รวบรวมสถานการณ์ COVID-19 ประจำสัปดาห์ 12-18 เม.ย. 2020 โดย TCIJ ... ณ วันที่ 25 เม.ย. 2020 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 2,834,697 ราย ประเทศไทย 2,907 ราย จากการคัดกรอง 142,589 ราย
19 เม.ย. 2020
Radio Free Asia รายงานโดยอ้างแหล่งข่าว 2 แหล่งในกรุงเปียงยาง และในจังหวัดรยังกังของเกาหลีเหนือ เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ทางการเกาหลีเหนือกล่าวในการบรรยายสาธารณะว่ามีรายงานยืนยันมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศเกาหลีเหนือล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2020 ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้มีการระบุจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าวว่ามีเท่าใด | ที่มาภาพประกอบ: Radio Free Asia
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 32 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,765 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 47 คน และรักษาหายสะสม 1,928 คน
- สธ. แถลงระบุนักวิจัยไทยผลิตวัคซีนต้าน COVID -19 อยู่ในขั้นทดลองกับสัตว์แล้ว เผยต้องเดินหน้า 2 แนวทาง 1. ผลิตวัคซีนเอง 2. ร่วมพัฒนาและวิจัยกับต่างชาติ เผยผลการศึกษาประสิทธิผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจรและสารแอนโดรกราโพไลด์ในฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส COVID-19 แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อ COVID-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรคโดยที่ยังไม่มีอาการ แต่ให้รับประทานทันทีเมื่อเริ่มมีอาการคล้ายอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยการศึกษานี้เป็นความร่วมมือของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม และยังจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยในคนต่อไป
- ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก. จำนวน 3 ฉบับ โดยกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาล และหน่วยงานรัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 วงเงินรวมถึง 1.9 ล้านล้านบาท
- นักเรียน AFS -คนไทย จากสหรัฐฯ อีก 162 คน เดินทางถึงสนามบินอู่ตะเภาแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่คัดกรองเข้มงวด ก่อนส่งกักตัว 14 วัน เฝ้าระวัง COVID-19
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิด 'ศูนย์ชุมชนสู้ภัย COVID-19' พร้อมตั้งครัวกลางเป็นแห่งแรก ที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา กทม. ตามแนวคิดสำรวจให้พบจบที่ชุมชน
- จ.สิงห์บุรี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการป้องกันควบคุมโรคของจังหวัด โดยกล่าวว่าการที่ยังไม่พบจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในจังหวัดที่ร่วมกันทำตามมาตรการของรัฐบาล ซึ่งทางจังหวัดมีมาตรการในการคัดกรองเบื้องต้นโดยการตั้งด่านคัดกรองตามถนนสายหลักๆ ถึง 9 ด่าน รวมถึงมีผู้ใหญ่บ้าน อสม. ตรวจสอบคนแปลกหน้าหรือประชาชนที่ไปอยู่ที่อื่นว่ากลับเข้ามาในหมู่บ้านหรือไม่ สำหรับการทำงานของหน่วยงานราชการจังหวัด ใช้มาตรการให้ข้าราชการส่วนหนึ่งเอางานกลับไปทำที่บ้าน ไม่ต้องมาปฏิบัติงานที่สำนักงานสลับหมุนเวียนกัน ส่วนคนที่มาปฏิบัติงานได้ใช้มาตรการเว้นระยห่างเหมือนกับที่จังหวัดได้ขอให้ประชาชนช่วยกันทำ คือ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร และการทำงานเหลื่อมเวลากัน นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่ที่บ้าน งดออกจากบ้านหากไม่จำเป็น แต่หากจำเป็นให้ใช้มาตรการเว้นระยะห่าง และไม่อนุญาตให้คนต่างจังหวัดมาพำนักในจังหวัด ซึ่งได้ขอความร่วมมือประชาชนหากเป็นญาติพี่น้องหรือลูกหลานให้งดการกลับมาก่อนในช่วงนี้
- Global Citizen และ WHO ชวนศิลปินดังทั่วโลก ร่วมจัดคอนเสิร์ตการกุศลออนไลน์ครั้งประวัติศาสตร์ One World: Together At Home ให้กำลังใจผู้คนทั่วโลกให้มีพลังในการต่อสู้กับการระบาดของ COVID-19
- สหรัฐฯ รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ติดตามความเป็นไปได้ในทฤษฎีห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์อาจเป็นต้นกำเนิดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งเชื้อไวรัสอาจหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์โดยอุบัติเหตุหรือจากความผิดพลาดของนักวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แห่งนี้ และขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังหาหลักฐานเพื่อยืนยันว่าต้นกำเนิดของเชื้อ COVID-19 มาจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่งในสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ไม่ใช่ที่ตลาดสดหัวหนานในอู่ฮั่นซึ่งมีการขายเนื้อสัตว์ป่าด้วย นอกจากนี้สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) เปิดเผยว่าการทดลองรักษาลิงวอกที่ติดเชื้อ COVID-19 ด้วยยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ช่วยลดอาการของโรคและความเสียหายในปอด แต่การศึกษาครั้งนี้ยังไม่ได้ผ่านการตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเดียวกัน (peer review) และไม่ควรถูกสรุปเป็นข้อแนะนำทางคลินิก แต่เป็นการแบ่งปันข้อมูลเพื่อช่วยเหลือภาคสาธารณสุขรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่วนมาตรการล็อกดาวน์พบว่าประชาชนทั่วเมืองสหรัฐฯ ยังคงรวมตัวกันชุมนุมและเดินขบวนไปตามท้องถนนเพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับมาตรการล็อกดาวน์ตามแนวทางของผู้ว่าการรัฐแต่ละแห่งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 และขยายขอบเขตไปยังรัฐขนาดใหญ่ขึ้น
- เกาหลีเหนือ Radio Free Asia รายงานโดยอ้างแหล่งข่าว 2 แหล่งในกรุงเปียงยาง และในจังหวัดรยังกังของเกาหลีเหนือ เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ทางการเกาหลีเหนือกล่าวในการบรรยายสาธารณะว่ามีรายงานยืนยันมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศเกาหลีเหนือล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2020 ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้มีการระบุจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าวว่ามีเท่าใด ทั้งนี้หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในหลายพื้นที่ทั่วโลกจากที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศจีนซึ่งมีพรมแดนติดกับเกาหลีเหนือ รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ทำการตรวจตราการเข้าออกตามแนวชายแดนของตนเองอย่างเข้มงวดและยังมีคำสั่งให้ชาวต่างชาติที่มาจากประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ COVID-19 กักตัวเองเป็นเวลา 30 วัน
- เกาหลีใต้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (KCDC) ออกแถลงการณ์รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 รายวัน ว่าในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีการยืนยันผู้ป่วยใหม่ 8 ราย ถือเป็นสถิติการพบผู้ป่วยเป็นเลขหลักเดียวครั้งแรก นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. และยังเป็นจำนวนผู้ป่วยรายวันที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสถิติของเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาซึ่งมีการยืนยัน 18 คน ทั้งนี้ในจำนวนผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่นั้นเป็นการติดเชื้อภายในประเทศเพียง 3 คน ส่วนที่เหลือเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ บ่งชี้ว่าเกาหลีใต้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้แล้วเกือบ 100% ขณะที่จำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็นอย่างน้อย 10,661 คน แต่คงเหลือผู้ป่วยอยู่ในระบบอย่างน้อย 2,619 คน เท่านั้น อย่างไรก็ตาม KCDC ยืนยันยังคงมาตรการควบคุมโรคเข้มงวดในระดับสูงสุด รวมถึงการยกระดับคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ การขยายขอบเขตการตรวจหาเชื้อไวรัสและการกำชับให้ชาวเกาหลีใต้ปฏิบัติตามแนวทางรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไป โดยทางการเกาหลีใต้ได้ขยายไปอีก 15 วัน แต่ผ่อนปรนความเข้มงวดสำหรับโบสถ์และการแข่งขันกีฬา โดยโบสถ์จะไม่มีการปิดอีกต่อไป การแข่งขันกีฬาบางอย่าง เช่น ฟุตบอล กลับมาแข่งขันได้โดยไม่มีผู้เข้าชมในสนาม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าเป็นวิธีการที่ปลอดภัยมากที่สุดในการรักษาระยะห่างทางสังคม แต่ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องหาแนวทางที่เป็นกลางหากสามารถรักษาการบริหารจัดการที่มีเสถียรภาพในระดับปัจจุบันได้ จะปรับไปใช้นโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมแบบปกติได้ตั้งแต่ 6 พ.ค. 2020 เป็นต้นไป โดยแนวทางนี้จะทำให้เริ่มกลับมาเริ่มเดินหน้างานด้านเศรษฐกิจได้ขณะเดียวกันก็ยังคงดำเนินแนวทางการทำให้ปลอดเชื้อไวรัสและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในชีวิตประจำวัน
- เยอรมนี รัฐมนตรีสาธารณสุขได้แถลงว่าไวรัส COVID-19 ได้อยู่ภายใต้การควบคุมแล้วซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกักตัวควบคุมการเคลื่อนไหวหลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนร้านค้าขนาดเล็กมีกำหนดกลับมาเปิดให้บริการลูกค้าได้อีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย. เด็กนักเรียนมีกำหนดไปโรงเรียนได้อีกครั้งในวันที่ 4 พ.ค. ถึงแม้ว่าจะยังคงมีมาตรการเข้มงวดบางอย่างบังคับใช้อยู่ รวมถึงการห้ามชุมนุมเกินกว่า 2 คนในสถานที่สาธารณะและการจัดงานใหญ่ๆ นอกจากนี้ได้ยังพบว่าอัตราการติดเชื้อระหว่างคนกับคนได้ลดลงอยู่ที่ 0.7 นั่นหมายถึงแต่ละคนที่เป็นพาหะของโรคจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้เฉลี่ยไม่ถึง 1 คนแล้ว ส่วนมาตรการป้องกันควบคุมโรคจะให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย และแอปพลิเคชันติดตามเชื้อไวรัสจะให้ประชาชนดาวน์โหลดได้ภายใน 3-4 สัปดาห์นี้
- อิสราเอล ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ โดยจะให้ร้านค้าต่างๆ เริ่มเปิดทำการได้และผ่อนปรนความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ตามสมควร เนื่องจากรัฐบาลประสบผลสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 นอกจากนี้ธุรกิจที่เปิดใหม่มีจำนวนคนงานได้เพียง 30% เท่านั้น และห้างสรรพสินค้าและตลาดการค้าใหญ่ยังไม่อนุญาตให้เปิดแต่อย่างใด
- รัสเซีย รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นเป็นสถิติใหม่ที่ 6,060 รายในหนึ่งวัน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในรัสเซียขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 42,000 คน เสียชีวิตแล้ว 361 คน ทั้งนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือน เม.ย. 2020 แม้จะยังคงต่ำกว่าอีกหลายประเทศในยุโรป รวมทั้ง เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และอังกฤษ
- บราซิล ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโรของบราซิลร่วมประท้วงหน้ากองทัพในกรุงบราซิเลีย เพื่อคัดค้านคำสั่งอยู่บ้านของรัฐบาลท้องถิ่น
- สิงคโปร์ แมคโดนัล สิงคโปร์ ตัดสินใจระงับการให้บริการร้านอาหารทุกสาขาที่ตั้งอยู่ในเกาะสิงคโปร์ ยาวถึง 4 พ.ค. 2020 ซึ่งลูกค้าไม่สามารถซื้ออาหารได้ไม่ว่าจะเป็นทางเดลิเวอรีหรือซื้อกลับบ้าน หลังพบพนักงาน 7 คนติดเชื้อ COVID-19 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คำสั่งปิดร้านเริ่มตั้งแต่เวลา 11.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 19 เม.ย. จนถึงวันที่ 4 พ.ค. และจะกลับมาให้บริการอีกครั้งในวันที่ 5 พ.ค. 2020
20 เม.ย. 2020
สำนักงานจราจรของกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่านเปิดเผยว่าปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2019 แล้ว เนื่องจากชาวเมืองหันมาใช้รถส่วนตัวมากกว่ารถสาธารณะเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ COVID-19 | ที่มาภาพประกอบ: Atta Kenare / AFP - Getty Images (อ้างใน NBC NEWS)
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 27 คน ผู้ติดเชื้อสะสม 2,792 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ผู้เสียชีวิตสะสม 47 คน รักษาหาย 71 คน รักษาหายสะสม 1,999 คน
- ก.คลัง เปิดให้ยื่นทบทวนสิทธิ์ สำหรับผู้ไม่ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ตั้งแต่ 20 เม.ย. เวลา 6.00 น. ถึง 22 เม.ย. เวลา 24.00 น.
- สธ. เตรียมเสนอผ่อนปรนล็อกดาวน์ ให้ภาคธุรกิจเปิดทำการ ซึ่งจะให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะเป็นกลุ่มสุดท้ายของการเปิด เนื่องจากยังเป็นพื้นที่เสี่ยง โดยมาตรการที่ต้องคงไว้ไม่สามารถผ่อนปรนได้ ได้แก่ การตรวจคัดกรองประชาชน ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และผู้ที่เดินทางมาต้องอยู่ภายในภายที่กักตัวที่รัฐจัดหาให้ 14 วัน ตามที่รัฐกำหนด และทุกจังหวัดต้องมีการค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในสถานที่ชุมชน สถานที่แออัดหนาแน่น และเพิ่มความเข้มข้นเรื่องการตรวจห้องปฏิบัติการ ซึ่งมาตรการนี้จะต้องไม่หย่อนอย่างเด็ดขาด ส่วนกิจการที่ต้องหยุดดำเนินต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์คลับ คาราโอเกะ อาบอบนวด สนามมวย ที่มีการพนันแข่งขันร้อง ตะโกน โดยการผ่อนปรนล็อกดาวน์จะเริ่ม 32 จังหวัด ที่ไม่มีการระบาดมานาน 2 สัปดาห์ ถือเป็นการพบผู้ติดเชื้อระดับต่ำ กลุ่มนี้จะสามารถผ่อนปรนมาตรการได้ก่อน เริ่มดำเนินการต้นเดือน พ.ค. จากนั้นหาก 2 สัปดาห์สถานการณ์ดีขึ้นก็พิจารณาเพิ่มจังหวัดที่มีการติดเชื้อประปรายในรอบ 2 สัปดาห์ อีก 38 จังหวัด ให้เปิดได้ปกติคาดว่ากลุ่มนี้จะดำเนินการได้กลางเดือนพฤษภาคม ส่วนที่เหลืออีก 7 จังหวัด ที่พบการติดเชื้อต่อเนื่อง แต่ไม่มีการระบาดใหญ่ คาดว่าจะสามารถผ่อนปรนเปิดจังหวัดได้ ประมาณ ต้นเดือนมิถุนายน แต่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดใหม่ในระลอก 2-3
- กรุงเทพฯ ขยายเวลาการปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราจากเดิมวันที่ 10-20 เม.ย. ออกไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 เนื่องจากคณะกรรมการโรคติดต่อเห็นว่าการดื่มสุราจะเป็นเหตุทำให้มีการรวมกลุ่มกันของคน และอาจเสี่ยงต่อการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้ง่ายขึ้น และยังมีการขอความร่วมมือผู้จัดตั้งโรงทาน-แจกสิ่งของ แจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนที่จะจัดตั้งโรงทาน หรือจุดแจกอาหาร/สิ่งของ เพื่อกรุงเทพมหานครจะได้ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยจัดระเบียบให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้จัดตั้งโรงทานต้องควบคุม ดูแลโรงทานให้เป็นไปตามคำแนะนำด้านสุขอนามัย จัดระเบียบการแจกอาหารกำหนดระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และงดจัดพื้นที่นั่งรับประทานอาหาร
- รัฐบาล และ กสทช. ได้ร่วมกับค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 ค่าย ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในช่วงโรคติดเชื้อ COVID-19 เปิดให้ประชาชนสามารถโทรศัพท์มือถือฟรี 100 นาที ทุกเครือข่าย เป็นระยะเวลา 45 วัน เริ่มกดรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-15 พ.ค. 2563 กดรับสิทธิ์ด้วย 170 เลขบัตรประชาชน 13 หลักที่ใช้ลงทะเบียนซิม ตามด้วย # แล้วกดโทรออก (ใช้งานได้ทันที 45 วัน หลังได้รับ SMS ยืนยัน) เงื่อนไขการรับสิทธิ์คือ เป็นประชาชนทั่วไป บุคคลธรรมดาเฉพาะคนไทยเท่านั้น โดยทุกคนจะได้รับ 1 สิทธิ์ ต่อ 1 ค่าย (ยกเว้น นิติบุคคล)
- มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยนักวิจัย ได้ใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของ COVID-19 ในน้ำเสียเพื่อคัดกรอง ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจการติดเชื้อโดยไม่ต้องตรวจทุกคนในจังหวัด ด้วยการตรวจน้ำเสียของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ ได้แก่ อุจจาระ ปัสสาวะ ซึ่งสามารถช่วยให้ประเมินผ่อนคลายล็อกดาวน์ได้เร็วขึ้น ประหยัดเวลาและประหยัดงบประมาณ โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียอาจช่วยให้เปิดเมืองได้เร็วขึ้น
- กรมราชทัณฑ์ เผยพบเจ้าหน้าที่หญิงเรือนจำ จ.ชุมพร ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 2 คน รายแรกเริ่มแสดงอาการป่วย 13 เม.ย. 2563 คาดติดเชื้อนอกสถานที่ แจ้งผู้สัมผัสแยกตัวดูอาการ
- รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เชื่อการดำเนินคดีผู้บริจาคสิ่งของให้ผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19 ไม่มีโทษรุนแรง แต่ขอความร่วมมือประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบ ส่วนข่าวลือแจกเงินมีหน่วยงานติดตามอยู่แล้ว หากเข้าข่ายความผิด จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย
- อังกฤษ แม้ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นในอังกฤษจะต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ แต่ก็ยังไม่มีนโยบายจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระบุว่ารัฐบาลยังไม่ได้กำหนดวันเวลาที่จะให้โรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง
- อิหร่าน กรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน อนุญาตให้ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำเปิดให้บริการได้ซึ่งผู้นำยังไม่ระบุประเภทของธุรกิจ หลังหลายพื้นที่ของประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และสามารถควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 นาน 1 สัปดาห์ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอิหร่าน ระบุว่าธุรกิจและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมทั้งศูนย์วัฒนธรรมและกีฬาร้านเสริมสวย โรงแรม และห้างสรรพสินค้า ยังคงต้องปิดให้บริการต่อไปจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง และธุรกิจที่เข้าข่ายเปิดให้บริการได้จะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับหรือถูกสั่งปิด ขณะที่หน่วยงานรัฐบาลจะเปิดทำการระหว่าง 07.00 น. - 14.00 น. และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องเว้นระยะห่างกัน ส่วนคนขับรถสาธารณะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยต้องมีแผ่นฟิล์มพลาสติกกั้นระหว่างคนขับกับผู้โดยสาร และต้องฆ่าเชื้อภายในรถ ขณะที่สำนักงานจราจรของกรุงเตหะรานเปิดเผยว่า ปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2019 แล้ว เนื่องจากชาวเมืองหันมาใช้รถส่วนตัวมากกว่ารถสาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
- สหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่าสหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการหารือกับจีนเพื่อขอเข้าไปในประเทศ หลังแสดงความประสงค์จะส่งคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปยังจีน เพื่อดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมทั้งมีการเผชิญแรงกดดันจากผู้ประท้วงในหลายรัฐ ในรัฐแอริโซนา, โคโลราโด, มอนแทนา และวอชิงตัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ โดยผู้ว่าการรัฐในหลายมลรัฐได้เริ่มหารือเกี่ยวกับแผนเปิดเมืองอีกครั้ง หลังมีสัญญาณการชะลอตัวของการระบาด แต่ก็ยังมีอีกหลายรัฐที่ยังคงความเข้มงวดต่อไป โดย แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ได้ประกาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ารัฐนิวยอร์กจะขยายมาตรการให้ประชาชนอยู่บ้านจนถึงวันที่ 15 พ.ค. 2020
- สเปน นายเปโดร ซันเชซ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจะขยายมาตรการปิดเมือง หรือล็อกดาวน์ ออกไปอีก 15 วัน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเป็นการขยายมาตรการล็อกดาวน์ครั้งที่ 3 โดยจะมีผลไปจนถึงวันที่ 9 พ.ค. 2020 และจะผ่อนคลายข้อจำกัดบางเรื่องให้กับเด็ก แม้ที่ผ่านมาจะมีการคลายมาตรการบางส่วนไปแล้ว โดยจะอนุญาตให้ออกจากบ้านได้ในวันที่ 27 เม.ย. 2020 นี้ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม
- นิวซีแลนด์ ขยายมาตรการล็อคดาวน์ ออกไป 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะย้ายออกจากการแจ้งเตือนระดับ 4 เวลา 23.59 น. ในวันจันทร์ที่ 27 เม.ย. 2020 และจะอยู่ในการแจ้งเตือนระดับ 3 เป็น เวลา 2 สัปดาห์ ก่อนจะตัดสินใจอีกครั้ง
- นอร์เวย์ จะเริ่มเปิดสถานที่รับเลี้ยงเด็กอีกครั้งหลังจากปิดเป็นเวลา 1 เดือนเนื่องจากโรคติดเชื้อ COVID-19 นักกายภาพบำบัดและนักจิตวิทยาได้รับอนุญาตให้กลับไปทำงานในวันที่ 20 เม.ย. รวมถึงช่างทำผมและแพทย์ผิวหนังก็สามารถเปิดทำการในสัปดาห์นี้เช่นกัน เด็กเล็กในโรงเรียนประถมจะเริ่มกลับไปเรียนในวันที่ 27 เม.ย. ในขณะที่ร้านค้าจำนวนมากได้รับอนุญาตให้เปิดอยู่ ส่วนบาร์และร้านอาหารส่วนใหญ่ยังคงให้ปิดต่อไป
- ออสเตรเลีย ชายหาดบางแห่ง ได้แก่ Coogee, Maroubra และ Clovelly ในเขตชานเมืองฝั่งตะวันออกจะเปิดให้บริการสำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่น การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำและกิจกรรมการออกกำลังกายอื่นๆ ซึ่งชายหาดนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพจิตใจและร่างกายของคนจำนวนมากในชุมชน
- อินเดีย ห้ามบริษัทอีคอมเมิร์ซทำการจัดส่งสินค้าที่ไม่จำเป็นจนถึง 3 พ.ค. 2020 แต่จะได้รับอนุญาตให้จัดส่งของชำและสินค้าจำเป็นอื่นๆ ได้บางกรณี
- ญี่ปุ่น มีการเสนอเงินทุนให้สำหรับผู้ให้บริการทางเพศ ซึ่งอาจไม่เพียงพอแก่การดำรงชีวิตช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19
- บังกลาเทศ ปิด 7 หมู่บ้านในเขต Brahmanbaria ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวง Dhaka ไปทางตะวันออกประมาณ 60 กิโลเมตร หลังจากประชาชนหลายหมื่นคนเข้าร่วมพิธีศพของนักบวชท้องถิ่น ทั้งๆ ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ COVID-19 โดยให้ผู้อยู่อาศัยทั้ง 7 หมู่บ้านอยู่ในบ้านตลอดเวลาอย่างน้อย 14 วันอย่างเคร่งครัด
21 เม.ย. 2020
รัฐบาวาเรียของเยอรมนีประกาศยกเลิกอ็อกโทเบอร์เฟสต์ เทศกาลเบียร์ยิ่งใหญ่ประจำปีเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นการยกเลิกครั้งแรกนับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 | ที่มาภาพประกอบ: Augsburger Allgemeine
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 19 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,811 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 48 คน รักษาหาย 109 คน รักษาหายสะสม 2,108 คน
- ครม.เห็นชอบขยายจำนวนผู้ได้รับเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 จำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน จากเดิม 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน
- ครม.เห็นชอบ ขยายเวลาให้ชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในไทยได้ ตั้งแต่ 1 พ.ค.-31 ก.ค. 2563 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย
- นายกรัฐมนตรีเผยจะพิจารณาทบทวนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในสัปดาห์หน้า ว่ามีความจำเป็นต้องต่ออายุออกไปจากที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย. นี้หรือไม่ ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน การประเมินด้านสาธารณสุข และพิจารณาว่ามีมาตรการอื่นๆ รองรับเพียงพอหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ภาคเอกชนจัดเตรียมมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปลดล็อคให้กิจการกลับมาเปิดดำเนินการได้ก่อนจะยื่นข้อเสนอมายังรัฐบาล
- สปสช. ออก 7 มาตรการเชิงรุกควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ให้กับประชาชนสิทธิบัตรทอง โดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากต้องย้ายไปรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ 1.จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยรายเก่าทางไปรษณีย์ โดยใช้งบสนับสนุนจากกองทุนบัตรทอง อัตราครั้งละไม่เกิน 50 บาท 2.ขยายร้านขายยาเป็น 'โครงการรับยาใกล้บ้าน' เพื่อลดความแออัด ที่ต้องเดินทางมารับยาที่สถานพยาบาล 3.กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาหรือบริการทางการแพทย์นอกหน่วยบริการประจำได้โดยถือว่าเป็นการเจ็บป่วยกรณีฉุกเฉิน 4.ให้จ่ายเงินชดเชยเป็นค่าบริการ กรณีโรค COVID-19 ให้กับหน่วยบริการนอกระบบบัตรทอง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน 5.ให้จ่ายเงินชดเชยค่าบริการโรค COVID-19 ให้กับโรงพยาบาลสนาม หรือหน่วยงานที่ผ่านการรับรองเกณฑ์ประเมินจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) 6.เสนอแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการรับเงิน จ่ายเงิน รวมถึงรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น เพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 และเพิ่มการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากโรค COVID19 เป็น 2 เท่าจากเดิมและ 7.ให้เลขาธิการ สปสช. และประธานบอร์ด สปสช. พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขต่างๆ เพื่อประโยชน์การบริหารกองทุนให้ทันต่อสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19
- สำนักงานประกันสังคม จ่ายเงินชดเชยลูกจ้างว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยหรือในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 อัตรา 62 % ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน สำหรับผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อจากโรคติดเชื้อ COVID-19 และสำหรับผู้ประกันตนที่ไม่สามารถทำงานได้และไม่ได้รับค่าจ้าง ทั้งที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการเองหรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ
- ก.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดตัวหน้ากากผ้าสำหรับคนพิการทางการได้ยิน (ซึ่งหน้ากากผ้าดังกล่าวมีพลาสติกใสอยู่ตรงกลาง) เพื่อช่วยให้การพูดสื่อสารมีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยการมองเห็นรูปปากที่ชัดเจน และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 นอกจากนี้ยังได้เปิดร้านค้าออนไลน์สำหรับคนพิการนำสินค้ามาจำหน่ายในชื่อเพจเฟสบุ๊ค 'ฝากร้านคนพิการ' ทั้งนี้คนพิการสามารถนำสินค้ามาโพสต์ขายได้ฟรีในช่องทางดังกล่าว และขอเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมอุดหนุนซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์คุณภาพจากฝีมือคนพิการ เพื่อร่วมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในช่วงภาวะวิกฤตของโรคติดเชื้อ COVID-19 และเพื่อให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
- ก.วัฒนธรรม ยืนยันไม่ทอดทิ้งกลุ่มศิลปินพื้นบ้านและเครือข่ายงานด้านศิลปวัฒนธรรมทั่วประเทศ พร้อมช่วยเหลือให้ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จากรัฐบาล
- คนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศเดินทางกลับเข้าไทยอีก 220 คน ขณะที่ สตม.ให้สนามบินดอนเมืองนำร่องใช้ระบบ Biometric on Mobile ตรวจสอบผู้โดยสารขาเข้า เพื่อลดเวลาในขั้นตอนตรวจสอบผู้โดยสาร
- WHO เตือน สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของ COVID-19 ยังมาไม่ถึง ขอทั่วโลกช่วยกันป้องกันไม่ได้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว หลังหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
- โครงการอาหารโลก (WFP) ของ UN เผยรายงานวิกฤติอาหารโลกที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ประเมินว่าในปี 2020 จะมีผู้อดอยากทั่วโลกอยู่ที่ 250 ล้านคน (ปี 2019 อยู่ที่ 135 ล้านคน)
- สหรัฐฯ สมาคมพยาบาลรัฐนิวยอร์กฟ้องร้องดำเนินคดีหน่วยงานด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาล 2 แห่ง จัดสรรหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอ ระบุสมาชิกติดเชื้อ COVID-19 แล้ว 9.5 พันคน
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เจ้าหน้าที่ศาสนา กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้รับการยกเว้นการอดอาหารในช่วงรอมฎอน และเรียกร้องให้ชาวมุสลิมไม่มาชุมนุมกันเพื่อสวดมนต์ในช่วงเดือนศักดิ์สิทธิ์
- ฮ่องกง ขยายการสั่งห้ามประชาชนรวมตัวกันมากกว่า 4 คน ถึงวันที่ 7 พ.ค. 2020 จากเดิมตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.- 23 เม.ย. นอกจากนี้ศูนย์เกม โรงยิม โรงภาพยนตร์และสถานที่บันเทิงอื่นๆ ก็ปิดทำการเช่นกัน และระงับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าสนามบินอย่างไม่มีกำหนด
- ออสเตรเลีย เริ่มให้นักเรียนกลับไปโรงเรียนในวันที่ 11 พ.ค. เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนเต็มเวลาในเดือนกรกฎาคม หลังจากโรงเรียนส่วนใหญ่ปิดเป็นเวลานานกว่าหนึ่งเดือน
- จีน เริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวกลางแจ้ง 73 แห่งในกรุงปักกิ่ง หรือคิดเป็น 30% ของแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมดในเมืองหลวง ซึ่งรวมถึงกำแพงเมืองจีน กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง แต่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง ให้เข้าไปในสถานที่ต่างๆ ได้เพียง 30% ของจำนวนที่รองรับได้เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด เช่นเดียวกับร้านค้าต่างๆ ในนครเซี่ยงไฮ้ที่เตรียมขยายเวลาให้บริการไปจนถึงเที่ยงคืน ในระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้
- ญี่ปุ่น
- โคลอมเบีย ขยายเวลาล็อกดาวน์จากเดิม 25 มี.ค. เป็นวันที่ 11 พ.ค. 2020 แต่มีการผ่อนปรนให้อุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง และระบบขนส่งสาธารณะ เริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 27 เม.ย. 2020
- อินโดนีเซีย ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ได้สั่งห้ามประชาชนเดินทางกลับบ้านหลังเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิมในเดือนพฤษภาคม เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรค COVID-19 ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้สั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการ บุคลากรกองทัพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เดินทางกลับภูมิลำเนา
- อิตาลี 'เฟอร์รารี่' ผู้ผลิตรถซูเปอร์คาร์เปิดโรงงานในมาราเนลโล เริ่มต้นผลิตวาล์วสำหรับใช้กับเครื่องช่วยหายใจ และชิ้นส่วนของหน้ากากป้องกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพที่รักษาผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อ COVID-19 โดยวาล์วบางตัวได้รับการพัฒนาโดย Mares โรงงานผลิตอุปกรณ์ดำน้ำ ที่นำเอาวาล์วซึ่งพวกเขาออกแบบขึ้นเพื่อใช้ในการดำน้ำ มาปรับใช้กับหน้ากากช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
- ตุรกี ประธานาธิบดีเรเจพ ทายยิพ เออร์โดวาห์น ของตุรกีประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ 31 จังหวัดรวมถึงในกรุงอังการาและนครอิสตันบูล เป็นเวลา 4 วัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผลตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.ไปจนเวลาเที่ยงคืนวันอาทิตย์ที่ 26 เม.ย. 2020 แต่ร้านขนมปัง ร้านขายยา โรงพยาบาล และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพยังสามารถดำเนินการต่อได้ส่วนตลาดสดและร้านขายของชำอนุญาตให้เปิดตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนถึงเวลา 14.00 น
- ญี่ปุ่น นายอาเบะ ชินโซ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ขอความร่วมมือจากสาธารณชนมากขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของ COVID-19 นายอาเบะกล่าวว่าระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นกำลังรับมืออย่างหนัก และเพื่อที่จะแบ่งเบาภาระดังกล่าวรวมถึงปกป้องชีวิตของประชาชน ตนจึงอยากจะขอความร่วมมือมากยิ่งขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนลงให้ได้ 80%
- เยอรมนี รัฐบาวาเรียของเยอรมนีประกาศยกเลิกอ็อกโทเบอร์เฟสต์ เทศกาลเบียร์ยิ่งใหญ่ประจำปีเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นการยกเลิกครั้งแรกนับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
22 เม.ย. 2020
ประกาศกรมศุลกากร ยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ หน้ากาก N95 ชุดป้องกัน PPE รวมถึงผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค มีผลถึงวันที่ 30 ก.ย.2563 | ที่มาภาพประกอบ: European Pharmaceutical Review
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 15 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,826 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 49 คน รักษาหาย 244 คน รักษาหายสะสม 2,352 คน
- กรมศุลกากรประกาศยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ หน้ากาก N95 ชุดป้องกัน PPE รวมถึงผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค มีผลถึงวันที่ 30 ก.ย.2563
- กรุงเทพฯ เปิดตัว 'BKK HELP' อำนวยความสะดวกผู้บริจาคสิ่งของและอาหารลงทะเบียนล่วงหน้า ลดความแออัดเสี่ยงโรคติดเชื้อ COVID-2019 โดยมีวิธีการเข้าใช้ระบบดังนี้ 1.เข้าไปที่เว็บไซต์ http://bkkhelp.bangkok.go.th/ และเลือกจุดแจกสิ่งของ จาก 71 จุดที่จัดไว้โดยแต่ละจุดจะมีรายละเอียดว่ามีผู้แจ้งความประสงค์ไว้แล้วในช่วงเวลาใดบ้าง และมีหมายเลขโทรศัพท์ผู้ประสานงานของแต่ละจุดเพื่อให้ผู้บริจาคติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง 2.โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏในระบบชี้แจงรายละเอียด และนัดหมายล่วงหน้า จากนั้นรอรับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ 3.อัปเดตจุดบริจาคลงเว็บไซต์ และ 4.นำสิ่งของหรืออาหารมาบริจาคแจกจ่าย โดยสำนักงานเขตในพื้นที่จะจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก
- จ.นครปฐม ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย กรณีการบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-2019 ให้ผู้ประสงค์บริจาคประสานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อย่างน้อย 1 วัน เพื่อช่วยจัดระเบียบในการแจก โดยให้แจ้งชนิดและจำนวนของที่จะบริจาค และจำนวนบุคคลที่ร่วมบริจาค นอกจากนี้ให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดสถานที่สำหรับแจกจ่ายอย่างน้อยพื้นที่ละ 1 แห่ง ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคจะต้องสวมหน้ากากอนามัย มีสถานที่ล้างมือ และควบคุมดูแลให้มีการเว้นระยะห่าง ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐนำสิ่งของของผู้บริจาคมาดำเนินการแจกจ่ายด้วยตนเอง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
- จ.สงขลา แจ้งขอเปลี่ยนจุดผ่านแดนที่อนุญาตให้คนไทยกลับเข้ามาจากจุดผ่านแดนถาวรสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นจุดผ่านแดนถาวรปาดังเบซาร์อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาชั่วคราวเป็นเวลา 7 วัน เนื่องจากได้เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-2019 โดยพบเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำจุดผ่านแดนถาวรสะเดาและเจ้าหน้าที่สังกัดตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าป่วยโรคดังกล่าว
- สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีลีเซียน ลุง ขยายเวลามาตรการเข้มงวด ต่อไปอีก 4 สัปดาห์จนถึงวันที่ 1 มิ.ย. 2020 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 หลังผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดอันดับหนึ่งในอาเซียน หลังจากที่ได้ประกาศใช้ไปแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ออกจากบ้านเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ออกไปหลายคนและรีบกลับบ้านโดยเร็วเมื่อเสร็จภารกิจ เพิ่มมาตรการควบคุมจุดที่อาจแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย (Hot spots) เช่น ตลาดสด โดยควบคุมการเข้าออกตลาดและลดจำนวนคนที่ใช้บริการ และเพิ่มการปิดกิจการต่างๆ เพื่อลดคนไปทำงานลง
- เนเธอร์แลนด์ นายกรัฐมนตรีสั่งขยายการล็อกดาวน์สำหรับธุรกิจส่วนใหญ่จนถึงวันที่ 20 พ.ค. และสั่งห้ามการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่จนถึงวันที่ 1 ก.ย. ส่วนนักเรียนระดับประถมศึกษาจะเริ่มเข้าเรียนตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.
- อังกฤษ นายแมตต์แฮนค็อก รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ เปิดเผยว่าอังกฤษจะเริ่มทดลองวัคซีนในมนุษย์ในวันที่ 23 เม.ย. โดยวัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และราชวิทยาลัยลอนดอน (Imperial College London) ภายใต้เงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ ด้านทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดแสดงความมั่นใจถึง 80% ว่าการทดลองวัคซีนในมนุษย์จะประสบความสำเร็จพร้อมตั้งเป้าพร้อมใช้งานภายในเดือนก.ย. 2020 นี้
- เยอรมนี อนุญาตให้ทำการทดลองเชิงคลินิกเป็นครั้งแรกสำหรับวัคซีนสำหรับรักษาคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเป็นการให้ไฟเขียวการทดลองวัคซีนกับอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์
- เวียดนาม นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม เผยเตรียมผ่อนปรนมาตรการรับมือโรคติดเชื้อ COVID-19 โดยเตรียมเปิดบินในประเทศ หลังจากที่เวียดนามไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเติมนาน 6 วันติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 16-21 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตยังเป็นศูนย์ซึ่งทางการเวียดนามประกาศระงับเที่ยวบินภายในประเทศเมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเริ่มทยอยผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เตรียมกลับมาเปิด 3 เส้นทางบินหลักในประเทศระหว่างกรุงฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้และดานัง หลังทางการประกาศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน แม้จะยังคงมาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคมไว้ในบางพื้นที่ โดยจะกลับมาเปิดเส้นทางบินในประเทศอีกครั้งในวันที่ 23 เม.ย.
- อินเดีย สภาวิจัยทางการแพทย์ได้แนะนำให้ทุกรัฐยุติการใช้ชุดทดสอบไว (rapid testkit) สำหรับโรคติดเชื้อ COVID-19 ในอีก 2 วันหลังจากที่พบว่ามีข้อผิดพลาด จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและกำลังส่งทีมเพื่อตรวจสอบชุดอุปกรณ์เพื่อประเมินว่าชุดไหนมีข้อผิดพลาดและส่งกลับผู้ผลิต ซึ่งชุดทดสอบไวนี้ได้ถูกนำไปใช้ในอินเดียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
- สหรัฐฯ รัฐมิสซูรียื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลจีน เนื่องจากโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่เริ่มต้นระบาดจากเมืองอู่ฮั่นจนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อรัฐดังกล่าว คดีแพ่งดังกล่าวยื่นฟ้องต่อศาลสหรัฐฯ โดย เอริก ชมิดต์อัยการสูงสุดของรัฐมิสซูรีกล่าวหาว่ารัฐบาลจีนเพิกเฉยต่อการระบาดจนทำให้ไวรัสลุกลาม ส่งผลให้รัฐมิสซูรีและประชาชนในรัฐได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ฯ พร้อมเรียกร้องให้จีนจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว
- สเปน นายเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน เปิดเผยว่ารัฐบาลสเปนวางแผนที่จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ประเทศในช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ค. 2020 หลังจากที่ได้เริ่มมาตรการล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของติดเชื้อ COVID-19 โดยจะเริ่มผ่อนปรนอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อความปลอดภัย ขณะที่เขาจะขอให้รัฐสภาอนุมัติการขยายเวลาบังคับใช้ภาวะฉุกเฉินของสเปนไปจนถึงวันที่ 9 พ.ค. 2020
- ญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ในจังหวัดนางาซากิ ทางตะวันตกของญี่ปุ่นยืนยันว่า มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 33 คน บนเรือคอสตา แอตแลนติกา เรือสำราญของอิตาลีที่ขณะนี้มีแต่ลูกเรืออยู่บนเรือและกำลังจอดเทียบท่าอยู่ที่จังหวัดนางาซากิเพื่อซ่อมแซม โดยขณะนี้ทางจังหวัดกำลังขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางของญี่ปุ่นเพื่อแก้ไขปัญหา
23 เม.ย. 2020
คณะทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ ได้เสนอข้อแนะนำ 10 ข้อในการลดปฏิสัมพันธ์แบบใกล้ชิดให้ได้ 80% เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของ COVID-19 | ที่มาภาพประกอบ: Kyodo News
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 13 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,839 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 50 คน รักษาหาย 78 คน รักษาหายสะสม 2,430 คน
- ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ประกาศ ณ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563
- ศบค.เผยยอดฝ่าฝืนเคอร์ฟิว วันที่ 3-23 เม.ย.นี้ ทะลุ 16,179 คน พบมั่วสุมกว่า 1,835 คน ตำรวจลดด่านตรวจเคอร์ฟิว แต่เพิ่มสายตรวจในชุมชน ให้คนแจ้งเบาะแสผ่าน 191 และ 1599 หลังมั่วสุมกระทำความผิดตามบ้านและชุมชน เล่นการพนัน ยาเสพติด
- รัฐบาลไทย จัดพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine/Local Quarantine) สังเกตอาการผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน รวม 1,206 แห่งทั่วประเทศ ป้องกันการแพร่กระจายโรคติดเชื้อ COVID-19 โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงกลาโหม ดูแล State Quarantine ในกรุงเทพฯ และร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดเป็น Local Quarantine ในต่างจังหวัด ทั้งนี้ ผู้กักกันโรคจะได้รับการดูแลจากทางเจ้าหน้าที่ ตรวจเช็คสุขภาพประจำวัน มีทีมให้คำแนะนำและประสานงานตลอด 24 ชั่วโมง ณ สถานที่กักกันนั้นๆ และจะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการภายในวันที่ 5-7 ของการเฝ้าระวัง หากตรวจพบเชื้อ COVID-19 หรือมีอาการป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) จะถูกส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดต่อไป ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองเป็นศูนย์กลางบริหารเหตุการณ์พื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) และทำหน้าที่ฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่จะไปประจำการ เพื่อให้การดำเนินงานด้านการป้องกันควบคุมโรคเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพโดยมีผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์สถานที่กักกันโรคฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ
- กรมอนามัยขอผู้ต้องการบริจาคอาหารหรือตั้งโรงทานประสานหน่วยงานภาครัฐเข้าจัดระเบียบพื้นที่ลดการรวมตัวหนาแน่น แออัด ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ย้ำขอเน้นแจกอาหารปรุงสุก ไม่เสียง่าย พร้อมทั้งยังได้ออกประกาศแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคอาหารหรือตั้งโรงทานโดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.จัดระบบเคลื่อนที่ส่งถึงบ้านผู้รับบริจาค เหมือนฟู๊ดเดลิเวอรี่ เหมาะกับบ้านที่มีผู้ป่วย ผู้พิการ หรือคนที่เดือดร้อน ออกจากบ้านไม่ได้ โดยหากต้องการส่งอาหารเช่นนี้สามารถประสานชุมชนเพื่อให้ส่งต่อไปแต่ละบ้านได้ง่ายขึ้น และ 2.หากไม่สามารถปฏิบัติได้ ขอให้จัดพื้นที่ไม่ให้มีการรวมตัวอย่างหนาแน่นขณะนี้มีสถานที่หลายแห่งหรือพื้นที่ที่ทางการกำหนดได้มีการจัดพื้นที่จุดตั้งโรงทานแล้ว ผู้บริจาคต้องแจ้งหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลพื้นที่ตามแนวทางของแต่ละจังหวัด โดยให้มีผู้ดูแลจัดระเบียบคัดกรอง จัดให้มีพื้นที่ล้างมือหรือให้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ กำหนดระยะห่างระหว่างรอรับอาหาร และขอให้สวมหน้ากากอนามัยด้วย ทั้งนี้ขณะนี้ปัญหาขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น จึงแนะนำให้ใส่ภาชนะที่มิดชิด อาจไม่จำเป็นต้องใส่ถุงหิ้วอีกชั้น แต่ขอให้คนไปรับบริจาคใช้ถุงผ้าไปรับอาหารแทน เพื่อลดขยะพลาสติก
- กพท.เผยมีสายการบินไทยแอร์เอเชีย และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เตรียมทำการบินในประเทศเดือน พ.ค.นี้ พร้อมให้ขายตั๋วแบบเว้นที่นั่ง ขณะที่เส้นทางบินขึ้นอยู่กับการปลดล็อกของแต่ละจังหวัด
- สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยผลสำรวจปัญหาและความต้องการของภาคธุรกิจ จากกลุ่มตัวอย่าง 8,929 คน พบมากกว่า 80% ของทุกกลุ่มอาชีพไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพราะติดเงื่อนไข
- จ.ชลบุรี ออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ชลบุรี ที่ 18/2563 เรื่องมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อ COVID-19 ประกาศเริ่ม 1 พ.ค. นี้เลิกล็อกดาวน์เมืองหลังจากสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 เริ่มคลี่คลายแล้ว ภาพรวมไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.ชลบุรี
- จ.บุรีรัมย์ อนุญาตให้ตลาดนัด ร้านค้า ร้านอาหารที่ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถนนคนเดิน กลับมาเปิดอีกครั้ง 1 พ.ค. โดยจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางจะต้องติดสติกเกอร์ที่แสดงเครื่องหมายผ่านการตรวจและปลอดเชื้อ 'Buriram Healthy' แต่ถ้าเดินทางออกนอกพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านและตำรวจจะทำการลอกสติ้กเกอร์ออกจากบัตร และเมื่อเดินทางกลับเข้ามาจะต้องกักตัวอีก 14 วัน ก่อนจะได้รับสติ๊กเกอร์อีกครั้ง
- อินโดนีเซีย จาการ์ตาขยายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมออกไปจนถึงวันที่ 22 พ.ค. 2020 สองวันก่อนวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี หลังจากที่ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากละเมิดกฎในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น การชุมนุมคนจำนวนมาก ในขณะที่บริษัทจำนวนมากยังคงเปิดดำเนินการได้อยู่ คนสามารถออกไปข้างนอกได้ต้องสวมหน้ากาก ร้านอาหารขายอาหารแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้น และธุรกิจทั้งหมดต้องปิดยกเว้นบริการที่จำเป็น หากละเมิดกฎดังกล่าวจะถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 100 ล้านรูเปียห์ และจำคุกสูงถึงหนึ่งปี และยังขอให้ชาวมุสลิมทำการละหมาดที่บ้านแทนที่จะไปที่มัสยิด
- เยอรมนี ประกาศแผนบังคับในทุกรัฐให้ผู้ที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะต้องใส่หน้ากากอนามัย และเกือบทุกรัฐจะบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปซื้อสินค้าตามศูนย์การค้าต่างๆ ด้านองค์การอนามัยโลกยังคงยืนกรานว่าให้เฉพาะผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้ป่วยเท่านั้นที่ควรใส่หน้ากากอนามัย โดยมีเหตุผลว่าหากใช้หน้ากากไม่ถูกต้องจะเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อมากกว่า และจะทำให้คนไม่ล้างมือ เพราะเชื่อในหน้ากากอนามัยมากเกินไป ทั้งๆ ที่การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ยังคงมีความสำคัญและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- สหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีในการระงับการออกกรีนการ์ดเป็นเวลา 60 วัน ให้แก่บุคคลที่ต้องการย้ายถิ่นฐานเข้ามาพำนักอาศัยถาวรในสหรัฐฯ แต่ไม่มีผลต่อผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศชั่วคราว และไม่มีผลต่อคนที่ถือวีซ่าที่ยังไม่หมดอายุโดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาผู้อพยพต่างชาติแย่งงานคนอเมริกัน สืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก และผู้คนตกงานเป็นจำนวนมาก
- อังกฤษ อาจใช้มาตรการคุมเข้มทางสังคมยาวตลอดทั้งปีนี้ หรือจนกว่าวัคซีนโรคติดเชื้อ COVID-19 จะสำเร็จ เบื้องต้นนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ประกาศเพิ่มระยะเวลาล็อกดาวน์ประเทศไปจนถึง 7 พ.ค. เป็นอย่างน้อย และมีแนวโน้มจะขยายเวลาออกไปอีก หากสถานการณ์โดยรวมยังไม่ดีขึ้น
- มาเลเซีย ออกประกาศขยายเวลาเพิ่มเติมจากคำสั่งควบคุมการเคลื่อนไหวครั้งที่ 3 ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 เม.ย. 2020 นี้ เพื่อให้ประชาชนเตรียมความพร้อมที่อยู่บ้านให้นานขึ้น ในช่วงเดือนรอมฎอน
- ยูเครน คณะรัฐมนตรีมีมติขยายมาตรการล็อกดาวน์เนื่องจากโรคติดเชื้อ COVID-19 ไปจนถึงวันที่ 11 พ.ค. 2020
- อิตาลี อนุญาตให้เด็กออทิสติก สามารถเข้าเล่นในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในเมืองริมินีได้ โดยต้องมีการจองไว้ก่อน
- ญี่ปุ่น คณะทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ ได้เสนอข้อแนะนำ 10 ข้อในการลดปฏิสัมพันธ์แบบใกล้ชิดให้ได้ 80% เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของ COVID-19 ได้แก่ 1.หลีกเลี่ยงการเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาวที่ใกล้จะมาถึง และใช้การพูดคุยผ่านทางวิดีโอแทน 2.สำหรับการไปซื้อสินค้านั้น ผู้ซื้อควรไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเพียงคนเดียว หรืออาจไปเป็นกลุ่มเล็กๆ ในช่วงเวลาที่มีผู้คนไม่หนาแน่น 3.การวิ่งออกกำลังควรทำแบบกลุ่มเล็ก ๆ และสำหรับผู้ที่จะไปสวนสาธารณะ ควรเลือกช่วงเวลาและสถานที่ที่ผู้คนไม่แออัด 4.การซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน ควรดำเนินการทางออนไลน์ 5.การดื่มสังสรรค์ควรทำที่บ้าน โดยติดต่อกับเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานผ่านทางออนไลน์ 6.ควรเลือกที่จะขอคำปรึกษาด้านการแพทย์ผ่านทางออนไลน์ แทนที่จะไปพบแพทย์ 7.การออกกำลังกายและการเล่นโยคะควรทำที่บ้าน โดยรับชมการสอนผ่านทางวิดีโอ 8.ควรซื้ออาหารกลับมารับประทาน หรือสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน แทนการออกไปรับประทานที่ร้านอาหาร 9.ควรทำงานจากที่บ้าน และควรจำกัดการเดินทางไปทำงาน ไว้ให้แก่กลุ่มอาชีพที่มีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนสังคม เช่น ผู้ให้บริการทางการแพทย์, สาธารณูปโภค และการจัดส่งต่างๆ 10.ควรสวมหน้ากากอนามัยระหว่างการสนทนา
24 เม.ย. 2020
อสม. และ รพ.สต.ทุ่งนางโอก อ.เมือง จ.ยโสธร จัดทีมให้บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ถึงมือผู้ป่วยถึงบ้านผ่านโครงการ 'Grab Drug' เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ป่วยและผู้ดูแล ลดความแออัดในการใช้บริการ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 | ที่มาภาพ: Thai PBS
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 15 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,854 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมผู้เสียชีวิตสะสม 50 คน รักษาหาย 60 คน รักษาหายสะสม 2,490 คน
- สธ. นำร่อง 27 โรงพยาบาลรักษาทางออนไลน์ ลดความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ติด COVID-19 ตั้งเป้าลดความแออัดของโรงพยาบาลลง 30%
- กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันบำราศนราดูร ได้ร่วมกันพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในน้ำลาย ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการในชุมชน ทำให้ค้นหาผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว นำเข้าสู่ระบบการรักษา ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีทุกพื้นที่ที่มีการระบาด ชุมชนแออัด หรือจุดเข้า-ออกของประเทศ ส่วนผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคหรือ PUI คือ มีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจที่มาตรวจรักษาในสถานพยาบาล จะใช้วิธีเก็บสิ่งส่งตรวจจากสารคัดหลั่งหลังจมูกและคอเป็นหลัก ซึ่งวิธีการตรวจดังกล่าวโรงพยาบาลรามาธิบดีได้ทำการวิจัยพบว่าได้ผลแม่นยำ มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับวิธีการตรวจจากสารคัดหลั่งจากจมูกและคอหรือวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรม (RT-PCR) ซึ่งวิธีการตรวจหาเชื้อในน้ำลายนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ ส่วนข้อดีของตรวจหาเชื้อในน้ำลาย คือ ราคาถูก เก็บตัวอย่างง่ายกว่า สามารถเก็บได้ด้วยตัวเอง ทำให้บุคลากรปลอดภัยมากขึ้น ไม่ต้องใช้หรือลดการใช้ชุดป้องกัน PPE สำหรับวิธีการเก็บน้ำลาย สามารถนำกระป๋องไปเก็บเองได้ที่บ้าน โดยต้องล้างมือให้สะอาด เทอาหารสำหรับเก็บตัวอย่างไวรัสลงในกระป๋องเก็บน้ำลาย ขากน้ำลายที่อยู่ในลำคอส่วนลึกเหมือนขากเสมหะ ปิดฝากระป๋องพันด้วยพาราฟิลม์และใส่ถุงซิปล๊อค 3 ชั้น และนำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 5 ชั่วโมง ทั้งนี้ จะต้องไม่แปรงฟัน ใช้น้ำยาบ้วนปาก ดื่มน้ำ หรือเคี้ยวหมากฝรั่งก่อนเก็บน้ำลาย
- คนไทย 31 คนที่ตกค้างในญี่ปุ่นและแคนาดา เดินทางกลับประเทศไทยวันนี้ (24 เม.ย.) ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และผู้มีโรคประจำตัว
- สำนักจุฬาราชมนตรี ประกาศเรื่อง กำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1441 ตรงกับวันศุกร์ที่ 24 เม.ย.2563 ขอให้ปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ ในบ้านของตนเอง หลีกเลี่ยงการรวมตัว และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการสลามด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอด และการสัมผัสแก้ม โดยให้ยกมือสลามกันเท่านั้น 2.งดการไปร่วมละหมาดญะมาอะฮ์หรือละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด และปฏิบัติตามประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด โดยแนะนำให้ปฏิบัติศาสนกิจภายในบ้าน 3.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันและงดการแบ่งปันอาหารให้แก่กัน หากจำเป็นให้นั่งห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และไม่จัดอาหารแบบใส่ถาดรวม (บุฟเฟต์) ให้แยกเป็นอาหารจานเดียว มีช้อนส้อมและแก้วน้ำเฉพาะของตนเอง และล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร 4.หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนเป็นจำนวนมาก หากจำเป็นควรเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลให้สะอาดอยู่เสมอ 5.กรณีมีความจำเป็นต้องปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิด แนะนำให้เปิดหน้าต่างและผ้าม่านเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก งดการใช้เครื่องปรับอากาศ และให้คัดกรองทุกคนก่อนเข้ามัสยิด หากมีอาการไข้ (อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส) ไอ เจ็บคอ แม้จะมีอาการไม่มาก ให้งดเข้าร่วมและแนะนำให้สังเกตอาการที่บ้าน 6.หากมีการสัมผัสบุคคลหรือไปสถานที่เสี่ยง เมื่อกลับเข้าบ้าน แนะนำให้รีบทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำสระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้า และ 7.เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และดื่มน้ำสะอาดมากๆ หลังรับประทานอาหาร นอกจากจะเป็นข้อควรปฏิบัติในการถือศีลอดที่ถูกต้องแล้วยังช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำในสภาพอากาศร้อนด้วย ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรออกไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาข้างนอกบ้าน ให้ปฏิบัติศาสนกิจภายในบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เพราะหากกลุ่มดังกล่าวได้รับเชื้อ จะมีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- นายกรัฐมนตรี เป็นประธานส่งมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขพร้อมมอบกองทุนสนับสนุนและเยียวยาให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การส่งมอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชน คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้มอบกรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรบแพทย์และพยาบาล จำนวน 50 ล้านบาท กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับผู้ช่วยพยาบาล เทคนิคการแพทย์ และรังสีเทคนิค จำนวน 10 ล้านบาท และกองทุนสนับสนุนและเยียวยาให้แก่ อสม.จำนวนเงิน 10 ล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและตอบแทนการกระทำความดีของบุคลากรสาธารณสุขทั้งระบบจำนวน 4 แสนคน และ อสม. จำนวน 1.04 ล้านคน ที่เป็นกำลังหลักของประเทศในการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งและเสียสละ
- อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. และ รพ.สต.ทุ่งนางโอก อ.เมือง จ.ยโสธร จัดทีมให้บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ถึงมือผู้ป่วยถึงบ้านผ่านโครงการ 'Grab Drug' เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ป่วยและผู้ดูแล ลดความแออัดในการใช้บริการ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19
- จ.นครราชสีมา เริ่มผ่อนปรนมาตรการ ลดด่านตรวจเคอร์ฟิวลง จาก 53 ด่านเหลือ 25 ด่านหลังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ติดต่อกัน 16 วัน เพื่อให้ประชาชนที่มีใบอนุญาตเดินทางในช่วงกลางคืนได้รับความสะดวกมากขึ้น โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่คืนวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนด่านคัดกรอง ก็ลดลงจาก 5 ด่าน เหลือ 2 ด่านคือด่านในพื้นที่ อ.ปากช่อง และ อ.วังน้ำเขียว ขณะที่ด่านในชุมชน ที่มีอยู่ในพื้นที่ตำบลต่างๆ ก็จะลดลง เพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปเน้นในเรื่องของการตั้งด่านดูแลในกรณีที่ต้องมีการกักกันตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นซึ่งทั้งหมดนี้เป็นมาตรการผ่อนปรนในเบื้องต้น ขณะที่มาตรการอื่นต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางก่อน
- จ.น่าน ประกาศปลดล็อกให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เปิดจำหน่ายสินค้า กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ เนื่องจากสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกดำรงชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ ให้ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือห้างร้านที่จำหน่ายสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด อาทิ 1.ให้ทำความสะอาดโดยการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้อง และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน 2.ให้เจ้าหน้าที่ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง รวมทั้งลูกค้าและผู้มารับบริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 3. ให้บุคคลตามข้อ 2 ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้าไปซื้อสินค้า โดยห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่จะต้องจัดเตรียมล้างมือ สบู่ แอลกอฮอล์เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับบุคคลดังกล่าวด้วย และ 4. ให้ควบคุมจำนวนลูกค้าหรือผู้มารับบริการมิให้แออัด ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป
- สหภาพยุโรป (EU) นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมมาธิการยุโรป (EC)เปิดเผยหลังการประชุมทางไกลของผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ว่าประเทศสมาชิกทั้งหมด 27 ชาติ และสถาบันต่างๆ ของ EU ได้จัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 3.3 ล้านล้านยูโร เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของยูโรโซนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรค
- จีน เจ้าหน้าที่ของเมืองฮาร์บิน มณฑลเฮย์หลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เพิ่มความเข้มงวดมาตรการเดินทางของประชาชนและการห้ามรวมกลุ่มกัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ระลอกที่ 2 หลังจากพบคนไข้อายุ 87 ปีรายหนึ่ง แพร่เชื้อให้กับคนอื่นอีก 78 คน ซึ่ง 23 คนในกลุ่มนี้ไม่แสดงอาการ นอกจากนี้เมืองฮาร์บินยังห้ามไม่ให้ผู้คนและรถยนต์เข้าไปในพื้นที่อุตสาหกรรมหรือในเขตชุมชนเมือง ทั้งยังห้ามจัดงานแต่งงานและงานฌาปนกิจ รวมถึงกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ การแสดง กีฬา การประชุม และการจัดแสดงนิทรรศการ แม้ที่ผ่านมาจีนยกเลิกมาตรการกักตัวผู้คน หลังจากประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศควบคุมได้แล้ว แต่การแพร่ระบาดครั้งนี้ในเมืองฮาร์บิน ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ที่อาจต้องนำมาตรการเข้มงวดรุนแรงเหมือนที่เคยใช้ มาใช้อีกครั้ง นอกจากนี้จีนยังได้บริจาคเงินสนับสนุนเพิ่มให้กับองค์การอนามัยโลกอีก 30 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปใช้ต่อสู้กับโรค และเสริมสร้างระบบสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนา
- ฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ประกาศขยายเวลามาตรการล็อกดาวน์ออกไปจนถึงวันที่ 15 พ.ค. โดยจะมีผลบังคับใช้ในกรุงมะนิลา รวมถึงตอนกลางและตอนใต้ของเกาะลูซอน
- สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี ลีเซียน ลุง ประกาศขยายเวลาปิดเมือง ต่อไปอีก 4 สัปดาห์จนถึง 1 มิ.ย. และจะมีการปิดธุรกิจมากขึ้นอีกเพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อให้เหลือน้อยที่สุด
- สเปน รัฐสภาสเปนเห็นชอบตามที่รัฐบาลเสนอให้ขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปถึงวันที่ 9 พ.ค. แต่โอนอ่อนตามเสียงเรียกร้องของประชาชนผ่อนปรนให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 14 ปี ออกนอกบ้านได้ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. แต่มีเงื่อนไขว่าต้องออกไปพร้อมผู้ปกครองเฉพาะเวลาออกไปซื้ออาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไปธนาคารเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ หลังจากที่สเปนเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์มาตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเริ่มอนุญาตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการผลิตและก่อสร้างเริ่มทำงานได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ภายใต้เงื่อนไขว่านายจ้างต้องจัดสิ่งแวดล้อมการทำงานให้ถูกสุขอนามัย มีระยะห่างระหว่างบุคคลในที่ทำงานและต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- มาเลเซีย นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีประกาศขยายเวลาควบคุมการเคลื่อนไหว รวมถึงคำสั่งห้ามต่างๆ เป็นเวลา 2 สัปดาห์จนถึงวันที่ 12 พ.ค. เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และรักษาจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ให้น้อยลง โดยชี้ว่ามาตรการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ เห็นได้จากที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นน้อยลง หลังจากที่ได้ประกาศใช้คำสั่งควบคุมการเคลื่อนไหวตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงการสั่งปิดร้านค้าและโรงเรียน นอกจากนี้ยังสั่งห้ามการเดินทาง และเรียกร้องให้ประชาชนอยู่กับบ้านเพื่อคุมการแพร่ระบาดของโรคอิตาลีบริษัท อาวีโอ (Avio Interiors) ออกแบบที่นั่งบนเครื่องบิน 2 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบแรกเป็นแบบมีกระจกกั้นระหว่างผู้โดยสารแต่ละคนหรือกลาสเซฟ (Glassafe) เป็นรูปแบบกระจกกั้นป้องกันการแพร่กระจายของละอองฝอยระหว่างผู้โดยสาร แบบที่สองมีชื่อว่า เจนัส (Janus) ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ที่นั่งตรงกลางหันออกหรือสลับฟันปลากันไปมา ด้านนึงหันออก และอีกด้านนึงหันเข้า ซึ่งการออกแบบที่นั่งรูปแบบนี้จะทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้เลยหรือต่างคนต่างนั่ง เพื่อรับกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing)
- สวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่กรุงเจนีวามีคำสั่งปิดเมือง ทำให้การจองโรงแรมต่างๆ ถูกยกเลิก ทำให้ห้องพักตามโรงแรมว่างยาวอย่างไม่มีกำหนด ด้านองค์กร The Salvation Army ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลนานาชาติที่คอยช่วยเหลือผู้ยากไร้ตามที่ต่างๆ ได้เปิดโรงแรม Bel Esperance เพื่อให้กลุ่มคนไร้บ้าน และคนต่างด้าวได้เข้าพักฟรี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 จนถึงวันที่ 1 มิ.ย. นี้
- เกาหลีใต้ ประชาชนเริ่มท่องเที่ยวในประเทศ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ดีขึ้น ทำให้รัฐบาลเริ่มคลายมาตรการควบคุมโรคให้ประชาชนใช้ชีวิตเป็นปกติได้มากขึ้น ด้านหน่วยงานสาธารณสุขของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่าเกาหลีใต้จะจัดเตรียมทรัพยากรทางการแพทย์สำหรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ระลอก 2 ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่มักจะพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่
- อังกฤษ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เริ่มทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 กับกลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิง จำนวน 1,112 คน อายุระหว่าง 18 ปี ถึง 55 ปี สุขภาพแข็งแรง ไม่มีประวัติการติดเชื้อไวรัสนี้มาก่อน และกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงต้องไม่เคยตั้งครรภ์ มีประวัติการให้นมบุตร หรือเป็นแม่นมให้กับทารกมาก่อน ซึ่งการทดสอบครั้งนี้ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอยู่ในระยะที่ 1 แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 556 คน กลุ่มที่ 1 รับการฉีดวัคซีนที่มหาวิทยาลัยกำลังพัฒนา ซึ่งขณะนี้มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า 'ChAdOx1 nCov-19' ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุม ได้รับวัคซีนต่อต้านเชื้อไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยที่กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มไม่ทราบว่าตัวเองได้รับการฉีดวัคซีนประเภทใด ทีมนักวิจัยยืนยันว่าการทดสอบครั้งนี้จะไม่มีผลข้างเคียงกับอาสาสมัครและไม่ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งหากประสบความสำเร็จมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดวางแผนผลิตวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดส ภายในเดือนกันยายนนี้ขณะที่องค์การการกุศลเมดิคัล ดีเทคชัน ด็อกส์ กำลังฝึกสุนัขบางสายพันธุ์ เช่น ค็อกเกอร์ สเปเนียล และลาบราดูเดิล เป็นต้น ให้ตรวจจับผู้ติดเชื้อ COVID-19 แบบเดียวกับภารกิจที่สุนัขตรวจจับผู้ป่วยมาลาเรียและมะเร็ง หากผ่านการฝึกแล้ว จะให้สุนัขปฏิบัติภารกิจดมกลิ่นผู้ที่เดินทางเข้าประเทศผ่านทางสนามบินต่างๆ ในอังกฤษ เมื่อปลดล็อกดาวน์และผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรค
- ฝรั่งเศส ให้ผู้ค้าปลีกเปิดบริการอีกครั้งในวันที่ 11 พ.ค. โดยต้องจำกัดจำนวนคนในการเข้าร้านค้า ส่วนร้านอาหาร บาร์ ร้านกาแฟ จะเปิดให้บริการอีกครั้งกลางเดือน มิ.ย. และรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนการตรวจเป็น 700,000 ต่อสัปดาห์จากประมาณ 200,000 ต่อสัปดาห์
- ออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลียประกาศว่า การนำข้อมูลติดตามตัวเรื่องโรคติดเชื้อ COVID-19 ไปใช้ในวัตถุประสงค์นอกเหนือจากเรื่องสาธารณสุขจะถือว่าผิดกฎหมาย หลังจากมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้แอปพลิเคชันติดตามตัว
25 เม.ย. 2020
กพท. หารือร่วมกับสายการบิน เบื้องต้นที่มีการเปิดเผยภายหลังจากการหารือกำหนดให้สายการบินที่มีเครื่องขนาดใหญ่ ต้องขายตั๋วโดยสารในลักษณะที่นั่งเว้นที่นั่งเพื่อรักษาระยะห่างตามมาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งการปรับลดจำนวนที่นั่งบนเที่ยวบินทำให้ต้นทุนการขนส่งของสายการบินเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากสายการบินจะมีการปรับขึ้นราคาบัตรโดยสารก็สามารถทำได้แต่ปรับได้สูงสุดไม่เกิน 9.40 บาท/กิโลเมตร | ที่มาภาพประกอบ: RYT9
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 53 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,907 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 51 คน รักษาหาย 57 คน รักษาหายสะสม 2,547 คน
- สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หารือร่วมกับสายการบินสัญชาติไทยและสายการบินต่างชาติกว่า 20 สายการบิน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรค ก่อนกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ วันที่ 1 พ.ค. 2563 โดยแนวทางมาตรการป้องกันโรคเบื้องต้นที่มีการเปิดเผยภายหลังจากการหารือ มีดังนี้ 1) กำหนดให้สายการบินที่มีเครื่องขนาดใหญ่ ต้องขายตั๋วโดยสารในลักษณะที่นั่งเว้นที่นั่งเพื่อรักษาระยะห่างตามมาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนสายการบินที่มีเครื่องบินขนาดเล็กหรือเครื่องใบพัด กำหนดให้ขายตั๋วโดยสารได้เพียง 70% ของที่นั่งที่มีอยู่จริง ทั้งนี้การปรับลดจำนวนที่นั่งบนเที่ยวบินทำให้ต้นทุนการขนส่งของสายการบินเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากสายการบินจะมีการปรับขึ้นราคาบัตรโดยสารก็สามารถทำได้แต่ปรับได้สูงสุดไม่เกิน 9.40 บาท/กิโลเมตร 2) ให้มีการจัดระเบียบการรักษาระยะห่างของผู้โดยสาร ตั้งแต่เดินทางเข้ามาภายในสนามบินไปจนถึงการขึ้นเครื่องบิน ตั้งแต่ขั้นตอนการต่อคิวซื้อตั๋ว ออกบัตรโดยสาร ยืนรอการตรวจค้น การใช้สะพานเทียบเครื่องบินรอขึ้นเครื่อง การใช้บัสเกตขึ้นรถต่อไปขึ้นเครื่องบินภายในรถต้องมีการจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร 3) งดการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มบนเที่ยวบิน รวมทั้งจะไม่มีบริการจำหน่ายอาหารบนเครื่องบิน และไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารนำอาหารและเครื่องดื่มขึ้นมาบริโภคบนเครื่องบิน 4) กำหนดให้ลูกเรือต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ และ Face shield ส่วนผู้โดยสารต้องรับผิดชอบสวมใส่หน้ากากอนามัยมาเองและใส่ตลอดเวลาการเดินทาง 5) กำหนดให้ผู้โดยสารจะต้องสวมหน้ากากอนามัยเริ่มตั้งแต่เข้าสู่สนามบินจนถึงตลอดการเดินทาง หากพบผู้โดยสารไม่สวมหน้ากากอนามัยสายการบินสามารถปฏิเสธการออกบัตรโดยสาร หรือห้ามไม่ให้ขึ้นเครื่องบินได้รวมทั้งมีอำนาจในการบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยด้วย 6) สำหรับสายการบินที่มีเส้นทางการบินที่มีระยะเวลาการบินเกินกว่า 90 นาทีสายการบินจะต้องกันที่นั่งแถวหลังไว้พิเศษสำหรับแยกผู้โดยสารที่มีอาการน่าสงสัยระหว่างเที่ยวบินด้วย
- ทันตแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทย ออกประกาศ “แนวทางป้องกันการติดเชื้อทางทันตกรรม ในสถานการณ์ COVID-19” ฉบับที่ 1 เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อยืนยันว่ากระบวนการทำฟันมีความปลอดภัยสูง ทั้งต่อตัวผู้ป่วยที่มารับบริการและต่อทีมทันตแพทย์และบุคลากรทั่วประเทศ รวมทั้งยกระดับคำแนะนำและข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง สำหรับทีมทันตแพทย์ในระหว่างให้การรักษา
- กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ได้ปรับรูปแบบการจัดบริการทางการแพทย์ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการแพร่กระจายเชื้อ เป็นระบบบริการแบบใหม่ (New Normal Medical Services) ที่เป็นทางเลือกในการรับการรักษาต่อไป ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพิ่มการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ได้จัดระบบการรักษาทางไกลผ่านระบบวิดีโอ (Tele Consult/ Video call) และให้บริการส่งยาทางไปรษณีย์ทุกสิทธิการรักษา นำร่องในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จะขยายบริการให้ครอบคลุมทุกสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งแผนกและกลุ่มโรค เชื่อมโยงข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย (Personal Health Record) พัฒนาไปสู่ระบบการส่งต่อและให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ
- สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เปลี่ยนห้องแล็บตรวจดีเอ็นเอ เป็นห้องแล็บตรวจเชื้อ COVID-19 จากซากของเชื้อ นำร่องตรวจเจ้าหน้าที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (บางนา) และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปทุมธานีโดยจะนำอุปกรณ์ให้กับหน่วยพยาบาลของหน่วยงานเก็บสารคัดหลั่งที่ใช้สำหรับตรวจหาเชื้อมาตรวจ โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้หรือเป็นผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ เดินทางมาที่ห้องแล็บ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อ โดยการทดลองนี้ถือว่า จะเป็นประโยชน์กับกระทรวงยุติธรรม เช่น เรือนจำต่างๆ ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ต้องขังและญาติทั้งนี้แล็บของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และได้รับมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข
- กระทรวงอุตสาหกรรม แจงการกระจายหน้ากากอนามัยแบบผ้า ให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ตามทะเบียนราษฏร กรมการปกครอง จำนวนรวม 5,450,000 ชิ้น ผ่านช่องทางไปรษณีย์ไทยจำนวนที่ได้รับ คือ จำนวนคนที่ปรากฏในข้อมูลทะเบียนบ้านทุกครัวเรือน ของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ตามบัญชีรายชื่อในทะเบียนบ้าน 1 คนต่อ 1 ชิ้น ดังนั้น หากท่านใดได้รับไม่ครบถ้วนตามจำนวนรายชื่อในทะเบียนบ้าน สามารถติดต่อแจ้งเรื่องมาได้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านทางเว็บไซต์ www.industry.go.th หรือ www.หน้ากากไทยต้านโควิด.com
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เตือนอย่าซื้อยาจีนทางออนไลน์ เสี่ยงต่อการได้รับยาปลอมและไม่สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้และหากผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดนำเข้าหรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยในการใช้ยา ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งผู้บริโภคควรศึกษาฉลากและเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรก่อนใช้ผู้บริโภคสามารถดูเอกสารที่ อย. อนุมัติไว้ในเว็บไซต์ http://www.fda.moph.go.th/sites/oss/SitePages/ContentViewInformation.aspx?IDitem=%209 ทั้งนี้ COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่หลายประเทศกำลังอยู่ในระหว่างการค้นหายาที่ใช้ในการรักษาและวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการทดลอง คิดค้น และทดสอบประสิทธิภาพในระหว่างนี้การใช้ยาใด ๆ ต้องอยู่ภายใต้การประเมินอาการของแพทย์หากมีข้อสงสัยหรือต้องการแจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ที่มีการโอ้อวดสรรพคุณเกี่ยวกับการรักษาโรค COVID-19 ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ อย. Smart Application
- ญี่ปุ่น ทางการกรุงโตเกียวกำลังเรียกร้องให้ประชาชนอยู่บ้านตั้งแต่วันเสาร์ที่ 25 เม.ย.- 6 พ.ค. เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยระบุว่าจะเป็นโอกาสให้ประชาชน 13.4 ล้านคนในกรุงโตเกียวได้ 'อยู่บ้านและรักษาชีวิต' นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ประชาชนงดเว้นการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวประจำปีช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือเรียกว่า สัปดาห์ทอง ระหว่างวันที่ 2-6 พ.ค. นี้เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ญี่ปุ่นยังคงอยู่ในช่วงการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 6 พ.ค. นี้ | รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะตรวจสอบรายงานที่ว่ามีโรงพยาบาลหลายแห่งปฏิเสธที่จะรับผู้คนที่สงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 ด้วย
- อินโดนีเซีย พักแผนการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา บนเกาะชวาไปอยู่บนเกาะบอร์เนียวเป็นการชั่วคราว พร้อมทุ่มงบประมาณกว่า 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เตรียมจัดสรรไว้เป็นเงินลงทุนก้อนแรกสำหรับการสร้างเมืองหลวงใหม่ หนุนรับมือโรคติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ
- เบลเยียม นายกรัฐมนตรีเบลเยียม เปิดเผยแผนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์โดยยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ แต่ประชาชนที่อายุ 12 ปีขึ้นไปต้องใส่หน้ากากในระบบขนส่งสาธารณะ โดยอนุญาตให้เปิดสถานที่และร้านค้าต่างๆ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับผ้า จะเริ่มเปิดร้านในวันที่ 4 พ.ค. ร้านค้าต่างๆ จะสามารถเปิดร้านได้ในวันที่ 11 พ.ค. โรงเรียนจะเปิดตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. คาเฟ่และร้านอาหารเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. หลังจากที่เบลเยียมประกาศมาตรการล็อกดาวน์หรือปิดเมืองมาตั้งแต่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดูไบเปิดตัวห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ โดยการดัดแปลงเป็นรถพยาบาลที่ติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้ออัตโนมัติเครื่องสแกนอุณหภูมิและห้องเก็บตัวอย่างที่ปลอดภัย เพื่อคัดกรอง COVID-19 ฟรีที่บ้านสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ดูไบและสมาชิกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ตัดสินใจที่จะเปิดห้างสรรพสินค้า คาเฟ่ และร้านอาหารอีกครั้งหลังจากที่มีการล็อกดาวน์เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ดูไบยังอนุญาตการขนส่งสาธารณะรวมถึงรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อให้บริการต่อไปในวันอาทิตย์อย่างไรก็ตามประชาชนจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ผู้ฝ่าฝืนจะต้องเสียค่าปรับ 1,000 dirhams (S$387)
- สหรัฐฯ ประชาชนในหลายรัฐทั่วสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าประท้วง เพื่อแสดงพลังต่อต้านมาตรการพักอยู่ที่บ้าน หรือ stay-at-home ที่เจ้าหน้าที่รัฐประกาศบังคับใช้เพื่อชะลอการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 และให้เปิดเมืองอีกครั้งเพื่อเดินหน้าธุรกิจต่างๆ ขณะเดียวกันมีกลุ่มผู้สนับสนุนคำสั่งล็อกดาวน์ในจอร์เจียออกมาต่อต้านการผ่อนคลายล็อกดาวน์เช่นกัน ทั้งนี้ตามข้อเสนอแนะของทำเนียบขาวเพื่อให้รัฐต่างๆ กลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง ระบุว่า รัฐที่มีสถิติผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง 14 วัน ให้ยกเลิกมาตรการคุมเข้มต่างๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ท่ามกลางคำสั่งให้พักอยู่ที่บ้านใน 42 รัฐของสหรัฐ ประชาชนออกสู่ถนนของแต่ละรัฐเพื่อประท้วงคำสั่งดังกล่าว ขณะที่รัฐวิสคอนซินได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเริ่มอนุญาตให้เปิดธุรกิจที่ไม่สำคัญต่างๆ เช่น ร้านเสื้อผ้า สนามกอล์ฟ และธุรกิจดูแลสนามหญ้า แต่ธุรกิจที่ไม่จำเป็นส่วนใหญ่จะยังคงปิดให้บริการต่อไปเพราะคำสั่งพักอยู่ที่บ้านจะบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 26 พ.ค.
- รัสเซีย กรุงมอสโกจะยังไม่ผ่อนปรนคำสั่งแยกตัว (self-isolation) ในช่วงวันหยุดของเดือน พ.ค. และจะขยายคำสั่งออกไปถึงกลางเดือน พ.ค. และขอให้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมนักศึกษาแพทย์ปี 4 และ ปี 5 มาช่วยรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19
- อินเดีย จะอนุญาตให้ธุรกิจคอมเพล็กซ์ตลาด ร้านค้าบางแห่งเปิดอีกครั้ง โดยมีพนักงานครึ่งหนึ่งที่มีการสวมหน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามกฎระเบียบทางสังคม แต่ไม่อนุญาตให้ร้านค้าที่อยู่ในเขตกักกันเปิดบริการ
- สิงคโปร์ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ขยายเวลายกเลิกเที่ยวบินอีกหนึ่งเดือน จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2020
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 25 เม.ย. 2020 เวลา 20.00 น. มีรายงานผู้ป่วย COVID-19 ยืนยันทั่วโลก รวม 207 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 นครรัฐ เรือ Diamond Princessเรือ Grands Princess และเรือ MS Zaandam จำนวน 2,834,697 ราย มีอาการรุนแรง 58,382 ราย เสียชีวิต 197,421 ราย โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยยืนยัน 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 925,758 ราย สเปน 219,764 ราย อิตาลี 192,994 ราย ฝรั่งเศส 159,828 ราย เยอรมนี 155,054 ราย สหราชอาณาจักร 143,464 ราย ตุรกี 104,912 ราย อิหร่าน 88,194 รายจีน 83,897ราย (รวม ฮ่องกง 1,036 ราย มาเก๊า 45 ราย) และรัสเซีย 68,622 ราย ส่วนประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยยืนยันสะสมจำนวน 2,907 ราย รักษาหายและแพทย์ให้กลับบ้าน 2,594 ราย ผู้ป่วยยืนยันที่เสียชีวิต 51 ราย ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.-17 เม.ย. 2563 (สัปดาห์ที่ 16) มีจำนวนการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อ COVID-19 โดยห้องปฏิบัติการจากกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานมหาวิทยาลัย และหน่วยงานเอกชน โดยวิธี RT-PCR ทั้งหมด 142,589 ตัวอย่าง คิดเป็นจำนวนการตรวจวินิจฉัยเฉลี่ยวันละ 3,300 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามการเฝ้าระวังโรค 42,257 ราย และผู้ป่วยที่มีอาการไม่เข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังโรค 100,332 ราย |
ที่มาข้อมูล Timeline เรียบเรียงจาก: กรมควบคุมโรค | Thai PBS | สำนักข่าวไทย | VOA | NHK-World
*อัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 25 เม.ย. 2020 อนึ่งวันเวลาที่ระบุไว้ในบางเหตุการณ์อาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
Timeline สถานการณ์ 'COVID-19' ธ.ค. 2019 - ก.พ. 2020
Timeline สถานการณ์ 'COVID-19' มี.ค. 2020
จับตา: สถานการณ์ COVID-19 ประจำสัปดาห์ 1-4 เม.ย. 2020
จับตา: สถานการณ์ COVID-19 ประจำสัปดาห์ 5-11 เม.ย. 2020
จับตา: สถานการณ์ COVID-19 ประจำสัปดาห์ 12-18 เม.ย. 2020
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ