30 เม.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 7 คน สะสม 2,954 คน เสียชีวิต 0 คน สะสม 54 คน รักษาหายสะสม 2,687 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1686 ครั้ง

30 เม.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 7 คน สะสม 2,954 คน เสียชีวิต 0 คน สะสม 54 คน รักษาหายสะสม 2,687 คน

30 เม.ย. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 7 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,954 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมผู้เสียชีวิตสะสม 54 คน รักษาหาย 22 คน รักษาหายสะสม 2,687 คน ประกาศผ่อนปรน 6 กิจกรรมเริ่ม 3 พ.ค.นี้ เช่น ร้านอาหาร ตลาด ร้านตัดผม กิจการค้าปลีก กีฬาสันทนาการ แต่ต้องประเมินทุก 14 วันหากมีปัญหาผู้ป่วยเพิ่มต้องทบทวนทันที ส่วนเคอร์ฟิวคงเวลาเดิม

30 เม.ย. 2563 Thai PBS รายงานว่า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นพียง 7 คน ผู้ป่วยสะสม 2,954 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่มอีก 22 คนรวมหายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,687 คน เสียชีวิตเท่าเดิม 54 คน รักษาตัวในโรงพยาบาล 213 คน

“เป็นครั้งแรกที่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มผู้ป่วยรายเดิม เพราะผู้ป่วยใหม่ 4 คน มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน จ.ภูเก็ต 3 คน กระบี่ 1 คน และอีก 3 คนที่อยู่ใน State Quarantine ในกทม.ที่เดินทางมาจากมาเลเซีย 3 คน”

นอกจากนี้ในจังหวัดท่องเที่ยวคือ จ.กระบี่ ได้พัฒนาศูนย์ตรวจ COVID-19 แห่งแรก สามารถรู้ผลได้ภายใน 4 ชั่วโมง ถือเป็นข่าวดีที่จะช่วยค้นหาผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น

อินเดีย น่าห่วงยอดผู้ป่วยเพิ่ม

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โลกล่าสุด 3,220,225 คน อาการหนัก 59,811 คน หายป่วยแล้ว 99,757 คน เสียชีวิต 228,223 คน โดยเสียชีวิตวันเดียว 10,249 คน หรือคิดเป็น 7.1% ของผู้ป่วยทั้งหมด ขณะที่สหรัฐฯ ยังมากที่สุดพบผู้ป่วยใหม่วันเดียว 28,768 สะสม 1,064,533 คน ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 59 ของโลก

ส่วนในเอเชีย พบว่า อินเดียยังมีผู้ป่วยสะสมมากที่สุดในเอเชียคือ 33,062 คนมีผู้ป่วยเพิ่มวันเดียว 1,738 คน เสียชีวิต 1,079 คน ส่วนสิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อวันเดียว 690 คน ตัวเลขสะสม  15,000 คน เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ยังมีผู้ป่วยเพิ่มต่อเนื่อง ส่วนเกาหลีใต้ เหลือตัวเลขหลักเดียวเช่นเดียวกับไทย แต่ผู้ป่วยสะสมเป็นหลักหมื่นแล้ว

 

ตรึงเคอร์ฟิวต่อ 1 เดือน-ผ่อนปรน 6 กิจกรรม

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศูนย์ศบค.ได้ฝากมาว่ามาตการต่างๆ ถือความรับผิดชอบของคนไทยทั้งประเทศที่ได้ตัดสินใจร่วมมือกันจัดการกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ด้วยกัน หากมีการควบคุมสถานการณ์ในระยะแรกได้ ก็จะมีการผ่อนปรนในระยะต่อไปได้ พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความเสียสละ และบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน และป้องกันการแพร่ระบาด

“ขณะนี้ศบค.ได้ประกาศขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเดิมตึง และตรึงยาวมา 1 เดือน และต่อจนถึง 31 พ.ค.นี้ แต่ความตึงในมาตรการในช่วงเดือนที่ 2 นี้ จะหย่อนลงมาบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ตัวเลขเริ่มผ่อนลงเหลือหลักเดียว”

ผ่อนปรน 6 กิจการ/กิจกรรมเริ่ม 3 พ.ค.นี้ 

สำหรับการตรึงสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีดังนี้ 

  • มาตรการเคอร์ฟิว 22.00 น.-04.00 น.
  • ควบคุมการเดินทางเข้าออกทางบก-ทางน้ำ-ทางอากาศ
  • ต้องให้ผู้เดินทางเข้ากักตัวในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 14 วัน
  • การจำกัดการบินเข้าออก-สายการบินระหว่างประเทศ
  • งดและชะลอการดินทางข้ามจังหวัด
  • คงการทำงานที่บ้าน ร้อยละ 50
  • เลี่ยงเข้าสถานที่แออัดเสี่ยงต่อโรคชั่วคราว

ส่วนมาตรการผ่อนปรน ศบค.จะมีมาตรฐานกลาง ในทุกกิจกรรม ในทุกพื้นที่ให้ผู้ว่าฯราชการจังหวัด และผู้ว่าฯกทม. ปฏิบัติ แต่กำหนดจะเข้มกว่ามาตรฐานกลางได้ แต่ต้องไม่หย่อนกว่ากัน

“ประเมินทุก 14 วัน ถ้าคงตัวเลขติดเชื้อคงที่เรื่อยๆก็จะผ่อนในระยะต่อไป แต่ถ้าตัวเลขเพิ่มเป็น 2-3 หลักก็ต้องร่วมกันคิดถอยหลังกลับมาทบทวนใน 6 กิจการ และกิจกรรมที่ตึงและตรึงไว้”

สำหรับ 6 กิจกรรมที่ผ่อนปรน มีดังนี้

  • ตลาด ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย
  • ร้านจำหน่ายอาหาร
  • กิจการค้าปลีก-ส่ง ซูเปอร์มาเก็ต
  • ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง ยืนรับประทาน รถเร่ ร้านค้าปลีกขนาดย่อย
  • กีฬาสันทนาการ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน รำไทเก๊ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกาย ไม่เล่นเป็นทีม ไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟ และสนามซ้อม
  • ร้านตัดผมเสริมสวย เฉพาะตัด สระ ไดร์ผม
  • อื่นๆ ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์

ขยับ 4 ระยะตามแนวทางผ่อนปรน 

ส่วนประเด็นว่าการประเมินระยะผ่อนปรน 14 วันต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตามระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรี ระบุ 4 ระยะ คือ ขยับทีละ 25 เปอร์เซ็นต์ 4 ครั้งก็จะครบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ระยะเวลาจะเท่าไร ก็ให้เวลาไว้ 14 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาของโรค ที่จะดูได้ว่ามีการเพิ่มหรือลดในการติดเชื้อหรือไม่

“ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนก็จะใช้เวลาราว 2 เดือน ส่วนโรคจะหายใน 2 เดือนหรือไม่ ไม่ได้เกิดจากข้อมูลในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องเอาตัวเลขจากประเทศต่างๆ รอบบ้านยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ก็อาจจะเป็นตัวแปรหนึ่งในการเข้ามาประเมินด้วย”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: