สอวช.ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษาจัดทำข้อมูลภาพประเทศไทย 4 ระยะ หลังสถานการณ์ COVID-19 พร้อมแนะ 5 ยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นฟูและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2563 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา จัดทำข้อมูลภาพประเทศไทย 4 ระยะภายหลังโควิด 19 พร้อมเสนอร่างประเด็นเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนประเทศหลังสถานการณ์คลี่คลาย
สอวช. ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา จัดทำข้อมูลภาพประเทศไทย 4 ระยะภายหลัง COVID-19 โดยแบ่งออกเป็น
ระยะที่ 1 หรือ Restriction (เดือนที่ 1-6) ระยะพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโลก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในระยะนี้ และกำลังจะเข้าสู่ระยะที่ 2
ระยะที่ 2 หรือ Reopening (เดือนที่ 7-12) ระยะผ่อนคลายการควบคุมและเริ่มกลับสู่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
ระยะที่ 3 หรือ Recovery (เดือนที่ 13-18) ระยะการฟื้นตัวและปรับตัวภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย
ระยะที่ 4 หรือ Restructuring (เดือนที่ 19-อนาคต 5 ปีข้างหน้า)
แนะ 5 ยุทธศาสตร์รับมืออนาคตหลัง COVID-19
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิทุกสัปดาห์เพื่อเตรียมความพร้อมในการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สอวช. และมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา จึงได้รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อร่างประเด็นเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับประเทศในการฟื้นฟูและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ
1. Put Human Security First: ปรับเปลี่ยนจาก “เศรษฐกิจ” เป็นตัวตั้งไปสู่ “ความมั่นคงมนุษย์” เป็นตัวตั้ง ผ่านการสร้างความมั่นคง 4 ด้าน คือ ความมั่นคงทางด้านอาหาร รับประกันการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ กระจายอย่างทั่วถึง และราคาที่เหมาะสมตั้งแต่ระดับครัวเรือนชุมชนถึงระดับประเทศ ความมั่นคงทางสุขภาพ ยกระดับและเพิ่มศักยภาพของระบบสาธารณสุขและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งส่งเสริมทักษะสุขภาพให้กับประชาชน ความมั่นคงทางพลังงาน จัดหาพลังงานให้มีอย่างเพียงพอ มุ่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริโภคพลังงาน และความมั่นคงทางอาชีพ เสริมสร้างทักษะให้คนวัยทำงาน ลงทุนสร้างตำแหน่งงานใหม่รองรับอนาคต และออกแบบระบบตาข่ายทางสังคมใหม่ให้รองรับแรงงานอิสระและนอกระบบ
2. Moving Beyond GDP: ปรับเปลี่ยนจากมุ่งเน้นการเติบโตของ “GDP” ไปสู่ “Balanced Growth”กล่าวคือ สร้างและพัฒนาชุดตัวชี้วัดใหม่ให้กับประเทศที่คำนึงถึงการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น SDGs ตลอดจนผลักดัน การขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) พัฒนาระบบนิเวศเพื่อเข้าสู่การค้าทางดิจิทัลและสังคมไร้เงินสด ในด้านอุตสาหกรรมมุ่งเน้นเรื่อง High Value, High Production, Job Creation และ Smart & Appropriate Technology มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่น และพัฒนาเครื่องยนต์ที่จะมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต
3. Reinventing in Education and Human Capital : ยกระดับคุณภาพการศึกษาและทุนมนุษย์ โดยการเพิ่มคุณภาพการศึกษา กระจายทั่วถึง ปรับโมเดลการเรียนรู้รองรับอนาคต สร้างความเข้มแข็งให้มหาวิทยาลัย การเรียนการสอนผสมออนไลน์ ออฟไลน์และฝึกงาน การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาปัญญาให้ประเทศและชุมชน มุ่งให้เกิดการลงทุน Reskill, Upskill วัยทำงานให้ตอบโจทย์อนาคต รวมถึงขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
4. Leaving No One Behind : แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ ทั้งเรื่องการแก้ไขความยากจนรายบุคคล สร้างศักยภาพให้คนยากจน เปลี่ยนคนด้อยโอกาสเป็นคนได้โอกาส ปรับระบบสวัสดิการใหม่ให้ครอบคลุม ใช้ Big Data ปรับใช้ UBI (Universal Basic Income) และ Targeting Welfare ตามความเหมาะสม โดยบัตรประชาชนใบเดียวควรตรวจสอบได้ทุกสิทธิ ตลอดจนมีการพัฒนาระบบช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน
5. Create Open & Resilient Society : สร้างสังคมเปิดและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ผ่านการมีระบบข้อมูลเปิดและรัฐบาลที่โปร่งใส เปิดโอกาสให้ใช้พลังภูมิปัญญาทั้งสังคมพัฒนาชาติผ่าน Open Collaboration Platform สร้างความเข้มแข็งให้ PPP รวมถึง Social enterprise, Civil Society, จิตอาสา รวมถึงเตรียมระบบบริหารจัดการวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ