จับตา: ผลสำรวจชี้ภาคเอกชนชะลอรับพนักงานใหม่ 57%

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2329 ครั้ง


กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย เอเจนซี่ด้านทรัพยากรบุคคลครบวงจรเผยผลสำรวจพบภาคเอกชนต่างมีมาตรการที่หลากหลายเพื่อรัดเข็มขัดในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่การชะลอรับพนักงานใหม่ 57% ชะลอขึ้นเงินเดือน/เลื่อนขั้น 26% ลดเงินเดือน 18% ลดกำลังการผลิต 17% ให้พนักงานใช้วันลา 17% เลิกจ้างพนักงาน 16% พักงานพนักงานชั่วคราว 14% ลดการจ้าง supplier 11% | ที่มาภาพประกอบ: KResearch

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย (Adecco Thailand) เปิดเผยผลสำรวจ Resetting Normal: Defining the New Era of Work ที่สำรวจในกลุ่มคนทำงานในประเทศไทยจำนวน 670 คน โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานประจำและมีการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป และกว่าครึ่งเป็นพนักงานในระดับหัวหน้างาน/ผู้จัดการ ถึงผลกระทบที่ได้รับจากการระบาดของโควิด-19 และมุมมองต่ออนาคตการทำงาน

ผลการสำรวจพบว่า ภาคเอกชนต่างมีมาตรการที่หลากหลายเพื่อรัดเข็มขัดในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่การชะลอรับพนักงานใหม่ (57%) ชะลอขึ้นเงินเดือน/เลื่อนขั้น (26%) ลดเงินเดือน (18%) ลดกำลังการผลิต (17%) ให้พนักงานใช้วันลา (17%) เลิกจ้างพนักงาน (16%) พักงานพนักงานชั่วคราว (14%) ลดการจ้าง supplier (11%) รวมถึงมีปรับตารางงาน ลดเวลาทำงานที่ออฟฟิศ ผสมผสานการทำงานจากที่บ้าน เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 (57%)

สำหรับมุมมองของพนักงานที่มีต่อนโยบาย Work From Home พนักงานส่วนใหญ่กว่า 80% หวังให้มีการสานต่อนโยบายนี้ โดยผสมผสานการทำงานจากที่บ้านในบางวัน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 และสร้างสมดุลระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยพนักงานราว 54% ยังเชื่อว่าการมาทำงานที่ออฟฟิศยังจำเป็นอยู่เพราะจะช่วยให้การประสานงานระหว่างทีมดีขึ้น ในภาพรวมพนักงานส่วนใหญ่ยังคาดหวังให้องค์กรมองที่ผลงานมากกว่าให้ความสำคัญเรื่องชั่วโมงการทำงาน และอยากให้ยืดหยุ่นเรื่องการทำงานมากขึ้น โดยพนักงานส่วนใหญ่กว่า 51% เชื่อว่าการทำงานจากที่บ้านได้ประสิทธิผลไม่ต่างจากการมาทำงานที่ออฟฟิศ ขณะที่ 37% เชื่อว่าพวกเขาทำผลงานได้ดีขึ้นกว่าตอนทำงานที่ออฟฟิศ มีเพียง 12% ที่คิดว่าคุณภาพการทำงานของพวกเขาลดลงเมื่อทำงานจากที่บ้าน

ด้านผลกระทบจากโควิดที่เกิดขึ้นกับพนักงาน พนักงานส่วนใหญ่คิดว่าเป็นหน้าที่ของ องค์กรและ รัฐบาลที่ต้องยื่นมือช่วยเหลือพนักงานให้ก้าวข้ามวิกฤตนี้ ขณะเดียวกันก็มองว่าตนต้องพึ่งพาตัวเองด้วย สำหรับสิ่งที่พนักงานคาดหวังจากองค์กร อันดับหนึ่งได้แก่การสนับสนุนการทำงานที่ยืดหยุ่นและการทำงานจากบ้าน (84%) รองลงมาคือต้องการความชัดเจนในการรับมือกับวิกฤต (78%) การลงทุนด้านเทคโนโลยีและปรับตัวสู่ดิจิทัล (78%) การสนับสนุนอุปกรณ์ (76%) และระบบ IT ให้รองรับการทำงานจากที่บ้าน (75%) ด้านสิ่งที่พนักงานคาดหวังจากหัวหน้ามากที่สุดในช่วงเวลานี้ ได้แก่ การช่วยหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น (58%) การให้ความไว้วางใจในการทำงาน (55%) การมีความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสารที่ดี (52%) รวมถึงการสนับสนุนการทำงานที่ยืดหยุ่นให้กับพนักงาน (51%)

สำหรับมุมมองที่มีต่อสถานการณ์หลังโควิด-19 พนักงานกว่า 56% เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น และมองว่างานสายเทคโนโลยีน่าจะมีอนาคตที่สุด แต่แม้ว่าส่วนใหญ่จะมองโลกในแง่ดี พนักงานกว่า 65% ก็ยังไม่มีแผนเปลี่ยนงานในอีก 1 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังไม่กล้าเสี่ยงย้ายงานใหม่ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่แน่นอน

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อเทียบผลสำรวจของไทยกับในอีกหลายประเทศที่ Adecco ได้ทำการศึกษา ภาพรวมพบว่าผลที่ออกมาค่อนข้างสอดคล้องกับหลายประเทศ ที่องค์กรมีการปรับตัวให้ lean มากขึ้น ดิจิทัลมากขึ้น ในขณะที่รูปแบบการทำงานก็มีผสมผสานการทำงานจากที่บ้าน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น new normal หรือ ความปกติใหม่ที่องค์กรจำเป็นต้องวางแผนปรับตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะฝ่าย HR ที่จะต้องปรับกลยุทธ์การสรรหาใหม่ เพราะโจทย์ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไป เราอาจจะต้องการคนที่มีชุดทักษะที่ต่างจากเดิม ไม่สามารถจ้างพนักงานประจำได้มากเท่าที่เคย อาจจะต้องมีการผสมผสานการจ้างงานในรูปแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น การสรรหาก็จำเป็นที่จะต้องมีความคล่องตัวและปรับสู่ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่ง Adecco ก็ได้ออกแบบหลักสูตรเพื่อช่วย HR เตรียมพร้อมในจุดนี้”

“ผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าคนไทยต้องการการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น องค์กรอาจจำเป็นต้องฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้และนำมาปรับใช้เพื่อรักษาบุคลากรและดึงดูดผู้สมัครหน้าใหม่ ปัจจุบันนี้ work from home ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผู้สมัครใช้คัดเลือกองค์กร เพราะคนสมัยนี้มองว่าการทำงานสามารถทำจากที่ไหนก็ได้ และให้ความสำคัญกับสมดุลการใช้ชีวิตในลำดับต้นๆ ที่สำคัญยังมีแรงงานเก่งๆ อีกมากที่ลาออกจากงานประจำเพราะความจำเป็นส่วนตัวแต่ยังพร้อมที่จะกลับมาทำงานในรูปแบบฟรีแลนซ์ ดังนั้นการที่องค์กรนำนโยบายนี้มาปรับใช้ก็จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อีกด้านหนึ่งนโยบายนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการรักษาบุคลากร เพราะทำให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรห่วงใยสุขภาพและความปลอดภัยของพวกเขา นอกจากนี้การคงมาตรการ work from home ยังมีประโยชน์ในระยะยาวต่อการลดความเสี่ยงการระบาดของโรคและช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” คุณธิดารัตน์กล่าว

“อย่างไรก็ตามการผสมผสานการทำงานจากที่บ้านก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่หลายองค์กรต้องเผชิญเพราะการทำงานนอกออฟฟิศนั้นองค์กรมักจะมีความกังวลใจในแง่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานของพนักงาน และมักให้หัวหน้าฝ่ายใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคลในการตัดสินว่าพนักงานคนไหนสามารถหรือไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ โดยขาดเกณฑ์การประเมินและมาตรการที่ชัดเจน ในขณะที่พนักงานเองก็เรียกร้องความไว้วางใจในการทำงานจากหัวหน้า ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะการผสมผสานการทำงานแบบ Work From Home ก็ยังเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับหลายๆ องค์กร”

“ภายใต้ความปกติใหม่นี้ผู้นำองค์กรก็จำเป็นที่จะต้องดึงทักษะบางตัวขึ้นมาในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยจากผลสำรวจของ Adecco ในต่างประเทศจะต้องการผู้นำที่มีทักษะในการเข้าใจผู้อื่น (Empathy) แต่ด้วยความที่คนไทยมีความเห็นอกเห็นใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว คนไทยจึงอยากได้ผู้นำที่เข้ามาให้คำแนะนำและช่วยแก้ปัญหามากกว่า ดังนั้นทักษะที่พนักงานไทยในระดับหัวหน้างานขึ้นไปต้องมีคือทักษะด้านการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem Solving) และทักษะในการปรับตัว (Adaptability) เพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจไม่เคยเจอมาก่อน”

“นอกจากนี้เพื่อสร้างความไว้วางใจในการทำงานให้เกิดขึ้น ฝ่าย HR และผู้บริหารในแผนกจะต้องร่วมมือกันกำหนดกรอบการทำงานและเกณฑ์วัดผลที่ชัดเจน เพราะเมื่อทุกคนสามารถปฏิบัติตามกรอบ ส่งงานได้ตามเวลา มีผลงานที่ได้มาตรฐาน ฝ่ายบริหารก็จะมีความมั่นใจว่าพนักงานสามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำให้องค์กรสามารถปรับตัวสู่การทำงานแบบยืดหยุ่นได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับฝ่าย IT ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเตรียมพร้อมและจัดหาเทคโนโลยีมารองรับการทำงานจากที่บ้าน เพราะจากผลสำรวจเราจะเห็นว่าคนทำงานกว่า 75% ยังต้องการการสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการทำงานจากที่บ้านอยู่”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: