ผู้ทรงคุณวุฒิ คกก.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ ไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คนใหม่

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 3598 ครั้ง

ผู้ทรงคุณวุฒิ คกก.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ ไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คนใหม่

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเขียนถึงรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คนใหม่ เนื่องจากคุณสมบัติไม่เพียงพอ โดยไม่เคยผ่านงานด้านอุทยานแห่งชาติมาก่อน ซึ่งถือเป็นการผิดธรรมเนียบปฏิบัติที่ผ่านมา และผิดจากแนวทางปฏิรูประบบงานในการในพื้นที่อนุรักษ์ที่หลายคนพยายามปรับปรุงแก้ไขร่วมกันอย่างต่อเนื่อง | ที่มาภาพประกอบ: INNNews 

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2563 ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ส่ง 'แถลงการณ์ไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คนใหม่ คุณสมบัติไม่เพียงพอ' ลงชื่อ ดร. อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ระบุว่าเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 กรุมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คนใหม่แทนคนเดิมที่ได้เลื่อนตำแหน่ง ซึ่งคำสั่งดังกล่าวสร้างความรู้สึกอึ้งและตกตะลึงแก่ทั้งข้าราชการและลูกจ้างในกรมอุทยานฯ และบุคคลอื่นๆในวงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และองค์กรอนุรักษ์เอกชนที่สนับสนุนงานอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าร่วมกับกรมอุทยานฯ ตลอดมา เนื่องจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คนใหม่ตามคำสั่งนั้นไม่เคยผ่านงานด้านอุทยานแห่งชาติมาก่อน ซึ่งถือเป็นการผิดธรรมเนียบปฏิบัติที่ผ่านมา และผิดจากแนวทางปฏิรูประบบงานในการในพื้นที่อนุรักษ์ที่หลายคนพยายามปรับปรุงแก้ไขร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2505 ถือเป็นอุทยานแห่งชาติอันดับหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนสำคัญของผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น -เขาใหญ่ ซึ่งทุกๆปีจะถูกประเมินจากคณะกรรมการมรดกโลกในด้านคุณภาพการจัดการ คุณภาพเจ้าหน้าที่ และสถานภาพทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนกระทั่งปัจจัยคุกคามต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่คร่ำหวอดในงานด้านอุทยานแห่งชาติ เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ สำคัญๆมาก่อน และมีผลงานการทำงานที่โดดเด่น เป็นที่ยอมรับ ก่อนจะได้มาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่ในช่วงระยะเวลากว่า 50 ปี ของงานด้านอุทยานแห่งชาติ และสัตว์ป่า ได้ผ่านยุคที่เรียกได้ว่าเกิดความตกต่ำด้านการทำงาน ที่เป็นผลพวงจากการแต่งตั้งหัวหน้าพื้นที่ที่ขาดคุณสมบัติ และมีผลต่อขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานเป็นช่วงๆ พอสรุปได้ดังนี้

ช่วงที่ถือว่าเป็นช่วงที่พื้นที่อนุรักษ์ในไทยทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องเผชิญกับความตกต่ำในการคุ้มครองดูแล มีอยู่สองช่วงสำคัญๆ คือ ช่วงหลังการยกเลิกสัมปทานทำไม้ หรือปิดป่า ในปี 2532 ซึ่งช่วงนั้นพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศยังอยู่ภายใต้กรมป่าไม้ ปรากฎการที่เกิดตามมาคือข้าราชการที่เคยมีภารกิจหลักจากการทำไม้ หรือที่เรียกกันว่า “พวกป่าไม้พานิชย์” ได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่ง แต่พวกเขาเหล่านั้นเคยชินกับชีวิตที่มองต้นไม้เป็นเงินทอง ไม่เข้าใจระบบนิเวศและนิเวศวิทยา และที่สำคัญคือขาดจิตวิญญาณของนักอนุรักษ์ที่ต้องมีความมุ่งมั่นในการทำงานด้านอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า ทำให้สถานภาพป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งค่อยๆทรุดโทรมลงทั้งจากการบุกรุกแผ้วถางป่า ลักลอบตัดไม้ และล่าสัตว์ป่า จนกระทั่งเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้สายอนุรักษ์ ได้ร่วมกับคณาจารย์ นักอนุรักษ์ในองค์กรภาคเอกชน และนักการเมืองที่มีความห่วงใยในป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศ ในยุคนั้น รณรงค์แยกงานด้านอนุรักษ์จากกรมป่าไม้ และตั้งเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2545 โดยเจตนาเดิมของผู้มีส่วนร่วมรณรงค์แยกกรมฯ ในตอนนั้นหวังให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นกรมที่มีขนาดเล็ก เล็กว่ากรมป่าไม้ และเป็นกรมที่เน้นงานอนุรักษ์อย่างแท้จริง โดยมีสองงานหลักคืออุทยานแห่งชาติ และอนุรักษ์สัตว์ป่า เท่านั้น แต่ปรากฎว่าผู้เป็นใหญ่ในยุคนั้นบางท่าน พยายามดึงงานด้านอื่นๆ ที่ควรไปอยู่กับกรมป่าไม้ ให้คงไว้กับกรมอุทยานฯด้วย เช่นงานอนุรักษ์ต้นน้ำ งานปลูกป่า งานป้องกัน และอื่นๆ จึงสร้างความสับสนและเกิดงานที่ทับซ้อน ระหว่างกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ

ช่วงถัดมาหลังจากตั้งกรมอุทยานแห่งชาติฯ แล้ว แทนที่การทำงานอนุรักษ์จะได้รับการเอาใจใส่อย่างเต็มที่ แต่เมื่อปรากฎว่าพื้นที่อนุรักษ์ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง กลายเป็นแหล่งสร้างเงินรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล นักการเมืองและข้าราชการที่บริหารงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางยุค มุ่งเน้นการเก็บรายได้จากอุทยานแห่งชาติเป็นหลัก พื้นที่อุทยานแห่งชาติที่มีเงินรายได้สูงๆ ทั้งทางบกและทะเล ถูกแรงกดดันจากนักการเมือง ให้อธิบดีฯแต่งตั้งข้าราชการที่สามารถสนองความต้องการเรื่องการเก็บเงินรายได้ จนกระทั่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งทางบกและทางทะเลหลายแห่งเกิดปัญหาทรุดโทรมจากขยายตัวด้านการท่องเที่ยวอย่างเกินกำลังและไร้ทิศทาง ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทะเลหลายจุด ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เช่น การบุกรุกพื้นที่ของรีสอร์ทผิดกฎหมาย แนวปะการังเสื่อมโทรม สัตว์ป่าหลายชนิดสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่อนุรักษ์ เพราะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม่ทำหน้าที่ดูแลป่าอย่างเต็มที่ เนื่องจากถูกครอบงำไปด้วยงานบริการนักท่องเที่ยว

จากผลเสียหายต่อสภาพธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า จึงทำให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ในยุคปฏิรูป ต้องปฏิรูประบบงานกันอย่างยกใหญ่ ตามนโยบายรัฐบาล โดยเน้นให้เกิดแนวทาง “ใช้วิชาการ นำการจัดการ โปร่งใส ตรวจสอบได้” แนวทางการปฏิรูปที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือมีการวางแนวทางการเข้าสู่ตำแหน่ง (Career path) ของหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา แนวทางที่ชัดเจนภายใต้การบริหารงานของอธิบดีธัญญา เนติธรรมกุล คือ หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ฯที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆของประเทศ ต้องเคยมีประสบการณ์เป็นหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ฯ ลำดับรองๆมาก่อน เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความเข้าใจ และประสบการณ์ในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ และเปิดโอกาสให้องค์กรอนุรักษ์ภาคเอกชนหลายองค์กร เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะแนวทางปฏิรูป เพื่อให้การจัดการพื้นที่อนุรักษ์ฯ เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย และลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า จนกระทั่งอธิบดีธัญญาฯ ได้รับการยอมรับและได้รับรางวัลนักอนุรักษ์ดีเด่น จากสถาบันการศึกษา และองค์กรอนุรักษ์เอกชน หลายแห่งในการปฏิรูปงานในกรมอุทยานฯ

ดังนั้น คำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ล่าสุด ที่เป็นบุคคลที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานด้านอุทยานแห่งชาติฯ มาก่อน จึงสร้างความประหลาดใจกับคนในวงการอย่างยิ่ง หลายคนวิพากษ์วิจารณ์อธิบดีฯ ธัญญาฯ อย่างหนัก ซึ่งในฐานะผู้ออกคำสั่งก็ต้องยอมรับในคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น แต่หากวินิจฉัยจากสื่อที่ลงข่าวเรื่องนี้ รายงานว่า อธิบดีฯ ธัญญาฯ ได้รับแรงกดดันจากผู้บริหารระดับสูง ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ออกคำสั่งนี้ ก็ยิ่งทำให้กังวลกันอย่างกว้างขวางว่า อนาคตงานจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จะเป็นอย่างไร ขนาดคนระดับอธิบดี ยังไม่สามารถยืนหยัดในหลักการที่ตั้งใจทำกันไว้เช่นนี้ เราจะหวังพึ่งใครได้ หรือสถานการณ์จะเข้าสู่วงจรเดิมก่อนยุคปฏิรูป โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติที่มีเงินรายได้จากการท่องเที่ยวมากๆ เช่น อช.เขาใหญ่ ซึ่งกว่าผลกระทบต่อธรรมชาติจะเห็นชัดก็คงใช้เวลาอีกหลายปี แต่จะกลายเป็นความเสียหายที่ยากจะฟื้นฟู จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ตั้งใจมาบริหารกระทรวงฯ นี้โดยเฉพาะ และเคยใช้ชีวิตผ่านการศึกษาทั้งในอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ที่มีระบบการจัดการอุทยานแห่งชาติที่เข้มแข็ง มีระบบการคัดสรรบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่เข้มข้น จะเป็นความหวังให้กับคนในสังคมไทยที่มีความเป็นห่วงใยทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ และสัตว์ป่า อย่างแท้จริง ให้ท่านได้พิจารณาแก้ไขประเด็นนี้ โดยไม่ปล่อยให้แนวทางการปฏิรูประบบงานอุทยานแห่งชาติ กลับเข้าสู่วงจรที่ไม่มีระบบ เสี่ยงต่อการคอรัปชั่นสูง และเสี่ยงต่อความเสียหายต่อป่าไม้ สัตว์ป่า และพื้นที่ธรรมชาติ ที่ยากจะแก้ไขฟื้นฟูเช่นที่ผ่านมาในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: