต้น ซึ่งในรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ใช้ชิ้นส่วนเหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามต่ออนาคตของแรงงานเหล่านี้

ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์มักใช้พนักงาน ‘ซับคอนแทรค’ ทำงานที่มีลักษณะทำซ้ำๆ ไม่ได้มีการพัฒนาทางความคิดและทักษะใดๆ เป็นการงานที่เน้นความเร็วในการผลิต ไม่มีการเก็บสินค้าไว้ในคลังสินค้าเพราะจะทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ลักษณะการจ้างของบริษัทจะเน้นจำกัดจำนวนพนักงานประจำ ซึ่งมีแนวโน้มลดจำนวนลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ ต้องการให้นายจ้างส่งเสริมการพัฒนาทักษะให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะตกงาน เช่น กลุ่มผลิตเครื่องยนต์ ด้านแรงงานฝีมือต่ำในประเทศไทยต้องทำงานหนักมาก ไม่มีวันหยุด ต้องทำงานล่วงเวลา เพราะค่าแรงงานรายเดือนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว จึงไม่มีเวลาที่จะแสวงหาความรู้หรือฝึกอบรมทักษะ และให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรต้องพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรับจ้างผลิตสินค้าที่เน้นแรงงานฝีมือต่ำ ทั้งนี้ทางฝ่ายแรงงานมีการเตรียมตัวด้านการออมเงินและจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อให้พนักงานมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของแรงงานคือ การรวมกลุ่มของแรงงานไม่เข้มเข็งทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจำกัดและขาดพลังในการขับเคลื่อนเรียกร้องความชอบธรรมที่เป็นปึกแผ่น

ซับคอนแทรค จะตกงานก่อนเพื่อน คนจบการศึกษาใหม่จะหางานทำในโรงงานได้ยากขึ้น

นอกจากนี้กลุ่มแรงงานมีความเห็นว่าระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานแล้วผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจึงมาก่อนการเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดีแรงงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพราะทำงานหนัก ทำให้ไม่เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว แต่เมื่อทราบแล้วก็พร้อมที่จะปรับตัว และมีความกังวลว่า หากต้องทำงานแข่งกับหุ่นยนต์ก็จะเกิดความเครียดแต่หากทำงานคนละสถานที่กับหุ่นยนต์ก็จะไม่รู้สึกกดดัน

โดยแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือมีความเสี่ยงที่จะตกงานก่อนคือแรงงาน ‘ซับคอนแทรค’ หรือแรงงานที่มีสัญญาจ้างระยะสั้นกลุ่มนี้จะไม่ถูกจ้างงานต่อ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีสัดส่วนแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัทตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึง ร้อยละ 60 ของการจ้างงานทั้งหมดของบริษัท ซึ่งแรงงานซับคอนแทรคนี้มีแรงงานข้ามชาติรวมอยู่ด้วย โดยบางบริษัทตั้งเป้าลดจำนวนแรงงานซับคอนแทรคลงให้เหลือ 0 ภายใน 5 ปี แรงงานกลุ่มต่อไปที่จะได้รับผลกระทบคือแรงงานใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะบริษัทยังไม่มีนโยบายรับคนงานระดับปฏิบัติการเข้ามาเพิ่มเติม

ส่วนผลกระทบต่อแรงงานประจำที่กำลังทำงานอยู่ในปัจจุบันนั้น หลายบริษัทเริ่มมีโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดหรือโครงการสมัครใจลาออกสำหรับแรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ จะจ่ายเงินชดเชยให้ถึง 50 กว่าเดือน (ขึ้นกับระยะเวลาการทำงาน) เพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กลงมาจะให้น้อยลง เช่น 20 กว่าเดือนไปจนถึงไม่ให้เลย หรือถ้าอายุยังไม่ถึง 45 ปีก็มีโครงการป่วยรักษาตัว หรือโครงการโอกาสสานฝันสู่อาชีพทางเลือก ปัจจุบันมีการลดการทำงานล่วงเวลาลง ทำให้มีรายได้ลดลง บางบริษัทประกาศลดวันทำงานลงเดือนละ 6 วัน และบางบริษัทประกาศปิดกิจการ ซึ่งไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี ปริมาณคำสั่งซื้อน้อยลง หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตโดยนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายรับคนงานใหม่ ทำให้จำนวนแรงงานในบริษัทลดลงเรื่อยๆ และคนจบการศึกษาใหม่จะหางานทำในโรงงานได้ยากขึ้น และบางบริษัทจะมีการย้ายฐานการผลิต เช่น หม้อน้ำรถยนต์ จากสมุทรปราการไปยังประเทศกัมพูชา โดยจะโยกย้ายพนักงานที่เหลือในประเทศไทยไปทำงานอื่นแทน ลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา เริ่มโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดในปี 2020 และลดพนักงานชั่วคราวลงด้วยสัญญาจ้างทำงานที่สั้นลง จากเดิมกำหนดจ้างจนแรงงานมีอายุถึง 35 ปี ปรับลดเหลือ 28 ปี อีกทั้งการเปลี่ยนสถานะจากพนักงานชั่วคราวไปเป็นพนักงานประจำยังมีโอกาสน้อย เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นทำได้ยากด้วยปัญหาสุขภาพ เพราะงานที่ทำต้องใช้สายตามาก เป็นต้น

หวังรัฐตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงานไว้เพื่อใช้สำหรับฝึกทักษะแรงงาน เหมือนกับที่ช่วยนักลงทุน

แรงงานบางส่วนโดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุพอสมควรและทำงานกับบริษัทมานานมีความพร้อมที่จะออกจากงานหากได้รับเงินชดเชยที่สูงมากพอ โดยจะนำเงินไปลงทุนทำการเกษตรที่บ้านเกิด พัฒนาหมู่บ้านให้เจริญและอาจเข้าสู่การเมืองท้องถิ่น โดยเห็นว่าเงินชดเชยควรสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดมากถึงจะเพียงพอจะนำไปเลี้ยงชีพต่อได้ ทั้งนี้มีความกังวลเรื่องภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อได้รับเงินชดเชยเป็นก้อนใหญ่ สำหรับแรงงานที่มีอายุยังน้อยยังอยากจะทำงานต่อไปในบริษัทหรือหางานใหม่ทำ เพราะมีภาระต้องผ่อนบ้านซึ่งซื้อไว้ใกล้กับโรงงาน จึงอยากที่จะได้รับการฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้สามารถทำงานต่อไปได้ แต่หากโดนปลดออกร้อยละ 25 จะไปทำงานด้านการเกษตร รองลงมาคือค้าขาย โดยบริษัทใหญ่ๆ มักจะมีสถาบันฝึกอบรมทักษะฝีมือให้กับแรงงานในบริษัทของตนเอง แต่บริษัทเล็กๆ จะไม่มี

กลุ่มแรงงานยังได้ระบุไว้ในงานวิจัยฯ ของ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ ว่าเห็นได้ว่านโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้นักลงทุนใช้เทคโนโลยีทันสมัยและเครื่องจักรมากขึ้น เท่ากับว่ารัฐบาลกำลังส่งเสริมให้ใช้แรงงานน้อยลง รัฐบาลจึงควรจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงานไว้เพื่อใช้สำหรับฝึกทักษะแรงงาน เหมือนกับที่รัฐบาลช่วยนักลงทุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แรงงานต้องการรับทราบแผนการผลิตธุรกิจของบริษัทเพื่อจะได้วางแผนชีวิตของตนเองได้ดีขึ้น และเพื่อเกิดความเป็นธรรมต้องการให้ภาครัฐหรือองค์กรอิสระเข้ามาเป็นตัวกลางในการตรวจสอบแผนการลดและการเลิกจ้างคนงานของบริษัท นอกจากนี้ ยังเสนอให้สถาบันการศึกษาปรับหลักสูตรให้ทันสมัยใช้งานได้ กระทรวงแรงงานให้เพิ่มทักษะให้แรงงานในด้านเทคโนโลยีและมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยควรให้ข้อมูลอาชีพที่จะไม่เสี่ยงตกงานในอนาคต พร้อมฝึกอาชีพทางเลือกให้กับแรงงาน เช่น อาชีพอิสระต่างๆ ได้แก่ มัคคุเทศก์ งานบริการอื่นๆ และต้องการให้สหภาพแรงงานอบรมให้ความรู้ข่าวสารที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์แก่สมาชิก เช่น การออมเงิน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และกระตุ้นให้สมาชิกตื่นตัวและกระตือรือร้นในการปรับตัวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อตัวแรงงานเอง แต่จะสามารถนำไปวางแผนการศึกษาให้ลูกหลานในครอบครัวด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: