สช.-สนง.คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จับมือ วางแนวปฏิบัติข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1594 ครั้ง

สช.-สนง.คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จับมือ วางแนวปฏิบัติข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล

ผู้บริหาร สช. เคาะประตูกระทรวงดิจิทัลฯ พบเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สร้างความร่วมมือ - ตั้งคณะทำงานในการวางแนวปฏิบัติการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลร่วมกัน เพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลบุคคลตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ - พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นเอกภาพ และไม่เป็นอุปสรรคในภาคปฏิบัติ ที่ประชุมเคาะมติตั้งคณะทำงานเฉพาะ ให้ สช.เชื่อมหน่วยงานหลักร่วมวางเกณฑ์ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นวงกว้าง

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 ว่านพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำทีมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าหารือกับ นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) เพื่อหาแนวทางในการจัดทำแนวปฏิบัติเรื่องการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.๒๕๖๒ มีเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ่อนไหว (Sensitive Data) ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.สุขภาพแพ่งชาติ พ.ศ.2550 ด้วยเช่นกัน

นพ.ประทีป กล่าวภายหลังการประชุมว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้ก่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บและการใช้ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกันระหว่างกฎหมาย 2 ฉบับคือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ

นพ.ประทีปขยายความว่า ที่ผ่านมา มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ กำหนดเรื่องการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลไว้อย่างเข้มงวด มีบทลงโทษ แต่ไม่มีกระบวนการขั้นตอนปฏิบัติ ทำให้เกิดความแตกต่างในการตีความกฎหมายและสร้างข้อจำกัดในภาคปฏิบัติที่ต้องถือเอาชีวิตผู้ป่วยเป็นหลัก ทาง สช. ได้พยายามแก้ปัญหาข้อร้องเรียนในกรณีนี้โดยหารือแนวปฏิบัติกับคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงสาธารณสุขไว้แล้ว แต่ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายลูกหรือประกาศใดๆ ขณะที่คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลข่าวสาร มีอำนาจในการออกกฎหมายลูกและแนวปฏิบัติในด้านต่างๆ ได้โดยตรง จึงพร้อมให้การสนับสนุนข้อมูลในส่วนนี้ พร้อมเชื่อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันและวางแนวปฏิบัติที่เป็นเอกภาพ ทำให้สามารถคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขณะเดียวกันก็ไม่สร้างอุปสรรคในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข

ด้านนายภุชพงค์กล่าวว่า รู้สึกยินดียิ่งที่มีพันธมิตรในการทำงานเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ ส่วนที่ สคส.จะต้องจัดทำแนวปฏิบัตินอกเหนือไปจากการออกกฎหมายลูก เพื่อวางมาตรการในกรอบใหญ่ตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกำหนดไว้ หวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยให้การจัดทำแนวปฏิบัติดำเนินไปได้ด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยทั้งกฎหมายลูกและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ จะต้องยกร่าง รับฟังความคิดเห็นและประกาศใช้ ก่อนที่พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิ.ย. 2564

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปแล้ว 50 มาตราในสองหมวดหลัก จากนั้นมีการออก พ.ร.ฎ.ยกเว้นให้หน่วยงานและกิจการ 22 ประเภทยังไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 โดยนายภุชพงค์กล่าวว่า เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเวลาในการปรับตัวและทำระบบจัดเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ต้องการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการรายย่อยมากเกินไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในที่ประชุมยังเห็นร่วมกันด้วยว่า มาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ นั้นเขียนไว้ค่อนข้างเข้มงวดว่า ข้อมูลสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล จะเปิดเผยไม่ได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น ในขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเปิดกว้างมากกว่า โดยในมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ ๕ ประการ เช่น เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของบุคคลนั้น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งตรงนี้น่าจะช่วยขจัดปัญหาการตีความมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติที่แตกต่างกันได้ในกรณีที่จำเป็นต้องส่งต่อข้อมูลการแพทย์เพื่อการรักษาชีวิตบุคคล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: