ครม.อนุมัติให้กู้เงินในนามรัฐบาลไทยจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) กรอบวงเงิน 9,434 ล้านเยน สำหรับโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
2. เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค และเห็นชอบการระบุให้ใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในร่างสัญญาเงินกู้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดใน General Terms and Conditions for Japanese ODA Loans ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2557 ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency :JICA)
3. อนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการกู้เงินในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจาก JICA สำหรับโครงการฯ กรอบวงเงิน 9,434 ล้านเยน โดยอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นและเอกสารที่เกี่ยวข้อง และลงนามในสัญญาเงินกู้กับ JICA ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
4. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดเตรียมทำคำรับรองทางกฎหมาย (Legal Opinion) สำหรับสัญญาเงินกู้โครงการฯ ในโอกาสแรก ภายหลังจากที่ได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้โครงการฯ แล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่เน้นการเรียนรู้พร้อมปฏิบัติจริงตามแนวทางของสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น และจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น จำนวน 2 วิทยาเขต ได้แก่ สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN KMITL) และสถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KOSEN KMUTT) เพื่อเร่งสร้างกำลังคนด้านวิศวกร นักเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีทักษะสูงและสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และช่วยขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) รวมทั้งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในด้านฝีมือแรงงานและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 13 ปี (ระหว่างปีการศึกษา 2563 – 2575)
2. โครงการฯ มีวงเงินดำเนินโครงการรวม 4,700 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ วงเงิน 2,000 ล้านบาท สำหรับค่าก่อสร้างสถาบันไทยโคเซ็นและการจัดหาครุภัณฑ์สำหรับการเรียนการสอน รวมถึงอุดหนุนทุนการศึกษาให้นักศึกษาในสถาบันไทยโคเซ็น และเงินนอกงบประมาณ (เงินกู้) จากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่าน JICA วงเงิน 2,700 ล้านบาท สำหรับเป็นทุนการศึกษาของนักศึกษาในสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการฯ
3. การดำเนินการด้านเงินกู้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยกระทรวงการคลังได้ดำเนินการเจรจารายละเอียดของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น (Exchange of Notes: E/N) และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและได้เจรจาในรายละเอียดของร่างสัญญาเงินกู้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและ JICA แล้ว
4. ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
4.1 รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงให้กระทรวงการคลังกู้เงินผ่าน JICA สำหรับดำเนินโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค วงเงิน 9,434 ล้านเยน โดยมีเงื่อนไขเงินกู้แบบ Preferential Terms ดังนี้
(1) อายุเงินกู้ 30 ปี รวมระยะปลอดการชำระคืนต้นเงินกู้ 10 ปี
(2) อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.05 ต่อปี
(3) อัตราดอกเบี้ยสำหรับการจ้างที่ปรึกษา ร้อยละ 0.01 ต่อปี
(4) ระยะเวลาเบิกจ่ายเงินกู้ 12 ปี นับจากสัญญาเงินกู้มีผลบังคับใช้ และสามารถขอขยายเวลาการเบิกจ่ายเงินกู้ได้ โดยต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ
4.2 เงินกู้จะสามารถใช้จ่ายได้สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการเพื่อดำเนินโครงการฯ และจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการตามแนวปฏิบัติของ JICA (Guideline for Procurement of JICA) โดยใช้วิธีการประกวดราคานานาชาติ ยกเว้นในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ผู้กู้จะต้องแจ้งให้ JICA ทราบ และต้องได้รับคำยินยอมจาก JICA
4.3 สำหรับการขนส่งทางเรือและประกันภัยทางทะเลของสินค้าที่จัดซื้อด้วยเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการฯ รัฐบาลไทยจะงดเว้นการกำหนดข้อบังคับใด ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมระหว่างบริษัทเดินเรือและบริษัทประกันภัยของทั้งสองประเทศ
4.4 การยกเว้นภาษีอากรให้แก่ JICA ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นตามกฎหมายไทยภายใต้การดำเนินโครงการฯ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
4.5 รัฐบาลไทยจะต้องกำกับดูแลและติดตามการใช้จ่ายเงินกู้ในการดำเนินโครงการฯ อย่างเหมาะสม ดูแลปลอดภัยของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ และดูแลสิ่งก่อสร้างที่เกิดจากการใช้เงินกู้รัฐบาลญี่ปุ่นให้มีการใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม
4.6 รัฐบาลไทยจะต้องรายงานรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฯ รวมถึงข้อมูลอื่นที่เป็นสาระสำคัญหรือมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินโครงการฯ หากฝ่ายญี่ปุ่นร้องขอ และรัฐบาลทั้งสองประเทศจะต้องปรึกษาหารือและทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ด้วย
5. ร่างสัญญาเงินกู้ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ร่างสัญญาเงินกู้มีสาระสำคัญสอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน Exchange of Notes ที่กล่าวข้างต้น และเป็นไปตาม General Terms and Conditions for Japanese ODA Loans (GTC) ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นเอกสารมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในสัญญาเงินกู้ โดยกำหนดรายละเอียด เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น และมีผูกพันกับประเทศผู้กู้ทุกประเทศ เช่น กำหนดให้กฎหมายญี่ปุ่นเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับสัญญาเงินกู้ วิธีการใช้คณะอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท แนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินกู้ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการตามหลักเกณฑ์ของ JICA และวิธีการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นต้น
6. กระทรวงการคลังได้ส่งร่าง Exchange of Notes และเอกสารที่เกี่ยวข้อง และร่างสัญญาเงินกู้โครงการฯ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาด้วยแล้ว โดยสำนักงานอัยการสูงสุดไม่มีข้อขัดข้องประการใด
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ