จับตา: เปิดผังออกแบบ 'ฝายทดน้ำพุมดวง' จ.สุราษฎร์ฯ ของกรมชลประทาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 ธ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5036 ครั้ง


ข่าวประชาสัมพันธ์กรมชลประทานชี้แจงกรณีชาวสุราษฎร์ธานีร้องเรียนโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำพุมดวง ระบุไม่ใช่การก่อสร้างในลักษณะของเขื่อนแต่อย่างใด แต่เป็น 'อาคารทดน้ำในรูปแบบฝายพับได้' อยู่ระหว่างออกแบบ

เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ข่าวประชาสัมพันธ์กรมชลประทานชี้แจงกรณีชาวสุราษฎร์ธานีร้องเรียนโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำพุมดวง ก่อนทำการก่อสร้างไม่ปรากฏแบบแปลนฝายทดน้ำหรือคันกั้นแม่น้ำพุมดวง ทั้งยังไม่มีการศึกษาผลกระทบยังรอบด้าน ขาดการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งครอบคลุมประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริง นั้นนายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ชี้แจงกรณีนี้ว่า ลุ่มน้ำคลองพุมดวง ในสภาพปัจจุบันมีการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บริเวณต้นน้ำถูกใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น ด้วยสภาพของภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับระดับน้ำในคลองมีปริมาณน้อยลง ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไม่เพียงพอใช้ตลอดทั้งปี กรมชลประทานจึงได้วางแผนงานโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำกั้นคลองพุมดวง บริเวณสถานีสูบน้ำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

โดยกรมชลประทาน ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ เพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งจากผลการศึกษาเห็นควรให้พัฒนาอาคารทดน้ำในรูปแบบฝายพับได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสามารถเก็บกักน้ำได้ 6.60 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำบริเวณด้านเหนือน้ำได้อีกด้วย ส่วนในช่วงฤดูน้ำหลากจะพับตัวลงขนานกับลำน้ำ ซึ่งจะไม่กีดขวางลำน้ำเหมือนกับฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก นอกจากนี้การระบายน้ำทางน้ำด้านท้ายน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำด้านท้ายน้ำสม่ำเสมอในช่วงฤดูแล้ง จะช่วยรักษาสมดุลย์ของระบบนิเวศ ซึ่งการสร้างฝายในลักษณะนี้ จะทำให้น้ำสามารถไหลล้นไปด้านท้ายน้ำได้ไม่ต่างจากสภาพปัจจุบัน ไม่ใช่การก่อสร้างในลักษณะของเขื่อนแต่อย่างใด

ทั้งนี้เนื่องจากคลองพุมดวงไม่ได้เป็นแม่น้ำสายหลักจึงไม่เข้าข่ายตามประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่กรมชลประทานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงวิถีชีวิตของประชาชนที่ใช้ทรัพยากรสองฝั่งคลองในการประกอบอาชีพ จึงได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสม หากผ่านขั้นตอนการศึกษาแล้ว จะดำเนินการด้านการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ และจะลงพื้นที่เพื่อทำประชาพิจารณ์ร่วมกับประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ต่อไป

นายเสริมชัยฯ กล่าวด้วยว่า “อาคารทดน้ำแบบฝายพับได้ มีการคำนวณสมดุลน้ำอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายน้ำไว้ ซึ่งไม่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การศึกษาสมดุลน้ำ ได้ปล่อยน้ำให้ล้นผ่านสันฝายสู่ด้านท้ายน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายน้ำ เช่น การป้องกันการรุกล้ำน้ำเค็ม การประปาภูมิภาค การประปาของท้องถิ่น รวมทั้งความต้องการน้ำเพื่อรักษาคุณภาพน้ำของการประมงด้วย โดยจะไม่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศในลำน้ำอย่างแน่นอน”

กรมชลประทาน ในฐานะของหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาแหล่งน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพลักษณะลุ่มน้ำ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ ขอยืนยันว่าการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำทุกโครงการ จะยึดประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: