แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงระบุมาตรการรับมือกับโรค COVID-19 ของทางการไทย ต้องไม่นำไปสู่เงื่อนไขจำกัดอย่างไม่จำเป็น ต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก
30 มี.ค. 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงรัฐบาลไทยควรประกันว่า การประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่เป็นการกำหนดเงื่อนไขจำกัดอย่างไม่จำเป็นต่อสิทธิมนุษยชน มาตรฐานระหว่างประเทศกำหนดให้ทางการไทยควรทบทวนการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 เพื่อประกันว่า มาตรการเหล่านี้มีผลเพียงชั่วคราว ใช้ในกรณีที่เป็นข้อยกเว้น ใช้อย่างได้สัดส่วน จำเป็น และไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช้เพื่อจำกัดโดยพลการต่อสิทธิประการต่าง ๆ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร
ในวันที่ 24 มีนาคม รัฐบาลไทยเตรียมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคโควิด-19 ในวันที่ 25 มีนาคม รัฐบาลได้กำหนดรายละเอียดของการจำกัดการเดินทาง การชุมนุม ความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีบทลงโทษทั้งการจำคุกและ/หรือปรับ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ทางการให้อำนาจเจ้าพนักงานตามมาตรา 9 ของพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการเซ็นเซอร์หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เห็นว่าเป็นข้อความเท็จหรือบิดเบือน โดยอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเข้าใจผิด ประกาศดังกล่าวยังให้อำนาจหน้าที่กับเจ้าพนักงาน ดำเนินคดีต่อบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอาจมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี และ/หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท
การเซ็นเซอร์
รัฐบาลแถลงต่อนักข่าวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ว่าจะควบคุมสื่อมวลชนให้รายงานเฉพาะข้อมูลจากทางการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และจะดำเนินคดีกับบุคคล หากเห็นว่าเผยแพร่ข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐต่อโรคโควิด-19 หากเห็นว่าเป็นข้อกังวลที่สำคัญ ในระหว่างการแถลงข่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า นักข่าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ และให้รายงานข้อมูลเฉพาะที่มาจากข่าวสารที่ได้รับแจกระหว่างการแถลงข่าว คำเตือนของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา “ให้ระวังกับข้อมูลในโซเชียลมีเดีย” และการขู่จะดำเนินคดีหากมีการ “ใช้โซเชียลมีเดียอย่างมิชอบ” ในระหว่างการแถลงข่าวอีกรายการหนึ่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ยิ่งทำให้เกิดความหวาดกลัวว่า ทางการมีแผนควบคุมการแสดงออกเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทางอินเตอร์เน็ตอย่างไม่ได้สัดส่วน
การควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลว่า ทางการได้อ้างอำนาจฉุกเฉินเพื่อสั่งให้จำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เปิดให้มีการเซ็นเซอร์ข้อมูลและดำเนินคดีกับบุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าวสารที่ทางการมองว่า “เป็นข้อมูลเท็จหรืออาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อประชาชน หรือจงใจบิดเบือนข้อมูล”
ทางหน่วยงานเรียกร้องทางการไทยให้แก้ไขข้อห้ามเหล่านี้ และประกันว่าการนำพ.ร.ก.ฉุกเฉินมาบังคับใช้จะไม่ส่งผลให้เกิดข้อห้ามต่อบุคคลในการแสดงความเห็น หรือรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อตน รวมทั้งการแสดงความเห็นทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้รวมถึงการวิจารณ์นโยบายของรัฐ และการปฏิบัติตามนโยบาย หรือการแสดงความเห็นต่าง
กฎหมายที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวาง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกังวล เนื่องจากทางการตรวจสอบจนเกินกว่าเหตุต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางอินเตอร์เน็ต โดยในปัจจุบัน เจ้าพนักงานได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายอื่น ๆ เพื่อคุกคามบุคคล ข้อบัญญัติที่คลุมเครือส่งผลให้เจ้าพนักงานตีความอย่างกว้างขวางถึงฐานความผิดที่สามารถสั่งฟ้องได้ ซึ่งขัดกับพันธกรณีของไทยที่จะต้องคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก
ในวันที่ 24 มีนาคม ทางการไทยตั้งข้อหากับดนัย ศิลปินจากจังหวัดภูเก็ตทางภาคใต้ จากการแสดงความเห็นว่าไม่มีการตรวจคัดกรองโรคบริเวณผู้โดยสารขาเข้าของสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากโพสต์เฟซบุ๊กในชื่อบัญชี “Zen Wide” ศิลปินคนดังกล่าวได้ถูกดำเนินคดีในข้อหา “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ตามมาตรา 14(2) ของพระราชบัญญัติดังกล่าว
ทางการควรประกันว่า อำนาจที่ประกาศใช้ในการติดตามและสอดแนวข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือ สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน โดยแม้รัฐบาลสามารถใช้มาตรการเพื่อรวบรวมข้อมูลด้านระบาดวิทยาได้ แต่ก็ต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยและคุ้มครองศักดิ์ศรีของพวกเขา การใช้มาตรการเพื่อติดตามหรือสอดแนมข้อมูล ต้องมีลักษณะที่ชอบธรรม จำเป็น ได้สัดส่วน และไม่เลือกปฏิบัติ ทางการต้องประกันว่าอำนาจใด ๆ ที่นำมาใช้เพื่อติดตามและสอดแนมข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ สอดคล้องกับหลักการเหล่านี้ โดยไม่อาจอ้างการระบาดทั่วโลกของโรคโควิด-19 เป็นเหตุผลเพื่อให้มีการสอดแนมข้อมูลอย่างไม่เลือกเป้าหมายได้ มาตรการสอดแนมข้อมูลที่นำมาใช้ต้องมีระยะเวลากำหนดชัดเจน และให้ใช้ได้ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อรับมือกับการระบาดระดับโลกที่เป็นอยู่
ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ประกันว่า ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยได้รับการคุ้มครองไม่ต้องถูกส่งกลับไปยังที่ ๆ อาจมีความเสี่ยงว่าจะถูกประหัตประหาร
มาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ
รัฐบาลไทยซึ่งเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) มีพันธกรณีต้องประกันว่า อาจใช้มาตรการใด ๆ ที่เป็นการเลี่ยงพันธกรณี ไม่ปฏิบัติตามข้อบทของกติกานี้เมื่อ “จำเป็นต้องใช้อย่างยิ่งยวดตามความฉุกเฉินของสถานการณ์นั้น” ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผ่านมา ทางการได้นำมาตรการที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางมาใช้โดยพลการ ส่งผลให้มีการจำกัดสิทธินอกเหนือจากที่อนุญาตให้กระทำได้ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมีการบังคับใช้มาตรการเหล่านั้นเป็นระยะเวลายาวนานเกินกว่าเหตุ หน่วยงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แนะนำหลายครั้งแล้วให้ทางการไทยแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งพรก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้ถูกใช้เพื่อเซ็นเซอร์และทำลายเสรีภาพในการแสดงออกและสื่อมวลชนในประเทศ
ข้อมูลพื้นฐาน
มาตรา 9(3) ของพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้อำนาจในการสั่ง “ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร”
มาตรา 14 (2) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ กำหนดโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและ/หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ