ดึงผู้ประกอบการ 1,889 รายร่วมโครงการจัดการเศษโลหะสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 4787 ครั้ง

ดึงผู้ประกอบการ 1,889 รายร่วมโครงการจัดการเศษโลหะสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวโครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน 30 ต.ค. 2563 ผลักดันอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจดึงผู้ประกอบการ 1,889 รายเข้าร่วม

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2563 ว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 30 ต.ค. 2563 นี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมจัดงานประชาสัมพันธ์โครงการโครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน หรือ Green Scrap Metal Thailand 2020 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดการเศษโลหะอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนเกิดการลงทุนด้านการบริหารจัดการเศษโลหะเพื่อนำกลับมารีไซเคิลใหม่ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้โมเดล BCG (Bio-Circular-Green)Economy

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูนิโด) กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะมีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เข้าร่วมโครงการ 1,889 ราย และสนับสนุนผู้ประกอบการให้เป็นโรงงานนำร่อง 5-10 ราย คาดว่าจะสร้างให้เกิดมูลค่าการลงทุนของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการในการปรับปรุงเครื่องจักรและปรับปรุงกระบวนการผลิตมากกว่า 560 ล้านบาท

“ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อลดการปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทที่ปลดปล่อยไม่จงใจในกลุ่มที่เรียกว่า ยูป๊อป (U-POPs) เช่น ไดออกซิน และฟิวแรน เป็นต้น ได้ไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งสารดังกล่าวมีพิษสูง สลายตัวยาก เกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อม และขณะเดียวกันคาดว่าจะสร้างความตระหนักแก่บุคลากรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 50%” นายสุริยะกล่าว

สำหรับการดำเนินงานโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2566 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินจากหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการอีกรวมเป็นเงิน 33.71 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกิจกรรมหลักของโครงการจะมีการทบทวนกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับยูป็อป รวมทั้งส่งเสริมการใช้แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Technique) และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practice) เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการติดตามประเมินผลโรงงานนำร่องที่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: