เรื่องเล่าจากชุมชน: งานอาสาสมัครกับการคุ้มครองผู้สูงอายุจากการถูกกระทำความรุนแรง

มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (มพส.) | 30 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2307 ครั้ง


ในปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหาการถูกล่วงละเมิดหรือกระทำความรุนแรงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำต่อร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ การล่วงละเมิดหรือกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากความตึงเครียดของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุ สภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน รวมไปถึงนโยบายบางประการที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ

เนื่องในวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้สูงอายุโลก 15 มิถุนายน (World Elder Abuse Awareness Day) มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุได้มีโอกาสพบกับคุณลุงสมชาย สุภารัตน์ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้านและอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิ์ ชุมชนบ้านใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ชักชวนมาพูดคุยถึงบทบาทหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุ และปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุที่ตนได้พบเจอ

ในวัย 62 ปี ลุงสมชายได้เล่าเท้าความให้เราฟังว่าด้วยความที่มีพื้นเพนิสัยชอบพูดคุยพบปะกับผู้คนอยู่แล้ว ในสมัยยังหนุ่มหากมีเวลาว่างก็ได้ไปเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้านหรือคนในชุมชนเพื่อถามไถ่สารทุกข์สุขดิบอยู่เป็นประจำ และเมื่อพบเห็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง ก็จะเข้าไปพูดคุยเป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุ หรือช่วยดูแลงานบ้าน อาสาทำธุระเล็กๆน้อยๆให้บ้างตามแต่โอกาส

จากการที่ได้คลุกคลีกับผู้สูงอายุนี้เอง จึงทำให้ลุงสมชายได้รับรู้ถึงปัญหาของผู้สูงอายุมาโดยตลอด ทั้งปัญหาด้านสุขภาพ หรือการล่วงละเมิด และปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่ในขณะนั้นลุงสมชายเองยังไม่ได้ตระหนักว่าปัญหาความรุนแรงดังกล่าวเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของผู้สูงอายุโดยตรง โดยเข้าใจเพียงว่าเป็นปัญหาภายในของครอบครัว และด้วยความที่เป็นคนนอกจึงทำได้เพียงรับฟังปัญหาจากผู้สูงอายุเท่านั้น

ต่อมาในปี 2553 ลุงสมชาย ได้มีโอกาสร่วมงานกับมูลนิธิฯ ในโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน และได้รับการอบรมความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงเรื่องสิทธิของผู้สูงอายุด้วย จึงทำให้ลุงสมชายได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุ และเข้าใจถึงรูปแบบต่างๆ ของความรุนแรงที่มีต่อผู้สูงอายุ ทั้งการทำร้ายร่างกาย การทำร้ายจิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ การหลอกลวงหรือแสวงหาผลประโยชน์ทางทรัพย์สิน และการละเลยหรือการทอดทิ้งผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังได้รู้จักวิธีการพูดคุยเพื่อค้นหาปัญหา เนื่องจากในสังคมไทยปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่เกิดจากคนในครอบครัว ยังถูกมองว่าเป็นเรื่องภายในและเป็นเรื่องน่าละอาย ผู้สูงอายุจึงมักละเว้นไม่พูดถึง

จากบทบาทของอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่ได้ปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ลุงสมชายได้ใช้ประสบการณ์และความรู้จากการอบรมคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาความรุนแรงและการถูกละเมิดสิทธิได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะด้วยการพูดคุยทำความเข้าใจกับครอบครัว การไกล่เกลี่ย หรือประสานงานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานในท้องถิ่น หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคมประจำจังหวัด เป็นต้น 

“ส่วนใหญ่แล้วในชุมชนที่ตนดูแลอยู่ ผู้สูงอายุมักจะถูกทอดทิ้งโดยไม่ตั้งใจเพราะลูกต้องไปทำงาน มีทั้งไปทำงานในช่วงกลางวันและกลับมาดูแลในตอนค่ำ หรือผู้สูงอายุบางคนต้องอยู่ตามลำพังเพราะลูกไปทำงานที่ต่างจังหวัด ถึงแม้จะเกิดจากความจำเป็นแต่การถูกทอดทิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจนี้ก็ทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร สร้างความเครียด ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าลูกไม่รักหรือไม่ดูแล และสร้างความกังวล รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต นับว่าเป็นความรุนแรงต่อจิตใจผู้สูงอายุในรูปแบบหนึ่งที่อาจทำให้ผู้สูงอายุมีอาการซึมเศร้าได้” ลุงสมชายได้แบ่งปันประสบการณ์กรณีความรุนแรงต่อผู้สูงอายุให้เราฟัง

นอกจากนั้นในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดนี้ ลุงสมชายเล่าว่าได้สังเกตเห็นปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากคนในครอบครัวมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากความเหนื่อยล้าที่ต้องดูแลผู้สูงอายุตลอดเวลา และความเครียดจากการงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง “ลุงเจอกรณีหนึ่งที่ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถูกลูกตำหนิแรงๆ เพราะขับถ่ายเลอะเทอะ ทำให้ต้องเหน็ดเหนื่อยเป็นภาระดูแลและสิ้นเปลืองเงินทองซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ คำพูดตำหนิแบบนั้นทำให้ผู้สูงอายุถึงกับไม่อยากมีชีวิตอยู่ ลุงก็ได้เข้าไปช่วยพูดคุยไกล่เกลี่ยปรับความเข้าใจให้ทั้งสองคู่ และอาสามาดูแลผู้สูงอายุเพื่อแบ่งเบาภาระ และก็ประสานความช่วยเหลือ เช่น บริจาคสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้แก่ผู้สูงอายุ”

ในตอนท้ายของการพูดคุยครั้งนี้ ลุงสมชายได้ย้ำกับเราว่าปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของผู้สูงอายุโดยตรง ซึ่งลุงสมชายเห็นว่าบทบาทของอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในการเข้าไปพูดคุยกับครอบครัวของผู้สูงอายุและคนในชุมชน ให้เข้าใจและตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงและช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งการมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและประสานงานช่วยเหลือด้านสิทธิในชุมชน เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความปลอดภัยและทำให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุข

เนื่องในวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้สูงอายุโลก 15 มิถุนายน มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ จึงขอเชิญชวนทุกท่านให้ตระหนักต่อปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ

มาร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดภัย เอาใจใส่ดูแล และปฏิบัติต่อผู้สูงอายุอย่างเป็นธรรม

 

#วันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้สูงอายุสากล
#ElderAbuse #WEAAD

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: