จับตา: รายงานเหตุท่อก๊าซระเบิด จ.สมุทรปราการ ที่ ก.พลังงานเสนอต่อ ครม.

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 8276 ครั้ง


รายงาน 'การเกิดเหตุก๊าซธรรมชาติรั่วและเพลิงไหม้ ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก' ที่กระทรวงพลังงานเสนอต่อ ครม. เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงาน 'การเกิดเหตุก๊าซธรรมชาติรั่วและเพลิงไหม้ ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก' ที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สาระสำคัญ ข้อเท็จจริง

1. กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ สำหรับโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก ให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ใบอนุญาตเลขที่ กท2310039 ออกให้ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 (ออกใบอนุญาตครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557 ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2535 และเริ่มใช้งานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539ก่อนที่กฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. 2556 มีผลบังคับใช้) โดยในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 ประจำปี 2563 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จัดส่งรายงานผลการทดสอบและตรวจสอบประจำปี รายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามและตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำเนากรมธรรม์ประกันภัย และกรมธุรกิจพลังงานได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้วเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดจึงได้ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าว

2. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบกได้รับประกาศกำหนดเขตระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและเขตระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลและบนบกในท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อบนบกในท้องที่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

3. กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานได้รับแจ้งเหตุเบื้องต้นจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 เวลาประมาณ 13.30 น. โดยแจ้งว่าระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ บริเวณจังหวัดสมุทรปราการ เกิดเพลิงไหม้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการประสานงานและตรวจสอบข้อมูลจึงทราบว่าจุดเกิดเหตุเป็นระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก เกิดเหตุระหว่างสถานีควบคุม WN2 และ WN3 (อยู่ห่างจากสถานีควบคุม WN2 18.223 กิโลเมตร และห่างจากสถานีควบคุม WN3 13.732 กิโลเมตร) ถนนเทพราช-ลาดกระบัง ในพื้นที่ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ อธิบดี รองอธิบดีและเจ้าหน้าที่กรมธุรกิจพลังงานจึงได้เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ เวลาประมาณ 15.30 น. พบว่าสามารถควบคุมเพลิงไหม้ส่วนใหญ่ได้แล้ว มีการปะทุของไฟเกิดขึ้นเป็นบางช่วงเมื่อมีการระบายก๊าซที่คงค้างออกมา สภาพพื้นที่โดยรวมได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดและเพลิงไหม้ ส่งผลให้ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่พักคนงาน และที่พักอาศัยของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โรงเรียนเปร็งวิสุทธาธิบดี รวมถึงสถานีตำรวจภูธรเปร็ง ได้รับความเสียหาย และมีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้บาดเจ็บ 66 ราย ในเบื้องต้น กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานได้แจ้งให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระงับการประกอบกิจการระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก ระหว่างสถานีควบคุม WN2 และ WN3 เป็นการชั่วคราว และได้แจ้งให้ดำเนินการซ่อมแซมระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อที่ได้รับความเสียหายให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและดำเนินการทดสอบและตรวจสอบตามที่กฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัยกำหนด และแจ้งผลให้กรมธุรกิจพลังงานทราบต่อไป

ทั้งนี้ท่อในบริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าวดำเนินการอยู่ก่อนที่กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะกำหนดให้กิจการระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อต้องได้รับการเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมก่อนเริ่มดำเนินการ ดังนั้นจึงไม่ต้องจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยท่อส่งก๊าซธรรมชาติของโครงการเป็นท่อเหล็ก API 5L เกรด X65 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 36 นิ้ว ความหนาของท่อ 0.594 นิ้ว ความดันใช้งานสูงสุด 1,043 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ระดับความหนาแน่นของชุมชนอยู่ในระดับ 3 อยู่ลึกจากระดับพื้นดินประมาณ  2.99 - 3.66 เมตร ทั้งนี้เนื่องจากมีการถมดินเพิ่มจากระดับอ้างอิงเดิม ความลึกท่อจริงอาจมากกว่าที่ระบุข้างต้น

4. ถนนเทพราช-ลาดกระบัง อยู่ในระหว่างการก่อสร้างเพื่อเพิ่มช่องทางสัญจรและปรับสภาพผิวการจราจร และมีการปรับสภาพพื้นที่ใกล้เคียงเขตระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อซึ่งอยู่ใต้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าบริเวณตรงข้ามวัดเปร็งราษฎร์บำรุง เป็นที่พักคนงานของบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด รวมถึงมีการนำรถขุด และวัสดุก่อสร้างมากองในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจากการสอบถามเบื้องต้น ไม่มีการขออนุญาตเข้าทำงานในโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ และโครงข่ายไฟฟ้า ทั้งนี้โครงข่ายก๊าซธรรมชาติ และเขตระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ดังกล่าวมีความกว้าง 23 เมตร ส่วนเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวมีความกว้างจากแนวศูนย์กลางเสาสายส่งข้างละ 20 เมตร รวมทั้งสองด้านกว้าง 40 เมตร และเป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่คู่ขนานกัน 2 โครงข่าย

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับการประกาศเขตระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 แล้ว จึงถือว่าเขตดังกล่าวเป็นเขตระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องกำหนดเขตระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อและเครื่องหมายแสดงเขต พ.ศ. 2559 มีรายละเอียดข้อห้ามปฏิบัติในบริเวณเขตระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อและบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ซึ่งการดำเนินการของบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด ดังกล่าวข้างต้น เป็นการกระทำอันอาจเป็นอันตรายต่อระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อรวมทั้งอุปกรณ์ของระบบดังกล่าว และอาจเป็นเหตุให้ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อถูกทำลายเสียหาย เป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 37 และมีบทลงโทษตามมาตรา 73 ตามข้อ 4.14 กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานจะเร่งดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

5. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือที่ 80000510/340/2563 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2563 แจ้งเหตุก๊าซธรรมชาติรั่วและเกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ สำหรับโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก โดยได้แจ้งให้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ ปตท. ได้เข้าสู่พื้นที่เพื่อระงับเหตุ พร้อมทั้งดำเนินการตัดแยกระบบบริเวณช่วงสถานีควบคุม WN2 และ WN3 ซึ่งสามารถควบคุมเหตุได้แล้ว และได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉิน แจ้งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และเร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่ และในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 เวลา 11.30 น. ปตท. ได้แจ้งสรุปรายงานเหตุการณ์เพิ่มเติมเป็น 7 หัวข้อ ดังนี้

(1) การระงับเหตุโดย ปตท.

12.49 น. ศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซ ปตท. จ.ชลบุรี ตรวจพบความผิดปกติโดยความดันก๊าซระหว่างสถานีควบคุมความดันก๊าซ WN2 และ WN3 ลดลงอย่างรวดเร็ว

12.55 น. ได้รับแจ้งเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติรั่วและมีเพลิงไหม้

12.58 น. ศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซ ปตท. สั่งปิดวาล์วที่สถานีควบคุมก๊าซ WN2 และ WN3 เพื่อตัดแยกระบบผ่านระบบควบคุมอัตโนมัติ (SCADA)

13.10 น. ปตท. ประกาศเหตุฉุกเฉินระดับ 2 และจัดตั้งศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉินที่ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี

13.40 น. ปตท. เข้าถึงพื้นที่เพื่อระงับเหตุ

16.14 น. สามารถควบคุมเพลิงไหม้ได้

(2) ผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ

สามารถจ่ายก๊าซให้โรงไฟฟ้า  PPTC สถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง (27 แห่ง) และสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ปตท. ลาดกระบัง ได้แล้ว และได้จัดเตรียมเชื้อเพลิงทดแทน (CNG) ให้สถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ บริษัท เอ็นจีเคเซรามิคส์ (ประเทศไทย)จำกัด รวมถึงบริหารจัดการจ่ายก๊าซจากสถานีอื่นทดแทนให้แก่สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ปตท. เอส.วี.โพรเกรสซีฟ  สาขาบางปะกง แล้ว ส่วนโรงไฟฟ้า Eastern Power and Electric Co., Ltd  ไม่มีแผนเดินเครื่อง ในช่วงนี้

(3) ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต        

ผู้เสียชีวิต 3 ราย

- นางมะลิ บุญมั่น อายุ 80 ปี

- นางสาวละมัย กลมอ่อน อายุ 85 ปี

- นางสมศรี จันทร์แถม ไม่ทราบอายุ

ผู้บาดเจ็บ 66 ราย

-    กลับบ้านแล้ว 37 ราย

-    รักษาตัวที่โรงพยาบาล 25 ราย

-    อาการสาหัส 4 ราย

(4) ความเสียหายทางทรัพย์สิน

  • สถานีตำรวจภูธรเปร็ง
  • โรงเรียนเปร็งวิสุทธาธิบดี
  • อาคาร บ้านเรือน จำนวน 34 หลังคาเรือน
  • ร้านค้า 7 แห่ง
  • รถยนต์ 62 คัน
  • รถจักรยานยนต์ 59 คัน

                         (5) การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดย ปตท.

  • จัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม และที่พักชั่วคราวในระยะเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และอำนวยความสะดวกให้แก่ทีมปฏิบัติงาน
  • เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ

ผู้ได้รับผลกระทบ

มาตรการเยียวยา

ผู้เสียชีวิต

มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ 100,000 บาท 

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ

ปตท. พร้อมดูแลค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดย ปตท.ได้ประสานงาน บริษัททิพยประกันภัย ดูแลรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้บาดเจ็บทุกรายและทีมมวลชนสัมพันธ์ ปตท. ได้เข้าเยี่ยมและมอบกระเช้าให้ผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกแห่ง และพร้อมช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ อย่างเต็มที่

ผู้ที่ได้รับผลกระทบบ้านเรือนเสียหาย

จัดเตรียมที่พักชั่วคราว 1 คืน ณ วัดเปร็งราษฎร์บำรุง พร้อมทั้งจัดหาอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกครัวเรือน โดยในระหว่างการซ่อมแซมบ้านเรือน ปตท. จะจัดหาที่พักชั่วคราวให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

  • มอบถุงยังชีพ 100 ถุง และ ผ้าห่ม 100 ผืนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ
  • เข้าพื้นที่เพื่อฟื้นฟูความเสียหายและสภาพแวดล้อมในชุมชน ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

(6) การซ่อมท่อส่งก๊าซฯ

- ประเมินการเบื้องต้นใช้ระยะเวลาประมาณ 5 วัน โดยในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ได้ดำเนินการเตรียมท่อขนาด 36 นิ้ว เข้ายังพื้นที่ และดำเนินการไล่ก๊าซธรรมชาติที่ค้างอยู่ในระบบตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยจากการวัดปริมาณก๊าซธรรมชาติและออกซิเจน ณ จุดเกิดเหตุ

- ดำเนินการก่อสร้างโดยการขุดเปิดหน้าดิน และเชื่อมต่อเข้ากับระบบเพื่อเริ่มจ่ายก๊าซ

(7) ผลกระทบสิ่งแวดล้อม – บริษัท UAE เข้าเก็บตัวอย่างดินและน้ำ ในวันที่ 23 ตุลาคม 2563

6. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือที่ 80000510/341/2563 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2563 แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเหตุการณ์ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกคู่ขนานเส้นที่ 2 และได้จัดส่งแบบรายงานการเกิดอุบัติเหตุเบื้องต้น ตามแนบท้ายประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการดำเนินการในกรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. 2557 ทั้งนี้มีการปรับแก้ข้อมูลจากรายงานเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ตามข้อ 4.5 ในส่วนของข้อมูลผู้บาดเจ็บ และการมอบเงินชดเชย เป็นดังนี้

ผู้บาดเจ็บ 71 ราย

-    กลับบ้านแล้ว 8 ราย

-    รักษาตัวที่โรงพยาบาล 54 ราย

-    อาการสาหัส 9 ราย

- มอบเงินชดเชยนอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้

(1) ผู้เสียชีวิต รายละ 5,000,000 บาท

(2) ผู้ป่วยอาการสาหัส รายละ 500,000 บาท

(3) ผู้ป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาล รายละ 200,000 บาท

(4) ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่กลับบ้านแล้ว รายละ 50,000 บาท

7. ปัจจุบันมีระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อที่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 192 โครงการ

วางพาดผ่าน 23 จังหวัด โดยแบ่งประเภทตามวัตถุประสงค์ในการขนส่งก๊าซธรรมชาติ ได้เป็น 5 ลักษณะ ดังนี้

ประเภทโครงการ

 ความยาว (กม.)

ร้อยละ

ท่อประธานบนบก

2,172.98

39.48

ท่อประธานในทะเล

2,338.31

42.49

ท่อไปยังโรงไฟฟ้า

196.53

3.57

ท่อจำหน่าย (ไปยังสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ)

767.11

13.94

ท่อไปยังสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ

28.71

0.52

รวม

5,503.62

100.00

ทั้งนี้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นท่อประธานบนบกของประเทศไทยมีจำนวน 22 โครงการ ความยาวรวม 2,172.98 กิโลเมตร โดยมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย(ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับใบอนุญาต

8. การทดสอบตรวจสอบและการบำรุงรักษาระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อดำเนินการตามกฎกระทรวง ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. 2556 และมาตรฐานความปลอดภัยโดยอ้างอิง มาตรฐาน ASME B31.8 เป็นหลัก การทดสอบตรวจสอบประจำปีมีหัวข้อในการทดสอบ ดังนี้

(1) การลาดตระเวนตรวจแนววางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และการตรวจตราการรั่วไหลของก๊าซธรรมชาติ

(2) การตรวจสอบสภาพความผุกร่อนบนผิวท่อเหนือผิวดิน (Atmospheric corrosion survey)

(3) การตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบป้องกันการผุกร่อน (Cathodic Protection)

(4) การทดสอบระหว่างการใช้งาน โดยวิธีการตรวจสอบโดยอ้อม (Indirect Inspection)

(5) การตรวจสอบสภาพภายในท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (In Line Inspection)

(6) การประเมินความสมบูรณ์แข็งแรงท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

(7) การตรวจสภาพท่อส่งก๊าซธรรมชาติด้วยวิธีตรวจวัดความหนาท่อ (Wall thickness monitoring)

ทั้งนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการทดสอบตรวจสอบระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ สำหรับโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก ตามหัวข้อที่มาตรฐานความปลอดภัยกำหนดข้างต้น และจัดส่งรายงานผลการทดสอบประจำปี 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต และในส่วนของการประเมินความสมบูรณ์แข็งแรงของท่อจากการตรวจสอบสภาพภายในท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (In Line Inspection) ซึ่ง บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน)  ได้ทำการทดสอบครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 โดยได้ว่าจ้างบริษัท Baker Hughes เป็นผู้ทำการทดสอบและตรวจสอบ โดยทางผู้ทดสอบสรุปว่า ไม่พบเหตุปัจจัยที่ส่งผลให้ท่อรองรับแรงดันได้น้อยกว่าที่ออกแบบไว้ หรือมีความเสี่ยงต่อการความผิดปกติของรูปทรงท่อ (Mechanical Damage) อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายงานผลการทดสอบและตรวจสอบฉบับสมบูรณ์ต่อไป ส่วนการตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบป้องกันการผุกร่อนพบวาเป็นไปตามค่าที่มาตรฐานกำหนด

9. กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างการยกร่างอนุบัญญัติที่ออกตามร่างกฎกระทรวง ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้มีอนุบัญญัติเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่อยู่ระหว่างการยกร่างดังกล่าว จำนวน 5 ฉบับ ดังนี้

(1) ร่าง ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การทดสอบและตรวจสอบและการบำรุงรักษาระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. ....

(2) ร่าง ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการติดตั้งป้ายหรือ
เครื่องหมายเตือนแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

(3) ร่าง ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการในการดำเนินการในกรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ

(4) ร่าง ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ การยกเลิกใช้งานระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการถาวร

(5) ร่าง ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการจัดทำรายงานผลการทดสอบและตรวจสอบ และแผนการบำรุงรักษาระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ

10. ข้อสันนิษฐานสาเหตุการเกิดเหตุท่อก๊าซธรรมชาติรั่ว และเพลิงไหม้ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก ระหว่างสถานีควบคุม WN2 และ WN3 ในเบื้องต้น มีความเป็นไปได้อย่างน้อย 6 แนวทาง ดังนี้

(1) การผุกร่อนของท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

(2) ความเสียหายของคุณสมบัติทางกลของท่อจากโรงงานผลิตหรือการก่อสร้าง

(3) ความผิดปกติของระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงเหนือท่อ

(4) ความผิดปกติของอุปกรณ์ตรวจวัดหรือควบคุมระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ

(5) การเกิดการสไลด์หรือการทรุดตัวของดิน ทำให้ท่อเกิดความเสียหายฉับพลัน

(6) การรุกล้ำแนวเขตระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อโดยบุคคลที่ 3

ทั้งนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวในรายละเอียดและแจ้งให้กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานพิจารณาต่อไป

11. เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานได้ระงับการประกอบกิจการระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก ระหว่างสถานีควบคุม WN2 และ WN3 เป็นการชั่วคราว และแจ้งให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ ดังนี้

(1) จัดทำรายงานการเกิดอุบัติเหตุ โดยรายงานดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยการวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ แนวทางป้องกันและแก้ไข ปริมาณความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และให้รายงานกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 60 วัน นับจากวันที่เกิดเหตุ ตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการดำเนินการในกรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. 2557

(2) จัดทำแผนการฟื้นฟูสภาพ และมาตรการติดตามตรวจสอบตามแผนดังกล่าวให้ครบถ้วน

(3) ประเมินความมั่นคงแข็งแรงและผลกระทบจากเหตุการณ์ต่อระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก ระหว่างสถานีควบคุม WN2 และ WN3

(4) แจ้งมาตรการและรายละเอียดในการดำเนินการซ่อมแซม มาตรการในการป้องกันสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่โดยรอบกระบวนการซ่อมแซมระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อดังกล่าว รวมถึงวิธีการที่จะใช้ในการทดสอบและตรวจสอบท่อที่ได้รับการซ่อมแซมก่อนนำกลับมาใช้งาน เพื่อให้ กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานเห็นชอบก่อนเริ่มดำเนินการ

(5) เมื่อระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อที่ได้รับความเสียหายได้รับการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและดำเนินการทดสอบและตรวจสอบตามที่กฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัยกำหนด ให้ส่งรายงานผลการทดสอบและตรวจสอบให้กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อในส่วนที่ถูกระงับการใช้งาน

12. เพื่อความโปร่งใสและเพื่อให้มีการพิจารณาข้อมูล หลักฐานทั้งหมดอย่างรอบคอบ เห็นควรพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์สาเหตุการเกิดก๊าซธรรมชาติรั่วและเพลิงไหม้ของระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก ระหว่างสถานีควบคุม WN2 และ WN3 โดยมีองค์ประกอบคณะทำงาน ดังนี้

(1) รธพ. ประธานคณะทำงาน

(2) ผู้แทนจากสภาวิศวกร คณะทำงาน

(3) ผู้แทนจากสมาคมทดสอบโดยไม่ทำลาย คณะทำงาน

(4) ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะทำงาน

(5) ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะทำงาน

(6) ผู้แทนจาก กฟผ. คณะทำงาน

(7) ผู้แทนจาก สกพ. คณะทำงาน

(8) ผู้แทนจาก ปตท. คณะทำงาน

(9) นิติกร ธพ. คณะทำงาน

(10) เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคลังและขนส่งทางท่อ ธพ. คณะทำงานและเลขานุการ

โดยให้คณะทำงานมีหน้าที่ ตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์สาเหตุการเกิดก๊าซธรรมชาติรั่วและเพลิงไหม้ของระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก ระหว่างสถานีควบคุม WN2 และ WN3 อย่างรอบคอบ รัดกุมและมีรายละเอียดครบถ้วนเพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดแนวทางป้องกันอุบัติเหตุต่อระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อต่อไป

13. กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงตามแนวท่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ชุมชนหนาแน่น พื้นที่ที่มีการก่อสร้างถนน พื้นที่ที่มีการก่อสร้างขนาดใหญ่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่รุกล้ำแนวเขตระบบหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายต่อเขตระบบ รวมถึงกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ตามพื้นที่แนวท่อ และมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อประชาชน กรณีเกิดเหตุท่อก๊าซธรรมชาติรั่ว รวมถึงการจัดทำระบบแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่แนวท่อต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: