ครัวเรือนไทยมากกว่าครึ่ง มีเงินเก็บพอใช้จ่ายน้อยกว่า 3 เดือน

กองบรรณาธิการ TCIJ | 19 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 8665 ครั้ง

ผลสำรวจก่อน COVID-19 ระบุ 43% ของครัวเรือนในไทยไม่มีเงินออม 59.2% มีทรัพย์สินทางการเงินน้อยกว่าค่าใช้จ่าย 3 เดือน - ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ผลสำรวจ 'สำนักงานสถิติแห่งชาติ-ทีดีอาร์ไอ-ยูนิเซฟ' คนส่วนใหญ่จะพอประคับประคองไปได้ถึงเดือน ก.ค. นี้ 2563 เท่านั้น ด้านผลสำรวจ 'เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ' พบครัวเรือนกว่า 50% ที่มีรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาท/เดือนลงมา มีกันชนทางการเงินไม่เกิน 3 เดือน และในคนกลุ่มเดียวกันเกือบ 20% ไม่เคยประเมินกันชนทางการเงินของตัวเองเลย | ที่มาภาพประกอบ: Adaptor- Plug (CC BY-NC 2.0)

ข้อมูลจากรายงาน Outlook ไตรมาส 1/2020 ของธนาคารไทยพานิชย์ ได้อ้างอิงข้อมูลในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 (ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19) พบว่าครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน ที่มีหนี้สิน เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมาก โดยกว่า 8 ใน 10 ของครัวเรือนเหล่านี้ไม่มีเงินออม

เมื่อพิจารณาสัดส่วนครัวเรือนที่ไม่มีเงินออม ณ ครึ่งแรกปี 2562 พบมีร้อยละ 43 ต่อจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด, ครัวเรือนที่ไม่มีเงินออมยังคิดสัดส่วนเป็นร้อยละ 57.9 ต่อครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน, ครัวเรือนที่ไม่มีเงินออมยังคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.2 ต่อจำนวนครัวเรือนที่มีหนี้สิน, และครัวเรือนที่ไม่มีเงินออมยังคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.5 ต่อครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน และมีหนี้สินด้วย

เมื่อพิจารณาสัดส่วนครัวเรือนที่มีสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 3 เดือน ณ ครึ่งแรกปี 2562 พบมีร้อยละ 59.2 ต่อจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด, ครัวเรือนที่มีสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 3 เดือน เป็น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.7 ต่อครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน, ครัวเรือนที่มีสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 3 เดือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 ต่อจำนวนครัวเรือนที่มีหนี้สิน, และ ครัวเรือนที่มีสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 3 เดือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.2 ต่อครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน ที่มีหนี้สินด้วย [1]

'สนง.สถิติแห่งชาติ-ทีดีอาร์ไอ-ยูนิเซฟ' สำรวจพบคนส่วนใหญ่อยู่ได้ถึงเดือน ก.ค. นี้เท่านั้น 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจออนไลน์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการสำรวจผลกระทบด้านสังคม (จำนวนตัวอย่าง 43,338 สำรวจระหว่างวันที่ 13-27 เม.ย. 2563) และครั้งที่สองผลกระทบด้านเศรษฐกิจ (จำนวนตัวอย่าง 27,986 สำรวจระหว่างวันที่ 27 เม.ย.-18 พ.ค. 2563) ผลการสำรวจสรุปได้ดังต่อไปนี้

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

  • ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 73.2  มีรายได้ลดลงหลังเกิดการระบาด โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 39.9 มีรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง และพบว่า ผู้มีการศึกษาต่ำมีความเสี่ยงที่จะมีรายได้ลดมากกว่าผู้มีรายได้สูง
  • ร้อยละ 8 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ย้ายที่อยู่ระหว่างการระบาด โดยคาดว่าเป็นการย้ายกลับภูมิลำเนา
  • หากไม่นับกลุ่มข้าราชการและพนักงานของรัฐ พบว่าร้อยละ 16.2 กลายเป็นคนว่างงาน ในขณะที่ร้อยละ 1.7 ออกจากกำลังแรงงาน กล่าวคือ เคยทำงานก่อนการระบาด แต่หลังการระบาดก็ไม่ได้ทำงานและไม่พยายามหางานทำด้วย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะทราบว่า ถึงแม้พยายามหางานทำก็ไม่สามารถหางานได้ สองตัวเลขนี้รวมกันคิดเป็นร้อยละ 17.9 ของแรงงานที่เคยมีงานทำก่อนการระบาด ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนคนก็จะได้กว่า 6 ล้านคน โดยในกลุ่มนี้ พบว่า แรงงานรับจ้างทั่วไป หรือที่ทำงานแบบไม่ประจำตกงานมากสุด
  • ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยปิดกิจการลงหรือลดขนาดกิจการ เช่น ร้อยละ 14 ของธุรกิจที่เคยมีลูกจ้างเกิน 10 คนได้ทำการปิดกิจการ อีกร้อยละ 12 ลดจำนวนลูกจ้างเหลือน้อยกว่า 10 คน มีเพียงร้อยละ 65 เท่านั้นที่ยังคงเปิดกิจการต่อด้วยจำนวนลูกจ้างเกิน 10 คน สภาพเช่นเดียวกันนี้เกิดกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก (กล่าวคือมีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน และไม่มีลูกจ้าง)
  • ในขณะเดียวกันมีคนเคยว่างงานหรืออยู่นอกกำลังแรงงานจำนวนหนึ่งต้องพยายามกลับมาหางานทำ แต่ก็มักจะหางานทำไม่ได้
  • กว่าร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าถูกกระทบจากโควิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น ถูกพักงาน เลิกจ้าง ยอดขายลดลง หรือปิดกิจการ และระบุว่าทุกมาตรการ ‘ปิดเมือง’ ของรัฐบาลมีผลกระทบต่อการทำมาหากินทั้งสิ้น ไม่ว่าการปิดร้านค้า การจำกัดไม่ให้นั่งกินข้าวในร้านอาหาร เคอร์ฟิว การให้ทำงานจากบ้าน การจำกัดการเดินทาง

ความสามารถในการรับมือและมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ

  • 1 ใน 4 ของผู้ที่ได้รับผลกระทบระบุว่า ไม่สามารถปรับตัวรับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างทั่วไป กลุ่มทำงานไม่ประจำ หรือประกอบธุรกิจโดยไม่มีลูกจ้างจะปรับตัวได้น้อยที่สุด
  • เกินกว่าครึ่งตอบว่าไม่สามารถอยู่ได้โดย ‘ไม่ลำบากเกินไป’ หากสถานการณ์ลากยาวเกิน 3 เดือน ถ้านับจากวันที่ตอบแบบสอบถามคือช่วงเดือน เม.ย. ก็หมายความว่าคนส่วนใหญ่จะพอประคับประคองไปได้ถึงเดือน ก.ค. นี้เท่านั้น แน่นอนว่าการกลับมาเปิดเมืองจะทำให้สภาพนี้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะดีขึ้นเท่าไร
  • ส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ ตามด้วยการให้เป็นเงินสด (เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน)
  • ผู้ตอบส่วนใหญ่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น ไม่ได้เงิน 5,000 บาท (คาดว่าเป็นเพราะช่วงที่ทำแบบสอบถามการจ่ายเงินเพิ่งเริ่มต้น) ไม่ได้สินเชื่อ เป็นต้น

ผลกระทบด้านสังคม

  • โควิด-19 ก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างกว้างขวางและรุนแรง โดยมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 49 ) ระบุว่าความวิตกกังวลนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก
  • ผลกระทบมากสุดคือความไม่สะดวกในการเดินทาง โดยคาดว่าหมายถึงการไม่อาจไปทำงานหรือไปเรียนได้ ตามมาด้วยความไม่สะดวกในการรับบริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย
  • ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นครัวเรือนซึ่งมีเด็กวัยเรียนอยู่ด้วย จำนวนเกือบครึ่ง (ร้อยละ 46) ตอบว่า ไม่พร้อมที่จะเรียนระบบออนไลน์ เนื่องจากไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หรือแท๊บเล็ต มากที่สุด เหตุผลรองลงมา เนื่องจากผู้ปกครองไม่มีเวลาในการช่วยเหลือบุตรหลานในการเรียนออนไลน์ [2]

ครอบครัวรายได้น้อย กว่า 20% ไม่เคยประเมินกันชนทางการเงินของตัวเองเลย 

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดย 'เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ' พบครอบครัวรายได้น้อยกว่า 20% ไม่เคยประเมินกันชนทางการเงินของตัวเองเลย | ที่มาภาพประกอบ: ILO Asia-Pacific (CC BY-NC-ND 2.0)

ด้าน ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ 'เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ' สอบถามผ่านระบบออนไลน์ เรื่อง 'แนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19' ระหว่างวันที่ 14-24 พ.ค. 2563 ซึ่งคนตอบแบบสอบถามอยู่ทั้งหมด 1,998 คน พบว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของครัวเรือน 'ก่อนเกิด' สถานการณ์ COVID-19 (หรือ ในเดือน ม.ค. 2563) ครัวเรือนส่วนใหญ่มีงานทำเป็นส่วนใหญ่ หรือเป็นประจำ มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 70 มีเพียงร้อยละ 10 ที่ว่างงาน

รายได้รายเดือนก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19  พบว่าร้อยละ 73 มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน ส่วนที่เหลือมีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป มีเพียงร้อยละ 5 ที่รายได้มากกว่า 70,000 บาทต่อเดือน

ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน มีจำนวนผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินอยู่ประมาณ 1 ใน 4 และในกลุ่มเดียวกันนี้เองที่ไม่มีทรัพย์สินเลยถึงร้อยละ 20 ในขณะที่ร้อยละ 80 ของครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่า 70,000 บาท/เดือน ขึ้นไปมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน

ครัวเรือนกว่าร้อยละ 50 ที่มีรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาท/เดือนลงมา มีกันชนทางการเงินไม่เกิน 3 เดือน และในคนกลุ่มเดียวกันมีถึงเกือบร้อยละ 20 ที่ไม่เคยประเมินกันชนทางการเงินของตัวเองเลย ส่วนผู้ที่มีกันชนทางการเงินตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 1 ปีขึ้นไป จะพบในกลุ่มครัวเรือนที่รายได้ 50,000-70,000 บาท/เดือน อยู่ร้อยละ 40 และร้อยละ 60 ในครัวเรือนที่มีรายได้ 70,000 บาท/เดือน

โดยสรุปคือ ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19  ครัวเรือนส่วนใหญ่มีงานทำและมีงานทำเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ ครัวเรือนไทยมี “กันชนทางเงิน” ซึ่งหมายถึงหลักประกันที่จะมารองรับกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ‘มีจำกัดมาก’ เพียงประมาณ 1-3 เดือนเป็นส่วนใหญ่ ความเปราะบางดังกล่าวกลายเป็นความเสี่ยงในยามที่เจอสถานการณ์วิกฤต [3] [4]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] Outlook ไตรมาส 1/2020 (SCB EIC, 17 ม.ค. 2563)
[2] โควิด-19 กระทบใคร กระทบอย่างไร พวกเขารับมือไหวไหม (สมชัย จิตสุชน, TDRI, 28 พ.ค. 2563)
[3] ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง 'แนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19' (บำนาญแห่งชาติ, 27 มิ.ย. 2563)
[4] เดชรัต สุขกำเนิด : วิเคราะห์ผลการสำรวจ แนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคม เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 (Wefair, 8 มิ.ย. 2563)

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: