บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีย์
อิแทวอน คลาส (Itaewon Class) หรือ “ธุรกิจปิดเกมแค้น” ซีรีย์เกาหลีทาง Netflix ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเมืองไทย เป็นเรื่องราวการแก้แค้นของพัคแซรอย ที่หลังจากเกิดเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง เขาก็ใช้ความแค้นเป็นเข็มทิศในการใช้ชีวิต การแสดงออกว่ามีความสุขดูเหมือนจะเป็นเพียงการมีกาลเทศะในสังคม โดยมีหญิงสาวคนหนึ่งคอยบอกให้เขาล้มเลิกความพยายามแก้แค้น แล้วมีความสุขเสียทีเถอะ แต่ด้วยความดื้อรั้นของพัคแซรอย เรื่องราวเกี่ยวกับ “ธุรกิจปิดเกมแค้น” จึงเกิดขึ้น พร้อม ๆ กับความรัก 4 เส้า ที่มีส่วนให้เรื่องนี้ไม่เครียดจนเกินไป
และก็เป็นเพราะความรักที่ทำให้พัคแซรอยสามารถทำตามความฝันที่จะได้ล้างแค้น โดยตั้งแต่ในตัวอย่างซีรีย์ก็ได้ระบุข้อมูลไว้ว่ามีหญิงสาวอีกคนหนึ่งที่มีไอคิว (IQ) หรือความสามารถเชิงเหตุผลสูงถึง 162 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า “อัจฉริยะ” (ไอคิวเฉลี่ยของคนเกาหลีใต้อยู่ที่ 106) แต่คำถามคือ ไอคิวมันมีผลขนาดนั้นหรือไม่? สมัยนี้เขาให้ความสำคัญกับ EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์มิใช่หรือ? และพรสวรรค์ก็สู้ความมานะบากบั่นไม่ได้ใช่หรือไม่?
ประเด็นนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และเป็นประธานบริษัทด้านการลงทุน Berkshire Hathaway ของเขาเอง ที่ครั้งหนึ่งเขาบอกว่าตนเองอ่านหนังสือวันละ 500 หน้า แน่นอนว่าเป็นหนังสือด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของเขา ทั้งนี้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจก็แยกไม่ออกจากข้อมูลด้านคุณภาพการศึกษา ครั้งหนึ่งบัฟเฟตต์ได้พูดเรื่องไอคิวอย่างเฉพาะเจาะจง เมื่อนาย โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ที่กำลังแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016 ได้โอ้อวดว่าตนเองเป็นคนมีไอคิวสูง บัฟเฟตต์จึงได้ทีพูดเรื่องไอคิวอย่างเฉพาะเจาะจง ว่านักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จต้องมีไอคิว 130 (อยู่ในเกณฑ์ไอคิวสูง) แน่นอนว่าไอคิวไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ใครประสบความสำเร็จ แต่เมื่อพิจารณาจากการที่ไอคิวเฉลี่ยของคนอเมริกันอยู่ที่ 98 เท่านั้น นับว่ามีนัยยะสำคัญทางตัวเลขไม่น้อย
และเมื่อดูกลุ่มประเทศที่ไอคิวเฉลี่ยสูงที่สุด กับชื่อเสียงด้านเศรษฐกิจ ก็นับเป็นข้อมูลที่มองข้ามไปไม่ได้ กล่าวคือ ชาวฮ่องกงมีไอคิวเฉลี่ย 108, สิงคโปร์ 108, เกาหลีใต้ 106, จีน 105, ญี่ปุ่น 105, ไต้หวัน 105, ไอซ์แลนด์ 101, มาเก๊า 101, สวิตเซอร์แลนด์ 101 เป็นต้น โดย วอร์เรน บัฟเฟต์ บอกว่าต้อง 130 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเหล่านี้ไม่น้อย และมีอาจารย์ด้านจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย Dean Keith Simonton เสนอว่า ผู้นำที่เก่งเป็นคนที่มีไอคิวประมาณ 120-125
แน่นอนว่าไอคิวไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ใครประสบความสำเร็จ แต่หญิงสาวคนหนึ่งใน อิแทวอน คลาส ที่มีไอคิวอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกกันว่าอัจฉริยะ แต่เธอก็ไม่ใช่อัจฉริยะแบบคนแปลกประหลาด มีรักโลภโกรธหลงแบบคนปกติ สิ่งสำคัญคือเธอทั้งรักทั้งหลงพัคแซรอยจนแทบคลั่งด้วยสัญชาตญาณเพียงไม่กี่วินาที ความรักนี้ทำให้เธอได้ใช้ประโยชน์จากพรสวรรค์ของตนเอง แทนที่เธอจะตายจากโลกไปเสียก่อน เพราะแม้ความสามารถรอบด้านของเธอจะเป็นที่ประจักษ์ต่อคนรอบข้าง แต่เธอก็รู้สึกว่าชีวิตมันเหนื่อยอยู่ดี แต่ความหลงไหลในพัคแซรอยของเธอก็ทำให้เธอเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นให้พัคแซรอยสามารถเดินไปบนเส้นทางการล้างแค้นอันใหญ่หลวงที่ดูเหมือนเป็นแค่ความเพ้อฝันได้ อย่างไรก็ตามความบากบั่นสู้ชีวิตและยึดมั่นในเป้าหมายอย่างไม่สั่นคลอน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ อิแทวอน คลาส ได้รับความนิยมอย่างสูง
เรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งก็เป็นของกลาง ๆ จะดีหรือชั่วแล้วแต่จะใช้ ดังเช่นที่ศัตรูอันดับหนึ่งของพัคแซรอยมีความฉลาดด้านนี้ เรื่องนี้ก็เคยมีผู้เสนอทำนองว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นหนึ่งในคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์มากที่สุดในโลก สามารถบงการให้กองทัพนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเป็นล้านคนได้
แต่ความฉลาดทั้งสองด้านดังกล่าวรวมกันก็อาจยังไม่ได้ทำให้ใครประสบความสำเร็จในเป้าหมายอันใหญ่หลวงได้ ซึ่งเรื่อง อิแทวอน คลาส ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานหนักเพื่อบรรลุเป้าหมาย สอดคล้องกับคนที่ร่ำรวยด้วยตนเองระดับล้านดอลลาร์ขึ้นไป (self-made millionaires) ในสหรัฐฯ เห็นตรงกันว่าการทำงานอย่างหนักเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนบอกเป็นตัวเลขว่าต้องเปลี่ยนจากทำงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น เป็นทำงานให้ได้สัปดาห์ละ 95 ชั่วโมง และการทำงานหนักก็มิได้ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตแต่อย่างใด ซึ่งถ้าเป็นลูกน้อง สมัยนี้คงไม่มีใครบอกให้ทำงานหนักขนาดนั้น แต่เมื่อมีเป้าหมายใหญ่แล้ว มันก็ต้องแลก และต้องนำทีมเอง
แต่สำหรับพัคแซรอย แค่ความมานะบากบั่นกับความโชคดีที่มีหญิงสาวอัจฉริยะมาเป็นส่วนสำคัญในภารกิจ และหญิงสาวอีกคนที่แม้ไม่ได้แสดงออกว่าคลั่งเขาอย่างหนัก แต่ก็มีบทบาทสำคัญในภารกิจล้างแค้นไม่แพ้กันด้วยตำแหน่งระดับสูงในองค์กรที่เป็นศัตรูของพัคแซรอย ในสังคมเกาหลีใต้ที่ผู้หญิงยังคงมีโอกาสน้อยกว่าผู้ชายในด้านความก้าวหน้าทางอาชีพ แต่ความสามารถของหญิงสาวสองคนนี้ก็ยังไม่เพียงพอ ภารกิจอันใหญ่ยิ่งมันต้องใช้เงินมาก ซึ่งเรื่องนี้ก็ให้เป็นบทบาทของผู้หญิงอีกเช่นกัน โดยแม้จะมีการเลือกปฏิบัติด้านอาชีพต่อผู้หญิงในเกาหลีใต้ แต่เกาหลีใต้ก็มีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางธุรกิจอยู่จำนวนมาก และไม่ใช่ความร่ำรวยของทุกคนต้องมาจากบรรพบุรุษหรือสามีเท่านั้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ