สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1858 ครั้ง

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2563

30 มิ.ย. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ ทส. รับข้อเสนอแนะของ สคก. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   สาระสำคัญของร่างประกาศ 
                   1. กำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยครอบคลุมพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม และเขตควบคุมมลพิษ ของอำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี  
                   2. กำหนดการจำแนกพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อการบังคับใช้มาตรการออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่บนแผ่นดินใหญ่รวมพื้นที่เกาะ และพื้นที่น่านน้ำทะเล 
                   3. กำหนดข้อห้ามและกำหนดหลักเกณฑ์ในการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารประเภทที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การวัดความสูงของอาคาร  
                   4. กำหนดห้ามกระทำหรือกิจกรรมใด ๆ ที่อาจเป็นอันตราย หรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่นั้นจากลักษณะตามธรรมชาติ หรือเกิดผลกระทบต่อคุณค่าสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม  
                   5. กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้าง หรือดำเนินการในพื้นที่ให้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  
                   6. กำหนดให้พื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมต้องจัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  
                   7. กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ โดยมีอำนาจหน้าที่และอำนาจในการดูแล ติดตาม ตรวจสอบการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานผลการติดตามตรวจสอบการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ส่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
                   8. กำหนดให้คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2553 ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี ตามประกาศนี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรีขึ้นตามประกาศนี้ 
                   9. กำหนดให้ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
                   ทั้งนี้ ทส. พิจารณาแล้ว ยืนยันให้ดำเนินการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. …. ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วต่อไป และขอให้เสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อเนื่องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งจะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 
 
 
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน รวม 5 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลแห่ใต้ ตำบลยางน้อย ตำบลหัวขวาง และตำบลเลิงใต้ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. ….  2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลสระยายโสม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. …. 3. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. …. 4. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลหนองแม่ไก่ ตำบลคำหยาด และตำบลทางพระ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง พ.ศ. …. 5. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลพานพร้าวและตำบลหนองปลาปาก อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย พ.ศ. …. รวม 5 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 5 ฉบับ
                   เป็นการกำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลแห่ใต้ ตำบลยางน้อย ตำบลหัวขวาง และตำบลเลิงใต้ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในท้องที่ตำบลสระยายโสม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ในท้องที่ตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ในท้องที่ตำบลหนองแม่ไก่ ตำบลคำหยาด และตำบลทางพระ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง และในท้องที่ตำบลพานพร้าวและตำบลหนองปลาปาก อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่ที่จะจัดทำเป็นโครงการจัดรูปที่ดิน อันจะเป็นการส่งเสริมเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางได้เห็นชอบด้วยแล้ว
 
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับมาตรการตอบโต้การอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ รวม 2 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะการให้การอุดหนุนที่มีเงื่อนไขเพื่อการส่งออก พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับจากการอุดหนุน พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะการให้การอุดหนุนที่มีเงื่อนไขเพื่อการส่งออก พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้ 
                             1.1 บทนิยาม กำหนดบทนิยามคำว่า “ภาษีทางตรง” “ค่าธรรมเนียมในการนำเข้า”          “ภาษีทางอ้อม” “ภาษีทางอ้อมระหว่างการผลิต” “ภาษีทางอ้อมสะสม” “การลดหย่อนภาษี” และ “การลดหย่อนหรือการคืนค่าธรรมเนียมในการนำเข้า”   
                             1.2 การอุดหนุนที่มีเงื่อนไขเพื่อการส่งออก กำหนดลักษณะของการอุดหนุนที่มีเงื่อนไขเพื่อการส่งออก ได้แก่ 
                                      (1) การให้การอุดหนุนโดยตรงต่อวิสาหกิจโดยมีเงื่อนไขเพื่อการส่งออก
                                      (2) มาตรการถือครองเงินตราต่างประเทศ หรือการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันเพื่อเป็นสิทธิประโยชน์พิเศษที่เกี่ยวกับการส่งออก 
                                      (3) การให้หรือกำหนดเงื่อนไขการให้ค่าขนส่งและค่าระวางภายในประเทศเพื่อการส่งออกที่ดีกว่าการให้หรือการกำหนดเงื่อนไขการให้ค่าขนส่งและค่าระวางเพื่อการจำหน่ายในประเทศ  
                                      (4) การกำหนดมาตรการทางตรงหรือทางอ้อมโดยให้เงื่อนไขที่ดีกว่าสำหรับสินค้าหรือบริการซึ่งใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกเมื่อเทียบกับสินค้าหรือบริการที่เหมือนกันหรือที่สามารถทดแทนกันได้ซึ่งใช้ในการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ 
                                      (5)  การลดหย่อนหรือการชะลอการเรียกเก็บภาษีทางตรง หรือค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคม บางส่วนหรือทั้งหมด ที่เฉพาะเจาะจงกับการส่งออก
                                      (6) การให้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ เป็นพิเศษ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งออกหรือความสามารถในการส่งออก ในการคำนวณภาษีทางตรงที่มากกว่าหรือนอกเหนือจากที่ให้แก่การผลิตสินค้าเพื่อบริโภคภายในประเทศ 
                                      (7) การยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษีทางอ้อมแก่การผลิตและการจำหน่ายสินค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งมากกว่าการผลิตและการจำหน่ายสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อการบริโภคภายในประเทศ 
                                      (8) การยกเว้น การลดหย่อน หรือการชะลอการเรียกเก็บภาษีทางอ้อมสะสม ที่ให้แก่สินค้าหรือบริการที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก 
                                      (9) การลดหย่อนหรือการคืนค่าธรรมเนียมในการนำเข้าปัจจัยที่ใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเกินกว่าค่าธรรมเนียมที่มีการเรียกเก็บจริง 
                                      (10) การใช้มาตรการการค้ำประกันหรือการประกันการส่งออก ซึ่งเป็นการลดต้นทุนของสินค้าหรือไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง 
                                      (11) การสนับสนุนจากรัฐบาลในการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกโดยมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำว่าอัตราที่ควรจะต้องจ่าย
                   2. ร่างกฎกระทรวงการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับจากการอุดหนุน พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้ 
                             2.1 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีที่รัฐบาลเข้าร่วมลงทุน
                                      (1) การร่วมลงทุนโดยการซื้อหุ้น ให้คำนวณจากส่วนต่างระหว่างมูลค่าหุ้นที่รัฐบาลเข้าร่วมลงทุนกับมูลค่าหุ้นในตลาดของกิจการนั้นในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน 
                                      (2) การร่วมลงทุนในกรณีที่ไม่มีมูลค่าหุ้นในตลาดของกิจการที่เข้าร่วมลงทุนมูลค่าการเข้าร่วมลงทุนให้ถือว่าเป็นเงินให้เปล่าจากรัฐบาล 
                                      (3) การร่วมลงทุนในรูปแบบอื่น การคำนวณให้เป็นไปตามที่ พณ. ประกาศกำหนด 
                             2.2 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีรัฐบาลให้เงินกู้ 
                                      ให้คำนวณจากส่วนต่างระหว่างจำนวนดอกเบี้ยที่ผู้กู้ชำระให้รัฐบาลกับจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระหากเป็นการกู้ยืมทางพาณิชย์ 
                             2.3 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้
ในกรณีที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมต่ำกว่ากรณีที่ไม่มีการค้ำประกันจากรัฐบาล ให้คำนวณจากส่วนต่างของจำนวนค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว  
                             2.4 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีรัฐบาลให้สินค้าหรือบริการ 
                                      (1) กรณีผู้ได้รับการอุดหนุนได้ซื้อสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกับสินค้าหรือบริการจากเอกชนรายอื่น ให้คำนวณจากส่วนต่างระหว่างราคาสินค้าหรือบริการที่จ่ายให้แก่รัฐบาลกับราคาสินค้าหรือบริการที่ต่ำที่สุดที่จ่ายให้แก่เอกชนรายดังกล่าว  
                                      (2) กรณีไม่มีสินค้าหรือบริการที่นำมาเปรียบเทียบได้ ให้เปรียบเทียบโดยใช้ราคาที่ต่ำที่สุดของสินค้าหรือบริการในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน  
                                      (3) กรณีที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ารายเดียว ให้คำนวณจากส่วนต่างระหว่างราคาที่ได้รับการอุดหนุนกับราคาปกติของสินค้าหรือบริการที่เอกชนรายอื่นจ่าย  
                             2.5 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีรัฐบาลซื้อสินค้า 
                                      (1) กรณีมีเอกชนรายอื่นเป็นผู้ซื้อด้วย ให้คำนวณจากส่วนต่างระหว่างราคาที่รัฐบาลซื้อกับราคาสูงสุดที่มีการเสนอซื้อในตลาดของสินค้านั้น  
                                      (2) กรณีที่ไม่มีราคาที่เอกชนรายอื่นซื้อ ให้เปรียบเทียบโดยใช้ราคาของสินค้าในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน  
                                      (3) กรณีที่รัฐบาลเป็นผู้ซื้อรายเดียว ให้คำนวณจากส่วนต่างของราคาที่รัฐบาลซื้อกับต้นทุนเฉลี่ยของสินค้าในช่วงระยะเวลาที่นำข้อมูลมาใช้ เพื่อการไต่สวนการอุดหนุน รวมกับกำไรที่เหมาะสม 
                             2.6 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีรัฐบาลให้เงินให้เปล่าให้รวมถึงการลดหรือยกเว้นภาษี การเร่งรัดให้มีการหักค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ โดยให้คำนวณจากจำนวนเงินที่รัฐบาลให้เปล่าหรือเทียบเท่าเงินให้เปล่าหรือมูลค่าลดหย่อนดังกล่าว  
                             2.7 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับในกรณีที่รัฐบาลยกหนี้ให้ให้คำนวณจากมูลค่าหนี้ที่ได้รับการปลดหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ยค้างจ่าย
 
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษใน
ประเภท 2 พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. …. ที่ สธ. เสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษทั่วไปที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดรักษาในทางการแพทย์ เช่น มอร์ฟีน (Morphine) โคคาอีน (Cocaine) โคเดอีน (Codeine) ฝิ่นยา (Medicinal Opium) เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   ปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. 2552 ดังนี้  
                   1. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตที่ประสงค์จะผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2  ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อผู้อนุญาตในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้ (1) การบริหารยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ที่ใช้ในทางการแพทย์ของประเทศ (2) การวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ (3) การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ (4) การปฏิบัติตามมติของคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติในกรณีที่ผู้ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศนำยาเสพติดให้โทษ               ในประเภท 2 ติดตัวเข้ามาใน หรือออกไปนอกราชอาณาจักรสำหรับใช้รักษาเฉพาะตัวไม่เกินเก้าสิบวัน 
                   2. ปรับปรุงหลักฐานหรือเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ยื่นขอรับใบอนุญาตสำหรับผู้ป่วยที่เดินทางระหว่างประเทศนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรสำหรับใช้รักษาเฉพาะตัวให้เหมาะสม และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย 
                   3. เพิ่มเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับใบสั่งยาให้ครอบคลุมถึงสาขาวิชาชีพทันตกรรมด้วยเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วย  
                   4. ปรับปรุงวิธีการดำเนินการออกใบอนุญาต เพื่อความสะดวกและสอดคล้องกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่                 
                   5. เพิ่มช่องทางการยื่นคำขอรับใบอนุญาตโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ป่วยและรองรับนโยบายการเป็นองค์กรอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
 
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการจัดการมูลฝอยติดเชื้อร่วมกันของราชการส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการจัดการมูลฝอยติดเชื้อร่วมกันของราชการส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ สธ. รับความเห็นของ กษ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. กำหนดนิยามคำว่า “มูลฝอยติดเชื้อ” “การเก็บ” “การขน” “การกำจัด” “แหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ” “ข้อตกลงร่วมกัน” “คณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด” “คณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร” 
                   2. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด หรือคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ดังนี้ 
                             2.1 ประเมินศักยภาพของราชการส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในจังหวัดเพื่อจัดวางระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวมในเขตจังหวัดเดียวกัน รวมทั้งระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่เฉพาะตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ 
                             2.2 ดำเนินการจัดประชุมราชการส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงและร่วมกันพิจารณาดำเนินการตามระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวม และทำข้อตกลงร่วมกัน 
                             2.3 ในกรณีที่จำเป็นต้องดำเนินการข้ามเขตจังหวัดให้ประสานงานและร่วมมือกัน เพื่อจัดวางระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวม เพื่อสนับสนุนการทำข้อตกลงร่วมกัน  
                             2.4 กำกับดูแลการดำเนินการวางระบบการรายงานและการติดตาม กำกับในระดับจังหวัด และให้รายงานผลการดำเนินการแก่คณะกรรมการสาธารณสุขทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  
                   3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินการร่วมกันในการเก็บ การขน หรือการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของราชการส่วนท้องถิ่นกับราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ดังนี้  
                             3.1 จัดทำข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นกับราชการส่วนท้องถิ่นอื่น โดยกำหนดบทบาทการดำเนินการของแต่ละฝ่าย พื้นที่ที่จะดำเนินการ อัตราค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และอื่น ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับการดำเนินการร่วมกัน 
                             3.2 ให้ราชการส่วนท้องถิ่นแต่ละฝ่ายออกข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่สอดคล้องกับข้อตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่ากฎกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขกำหนด 
                             3.3 ในการดำเนินการเก็บ การขน หรือการกำจัดมูลฝอยติดเชื้ออาจมอบให้เอกชนหรือบุคคลใดดำเนินการแทนภายใต้การควบคุมดูแลของราชการส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาท หรืออาจอนุญาตให้เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้ ทั้งนี้ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน 
                             3.4 ในกรณีมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่สองจังหวัดขึ้นไป ให้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละจังหวัด หรือคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เพื่อหารือและหาข้อยุติร่วมกัน หากยังหาข้อยุติไม่ได้ให้เสนอคณะกรรมการสาธารณสุขเป็นผู้วินิจฉัยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสาธารณสุขให้เป็นที่สุด 
                   4. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินการร่วมกันในการเก็บ การขน หรือการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของราชการส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ 
                             4.1 จัดทำข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ตามระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวม โดยกำหนดบทบาทการดำเนินการของแต่ละฝ่าย พื่นที่ที่จะดำเนินการ อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายและค่าบริการ และอื่น ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับการดำเนินการร่วมกัน  
                             4.2 กรณีหน่วยงานของรัฐที่ราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกัน หรือข้ามเขตจังหวัดขอความร่วมมือเป็นหน่วยงานของรัฐในสังกัด สธ. ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในการจัดการร่วมกันให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายเป็นผู้ลงนามแทนหน่วยงานของรัฐนั้น ในการจัดทำข้อตกลงร่วมกันได้ ในกรณีหน่วยงานของรัฐอื่นนอกสังกัด สธ. ในเขตจังหวัดเดียวกันหรือข้ามเขตจังหวัด ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐอื่นนั้นที่มีอำนาจเป็นผู้ลงนาม 
                             4.3 หน่วยงานของรัฐที่ทำความร่วมมือกันกับราชการส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการเก็บ การขน หรือการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อแล้วแต่กรณี เมื่อได้รับเงินค่าธรรมเนียมจากราชการส่วนท้องถิ่นหรือจากสถานบริการการสาธารณสุขใดที่เป็นแหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ ภายใต้การมอบอำนาจการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแทนราชการส่วนท้องถิ่นตามข้อตกลงร่วมกัน ให้เงินนั้นเป็นรายได้ของหน่วยงานรัฐนั้นและดำเนินการตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
                   ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า
                   1) ปัจจุบันการจัดการมูลฝอยติดเชื้อพบว่า ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสถานที่กำจัดมูลฝอยติดเชื้อไม่เพียงพอและครอบคลุมในทุกพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งมีปัญหาเรื่องของระบบบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ การจัดการไม่ถูกสุขลักษณะ กล่าวคือ การกำจัดมูลฝอยติดเชื้อมีสถานที่ทั่วประเทศที่เป็นเตาเผา จำนวน 11 แห่ง เป็นของ อปท. จำนวน 8 แห่ง เอกชน จำนวน 3 แห่ง และยังมีเตาเผาซึ่งตั้งอยู่ในสถานพยาบาลที่เป็นแหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ จำนวน 61 แห่ว โดยในปี 2561 สถานพยาบาลมีปริมาณมูลฝอย                 ติดเชื้อ 55,497.22 ตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี การกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของสถานพยาบาล โดยโรงพยาบาลบางแห่งมีเตาเผามูลฝอยติดเชื้อหรือมีการทำลายมูลฝอยติดเชื้อด้วยไอน้ำ จึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีการรวบรวมมูลฝอยติดเชื้อและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนนั้นอาจกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเองหากมีศักยภาพเพียงพอ หรือให้โรงพยาบาลทั่วไป หรือ อปท. หรือจ้างเอกชนให้กำจัดมูลฝอยติดเชื้อนั้นแทนส่วนการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของ อปท. แม้ว่า อปท. บางแห่งจะกำจัดมูลฝอยติดเชื้อได้ แต่ก็ยังมีประเด็นปัญหาในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อให้ อปท. อื่น และในส่วนของสถานพยาบาลก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการส่งมูลฝอย     ติดเชื้อเพื่อนำไปกำจัดจาก อปท. ท้องถิ่นหนึ่งไปยัง อปท. อีกท้องถิ่นหนึ่ง นอกจากนี้ การกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเป็นหน้าที่ของ อปท. มิใช่ของสถานพยาบาลด้วย 
                   2) โดยที่แผนแม่บทการบริหารจัดการมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2549 – 2564 สธ. มีบทบาทและหน้าที่ในการกำหนดกฎ ระเบียบ กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ จัดทำแผนแม่บทการจัดการมูลฝอยติดเชื้อและผลักดันการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวม กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ การเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยโดยใช้ระบบใบกำกับการขนส่ง (Manifest System) และมีเป้าหมายจัดการมูลฝอยติดเชื้อได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการภายในปี 2563 ประกอบกับมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 บัญญัติให้การเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยในเขตราชการส่วนท้องถิ่นใดให้เป็นอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น และวรรคสอง บัญญัติให้การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ราชการส่วนท้องถิ่นอาจร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงร่วมกันก็ได้ แต่ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยส่วนรวม รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง  โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการร่วมกันได้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อดังกล่าว สธ. จึงได้จัดทำกฎกระทรวงในเรื่องนี้ขึ้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการจัดการมูลฝอยติดเชื้อร่วมกันของราชการส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ซึ่งจะทำให้การจัดการมูลฝอยติดเชื้อเป็นระบบศูนย์รวมในเขตจังหวัดเดียวกัน หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และทำให้การกำกับดูแลกำจัดมูลฝอยติดเชื้อร่วมกันของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันจะส่งผลให้ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกิดจากการจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนและสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น  
                   3) ในคราวประชุมคณะกรรมการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 พิจารณาแล้วเห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2) ที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายระดับอนุบัญญัติและร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขแล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการจัดการมูลฝอยติดเชื้อร่วมกันของราชการส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น พ.ศ. ….  มาเพื่อดำเนินการ
 
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   ให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี และ ตอนพระประแดง – บางแค ช่วงพระประแดง – ต่างระดับบางขุนเทียน ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกาของวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2563
                   ทั้งนี้ คค. เสนอว่า เนื่องจากในช่วงวันหยุดราชการระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2563  มีวันหยุดราชการต่อเนื่องหลายวัน ประกอบกับเป็นช่วงเวลาวันหยุดต่อเนื่องกันครั้งแรกภายหลังจากได้มีการออกข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 10) ผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019   (โควิด-19) เป็นช่วงที่ 4 ต่อเนื่องจากการผ่อนคลายที่ดำเนินการมาก่อนแล้วเป็นลำดับ เช่น ข้อกำหนดการยกเลิกการห้ามออกนอกเคหะสถาน การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ จึงคาดหมายได้ว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครเพื่อไปท่องเที่ยว พักผ่อน และทำกิจกรรมอื่น ๆ ในต่างจังหวัด เป็นผลให้การจราจรติดขัดในทุกสายทางที่ออกและเข้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล การยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การจราจรมีความคล่องตัว รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศอันเนื่องมาจากการจราจรติดขัดหน้าด่าน และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเห็นสมควรให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2563
 
7. เรื่อง ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และอัตราค่าโดยสารร่วม 3 ฉบับ 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และอัตราค่าโดยสารร่วม รวม 3 ฉบับ ตามนัยมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) เสนอ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง 
                   1. ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. …. และร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารร่วม และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารร่วม ระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน โดยอัตราค่าโดยสารใหม่จะมีอัตราเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 42 บาท โดยสถานีที่ 1, 4, 7 และสถานีที่ 10    จะมีอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 บาท และจะมีผลใช้บังคับ 24 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 
                   2. ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการปรับแก้ถ้อยคำให้สอดคล้องกับความในมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543
                   ทั้งนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเสนอเรื่องต่อกระทรวงคมนาคมว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล จะครบกำหนดการบังคับใช้ตามสัญญา ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจึงได้คำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งได้รับแจ้งจากกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารใหม่ จะมีอัตราเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด            42 บาท โดยสถานีที่ 1, 4, 7 และ 10 จะมีอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 บาท และจะมีผลบังคับใช้ 24 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 
                   ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม แม้จะไม่มีการปรับอัตราค่าโดยสาร   แต่เนื่องจากได้มีการปรับถ้อยคำในร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. …. เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปในรูปแบบเดียวกับร่างข้อบังคับฯ สายเฉลิมรัชมงคล ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จึงต้องขอความเห็นชอบร่างข้อบังคับฯ สายฉลองรัชธรรม ด้วย 
                   ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าโดยสารร่วมตามข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารร่วม และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารร่วม ระหว่างรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พ.ศ. 2561 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย   จึงได้ปรับปรุงตารางอัตราค่าโดยสารร่วมใหม่ โดยใช้หลักการการคิดค่าแรกเข้าครั้งเดียวเช่นเดียวกับข้อบังคับฯ ฉบับเดิม
                   บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือ BEM/M/TKB/0026/63 ลงวันที่ 21 เมษายน 2563 แจ้งว่า เพื่อเป็นการเยียวยาและแบ่งเบาภาระประชาชนในช่วงสถานการณ์วิกฤตจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงมีความยินดีที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมอย่างเต็มที่ โดยจะคงอัตราค่าโดยสารไว้เท่ากับอัตราเดิม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และจะใช้ค่าโดยสารใหม่ตั้งแต่วันที่   1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ในการคงอัตราค่าโดยสารตลอดระยะเวลาดังกล่าว เป็นการสนับสนุนของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในรูปแบบ Promotion แก่ผู้โดยสาร โดยไม่ต้องให้รัฐบาลชดเชยแต่ประการใด ทั้งนี้ ขอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยนำเสนออัตราค่าโดยสารใหม่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
                   คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และอัตรา   ค่าโดยสารร่วม รวม 3 ฉบับ และรับทราบหนังสือของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แล้ว
 
8. เรื่อง การปรับปรุงกฎกระทรวงเกี่ยวกับการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ รวม 3 ฉบับ 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ 1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 2. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ 3. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 
                             1.1 แก้ไขคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ง จากเดิม กำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอรับใบ ง จะต้องให้บริการเป็นตัวกลางซื้อขายหน่วยลงทุนภายใต้การจัดการของ บลจ.หลายแห่งแก่ผู้ลงทุน เป็น ให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยสามารถยื่นขอรับใบ ง เพื่อให้บริการด้านหน่วยลงทุนโดยไม่จำกัดจำนวน บลจ. 
                             1.2 แก้ไขเพิ่มเติมให้ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุน ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการประกอบธุรกิจที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 140/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 แทนการกำหนดเป็นเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาตตามกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2551  
                   2. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการประกอบธุรกิจที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 140/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 แทนการกำหนดเป็นเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาตในกฎกระทรวงการอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ พ.ศ. 2555  
                   3. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการประกอบธุรกิจที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 140/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 แทนการกำหนดเป็นเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาตในกฎกระทรวงการอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2555
                   ทั้งนี้ กค. เสนอว่า  
                   1) การพัฒนาตลาดทุนไทยนั้น เป้าหมายหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) ในด้านการพัฒนาตลาดทุนไทยให้สามารถเข้าถึง (accessibility) แข่งได้ (competitiveness) เชื่อมโยง (connectivity) และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (sustainability) คือ การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ตลาดทุนไทยในการออมและลงทุนได้อย่างทั่วถึง และทำให้ประเทศมีความพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) จึงเห็นว่า การสนับสนุนให้มีตัวช่วยด้านการลงทุนที่สามารถเข้าถึงผู้ลงทุนได้เป็นจำนวนมากและทั่วถึง เพื่อลดข้อจำกัดและสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านการลงทุนของผู้ลงทุนเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ที่สนใจจะเข้ามาเป็นผู้ให้บริการด้านหน่วยลงทุน โดยมีรูปแบบการประกอบธุรกิจ (business model) ที่สามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปจำนวนมาก และตอบโจทย์ในเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางเงินและการลงทุนได้อย่างทั่วถึง  
                             แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงบริการทางเงินและการลงทุนดังกล่าวยังติดอุปสรรคทางด้านหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจ เนื่องจากกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์   พ.ศ. 2551 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ง (ใบ ง) เช่น ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยต้องให้บริการเป็นตัวกลางด้านหน่วยลงทุนภายใต้การจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์ ประเภทการจัดการกองทุนรวม (บจล.) หลายบริษัทแก่ผู้ลงทุน ส่งผลให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ง ต้องมีการให้บริการเป็นต้วกลางด้านหน่วยลงทุนภายใต้การจัดการของ บลจ. หลายบริษัท อันเป็นการจำกัดรูปแบบการประกอบธุรกิจ ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจได้ตามความถนัด เพื่อให้ผู้ลงทุนมีตัวช่วยในการลงทุนที่หลากหลาย ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ง สามารถให้บริการเป็นตัวกลางด้านหน่วยลงทุนได้ โดยไม่ติดเงื่อนไขที่จะต้องให้บริการภายใต้การจัดการโดย บลจ. หลายบริษัท อันจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีความพร้อมในการให้บริการสามารถประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้ตามความถนัด และส่งผลให้ผู้ลงทุนมีตัวช่วยในการลงทุนที่หลากหลาย
                   2) โดยที่นิยามคำว่า “ธุรกิจหลักทรัพย์” ในมาตรา 4 (7) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หมายความว่า กิจการอื่นที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ตามที่รัฐมนตรีกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) และต่อมารัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลังโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าว ได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2551 กฎกระทรวงการอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ พ.ศ. 2555 และ กฎกระทรวงการอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2555 เพื่อกำหนดประเภทธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่ ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ และธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ รวมทั้งได้กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต    ตามกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ ต้องดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด 
                   3) การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กำหนดประเภทธุรกิจหลักทรัพย์เพิ่มเติมตามข้อ 2)ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6)  พ.ศ. 2562 มาตรา 140/1 บัญญัติให้บริษัทหลักทรัพย์ในประเภทธุรกิจหลักทรัพย์ตาม (7) ของบทนิยามคำว่า  “ธุรกิจหลักทรัพย์” ในมาตรา 4 ประกอบธุรกิจตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด  
                                      การที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้เป็นไปตามประกาศกำหนด สำหรับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเภทที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดเพิ่มเติมตามข้อ 2. นั้น ส่งผลให้บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรา 282 และมาตรา 283 (บริษัทหลักทรัพย์ และกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ และกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด) ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ครบทุกประเภท ซึ่งจะทำให้การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2551 กฎกระทรวงการอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ พ.ศ. 2555 และ กฎกระทรวงการอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2555 เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 140/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ให้คณะกรรมการกำกับดูแลตลาดทุนในการกำกับดูแลดังกล่าว  
                   4) คณะกรรมการ ก.ล.ต. 
                             4.1) ในคราวการประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 มีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดเพิ่มเติม เพื่อให้ธุรกิจดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เท่าเทียมกันกับธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทอื่น  
                             4.2) ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562 มีมติเห็นชอบหลักการให้ผู้ที่สนใจขอรับใบ ง สามารถให้บริการเป็นตัวกลางด้านหน่วยลงทุนได้โดยไม่ติดเงื่อนไขที่จะต้องให้บริการภายใต้การจัดการโดย บลจ. หลายแห่ง เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีความพร้อมในการให้บริการสามารถประกอบธุรกิจได้ตามความถนัด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ลงทุนมีตัวช่วยในการลงทุนที่หลากหลาย
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับมาเพื่อดำเนินการ
 
9. เรื่อง การปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2563 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    สาระสำคัญของร่างประกาศ 
                   1. กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป  
                   2. กำหนดให้ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560 
                   3. กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตราดังต่อไปนี้  
                             3.1 ร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน สำหรับการนำส่งเงินในปี 2563 – 2564 
                             3.2 ร้อยละ 0.25 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน สำหรับการนำส่งเงินในปี 2565 เป็นต้นไป
                    ทั้งนี้ กค. เสนอว่า 
                   1) ตามที่ได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560 กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 0.25 ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2558 ที่บัญญัติให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธอส. และ ธอท. มีหน้าที่ต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนตามอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 0.25 ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป  
                   2) โดยที่ได้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการดำเนินมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างเต็มที่ จึงสมควรปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามประกาศกระทรวงการคลังในข้อ 1. จากเดิมอัตราร้อยละ 0.25 ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน เป็นอัตราร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน เป็นระยะเวลา 2 ปี ในรอบปี 2563 – 2564 และอัตราร้อยละ 0.25 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป 
                   3) คณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 จึงได้พิจารณาและมีมติ ดังนี้  
                             3.1) เห็นชอบการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง   4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. และ ธอท. โดยปรับลดอัตราเงินนำส่งลงกึ่งหนึ่งคือจากร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.125 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับการนำส่งเงินในรอบปี 2563 – 2564 รวม 4 งวด โดยเริ่มตั้งแต่งวดที่ 1 ปี 2563 ซึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในเดือนสิงหาคม ปี 2563 (คำนวณจากยอดเงินที่ได้รับจากประชาชนตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2563)  
                             3.2) เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2563 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลงกึ่งหนึ่งให้กับธนาคารพาณิชย์ เป็นเวลา 2 ปี สำหรับการนำส่งเงินในรอบปี 2563 – 2564
 
           

เศรษฐกิจ - สังคม

10. เรื่อง การนำเสนออุทยานแห่งชาติเขาสก และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน [ASEAN Heritage Park (AHP)] ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   1. มรดกอุทยานแห่งชาติอาเซียน (The Association for Southeast Asian Nation (ASEAN) Heritage Parks - AHP) อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมแห่งอาเซียน ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยอุทยานมรดกแห่งอาเซียนและการอนุรักษ์ (ASEAN Declaration on Heritage Parks and Reserves) ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อควรพิจารณาว่า พื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน ต้องมีลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียว มีความหลากหลาย มีคุณค่าโดดเด่นคู่ควรแก่การอนุรักษ์ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงสุดจากประเทศสมาชิกว่ามีความสำคัญในฐานะพื้นที่อนุรักษ์สมควรได้รับการยกย่องไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับสากล อุทยานมรดกแห่งอาเซียนมาจากการเสนอชื่อโดยรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และได้รับการประเมินจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยต้องมีคุณสมบัติที่ชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ทางนิเวศ ความเป็นตัวแทนของภูมิภาค ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นเอกลักษณ์ ความสำคัญทางชีววิทยาเชิงวัฒนธรรม ความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ และมีขอบเขตทางกฎหมายอย่างชัดเจนในด้านความเชื่อมโยงระหว่างพรมแดน
                   2. เรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอมาในครั้งนี้ เป็นการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอนให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง มีรายละเอียดข้อมูลเบื้องต้นสรุปได้ดังนี้
                   อุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นอุทยานแห่งชาติทางบกที่มีพื้นที่ป่าดิบชื้น ป่าพรุ และป่าเขาหินปูน พื้นที่กว่า 461,712.5 ไร่ อุดมด้วยพืชพรรณและสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะสัตว์ป่าสงวน 4 ชนิด ได้แก่ เก้งหม้อ แมวลายหินอ่อน เลียงผา และสมเสร็จ อีกทั้งเป็นถิ่นอาศัยของพืชถิ่นอาศัยเดียวของกกเขาสก และชมพูสิริน รวมถึงบัวผุด ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในด้านวัฒนธรรม พื้นที่เป็นสถานที่ลอยอังคารของพุทธทาสภิกขุ และยังเป็นแหล่งที่สามารถพบวิถีชุมชนดั้งเดิม เช่น ชุมชนทำแพประมงพื้นบ้าน
                   อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีลักษณะภูมิประเทศทั้งเทือกเขาสูง เขาหินปูน และตะพักลำน้ำ และระบบนิเวศที่หลากหลายและเฉพาะตัว เช่น ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย มีความสำคัญ ใกล้สูญพันธุ์และถูกคุกคาม เป็นแหล่งพืชชนิดใหม่ในประเทศไทยและพืชชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ มีระบบนิเวศถ้ำที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะ และมี “ถ้ำหลวง” เป็นถ้ำหินปูนกึ่งแห้งขนาดใหญ่ มีความยาวเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย รวมถึงลักษณะของภูเขาเรียงตัวสลับซับซ้อนเป็นรูปผู้หญิงนอน มีการพังทลายของภูเขา ทำให้เกิดถ้ำ ปล่องโพรง เป็นจำนวนมาก และมีแหล่งน้ำที่เกิดจากภูมิประเทศแบบคาสต์ คือสระมรกต มีน้ำสีเขียวแกมฟ้ามรกต ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลออกมาจากถ้ำทรายทองและรอยแตกของภูเขาบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังพบว่ามีชนเผ่าชาติพันธุ์อยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่ ถึง 10 ชาติพันธุ์
                   3. คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 มีมติเห็นชอบให้เสนอพื้นที่อุทยานเขาสก และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนแห่งใหม่ของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ประสานงานคณะทำงานอาเซียนว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพจะจัดส่งเอกสารนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนให้ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เพื่อส่งเอกสารนำเสนอฯ ให้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบและประเมินพื้นที่และเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณาก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งอาเซียนต่อไป
                   4. การนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนแห่งใหม่ของประเทศไทย เป็นการรักษา       ความเป็นเอกลักษณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่คุ้มครอง สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายของระบบนิเวศในถิ่นที่อยู่ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ควรค่าต่อการสงวน รักษาไว้เพื่อให้เป็นมรดกทางธรรมชาติแก่ชนรุ่นหลังต่อไป
 
11. เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เรื่อง การชำระหนี้เงินกู้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/2559 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เดิม ให้ อก. ใช้จ่ายเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กองทุนฯ) ที่มีอยู่และรายได้ที่คาดว่าจะนำส่งเข้ากองทุนฯ มาชำระหนี้เงินกู้ให้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) (ขณะนั้นกองทุนฯ ยังมีภาระหนี้เงินต้นจำนวน 3,685.16  ล้านบาท) ปรับเป็น คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการอนุมัติงบประมาณแผ่นดินให้กับ อก.  เพื่อชำระหนี้เงินกู้เฉพาะในส่วนของเงินต้นปีละ 350 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี และชำระที่เหลือในปีที่ 6 จำนวน 335.16 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,085.16 ล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2569                         
                    2. รับทราบการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ (ครั้งที่ 2) ระหว่างกองทุนฯ กับธนาคารกรุงไทยฯ  จำกัด และการขยายกรอบระยะเวลาชำระหนี้จากเดิม ภายในเดือนธันวาคม 2565 ขยายออกไปจนถึงเดือนตุลาคม 2569 (ขยายอีกประมาณ 4 ปี) ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่  26 มีนาคม 2563 
                   ทั้งนี้ เห็นควรให้ อก. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนการชำระคืนต้นเงินกู้ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งขอให้ อก. ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามพันธกรณีและข้อตกลงของไทยภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเคร่งครัดตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 
                   สาระสำคัญของเรื่อง 
                   อก. รายงานว่า   
                   1) การชำระหนี้ของกองทุนฯ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563

รายการชำระหนี้ จำนวนเงิน (ล้านบาท)
ชำระหนี้เงินต้น 12,960.54
ชำระดอกเบี้ย 1,044.55
รวมชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 14,005.09
คงเหลือภาระหนี้เงินต้น 2,085.16
คงเหลือดอกเบี้ย 134.00

                   2) คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเสนอให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้ 
                             2.1) ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ที่ได้เคยมีมติให้ อก. ใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ ที่มีอยู่และรายได้ที่คาดว่าจะนำส่งเข้ากองทุนฯ มาชำระหนี้เงินกู้ให้กับธนาคารกรุงไทยฯ  โดยขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณแผ่นดินให้กับ อก. เพื่อชำระหนี้เงินกู้เฉพาะในส่วนของเงินต้นปีละ 350 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี และชำระที่เหลือในปีที่ 6 จำนวน 335.16 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,085.16 ล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2569 
                             2.2) เห็นชอบในหลักการการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ (ครั้งที่ 2) ระหว่างกองทุนฯ กับธนาคารกรุงไทยฯ โดยขอขยายระยะเวลาชำระหนี้จากเดิมภายในเดือนธันวาคม 2565 ออกไปถึงเดือนตุลาคม 2569 
                   3) กองทุนฯ ได้แจ้งธนาคารกรุงไทยฯ เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ (ครั้งที่ 2) โดยขอขยายระยะเวลาชำระหนี้จากเดิมภายในเดือนธันวาคม 2565 ออกไปจนถึงเดือนตุลาคม 2569 (ตามข้อ 2.2 แล้ว) และธนาคารกรุงไทยฯ ได้แจ้งว่าในเบื้องต้นธนาคารกรุงไทยฯ เห็นชอบการขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามที่กองทุนฯ เสนอ 
                   4) สถานะทางการเงินของกองทุนฯ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 มีดังนี้

รายการ จำนวนเงิน (ล้านบาท)
ยอดเงินคงเหลือรวม 1,674.66
มีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายรวมโครงการต่าง ๆ 530.25
มีเงินสดคงเหลือปลอดภาระผูกพันที่สามารถใช้จ่ายได้ 1,144.41

                   อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ ยังมีภาระต้องจ่ายเงินชดเชยตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 คืนให้กับโรงงานน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ในฤดูการผลิตปี 2560/2561 และฤดูการผลิตปี 2561/2562 จากเหตุดังกล่าวจะทำให้กองทุนฯ มีภาระหนี้เงินชดเชยที่จะต้องชำระคืนให้แก่โรงงานน้ำตาลไปจนถึงปีงบประมาณ 2566 ซึ่งคาดว่ากองทุนฯ จำเป็นต้องชดเชยประมาณ 22,799.22 ล้านบาท 
                   5) หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี จะส่งผลให้กองทุนฯ มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจนในการชำระหนี้กับธนาคารกรุงไทยฯ ซึ่งจะช่วยให้กองทุนฯ ปลอดภาระหนี้ ก่อให้เกิดเสถียรภาพของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ประกอบกับสามารถบริหารแหล่งรายได้เพื่อการชำระหนี้ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต รวมถึงการจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นดังกล่าวตามความในมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
                   6) อก. แจ้งว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การขอรับเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้แก่กองทุนฯ ในการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงไทยฯ สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตแก่ชาวไร้อ้อย ในฤดูการผลิตปี 2558/2559 ไม่เข้าข่ายการอุดหนุนการส่งออก อันเป็นประเด็นสำคัญในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับบราซิลเรื่องน้ำตาล แต่การขอรับเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวอาจเข้าข่ายการอุดหนุนภายใน ซึ่งไทยมีข้อผูกพันการอุดหนุนภายในภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับสินค้าเกษตรทุกรายการ (รวมสินค้าน้ำตาล) เป็นวงเงินไม่เกินปีละ 19,028 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้กฎเกณฑ์ WTO เรื่องสินค้าเกษตร ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการเกษตรสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และมีข้อกำหนดเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาสนับสนุนการพัฒนาทางการเกษตรของตน ผ่านมาตรการให้             ความช่วยเหลือของรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรและชนบท การอุดหนุนการลงทุนและการอุดหนุนเรื่องปัจจัยการผลิตการเกษตรซึ่งต้องให้เป็นการทั่วไปแก่ผู้ผลิตที่มีรายได้ต่ำ หรือผู้ผลิตที่มีทรัพยากรไม่สมบูรณ์ รวมถึงการอุดหนุนเป็นจำนวนเล็กน้อย (de minimis) ที่มีมูลค่าไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่ารวมของผลผลิต (Value of Production: VOP) ในช่วงปีที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการและการอุดหนุนภายในเหล่านี้ จะไม่นับรวมเป็นการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนทางการค้าที่ต้องแจ้งเตือนต่อ WTO
 
12. เรื่อง (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เสนอดังนี้
                   1. เห็นชอบและประกาศใช้ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565)
                   2. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ใน (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ แปลงแผนไปสู่การปฏิบัติด้วยการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนของหน่วยงาน สำหรับงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ให้หน่วยงานใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่แต่ละหน่วยงานได้รับจัดสรร โดยดำเนินการในภารกิจของหน่วยงาน และนำมิติด้านสิทธิมนุษยชนมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นด้วย
                   3. เห็นชอบให้หน่วยงานต่าง ๆ (ตามข้อ 2) รายงานผลการปฏิบัติตาม (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ปีละ 1 ครั้ง ห้วงระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคมของทุกปี และมอบหมายให้ ยธ. รับผิดชอบกำหนดแนวทาง วิธีการรายงานผลและแบบรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและถือปฏิบัติ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงยุติธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565) เนื่องจากแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557 - 2561) ได้หมดวาระแล้ว กระทรวงยุติธรรม (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) จึงได้จัดทำ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ โดยได้ศึกษาบริบทภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สนธิสัญญาหลักระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น รวมทั้งประเด็นที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จภายใต้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฉบับที่ผ่านมาซึ่งเกี่ยวกับประเด็นการขับเคลื่อนกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม เช่น  1) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งประเทศไทยได้เป็นรัฐภาคีแล้ว 2) ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ เป็นต้น โดย (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาพรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล ซึ่งประกอบด้วย แผนรายด้าน 10 ด้าน และแผนรายกลุ่ม 12 กลุ่ม ซึ่งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในเรื่องต่าง ๆ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                   แผนรายด้าน 10 ด้าน
                   1. ด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนไม่มีความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพิ่มขึ้น (ยธ.)
                   2. ด้านการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสมีสิทธิทางการศึกษาที่ดีขึ้นทัดเทียมกับคนทั่วไป (อว. และ ศธ.)
                   3. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของประเทศ (ทส และ อก.)
                   4. ด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตไปพร้อมกับการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม (กค. กษ. พณ. ยธ. และ อก.)
                   5. ด้านการขนส่ง เพื่อการพัฒนานวัตกรรมด้านการขนส่งที่ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ (มท.)
                   6. ด้านสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหลักประกันสุขภาพในเรื่องระบบการบริการสำหรับประชาชน (โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง) เช่นการรักษาพยาบาล (สธ.)
                   7. ด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาและจัดทำมาตรการการคุ้มครองข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมออนไลน์ (พม. ดศ. วธ. และ กสทช.)
                   8. ด้านการเมืองการปกครอง และความมั่นคง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิในการมีส่วนร่วมและกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายมากกว่าการมีส่วนร่วมตามที่รัฐกำหนด (มท. ศย. อส. และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง)
                   9. ด้านที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างมาตรการหรือนโยบาย หรือโครงการในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง (พม. มท. และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน))
                   10. ด้านสิทธิชุมชน วัฒนธรรม และศาสนา เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแนวปฏิบัติของแต่ละศาสนา รวมทั้งส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน (ทส. และ วธ.)
                   แผนรายกลุ่ม 12 กลุ่ม
                   1. กลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาและคุ้มครองสิทธิอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึงและเท่าเทียม (เช่น การศึกษา การเข้าถึงบริการสุขภาพ) (พม.)
                   2. กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น เร่งผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
                   3. กลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพื่อลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังมีศักยภาพและความรู้ในการประกอบอาชีพ (ยธ.)
                   4. กลุ่มผู้พ้นโทษ เพื่อส่งเสริมคุ้มครองให้กลุ่มผู้พ้นโทษได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี (ยธ.)
                   5. กลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข สาธารณูปโภคอย่างทั่วถึงตามที่              รัฐจัดให้ รวมทั้งเพื่อให้มีมาตรการจูงใจให้มีหน่วยงานดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ (พม.)
                   6. กลุ่มคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก การศึกษา และใช้ประโยชน์จากบริการสาธารณะได้อย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้น (พม. และ ศธ.)
                   7. กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และผู้แสวงหาที่พักพิงในเขตเมือง เพื่อให้มีมาตรการในการแก้ปัญหาแก่กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ไร้สัญชาติฯ ให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐ (มท. ตช. และ สมช.)
                   8. กลุ่มความหลากหลายทางเพศ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและไม่เลือกปฏิบัติทางเพศในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจ้างงาน กระบวนการสืบสวนสอบสวนคดี การล่วงละเมิดทางเพศ (พม. ยธ. และ สธ.)
                   9. กลุ่มผู้ป่วย (ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ ผู้เสพยา) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนโดยเน้นเรื่องการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย (พม. ยธ. และ สธ.)
                   10. กลุ่มสตรี เพื่อพัฒนากลไกสอดส่องปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อสตรี และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบยุติธรรม (พม.)
                   11. กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มแรงงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 (กษ. รง. และ อก.)
                   12. กลุ่มผู้เสียหาย และพยาน เพื่อพัฒนากลไกการช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญาให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ยธ.)
                   สำหรับกลไกในการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ เช่น 1) คณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย 2) แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ได้พิจารณาแล้วและมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ แล้ว
 
13. เรื่อง รายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 2 ปีที่ 2
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ รายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 2 ปีที่ 2  (4 ตุลาคม 2561 – 3 ตุลาคม 2562) [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 มาตรา 28 (5) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้านมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการที่เกี่ยวกับงานที่ได้รับไปทำที่บ้านจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเสนอรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] สรุปผลการดำเนินงานได้ ดังนี้
                   1. การสร้างกลไกในการพัฒนาการคุ้มครองงานที่รับไปทำที่บ้าน
                             อาศัยอำนาจตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ เพื่อรวบรวมข้อมูล ศึกษาแนวทางการคุ้มครอง ส่งเสริมการพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน กำหนดค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้าน และกำหนดค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าทำศพในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย เจ็บป่วย  ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
                   2. การส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน
                   ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อให้มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีอาชีพเสริมเพิ่มจากอาชีพหลัก มีรายได้ที่มั่นคง มีงานทำอย่างต่อเนื่อง เข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ หลักประกันทางสังคม  และสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความเข้มแข็งและยั่งยืน  โดยดำเนินกิจกรรม/โครงการ ดังนี้
                             2.1 โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายแรงงานนอกระบบตามแนวทางประชารัฐ  เป้าหมายดำเนินการ 2 รุ่น รุ่นละ 250 คน  มีผู้เข้าร่วมโครงการ 2 รุ่น รวมจำนวน 544 คน คิดเป็นร้อยละ 105 ของเป้าหมายการดำเนินการ
                             2.2 โครงการส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย  เป้าหมายดำเนินการ จำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 60 คน มีผู้คนเข้าร่วมโครงการ 5 รุ่น รวมจำนวน 315 คน  คิดเป็นร้อยละ 109 ของเป้าหมายดำเนินการ
                             2.3 กิจกรรมสำรวจเครือข่ายแรงงานนอกระบบ มีกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน จำนวน 961 กลุ่ม สมาชิก 5,799 คน
                    3. การปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย
                   ได้พิจารณายกร่างกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน  พ.ศ. 2553 ดังนี้
                             3.1 ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือประเภทงานที่ห้ามผู้จ้างงานจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. .... เพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เครื่อมือเครื่องจักรและส่งผลให้ผู้ทำได้รับความสั่นสะเทือนอันอาจเป็นอันตราย งานเกี่ยวกับความร้อนหรือเย็นจัด และงานอื่นที่อาจกระทบ
ต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือคุณภาพสิ่งแวดล้อม
                             3.2 ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ อัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ  และค่าทำศพที่ให้ผู้จ้างงานจ่าย พ.ศ. .... เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย เนื่องจากการทำงาน ให้ได้รับการดูแล รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพตามที่กฎหมายกำหนด
                   4. พัฒนาและส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีในการจ้างงานผู้รับงานไปทำที่บ้าน 
                   กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ทำการวิจัยพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานในการจ้างงานของผู้รับงานไปทำที่บ้านในประเทศไทย โดยจะจัดทำแนวทางการกำหนดอัตราค่าตอบแทนรายชิ้นในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตแหอวน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศแปลงานวิจัยเป็นภาษาไทย
                   5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการรับงานไปทำที่บ้าน
                             5.1 ควรปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 และผลักดันกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน
                             5.2 ควรจัดทำฐานข้อมูลผู้จ้างและผู้รับงานในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อใช้ในการวางแผนและกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ
                             5.3 ควรส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มผู้รับงานเพื่อให้มีความเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองกับผู้จ้างงาน
                             5.4 ควรมีการประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้รับงาน
 
14. เรื่อง รายงานผลการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีบริษัท ไทยแลนด์ ดิวตี้ ฟรี ช็อปส์ จำกัด
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีบริษัท ไทยแลนด์ ดิวตี้ ฟรี ช็อปส์ จำกัด ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ  โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (24 ตุลาคม 2560)  เห็นชอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ บริษัท ไทยแลนด์ ดิวตี้ ฟรี ช็อปส์ จำกัด (บจก. TDFS)  จำนวน 166.29 ล้านบาท 
ออกจากบัญชีงบการเงินของ ททท. และให้ กก. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ ปัญหา อุปสรรค รวมทั้งผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายของรัฐที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนด้วย
                   2. ททท. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นโดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ บจก. TDFS  ซึ่งคณะกรรมการฯ  ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาพยานเอกสารและพยานบุคคลจำนวน 11 ครั้ง(ระหว่างเดือนธันวาคม 2560 - ตุลาคม 2562)  สรุปได้ดังนี้
                             2.1 ความเป็นมาและผลการดำเนินการของ บจก.TDFS
                                      2.1.1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 สิงหาคม 2537)  เห็นชอบโครงการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรในเมือง  โดยให้จัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดในเครือของ ททท. (บจก. TDFS)  และให้ ททท. เป็นเจ้าของบริษัทจำกัดในฐานะผู้ถือหุ้น  มีเงินลงทุนจำนวน 200 ล้านบาท  จากนั้น บจก. TDFS ได้กู้ยืมเงินจากธนาคาร ไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) วงเงิน 250 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ทั้งนี้ บจก. TDFS ได้ว่าจ้างบริษัท แอเรียนต้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บจก. ARI) ให้เป็นผู้บริหารร้านค้าปลอดอากรดังกล่าวเนื่องจากเป็นบริษัทที่มีผลงานและประสบการณ์ด้านร้านค้าปลอดอากร  โดยทำสัญญา 2 ระยะ  ประกอบด้วย  ระยะเริ่มต้นให้ บจก. ARI เตรียมเปิดร้านค้าปลอดอากร ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน  ค่าบริการ 1.99 ล้านบาท/เดือน และระยะที่ 2 ให้ บจก. ARI บริหารจัดการร้านค้าปลอดอากรเป็นเวลา 5 ปี ค่าบริการ 6.25 ล้านบาท/ปี
                                      2.1.2 บจก. TDFS เริ่มเปิดกิจการขายสินค้าปลอดอากรตั้งแต่วันที่  25 กันยายน 2538 ซึ่งในช่วงปี 2538 - 2540 บจก. TDFS มีผลประกอบการขาดทุน 165.63 ล้านบาท 201.59 ล้านบาท และ 265.27 ล้านบาท ตามลำดับ รวมทั้งได้ยืมเงินจาก ททท. รวมทั้งสิ้นจำนวน 16.7 ล้านบาท เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง
                                      2.1.3 คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 มิถุนายน 2540) อนุมัติให้บริษัท คิง พาวเวอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (บจก. KPI) เช่าสิทธิในการบริหารร้านค้าปลอดอากรในเมืองจาก ททท. และเช่าทรัพย์สินของ บจก.TDFS เป็นเวลา 10 ปี และอนุมัติให้ ททท. ทดรองจ่ายเงินคงค้างตามสัญญาจ้างบริหารเดิมให้แก่ บจก. ARI ในวงเงิน 62 ล้านบาท ไปก่อน เพื่อเป็นการสิ้นสุดสัญญาเดิมระหว่าง บจก. TDFS และ บจก. ARI โดยเร็ว ตามที่ททท. เสนอ จากนั้น บจก.TDFS ได้ยุติการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 (รวมเวลาดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากร 1 ปี 8 เดือน) และ บจก. KPI ได้เข้าดำเนินกิจการต่อเมื่อวันที่   4 กรกฎาคม 2560
                             2.2 การดำเนินการภายหลัง บจก.TDFS ยุติการประกอบกิจการ เดิมคณะกรรมการ ททท. เห็นว่า การให้ บจก. KPI เช่าสิทธิและทรัพย์สินของ บจก. TDFS จะมีค่าตอบแทนประมาณ 900 ล้านบาท              ซึ่งจะทำให้ บจก. TDFS สามารถชำระหนี้สินที่บริษัทมีต่อบุคคลภายนอกได้ทั้งหมด  แต่เนื่องจากในเวลาต่อมาคณะมนตรีมีมติ (27 มกราคม 2541) สนับสนุนให้มีร้านค้าปลอดอากรหลายแห่งเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ส่งผลให้ บจก. KPI ขอยกเลิกข้อตกลงในการเช่าสิทธิและทรัพย์สินจาก ททท. และ บจก. TDFS เนื่องจากสามารถดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากรได้เอง  ซึ่งหากดำเนินการตามข้อตกลงเดิมจะทำให้ บจก. KPI มีต้นทุนสูงและไม่สามารถแข่งขันในเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบการรายอื่นได้
                             2.3 การล้มละลาย คณะกรรมการฯ พบว่า คณะกรรมการ ททท. ได้พยายามแก้ไขปัญหาของ บจก. TDFS มาโดยตลอด โดยได้แต่งตั้งคณะการต่าง ๆ เพื่อศึกษารายละเอียดวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องทรัพย์สิน หนี้สิน สาเหตุการขาดทุน และทางเลือกต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาและหาวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบริษัท TDFS อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้อง บจก. TDFS ต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 และมีคำพิพากษาให้ บจก.TDFS เป็นบุคคลล้มละลายในวันที่ 2 กันยายน 2545
                   ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 กรมบังคับคดีได้แจ้งจำนวนส่วนแบ่งที่ ททท. จะได้รับการแบ่งทรัพย์รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 709,998.12 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.286 ของมูลหนี้ ดังนั้น ททท. จึงต้องขอจำหน่ายหนี้สูญ(ตามข้อ 1) ซึ่ง ททท. ได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้แล้ว โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5)  มีความเห็นว่า กรณี บจก. TDFS นั้น ททท. ได้กระทำกิจการภายในขอบเขตวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามที่พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 กำหนดโดยบางกิจการเป็นการดำเนินการในทางธุรกิจซึ่งการเกิดหนี้สูญย่อมถือเป็นกรณีปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้
                   3. คณะกรรมการฯ ได้สรุปสาเหตุ ปัญหา และอุปสรรคที่ทำให้เกิดการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ของ บจก. TDFS พบว่า บจก. TDFS ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากรได้เพียง 1 ปี 8 เดือน ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ การดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากรที่มีเงินลงทุนสูงต้องใช้เวลาคืนทุนประมาณ 5 ปีขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ บจก. TDFS จึงไม่สามารถคืนทุนหรือได้รับผลกำไรจากการประกอบธุรกิจได้ อีกทั้ง บจก. TDFS มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจนขาดทุน ประกอบกับ                 การเปลี่ยนแปลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่สนับสนุนให้มีร้านค้าปลอดอากรหลายแห่งเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ส่งผลให้แนวทางที่ ททท. เสนอให้ บจก. KPI เช่าสิทธิและทรัพย์สินของ บจก. TDFS เป็นระยะเวลา 10 ปีโดยจ่ายค่าตอบแทน 900 ล้านบาท เพื่อให้ บจก. TDFS สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดนั้น ไม่อาจดำเนินการให้บรรลุผลได้  ทำให้ บจก. TDFS อยู่ในสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวและกลายเป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษา
                   4. คณะกรรมการฯ เห็นว่า การดำเนินกิจการของ บจก. TDFS เป็นการดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ประกอบกับ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามระเบียบ  ข้อบังคับ  และกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่ของตนอย่างครบถ้วนและเต็มความสามารถแล้วรวมทั้ง ททท. ได้พยายามแก้ไขปัญหาหนี้สินของ บจก. TDFS มาโดยตลอด ซึ่งเมื่อ ททท. ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว  บางกิจการเป็นการดำเนินการในทางธุรกิจซึ่งการเกิดหนี้สูญย่อมถือเป็นกรณีปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้และถือเป็นความเสี่ยงของการประกอบกิจการตามปกติ  ดังนั้น  คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ บจก. TDFS ออกจากบัญชีแต่อย่างใด
 
15. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
                   คค. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานการพิจารณาศึกษาการขยายสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาพผู้แทนราษฎร สรุปได้ ดังนี้
                   1. รายงานผลการศึกษาการขยายสัมปทานทางด่วนของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
                       1.1 กรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นด้วยกับขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน
                             1.1.1 การขยายระยะเวลาสัมปทานทางด่วนนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 เห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวม 2 ฉบับ ตามที่ คค. เสนอ โดยให้ต่อขยายระยะเวลาสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B C ออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน นับแต่วันสัญญาสิ้นสุดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์  2563 สำหรับส่วน D ขยายเป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน นับแต่สัญญาส่วน D สิ้นสุดในวันที่ 21 เมษายน 2570 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) ต่อขยายเป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน นับแต่วันสัญญาสิ้นสุดในวันที่ 26 กันยายน 2569 ซึ่งการเจรจาเพื่อขยายระยะเวลาสัญญาสัมปทานนี้เป็นการเจรจาเพื่อยุติปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามสัญญาเดิมทั้งหมด ซึ่งเป็นการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยไม่ต้องต่อสู้คดีกันต่อไป สำหรับการต่อสัมปทานใน 15 ปีหลัง ซึ่งให้มีการก่อสร้างทางด่วนขึ้นที่ 2 นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้ คค. ไปพิจารณาศึกษา แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                             1.1.2 เมื่อมีการลงนามในสัญญาขยายระยะเวลาสัมปทานทางด่วนตามข้อ 1.1 แล้ว  จะมีผลเป็นการยุติข้อพิพาทที่ กทพ. มีกับเอกชนในปัจจุบันทั้งหมด และข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย รวมทั้งเอกชนที่เป็นคู่สัญญาตกลงให้ความร่วมมือยกเว้นค่าผ่านทางในเทศกาลต่าง ๆ และจะไม่เรียกร้องค่าชดเชยและค่าเสียหายด้วย ส่วนการสอบสวนหาผู้กระทำความผิดเพื่อตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับการเกิดข้อพิพาทจนนำไปสู่การขยายสัญญาสัมปทานในเรื่องนี้นั้น คค. ได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว นอกจากนี้ การขอให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการไม่ให้ใช้บังคับกับกรณีสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน แต่ให้เสนอข้อพิพาทต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น ไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งการทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนที่กำหนดให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่                   14 กรกฎาคม 2558 [เรื่อง ขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 (เรื่อง การทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน)] ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณี
                       1.2 กรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่เห็นด้วยกับขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน
                             1.2.1 การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาในประเด็นความไม่ชัดเจนทางกฎหมายว่าจะขยายสัญญาสัมปทานได้หรือไม่อีก และการขยายสัญญาสัมปทานเป็นผลมาจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 (เรื่อง แนวทางดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทของหน่วยงานของรัฐ) จึงไม่ได้พิจารณาทางเลือกอื่นว่าจะมีผลดีกว่าการขยายสัญญาสัมปทานหรือไม่ การขยายสัญญาสัมปทานเป็นการยุติข้อพิพาททั้งหมด และ กทพ. ยังได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าเดิม จึงไม่ควรต่อสู้คดีอีกต่อไป
                             1.2.2 สำหรับกรณีทางด่วนขั้นที่ 2 (Double Deck) นั้น เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ให้ศึกษารายละเอียดตามกระบวนการปกติ ไม่ควรนำมาพ่วงกับการขยายสัญญาสัมปทาน ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการรวม 2 ฉบับ ดังกล่าว ส่วนการให้พิจารณารูปแบบของการจ้าง Outsource, PPP Gross Cost เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกับการขยายสัญญาสัมปทานนั้น เนื่องจากในชั้นนี้ยังไม่มีการศึกษา จึงยังไม่สามารถเปรียบเทียบได้ แต่หากใช้รูปแบบดังกล่าว ข้อพิพาทต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ดังกล่าว
                             1.2.3 การขยายสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ กทพ. โดย กทพ. ไม่ต้องนำส่วนแบ่งรายได้ชำระหนี้ให้แก่เอกชน และหาก กทพ. ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำพิพากษาก็ยังสามารถให้บริการประชาชนต่อไปได้โดยไม่เกิดผลกระทบต่อรายได้ที่จะนำส่งรัฐ ซึ่งการขยายสัมปทานเป็นการลดความสูญเสียจากการแพ้คดี และในสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ยังคงเงื่อนไขให้ปรับอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปี และยังมีการยกเว้นค่าผ่านทางให้แก่ประชาชนในเทศกาลต่าง ๆ ด้วย และในการขยายสัญญาสัมปทานนั้น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ให้เร่งรัดลงนามในสัญญา และประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งตามร่างสัญญานั้น ให้ยกเลิกข้อพิพาททั้งหมด รวมทั้งข้อพิพาทในอนาคตภายใต้สัญญาเดิมและจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายและดอกเบี้ย ซึ่งการเจรจาระงับข้อพิพาท กทพ. ได้คำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ และนำมูลค่าข้อเรียกร้องหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทที่แต่ละฝ่ายมีต่อกันภายใต้สัญญาสัมปทานมาหักลบกัน พิจารณาทบทวนความเหมาะสมของสมมุติฐานของการคำนวณเพื่อเป็นแนวทางการเจรจาและแม้ว่าการไม่ต่ออายุสัมปทานจะเป็นประโยชน์ต่อ กทพ. แต่การดำเนินการ กทพ. ต้องเพิ่มบุคลากรค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาและการบริหารทางพิเศษเพิ่มขึ้น แต่ข้อพิพาทต่าง ๆ ยังไม่ยุติ และ กทพ. แพ้คดีจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับสัมปทาน ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาสัมปทานกรณีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มาตรา 47 ประกอบกับพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
                   2. รายงานผลการศึกษาการขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส
ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
                       2.1 ให้ กทม. ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 11 เมษายน พุทธศักราช 2562 ให้ครบถ้วน และเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้มีการต่อสัญญาสัมปทานนี้ต่อไป
                       2.2 ขอบเขตของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวจะมีผลให้เอกชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แทน กทม. ในช่วงต้นโครงการ และ กทม. ได้รับส่วนแบ่งจากค่าโดยสาร สถานีเชื่อมต่อการเดินทาง เช่น สถานีห้าแยกลาดพร้าว ได้มีการออกแบบเพื่อรองรับการเดินรถในระบบ Through Operation และไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน อัตราค่าโดยสารตามสัญญาร่วมทุนมีราคาน้อยกว่าหรือเท่ากับอัตราค่าโดยสารที่มีการจัดเก็บในปัจจุบัน และอัตราค่าโดยสารตลอดสายสูงสุด 65 บาท และตามสัญญาร่วมลงทุนได้รวมการปรับปรุงบริเวณสถานีตากสินไว้ด้วย ซึ่งจะทำให้สถานีสีลมมีค่าความถี่การให้บริการดีขึ้น และมีการกำหนดค่าความหนาแน่นของผู้โดยสารตามมาตรฐานที่มีความเหมาะสม
                       2.3 การแก้ไขปัญหาภาระการเงินของ กทม. ในอนาคต ซึ่ง กทม. อาจนำส่วนแบ่งผลประโยชน์มาเป็นส่วนลดค่าโดยสารให้กับประชาชนนั้น เนื่องจากการเจรจาผลตอบแทนกับภาคเอกชน ได้พิจารณารายได้จากเส้นทางหลัก ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในคราวเดียวกัน โดยนำผลกำไรจากเส้นทางหลักมาชดเชยผลขาดทุนของส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 จากแนวทางดังกล่าวจะทำให้มีอัตราค่าโดยสารเหมาะสม คือสูงสุดไม่เกิน 65 บาท และไม่กระทบภาระทางการเงินของ กทม. สำหรับต้นทุนภาระทางการเงิน 107,000               ล้านบาท ในการสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กทม. จะนำเงินรายได้ของโครงการมาชำระค่างานโยธา ดอกเบี้ย และภาระอื่น ๆ สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 จากการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
                       2.4 การที่ไม่ส่งข้อมูลให้คณะกรรมาธิการฯ ทำให้ไม่สามารถพิจารณาประเด็นภาระต้นทุนทางการเงินของ กทม. ได้นั้น กทม. ได้ให้ข้อมูลสูงสุดที่สามารถให้ได้จากการเจรจาแล้ว สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเงินของภาครัฐด้วยการขยายสัญญาสัมปทานควรอยู่5ในกรอบของ 1. ระยะเวลาการขยายสัมปทาน 2. อัตราค่าโดยสาร 3. การจัดหาผู้ประกอบการที่สามารถบริการตามความต้องการของประชาชน และ 4. การดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย นั้น กทม. ได้ยึดถือแนวทางดังกล่าวเป็นกรอบในการเจรจาสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง กทม. กับภาคเอกชน
                   3. กทพ. ควรเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 และเพื่อความรอบคอบในการบริหารกิจการขององค์กร กทพ. ควรศึกษาผลกระทบและปัจจัยเสี่ยงอันเกิดจากการดำเนินการตามข้อสัญญาเดิม เพื่อมิให้เกิดข้อพิพาทในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ผ่านมา สำหรับกรณี กทม.ควรดำเนินการตามขั้นตอนของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ดังกล่าวให้ครบถ้วน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
 
16. เรื่อง การกำหนดวันหยุดราชการเพื่อชดเชยวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้
                   1. กำหนดให้วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2563 เป็นวันหยุดราชการเพื่อชดเชยวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2563 เป็นจำนวน 1 วัน (สำหรับวันหยุดชดเชยอีก 2 วัน จะพิจารณานำเสนอตามความเหมาะสมในภายหลัง)  
                   2. ในกรณีที่หน่วยงานใดมีภารกิจในการให้บริการประชาชน หรือมีความจำเป็นหรือราชการสำคัญในวันหยุดดังกล่าวที่ได้กำหนดหรือนัดหมายไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหากยกเลิกหรือเลื่อนไปจะเกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และกระทบต่อการให้บริการประชาชน  
                   3. ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดเป็นวันหยุดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณีต่อไป 
                   สาระสำคัญของเรื่อง  
                   1) โดยที่วันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการประจำปีตามประเพณีที่ถือเป็นสิทธิตามกฎหมายของทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และลูกจ้างในภาคเอกชน รวมทั้งในขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้เริ่มคลี่คลายลง โดยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันเป็นช่วงระยะเวลานานพอสมควรและมีจำนวนผู้ที่หายจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และอนุญาตให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถดำเนินกิจการและกิจกรรมได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และจากการหารือกับฝ่ายต่าง ๆ แล้ว ในชั้นนี้ เห็นสมควรกำหนดวันหยุดราชการในเดือนกรกฎาคม 2563 เพิ่มขึ้น 1 วัน คือ วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2563 เพื่อชดเชยวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. 2563 (สำหรับวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. 2563 ที่เหลืออีก 2 วัน จะพิจารณานำเสนอในภายหลัง ตามความเหมาะสมต่อไป 
                   2) การกำหนดให้วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2563 เป็นวันหยุดราชการเพื่อชดเชยวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ดังกล่าวจะทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องกันในสัปดาห์ดังกล่าวเป็น 4 วัน คือ วันเสาร์ที่ 25 - วันอังคารที่                28 กรกฎาคม 2563 และทำให้ในภาพรวมจะมีวันหยุดราชการประจำปี 2563 รวมทั้งสิ้น 17 วัน ดังนี้ 
                    1. วันขึ้นปีใหม่                                                             1 มกราคม       1 วัน
                    2. วันมาฆบูชา                                                              19 กุมภาพันธ์    1 วัน
                    3. วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช                 6 เมษายน        1 วัน
                       และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ 
                    4. วันฉัตรมงคล                                                                     4 พฤษภาคม     1 วัน 
                    5. วันวิสาขบูชา                                                            6 พฤษภาคม     1 วัน
                    6. วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ                    11 พฤษภาคม    1 วัน 
                    7. วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี         3 มิถุนายน       1 วัน
                    8. วันอาสาฬหบูชา                                                        5 กรกฎาคม      1 วัน
                    9. วันเข้าพรรษา                                                                    6 กรกฎาคม      1 วัน
                    10. วันหยุดชดเชยเทศกาลสงกรานต์ (เสนอครั้งนี้)                      27 กรกฎาคม   1 วัน
                   11. วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร              28 กรกฎาคม    1 วัน
                          รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 
                    12. วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง        12 สิงหาคม       1 วัน 
                          และวันแม่แห่งชาติ
                    13. วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร      13 ตุลาคม        1 วัน
                         มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
                    14. วันปิยมหาราช                                                          23 ตุลาคม     1 วัน  
                    15. วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรม          5 ธันวาคม      1 วัน
                         ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
                         วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ  
                    16. วันรัฐธรรมนูญ                                                          10 ธันวาคม      1 วัน
                    17. วันสิ้นปี                                                                   31 ธันวาคม   1 วัน
                   ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 มีนาคม 2563) ให้เลื่อนวันหยุดราชการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2563 (วันที่ 13 – 15 เมษายน 2563) ออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะคลี่คลาย โดยคณะรัฐมนตรีจะพิจารณากำหนดวันหยุดราชการชดเชยให้ในภายหลังในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งในครั้งนี้เป็นการกำหนดวันหยุดราชการชดเชยวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นเวลา 1 วัน
 
17. เรื่อง การเตรียมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเสนอการเตรียมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบด้วย 1) การจัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 2) การสำรวจความพร้อมการเปิดเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3) แนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับโรงเรียนที่จัดสถานที่พักนอนให้กับนักเรียนในพื้นที่ยากลำบาก ห่างไกล ไม่สามารถเดินทางไป-กลับได้ 4) แนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 5) การอนุมัติการจบการศึกษาปีการศึกษา 2562 ภายหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 (ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2563)  6) การขอรับจัดสรรกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจากสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 1,158,931 กล่อง
                   สาระสำคัญ
                   กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้สรุปการเตรียมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563  ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้
                   1. การจัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
                   กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดทำ แนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) ปีการศึกษา 2563 และได้มีการชี้แจงเอกสารดังกล่าวในที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาผ่าน Video Conference เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ดำเนินการประเมินตนเองเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด (ศปก.จ.) ตามลำดับ รวมถึงมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 
                   2. การสำรวจความพร้อมการเปิดเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                   กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้โรงเรียนสำรวจความพร้อมการเปิดเรียน ภาคเรียนที่ 1/2563 โดยจำแนกแบบสำรวจเป็น 3 ฉบับ ได้แก่ 1) แบบสำรวจข้อมูลสำหรับโรงเรียนทั่วไป 2) แบบสำรวจข้อมูลสำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนลักษณะพิเศษ (พักนอน) และ 3) แบบสำรวจโรงเรียนทั่วไปที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 20 คนต่อห้อง สำหรับระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และโรงเรียนขยายโอกาส หรือจำนวนนักเรียนมากกว่า 25 คนต่อห้อง สำหรับระดับมัธยมศึกษา ซึ่งผลการสำรวจสรุปได้ ดังนี้
                             2.1 ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน
                                      1) โรงเรียนร้อยละ 51.00 เป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน ไม่เกิน 120 คน
                                      2) มีโรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ซึ่งจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ทั้งเฉพาะความพิการและศูนย์การศึกษาพิเศษ รวมถึงเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์โดยรับนักเรียนทั้งประเภทอยู่ประจำ และไป-กลับ จำนวนรวม 176 โรงเรียน
                             2.2 แนวทางการจัดการเรียนการสอน และมาตรการเฝ้าระวัง/ป้องกันโรค  จากการสำรวจพบว่า แผนการดำเนินการของโรงเรียนเป็นไปตามเอกสารแนวทางการจัดการเรียนการสอน โดยโรงเรียนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 81.77 วางแผนจัดการเรียนการสอนปกติ (On-site) ที่เหลือจัดแบบผสมผสาน 
                              2.3 กรณีพิเศษอื่นๆ
                                      1) กรณีนักเรียนไทยที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศ ที่ไม่สามารถข้ามพรมแดนกลับมาได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำนักเรียนกลับมายังประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
                                      2) กรณีนักเรียนต่างชาติ ยังไม่สามารถข้ามชายแดนมาเรียนได้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะดำเนินการตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) สำหรับการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนกลุ่มนี้ เช่น ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือนักเรียนให้ได้รับสื่อการเรียนการสอน หรือวิธีการอื่น ๆ ตามบริบทพื้นที่
                                      3) กรณีโรงเรียนประจำ/นักเรียนประจำพักนอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดมาตรการการดำเนินงานสำหรับโรงเรียนประจำ/นักเรียนประจำพักนอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการบริหารจัดการของสถานศึกษา และการบริหารค่าอาหารนักเรียน
                   3. แนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับโรงเรียนที่จัดสถานที่พักนอนให้กับนักเรียนในพื้นที่ยากลำบาก ห่างไกล  ไม่สามารถเดินทางไป-กลับได้
                   กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้จัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป รายการค่าอาหารนักเรียนพักนอน  สำหรับโรงเรียนที่จัดสถานที่พักนอนให้กับนักเรียนในพื้นที่ยากลำบาก ห่างไกล ไม่สามารถเดินทางไป-กลับได้ โดยโรงเรียนได้ดำเนินการ กำกับ ดูแล และจัดระบบแบบเต็มเวลา และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอน 3 รูปแบบ ซึ่งโรงเรียนสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยพิจารณาตามความเหมาะสมและบริบทของโรงเรียน ดังนี้ 1) การเรียนในชั้นเรียน (On-Site) 2) การเรียนผ่านโทรทัศน์ (On-Air) และ 3) การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online)  กรณีโรงเรียนเลือกจัดการเรียนผ่านโทรทัศน์ (On-Air)  และ/หรือการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online)  นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากที่บ้าน ซึ่งไม่ได้พักนอนที่โรงเรียน ดังนั้น โรงเรียนจึงไม่สามารถดำเนินการจัดอาหารให้แก่นักเรียนได้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  จึงกำหนดแนวทางการบริหารงบประมาณค่าอาหารนักเรียนพักนอน โดยให้โรงเรียนแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างน้อย 3 คน  ดำเนินการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครอง/นักเรียนตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีหลักฐาน คือ ใบสำคัญรับเงิน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง/นักเรียน (ผู้รับเงิน)
                   4. แนวทางการใช้จ่ายงบอุดหนุนสำหรับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
                   ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป รายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน  และค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนประจำ  ประกอบด้วย รายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาด้านวิชาการสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และรายการค่าใช้จ่ายสำหรับการเป็นนักเรียนประจำ   และเพื่อดำเนินการตามมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จึงเตรียมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันในหลายวิธีการ เช่น การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การเรียนการสอนในชั้นเรียน  และหรือการเรียนการสอนแบบผสมผสาน  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขความพร้อมของพื้นที่จังหวัดและดุลยพินิจของผู้ปกครอง  คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับโรงเรียน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการใช้จ่ายงบประมาณของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้โรงเรียนกำหนดรูปแบบวิธีการและจ่ายค่าอาหาร ค่าอาหารเสริม สำหรับนักเรียนที่เรียนผ่านระบบออนไลน์ตามที่โรงเรียนกำหนดหรือได้รับอนุญาตจากโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม  2563 เป็นต้นไป  และให้โรงเรียนสามารถใช้เงินอุดหนุนทั่วไป  รายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาของแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับนักเรียนประจำ และเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การเรียนการสอนในชั้นเรียน การเรียนการสอนแบบผสมผสาน และการสอนชดเชย  เช่น  ค่าสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนออนไลน์ ค่าจัดทำเอกสารประกอบการเรียนรู้ ค่าสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต การปรับปรุงพัฒนาอาคารสถานที่แหล่งเรียนรู้  การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดสำหรับนักเรียน ค่าใช้จ่าย สำหรับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ค่าเบี้ยประชุม เป็นต้น  ตามบริบทของโรงเรียน
                   5. การอนุมัติการจบการศึกษาปีการศึกษา 2562 ภายหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 (ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563)
                   เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ออกประกาศกระทรวง ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 ให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน  ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อแก้ไขผลการเรียนในช่วงนี้ได้ ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศกระทรวง ลงวันที่                  9 เมษายน 2563 ให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน  ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้พิจารณาการอนุมัติการจบการศึกษาภายหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 กับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 6 ที่กำหนดวันเริ่มต้นปีการศึกษา คือวันที่ 16 พฤษภาคม วันสิ้นปีการศึกษา คือวันที่ 15 พฤษภาคม ของปีถัดไป  และกฎหมายระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การแก้ไขผลการเรียนและอนุมัติการจบการศึกษา ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563 ถือเป็นเหตุสุดวิสัยและถือว่าเป็นการแก้ไขผลการเรียนก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษาถัดไป  โดยไม่ถือเป็นการขัดแย้งกับระเบียบดังกล่าว ดังนั้น การที่สถานศึกษาแก้ไขผลการเรียนของนักเรียนเสร็จสิ้น หลังจากวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 (ระหว่างวันที่                  16 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563) ต้องถือว่าเป็นการอนุมัติให้จบการศึกษา ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562
                   6. การขอรับจัดสรรกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจากสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
                    กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สำรวจความต้องการขอรับกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลของนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่านักเรียนมีความต้องการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล รวมทั้งสิ้น 1,158,931 กล่อง เป็นความต้องการของนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 1,030,798 กล่อง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 127,867 กล่อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 266 กล่อง ซึ่งจะประสานขอรับจากสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อไป
                    ผลกระทบ
                   การจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนเป็นการให้โอกาสผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นในโรงเรียน ทั้งองค์ความรู้ ทักษะวิชาการ  ทักษะชีวิตจากการมีปฏิสังคม และยังช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในการกำกับดูแลบุตรหลานให้เรียนทางไกล ให้ผู้ปกครองสามารถกลับไปทำงานได้อย่างมีผลิตภาพ  แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน  กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ตระหนักว่าการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมในโรงเรียนต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและระมัดระวัง  เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากร และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดอันจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศต่อไป
                   ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา
                   งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในการดำเนินการข้อ 1 ถึง 5 สำหรับข้อ 6 สำนักงานคณะกรรมการกิจารกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล
 
18. เรื่อง การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่ว
ราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 กรกฎาคม 2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ
                เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ
                   การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) ได้เชิญหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดฯ ในด้านต่าง ๆ ผู้แทนส่วนราชการและประชาคมข่าวกรองเข้าร่วมการประชุม โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
                   1. ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 ในภาพรวมทั่วโลกยังคงมีอยู่อย่างรุนแรงในหลายภูมิภาค และมีคนไทยจากต่างประเทศเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการผ่อนคลายภายในประเทศในระยะที่ 5 ที่จะมีการดำเนินการต่อไป ถือเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงมีความจำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายในการออกมาตรการกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและควบคุมมิให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคภายในประเทศในระลอกที่สอง
                   2. ที่ประชุมได้ให้ข้อเท็จจริงถึงข้อจำกัดในการบังคับใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ  พ.ศ. 2558 เนื่องจากเป็นกฎหมายในลักษณะการแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคในลักษณะตั้งรับ และมีข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานหลายประการ อาทิ 1) การขาดอำนาจในการสั่งให้บุคคลเข้าสู่สถานกักตัวของรัฐ 2) ข้อจำกัดเรื่องจำนวนของเจ้าหน้าที่    ในการปฏิบัติงานที่ไม่เพียงพอตามภารกิจ และ 3) อำนาจการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้เฉพาะพื้นที่   ที่เกิดเหตุ แต่ไม่ครอบคลุมในพื้นที่ข้างเคียงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากเจตนารมณ์   ของกฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคในระดับการระบาดทั่วไป (Epidemic) ในขณะที่การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ถือเป็นการแพร่ระบาดของโรคในระดับการระบาดใหญ่ (Pandemic) ซึ่งการดำเนินการของประเทศไทยในปัจจุบันมีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันมิให้โรคติดเชื้อโควิด - 19 กลับมาแพร่ระบาดได้อีกครั้ง     
                   3. ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันว่ายังมีความจำเป็นต้องบังคับใช้อำนาจ    ตามพระราชกำหนดฯ ต่อไปเพื่อกำหนดมาตรการเชิงป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ อาทิ 1) การควบคุมการเดินทางเข้า – ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง 2) การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย และ               3) การกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้องและจะต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างเพียงพอตามภารกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการสถานบันเทิง สถานที่แข่งกีฬา แหล่งท่องเที่ยว และสถานที่อื่นๆ อีกทั้งยังจะมีวันหยุดราชการต่อเนื่องในหลายวัน ที่อาจส่งผลให้มีการเดินทางและมีการประกอบกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของประชาชนอย่างหนาแน่นได้ จึงเป็นความเสี่ยงที่รัฐจะต้องมีการตรวจตราและเฝ้าระวังอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศอีกด้วย
                   4. ที่ประชุมยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นด้านเศรษฐกิจว่าการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ควบคู่ไปกับการผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมาย จะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตในแบบปกติของประชาชนเกินกว่าเหตุและไม่ถือเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่จะเป็นการป้องกันไม่ให้ประเทศต้องเผชิญข้อจำกัดและความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่ส่งผลให้รัฐบาลไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอในการบริหารจัดการเพื่อการแก้ไขปัญหาอีกต่อไป
                   5. สมช. ได้นำผลการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบผลการประชุม และมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป
 

19. เรื่อง   การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมปี 2563 จำนวน 51 รายการ จำแนกเป็น 46 สินค้า 5 บริการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 5/2563                          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ 
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ในคราวประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2563 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการได้พิจารณาทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุม ซึ่งจะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และมีมติเห็นชอบสรุปได้ ดังนี้
                   1. การพิจารณาทบทวนสินค้าและบริการควบคุมปี 2563
               1.1 คงรายการสินค้าและบริการควบคุม จำนวน 50 รายการ จำแนกเป็น 45 สินค้า 5 บริการ โดยปรับรายละเอียดรายการสินค้าและบริการควบคุม จำนวน 2 รายการ ดังนี้
1) รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก ปรับเป็น รถจักรยานยนต์  รถยนต์บรรทุก” เนื่องจากรถยนต์นั่งเป็นสินค้าที่มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและไม่กระทบกับผู้บริโภคทั่วไป
2) บริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ ปรับเป็น “บริการซื้อขาย            และหรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์” เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ทำให้ประชาชนมีรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่แตกต่างจากอดีต (New Normal) เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ประกอบการและผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่นิยมใช้บริการการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นประกอบกับมีปัญหาการร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา เกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้บริโภคในการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ และผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับการให้ควบคุมราคาขนส่งของผู้ส่งอาหาร Delivery ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาราคาสินค้า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
1.2 เพิ่มรายการสินค้าควบคุม 1 รายการ คือ กากดีดีจีเอส เนื่องจากการนำเข้ากากดีดีจีเอสจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกากดีดีจีเอสเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนที่สามารถนำมาปรับใช้ในสูตรอาหารสัตว์และทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านราคาที่เกษตรกรจะได้รับและเสถียรภาพของตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตในประเทศ
1.3 ยกเลิกรายการสินค้าควบคุม จำนวน 2 รายการ ดังนี้
1) น้ำยาปรับผ้านุ่ม เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นใช้ในทุกครัวเรือน และ                มีการแข่งขันสูง รวมทั้งเป็นสินค้าทางเลือกขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภค
2) บริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า เนื่องจากปัจจุบันจำนวนสถานที่เก็บสินค้ามีมากกว่าความต้องการใช้บริการ (Over supply) มีการแข่งขันสูง จึงไม่กระทบต่อราคาค่าเช่าสถานที่เก็บสินค้า
2. เห็นชอบสินค้าและบริการควบคุม ปี 2563 จำนวน 51รายการ จำแนกเป็น
สินค้า 46 รายการ บริการ 5 รายการ โดยแบ่งเป็น 10 หมวดสินค้า และ 1 หมวดบริการ ดังนี้

  1. หมวดสินค้า 10 หมวด
  1. หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ จำนวน 2 รายการ คือ (1) กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว (2) กระดาษพิมพ์และเขียน
  2. หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง จำนวน 2 รายการ คือ (3) ยางรถจักรยานยนต์
    ยางรถยนต์ (4) รถจักรยานยนต์ รถยนต์บรรทุก
  3. หมวดปัจจัยทางการเกษตร จำนวน 7 รายการ คือ (5) เครื่องสูบน้ำ
    (6) ปุ๋ย (7) ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช (8) รถเกี่ยวข้าว (9) รถไถนา (10) หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์                 (11) กากดีดีจีเอส
  4. หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จำนวน 2 รายการ คือ (12) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (13) น้ำมันเชื้อเพลิง
  5. หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ จำนวน 2 รายการ คือ (14) ยารักษาโรค                  (15) เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค
  6. หมวดวัสดุก่อสร้าง จำนวน 4 รายการ คือ (16) ท่อพีวีซี (17) ปูนซีเมนต์                 (18) สายไฟฟ้า (19) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น
  7. หมวดสินค้าเกษตรที่สำคัญ จำนวน 8 รายการ คือ (20) ข้าวเปลือก ข้าวสาร (21) ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ (22) ข้าวโพด (23) ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์
    (24) ผลปาล์มน้ำมัน (25) มะพร้าวผลแก่ และผลิตภัณฑ์  (26) ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง
    น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ  
  8. หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 7 รายการ คือ (27) กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า (28) แชมพู (29) ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก (30) ผลิตภัณฑ์ล้างจาน (31) ผ้าอนามัย (32) ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่ (33) สบู่ก้อน สบู่เหลว
  9. หมวดอาหาร จำนวน 12 รายการ คือ (34) กระเทียม (35) ไข่ไก่ (36) ทุเรียน (37) นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว (38) น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ (39) แป้งสาลี (40) มังคุด (41) ลำไย (42) สุกร เนื้อสุกร (43) หอมหัวใหญ่ (44) อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก (45) อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
  10. หมวดอื่น ๆ จำนวน 1 รายการ คือ (46) เครื่องแบบนักเรียน

 
 
2.2 หมวดบริการ 1 หมวด จำนวน 5 รายการ คือ (47) การให้สิทธิในการเผยแพร่งาน
ลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า (48) บริการซื้อขาย และหรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ (49) บริการทางการเกษตร (50) บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค (51) บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ
 
20. เรื่อง โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เรื่อง โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานในราคาที่เหมาะสม โดยมีสาระสำคัญดังนี้
                   การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2563 จะหดตัวลงเมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2562 อัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยลดลง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องดำเนินโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้สามารถเช่าที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานในราคาที่เหมาะสม
                   เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติจึงได้จัดทำโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ผู้สูงอายุ คนพิการ ข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือข้าราชการเกษียณและประชาชนที่มีรายได้น้อย รวมถึงผู้บุกรุกในพื้นที่สาธารณะให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย โดยดำเนินการสร้างบ้านเช่า จำนวน 100,000 หลัง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2564 - 2568) โดยในเดือนกรกฎาคมของทุกปี จะมีผู้มีรายได้น้อยมีบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ปีละ 20,000 ครอบครัว เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 และเมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2568 จะมีผู้มีรายได้น้อยที่มีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 100,000 ครอบครัว
 
21. เรื่อง  ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2563 ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ที่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ตามพระราชกำหนด เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 8 (1) และ 8 (2) แห่งพระราชกำหนด ดังนี้
                   1. อนุมัติโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกอบด้วย โครงการกำลังใจ กรอบวงเงิน 2,400 ล้านบาท และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 22,400 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม 2563 รวม 4 เดือน โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนรวมถึงการลงทุนต่าง ๆ ของภาคเอกชน เพื่อให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติได้โดยเร็วตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด พร้อมทั้งรับความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ               ไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
                   2. มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบทั้ง 2 โครงการ และให้กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และดำเนินการเบิกจ่ายโดยวิธีการเบิกจ่ายแทนกันโดยระยะเวลาการตรวจสอบข้อมูล เบิกจ่าย และจ่ายเงินตามโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2563
                   3. ให้ความเห็นชอบในหลักการการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับประชาชนผู้ท่องเที่ยวที่ได้รับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดตามโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการกำลังใจเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของทั้ง 2 โครงการที่มุ่งให้เกิดการใช้จ่ายและการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อเป็นการบรรเทาภาระของประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการดังกล่าว
                   4. อนุมัติให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรับการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่กลุ่มเป้าหมายตามโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากการจ่ายรายละ 1,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน มาเป็นการจ่าย    1 ครั้ง จำนวน 3,000 บาท ในเดือนกรกฎาคม 2563
                   สาระสำคัญ
                   การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง (กค.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยวจำนวน 2 โครงการ ดังนี้
                   1) โครงการเราเที่ยวด้วยกัน
                       - วัตถุประสงค์ : เพื่อเป็นการฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศที่ซบเซาอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศอันจะทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังคงเกิดการจ้างงาน และมีการสร้างรายได้ให้กับประเทศ
                       - ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 เดือน (กรกฎาคม – ตุลาคม 2563) โดยมีแผนการใช้จ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563
                       - ผลที่คาดว่าจะได้รับ : คาดว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกันจะสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวและสายการบิน โดยประมาณการรายได้ทางตรงแก่ผู้ประกอบการรวมไม่น้อยกว่า 50,000,000,000 บาท และรายได้สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวมไม่น้อยกว่า 26,127,800,000 บาท ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมไม่น้อยกว่า 726,127,800,000 บาท
                   2) โครงการกำลังใจ
                       - วัตถุประสงค์ : เพื่อเร่งผลักดันมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ และเป็นการฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศที่ซบเซาอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ อันจะทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังคงเกิดการจ้างงาน และมีการสร้างรายได้ให้กับประเทศ
                       - ระยะเวลา : 4 เดือน (กรกฎาคม – ตุลาคม 2563) (ปีงบประมาณ 2563 และ 2564)
                       - ผลที่คาดว่าจะได้รับ : สร้างรายได้แก่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทางตรง 2,400 ล้านบาท มีคนเดินทางข้ามจังหวัด จำนวน 1.2 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทางอ้อมประมาณ 6,500 ล้านบาท ซึ่งจะกระจายสู่ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว ได้แก่ บริษัทนำเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
 
22. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 7
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 7 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2563 ซึ่งได้รับข้อมูลจาก 146 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 99 ของส่วนราชการทั้งหมด (147 ส่วนราชการ) สรุปข้อมูลดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home)
                       1.1 ส่วนราชการร้อยละ 84 (123 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ และส่วนราชการร้อยละ 38 (55 ส่วนราชการ) กำหนดให้มีจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งร้อยละ 50 ขึ้นไป (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 60 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 41) โดยในจำนวนนี้มีส่วนราชการรอยละ 14 (21 ส่วนราชการ) มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 23 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 16) ทั้งนี้ มีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับการมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น
                       1.2 ส่วนราชการร้อยละ 16 (23 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 16 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 10)
                    2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
                       2.1 ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 45 กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น                3 ช่วงเวลา คือ เวลา 7.30 – 15.30 น. เวลา 8.30 – 16.30 น. และเวลา 9.30 – 17.30 น. ส่วนราชการร้อยละ 12 (17 ส่วนราชการ) กำหนดให้เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานมากกว่า 3 ช่วงเวลา และส่วนราชการร้อยละ 16                       (23 ส่วนราชการ) ไม่ได้กำหนดให้มีการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงาน
                       2.2 ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชน งานพิจารณา อนุมัติ/อนุญาต งานด้านการข่าวและประชาสัมพันธ์ งานสนับสนุน เช่น การเงิน ธุรการรับ – ส่งเอกสาร เป็นต้น
                   3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
                       3.1 การกำกับดูแลและบริหารผลการทำงาน ทุกส่วนราชการกำหนดให้มีระบบรายงานผลงานผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 57 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google Form
                       3.2 การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานโดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE ร้อยละ 99 Application Zone ร้อยละ 68 Microsoft Team ร้อยละ 34 และ Cisco Webex ร้อยละ 27 ตามลำดับ
                   4. ข้อจำกัดของส่วนราชการ ในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน ความไม่สะดวกในการติดต่อสื่อสารและ                        การประสานงานในกรณีเร่งด่วน งานเกี่ยวกับเอกสารราชการที่ยังคงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง
                   5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การสนับสนุนอุปกรณ์การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น และในอนาคตควรให้มีนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการเพื่อลดปัญหาการจราจร มลพิษทางอากาศและลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของหน่วยงานรัฐ
 
23.  เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ช่วงระหว่างวันที่ 15 – 19 มิถุนายน 2563 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
                   สาระสำคัญ
                   รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 55 แห่ง โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 15 - 19 มิถุนายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)
                       รัฐวิสาหกิจ 41 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและมีรัฐวิสาหกิจ                  14 แห่ง ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว เพิ่มขึ้น 4 แห่ง จากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 8 – 12 มิถุนายน 2563) ทั้งนี้ จากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 272,548 คน                  มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งจำนวน 32,162 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12
                   2. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                   รัฐวิสาหกิจ 33 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา และมีรัฐวิสาหกิจยกเลิกนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาเพิ่มขึ้น 1 แห่งจากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 8 – 12 มิถุนายน 2563) โดยมีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.30น.
                   3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
                       รัฐวิสาหกิจที่ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งมีการติดตามผลการปฏิบัติงานทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับ ติดตาม และบริหารผลการปฏิบัติงานผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยรัฐวิสาหกิจยังคงใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งควรพิจารณาลักษณะงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งเท่านั้น เช่น การให้บริการประชาชน และสำหรับงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ควรพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปฏบัติงานนอกสถานที่ตั้งแทน
 

ต่างประเทศ

 
24. เรื่อง รายงานผลการเข้าร่วมชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว ครั้งที่ 3 (Winter Youth Olympic Games 2020) และการประชุมร่วมกับประธานและคณะกรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOC) ณ สมาพันธรัฐสวิส
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการเข้าร่วมชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว ครั้งที่ 3 (Winter Youth Olympic Games 2020) และการประชุมร่วมกับประธานและคณะกรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (The International Olympic Committee: IOC) ณ สมาพันธรัฐสวิส ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว ครั้งที่ 3 นักกีฬาไทย จำนวน 5 คน เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาประเภทสกี ซึ่งแม้จะไม่ได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันดังกล่าว แต่นักกีฬาทุกคนทำผลงานเป็นที่น่าพอใจและเป็นเส้นทางไปสู่ความสำเร็จในขั้นต่อไปให้กับทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาวได้เป็นอย่างดี
                   2. การประชุมร่วมกับประธานและคณะกรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOC) ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงเพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน ครั้งที่ 5 ค.ศ. 2026 (พ.ศ. 2569) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (2 ตุลาคม 2561) เห็นชอบในหลักการแล้ว] และขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาว่าประเทศไทยจะต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในวงการกีฬาทุกรูปแบบ และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสารต้องห้ามในวงการกีฬาภายในประเทศให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการ IOC ได้แนะนำให้ประเทศไทยทำหนังสือถึงองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency: WADA) เพื่อแสดงจุดยืนและความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาการใช้สารต้องห้ามอย่างเร่งด่วน และขอให้หน่วยงานของไทยที่กำกับดูแลเรื่องสารต้องห้ามประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานตรวจสอบสารต้องห้ามนานาชาติ (International Testing Agency: ITA) และ WADA
                   นอกจากนี้ คณะกรรมการ IOC ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการคัดเลือกเจ้าภาพรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ IOC ในการปรับปรุงกีฬาโอลิมปิกเยาวชนให้มีความทันสมัยโดยใช้ชื่อว่า YOG 2.0 มุ่งเน้นให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับทุกคน ขยายการจัดการแข่งขันออกไปยังประเทศ
ใหม่ ๆ ประหยัดงบประมาณ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทของสังคม และทำให้เมืองเจ้าภาพได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
25. เรื่อง ร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนและสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินการจัดทำร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนและสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา ฉบับที่ 3 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
                   สาระสำคัญของร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาฯ ฉบับที่ 3
                   1. ร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือฯ ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนและ USPTO ต่อเนื่องจากข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือฯ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 โดยมุ่งเน้นการสานต่อกิจกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากร แลกเปลี่ยนความรู้ และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่อาเซียนและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญร่วมกัน เช่น การเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา การบริหารจัดการสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ การบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมทั้งได้เพิ่มเติมประเด็นความร่วมมือให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น เช่น การดำเนินคดีแพ่งที่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การสอบสวนและการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ และประเด็นทรัพย์สินทางปัญญากับการคุ้มครองผู้บริโภค
                   2. USPTO จะร่วมกับคณะทำงานความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียนในการกำหนดกิจกรรมความร่วมมือภายใต้ร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือฯ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน พ.ศ. 2559 – 2562 โดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนจะเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมและรายงานผลให้ USTPO ทราบเป็นรายไตรมาส
                   3. USPTO จะสนับสนุนงบประมาณแก่อาเซียนเพื่อจัดกิจกรรมความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ วงเงินรวม 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะแบ่งงบประมาณเป็น 2 ส่วน ได้แก่                  ส่วนที่ 1 งบประมาณสำหรับการเดินทาง ที่พัก การแปลเอกสาร และสถานที่จัดกิจกรรมความร่วมมือ วงเงินรวมไม่เกิน 1,625,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และส่วนที่ 2 งบประมาณสำหรับการบริหารและการสนับสนุนด้านอื่น ๆ วงเงินรวมไม่เกิน 375,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
                    ทั้งนี้ ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือฯ จะมีผลใช้บังคับเมื่อมีการลงนามครั้งสุดท้าย โดยการถอนตัวจากข้อตกลงสามารถกระทำได้ทุกเมื่อก่อนที่ข้อตกลงจะสิ้นสุดลง โดยแจ้งให้อีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยได้รับประโยชน์จากข้อตกลงความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนและ USPTO มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมการตระหนักรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีผลผูกพันเชิงนโยบายระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและ USPTO ในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้บรรลุเป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย
 
26. เรื่อง การจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับองค์การห้ามขายอาวุธเคมีสำหรับการบริจาคเงินเพื่อสมทบกองทุนสำหรับการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการแห่งใหม่ขององค์การห้ามอาวุธเคมี
                   คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับองค์การห้ามอาวุธเคมีสำหรับการบริจาคเงินเพื่อสมทบกองทุนสำหรับการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการแห่งใหม่ขององค์การห้ามอาวุธเคมี พร้อมอนุมัติให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก เป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ของฝ่ายไทย และโดยที่องค์การห้ามอาวุธเคมีแจ้งว่า ไม่จำเป็นต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ในกรณีนี้จึงไม่ต้องจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มให้ผู้ลงนาม ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปรับปรุงหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนการลงนาม ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าการร่วมสนับสนุนองค์การห้ามอาวุธเคมีในการสร้างศูนย์ปฏิบัติการแห่งใหม่ จะเป็นการแสดงบทบาทของไทยในฐานะรัฐภาคีที่จะมีส่วนร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศในการเพิ่มศักยภาพและยกระดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องขององค์การห้ามอาวุธเคมี นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการแห่งใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยและองค์การห้ามอาวุธเคมี ในด้านการวิจัย พัฒนา และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงเทคนิค กระทรวงการต่างประเทศจึงอนุมัติเงิน จำนวน 450,000 บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) จากงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2563 ของการทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ องค์การห้ามอาวุธเคมีได้กำหนดให้ประเทศที่ประสงค์จะบริจาคเงินเพื่อสมทบกองทุนสำหรับการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการแห่งใหม่ดังกล่าว จะต้องจัดความตกลงในรูปแบบหนังสือแลกเปลี่ยนกับองค์การห้ามอาวุธเคมี โดยร่างหนังสือแลกเปลี่ยนเป็นร่างเอกสารมาตรฐาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใสต่อแนวทางการบริหารจัดการเงินบริจาค
 

แต่งตั้ง

27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางเปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอรับโอน พลตำรวจตรี ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ข้าราชการตำรวจ ตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงาน ปปง. เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ทั้งนี้ ข้าราชการดังกล่าวได้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหารจากสำนักงาน ก.พ. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 และผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมการโอนแล้ว
 
30. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้  
                   1. นายอนันต์ ชูโชติ ประธานกรรมการ 
                   2. นายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและผังเมือง 
                   3. นายประเวศ เสรีเชษฐพงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหาร
                   4. นางธัชดา จิตมหาวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหาร และการเงินการคลัง
                   5. พลเอก ภาณุวัชร นาควงษม์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  
                   6. นายสุทธิวุฒิ รัชกิจประการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม และการบริหาร
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
 
31. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ จำนวน 4 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้ 1. นายผณิศวร ชำนาญเวช 2. นายวัลลภ เตียศิริ 3. นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ 4. นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
 
32. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตราย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตราย จำนวน 8 คน ตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ดังนี้ 
                   1. นางสมศรี สุวรรณจรัส          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาวิทยาศาสตร์
                   2. นางสุวภี ภัทรวิมล               กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาเกษตรศาสตร์
                   3. นายสมชาย ปรีชาทวีกิจ         กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชากฎหมาย
                   4. นายอดิศัย อยู่อินทร์              กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชากฎหมาย
                   5. นางเพ็ญศรี วัจฉละญาณ        กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนองค์การสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย 
                   6. นายสุนทร พิพิธแสงจันทร์       กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนองค์การสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
                   7. นางชุติมา รัตนเสถียร                      กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนองค์การสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตกรรมยั่งยืน  
                   8. นางพาลาภ สิงหเสนี            กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนองค์การสาธารณประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม  
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
 
33. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จำนวน 13 คณะ ดังนี้ 
                   1. แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแทนผู้ที่พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งเพิ่มเติมจำนวน 11 คณะ ได้แก่ 
                             1.1 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง รวม 13 คน โดยมี นายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธานกรรมการ  
                             1.2 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน รวม 15 คน โดยมี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ เป็นประธานกรรมการ  
                             1.3 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย รวม 14 คน โดยมี นายบวรศักดิ์
อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ  
                             1.4 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม รวม 15 คน โดยมี นายเข็มชัย ชุติวงศ์ เป็นประธานกรรมการ
                             1.5 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ รวม 15 คน โดยมี นายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นประธานกรรมการ
                             1.6 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวม 15 คน โดยมี นายรอยล จิตรดอน เป็นประธานกรรมการ
                             1.7 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสาธารณสุข รวม 15 คน โดยมี นายอุดม
 คชินทร เป็นประธานกรรมการ
                             1.8 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ รวม 15 คน โดยมี นายเสรี วงษ์มณฑา เป็นประธานกรรมการ
                             1.9 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม รวม 14 คน โดยมี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ   ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการ 
                             1.10 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน รวม 15 คน โดยมี นายพรชัย รุจิประภา เป็นประธานกรรมการ  
                             1.11 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวม 14 คน โดยมี นายภักดี โพธิศิริ เป็นประธานกรรมการ
                   2. แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นใหม่ จำนวน 2 ด้าน ได้แก่  
                             2.1 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวม 11 คน โดยมี นายวรากรณ์   สามโกเศศ เป็นประธานกรรมการ
                             2.2 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวม 14 คน โดยมี นายนิธิ มหานนท์ เป็นประธานกรรมการ 
                   รวมจำนวนคณะกรรมการ 185 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
 
 
..............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: