ขงจื่อ: แก้ไขนาม

ไอโกะ ฮามาซากิ | 11 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 10984 ครั้ง


คัมภีร์หลุนอี่ว์ (论语) เป็นคัมภีร์พื้นฐานที่สำคัญสำหรับการศึกษาปรัชญาสำนักขงจื่อ ซึ่งภายในคัมภีร์หลุนอี่ว์นั้น ได้บรรจุคำสอนของขงจื่อ โดยเหล่าลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดกับขงจื่อเป็นผู้รวบรวมและบันทึกคำสอน  หลังจากที่ขงจื่อถึงแก่อนิจกรรม คัมภีร์หลุนอี่ว์เป็นบทประพันธ์ที่เขียนถึงคำสอนของขงจื่อที่ให้ไว้แก่ลูกศิษย์แต่ละคน แบ่งออกเป็น 20 เล่ม มีลักษณะเป็นบทสนทนาสั้นๆ ที่ไม่ได้แบ่งแยกเป็นหมวดหมู่ และเหมือนจะไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจน เป็นการตอบคำถามที่เหมาะสมแด่ตัวลูกศิษย์ของขงจื่อแต่ละคน ในบางครั้งก็เป็นการตอบคำถามลูกศิษย์ โดยลักษณะวิธีการตอบไม่ตรงกับคำถาม หากแต่เมื่อคิดวิเคราะห์ เราก็จะมองเห็นถึงความนัยของสิ่งที่ขงจื่อต้องการจะสอน 

ซึ่งภายในภีร์หลุนอี่ว์ที่รวบรวมหลักคำสอนของขงจื่อ ขงจื่อได้กล่าวถึงอย่างให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการปกครอง คุณสมบัติของผู้ปกครอง ลักษณะของเหล่าขุนนางและประชาราษฎร์ที่ดีในอุดมคติของขงจื่อ วิธีปฏิบัติต่อกันและกัน เพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดี อันจะนำมาสู่ชุมชนอันสงบสุข

โดยแง่มุมทางความคิดเรื่องการปกครองของขงจื่อ ขงจื่อได้ให้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับลำดับความสำคัญเมื่อต้องทำการปกครองบ้านเมือง กล่าวคือ ขงจื่อได้ตอบคำถามไขข้อข้องใจลูกศิษย์ของเขาที่เอ่ยถามเกี่ยวกับการปกครองว่า “ควรจะทำการใดเป็นอันดับแรกเมื่อได้ปกครองบ้านเมือง” ซึ่งจากคำตอบต่อคำถามนี้เอง ที่ทำให้เราได้เข้าใจว่า ‘สิ่งนี้’ คือพื้นฐานอันสำคัญที่ควรทำเป็นอันดับแรกสำหรับการปกครองในแบบของขงจื่อ ดังที่ปรากฏในหลุนอี่ว์บทต่อไปนี้

 

เล่มที่ 13 บทที่ 3

13 : 3 : 1 จื่อลู่ถามว่า “หากเจ้านครเว่ยขอให้อาจารย์ช่วยปกครอง อาจารย์จะพิจารณาทำสิ่งใดก่อน”

13 : 3 : 2 อาจารย์ตอบว่า “ที่จำเป็นคือ แก้ไขนามให้ถูกต้อง”

13 : 3 : 3 จื่อลู่ถามว่า “กระนั้นหรือ อาจารย์หลงไปหรือเปล่า ทำไมต้องแก้ไขนามให้ถูกต้องด้วย”

13 : 3 : 4 อาจารย์กล่าวว่า “โหยว! เจ้าช่างหยาบคายเหลือเกิน เมื่อวิญญูชนไม่รู้อะไรก็ควรสงวนท่าที”

13 : 3 : 5 “หากนามไม่ถูกต้อง การใช้ภาษาก็ไม่ราบรื่น หากใช้ภาษาไม่ราบรื่น กิจต่างๆ ก็ไม่สำเร็จ”

13 : 3 : 6 “หากกิจต่างๆ ไม่สำเร็จ หลี่และดนตรีก็จะไม่เจริญ หากหลี่และดนตรีไม่เจริญ โทษทัณฑ์ก็ไม่เที่ยงธรรม หากโทษทัณฑ์ไม่เที่ยงธรรม ประชาราษฎร์จะไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไร”

13 : 3 : 7 “ด้วยเหตุนี้ วิญญูชนเมื่อใช้นามได้ถูกต้อง ก็ต้องพูดได้ สิ่งที่พูดได้ต้องนำไป ปฏิบัติได้ ท่าทีของวิญญูชนต่อคำพูดไม่อาจเหลวไหลได้”

 

จากหลุนอี่ว์บทดังกล่าว ขงจื่อได้แสดงให้เห็นว่า อะไรคือสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก เมื่อต้องปกครอง การ “แก้ไขนามให้ถูกต้อง” (正名 อ่านว่า เจิ้งหมิง) เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่จะทำเมื่อถูกถามถึงการปกครองรัฐ และยังกล่าวให้เห็นว่า หากทำสิ่งนี้ไม่สำเร็จ การจะทำสิ่งอื่นๆ ที่เป็นลำดับต่อมาก็ไม่อาจสำเร็จได้ จากตัวบทนี้เองเราจึงต้องการนำเสนอ “การแก้ไขนาม” ในคัมภีร์หลุนอี่ว์ ที่อาจจำแนกได้เป็น 3 แง่มุม ดังนี้

ประการแรก คือ “การขัดเกลาสภาพความเป็นจริงให้สอดคล้องสมกับข้อกำหนดของนาม” นามนั้นสามารถบ่งชี้หรือแสดงถึงสถานะของคนผู้หนึ่งได้ การปฏิบัติตนเองให้เป็นไปตามลักษณะของนามจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ หากผู้ที่ครองนามนั้นมีลักษณะพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดของ ‘นาม’ ผู้ที่ได้รับขาน ‘นาม’ ก็ควรที่จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามข้อกำหนดของนาม หรือคอยขัดเกลามองดูสภาพความเป็นจริงให้สมคล้องสมนามเสมอ ดังที่ปรากฏในหลุนอี่ว์บทต่อไปนี้

 

เล่มที่ 2 บทที่ 7

จื่อโหยวถามเรื่องความกตัญญู อาจารย์ตอบว่า “สมัยนี้ความกตัญญูหมายถึงการเลี้ยงดูบิดา มารดา แต่เราก็เลี้ยงดูม้าและสุนัขด้วยมิใช่หรือ ถ้าขาดความเคารพแล้วจะมีอะไร เพื่อแยกแยะการเลี้ยงดูแบบหนึ่งออกจากอีกแบบหนึ่งเล่า”

 

จากหลุนอี่ว์บทดังกล่าว เราจะพิจารณาได้ว่า ความกตัญญูนั้นเป็นรากฐานที่สำคัญของครอบครัว การกตัญญูเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นหน้าที่ของผู้ที่เรียกตนเองว่า ‘บุตร’ แต่การเลี้ยงดูบิดามารดานั้นจะมีความแตกต่างจากการเลี้ยงดูม้าและสุนัข ตรงที่เราให้ความเคารพบิดามารดา การเป็นบุตรนั้นไม่ใช่เพียงแค่การเกิดมาเป็นลูกของบิดามารดา แต่ต้องมีลักษณะความประพฤติที่สมกับความเป็นบุตร สิ่งสำคัญคือ ความกตัญญูต่อบิดามารดา ซึ่งการเลี้ยงดูบิดามารดาต้องมีความความเคารพด้วย เป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากการเลี้ยงดูสัตว์ คำสอนของขงจื่อ มีลักษณะเป็นการตอบคำถามเฉพาะสำหรับบุคคลนั้นๆ เป็นการเลือกคำตอบให้เหมาะสมกับบุคคลที่ขงจื่อต้องการจะสอน ว่าบุคคลนั้นควรขัดเกลาตรงจุดใด และเพิ่มเติมตรงจุดใด ในหลุนอี่ว์บทนี้จึงแสดงให้เห็นว่าขงจื่อนั้นต้องการขัดเกลาตัวของจื่อโหยวในเรื่องของความกตัญญูต่อบิดามารดา เป็นการขัดเกลาสภาพจริงให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของนาม

ประการที่สอง “การใช้นามให้สมสถานะ” คือ การใช้นามให้ตรงกับสถานะของผู้ที่ครองนามนั้น ตามความเป็นจริง เมื่อต้องเรียกขานหรือกล่าวถึงผู้ครองนาม ก็เรียกให้ตรงกับลักษณะ พฤติกรรม ฐานะ ตามความเป็นจริง เมื่อไม่สามารถปฏิบัติตนให้สมกับข้อกำหนดของนามได้ ก็ต้องผันไปใช้นามอื่นที่บ่งชี้ตามลักษณะความเป็นจริง ดังที่ปรากฏในหลุนอี่ว์บทต่อไปนี้ 

 

เล่มที่ 14 บทที่ 47 

14 : 47 : 1 มีเด็กหนุ่มจากเมืองเชวีย ทำหน้าที่เป็นเด็กนำสาร มีคนถามว่า “เขาก้าวหน้าหรือไม่”

14 : 47 : 2 อาจารย์กล่าวว่า “เราเห็นเขาชอบนั่งที่ของผู้ใหญ่ เห็นเขาชอบเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้อาวุโสกว่า เขาไม่ใช่คนใฝ่ก้าวหน้าในการเรียนรู้ แต่อยากเป็นผู้ใหญ่โดยเร็วมากกว่า”

 

จากหลุนอี่ว์บทดังกล่าว เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงบทสนทนาพูดคุยระหว่างขงจื่อและคนผู้หนึ่ง โดยในบทสนทนานั้นได้มีการถามถึงเด็กนำสาร ว่าสามารถเรียกนามเขาให้เป็นคนที่ ‘ก้าวหน้า’ ได้หรือไม่ ขงจื่อได้อภิปรายขยายความให้เข้าใจถึงสถานะของเด็กนำสารผู้นั้นว่า เขาไม่ใช่ผู้ที่ควรครองนามว่า เป็น ‘ผู้ที่ใฝ่ก้าวหน้าในการเรียนรู้’ แต่ควรเรียกนามเขาว่า เป็น ‘ผู้ที่อยากเป็นผู้ใหญ่โดยเร็ว’ มากกว่า เพราะในการกระทำของเขา การชอบนั่งที่ของผู้ใหญ่และการชอบเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้อาวุโสกว่านั้น ไม่ใช่การกระทำของผู้ที่ใฝ่ในความก้าวหน้า ดังนั้นควรใช้นามให้สมกับสถานะของเขา คือการเปลี่ยนนามเรียกเด็กนำสารผู้นั้นว่า ‘ผู้ที่อยากเป็นผู้ใหญ่โดยเร็ว’ จึงจะเป็นการใช้นามที่ตรงกับลักษณะ สมสถานะ

ประการที่สาม “การตรวจสอบนาม” ว่ามีคุณลักษณะความหมายที่ถูกต้องตามจริยธรรมของขงจื่อ และตามสถานภาพความชอบธรรมทางสังคมหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อกล่าวถึง ‘ผู้ปกครอง’ คุณลักษณะ ความหมายของผู้ปกครอง คือผู้ที่เป็นวิญญูชน รักจารีต มีมนุษยธรรม มีความกล้าหาญและอดทน หากผู้คนในสังคมเข้าใจความหมายของผู้ปกครองว่า คือผู้ที่มีความแข็งกร้าว มีอำนาจ (ในเชิงที่ทำให้ประชาราษฎร์หวาดกลัว) ก็แก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ ให้ความเข้าใจของผู้คนในสังคมนั้นเข้าใจตรงกัน ว่าผู้ครองนามนั้น ควรมีคุณลักษณะที่ถูกต้องเที่ยงธรรมเช่นไร ดังที่ปรากฏในหลุนอี่ว์บทต่อไปนี้

 

เล่มที่ 12 บทที่ 20

12 : 20 : 1 จื่อจังถามว่า “ขุนนางบัณฑิตต้องเป็นอย่างไรจึงจะถือได้ว่าประสบความสำเร็จ”

12 : 20 : 2 อาจารย์ถามว่า “ที่ว่าประสบความสำเร็จหมายถึงอะไร”

12 : 20 : 3 จื่อจังตอบว่า “ในบ้านเมืองรู้จักกันทั่ว ในตระกูลรู้จักกันทั่ว”

12 : 20 : 4 อาจารย์กล่าวว่า “นั่นถือว่าเป็นที่รู้จัก มิใช่ประสบความสำเร็จ

12 : 20 : 5 “คนที่ประสบความสำเร็จต้องมั่นคง ซื่อตรง รักความถูกต้อง ตรวจสอบวาจา         พิจารณาสีหน้าท่าทีของผู้คน คอยระวังทำตนอ่อนน้อมต่อผู้อื่น คนเช่นนี้ต่างหากที่ประสบ           ความสำเร็จในบ้านเมืองและในตระกูลอย่างแน่นอน”

12 : 20 : 6 “คนที่เป็นที่รู้จักแม้จะปั้นแต่งท่าทางราวกับมีมนุษยธรรม แต่การปฏิบัติไปใน        ทางตรงข้าม ทำเช่นนี้โดยไม่สงสัยตนเองแม้แต่น้อย คนแบบนี้ในบ้านเมืองรู้จักกันทั่ว ในตระกูล    รู้จักกันทั่ว”

 

จากหลุนอี่ว์บทดังกล่าว ขงจื่อได้เผยให้เราเห็นว่า จื่อจังนั้นเข้าใจความหมายของนามว่า ‘ผู้ที่ประสบความสำเร็จ’ คือ คนที่เป็นที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่งเป็นการเข้าใจถึงคุณลักษณะของ ‘ผู้ที่ครองนาม’ นั้นผิด เพราะถ้าหากกล่าวว่า เป็นคนที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง ย่อมหมายถึงคนที่ ‘เป็นที่รู้จัก’ ซึ่ง ขงจื่อได้ปรับเปลี่ยนความเข้าใจของจื่อจังเสียใหม่ ว่าคุณลักษณะของ ‘ผู้ที่ประสบความสำเร็จ’ คือ ผู้ที่มั่นคง ซื่อตรง รักความถูกต้อง ตรวจสอบวาจา พิจารณาสีหน้าท่าทีของผู้คน คอยระวังทำตนอ่อนน้อมต่อผู้อื่น คนที่มีคุณลักษณะเช่นนี้จึงจะตรงกับนามของ ‘ผู้ที่ประสบความสำเร็จ’ ส่วนผู้ที่ครองนามว่า ‘เป็นที่รู้จัก’ นั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีคุณลักษณะเช่นเดียวกับ ‘ผู้ที่ประสบความสำเร็จ’ ก็เป็นผู้ที่ ‘เป็นที่รู้จักได้’

นอกจากการแก้ไขนามที่ต้องทำเป็นอันดับแรกในการปกครองแล้ว ขงจื่อยังเชื่อว่าสังคมจะไม่สับสนวุ่นวาย และสงบลงได้ หากปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับนาม  (นัยหนึ่งอาจหมายถึง การปฏิบัติตามหลักจารีต การรู้หน้าที่ของตน รู้ข้อกำหนดบทบาทของตน ว่าควรทำอะไรและไม่สมควรทำสิ่งใด) ดังที่ปรากฏในหลุนอี่ว์บทต่อไปนี้

 

เล่มที่ 12 บทที่ 11

12 : 11 : 1 ฉีจิ่งกงถามขงจื่อเกี่ยวกับการปกครอง

12 : 11 : 2 ขงจื่อกล่าวว่า “ผู้ปกครองเป็นผู้ปกครอง ขุนนางเป็นขุนนาง บิดาเป็นบิดา บุตรเป็นบุตร”

12 : 11 : 3 จิ่งกงกล่าวว่า “ดีแท้ทีเดียว! หากแม้นว่าผู้ปกครองมิใช่ผู้ปกครอง ขุนนางมิใช่ขุนนาง บิดามิใช่บิดา บุตรมิใช่บุตรแม้เมื่อมีธัญญาหารอยู่ต่อหน้า ข้าจะกินได้หรือ”

 

จากหลุนอี่ว์บทดังกล่าว เป็นเกณฑ์ที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องของการปกครองในทัศนะของขงจื่อได้เป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่าการปกครองในรูปแบบของขงจื่อนั้น รากฐานของสังคมที่ขงจื่อมองว่ามีเสถียรภาพ คือ สังคมที่สภาพความเป็นจริงนั้นสอดคล้องกับข้อกำหนดของนาม ระเบียบทางสังคมนั้นต้องสัมพันธ์กับระเบียบแห่งนาม หากเราไม่สามารถ “จัดระเบียบนาม” ได้ ความสัมพันธ์ในทุกระดับชั้นนั้นจะล้มเหลว เกิดความสับสนวุ่นวาย เนื่องจากไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตนเช่นไร บุตรไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติต่อบิดาของตนเช่นไร ผู้ใต้ปกครองไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตนต่อผู้ปกครองในทิศทางใด 

ระเบียบทางสังคมของขงจื่อนั้นไม่ได้เน้นที่กฎหมาย หรืออำนาจรัฐ แต่เน้นที่ความสัมพันธ์ที่ดี ที่มนุษย์แต่ละคนปฏิบัติต่อกันได้อย่างถูกต้อง โดยขงจื่อให้ความสำคัญแก่คู่ความสัมพันธ์หลักทั้ง 5 คู่ คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง บิดามารดา-บุตร สามี-ภรรยา พี่-น้อง มิตรสหาย-มิตรสหาย ผู้ปกครอง-ประชาราษฎร์ เป็นสายสัมพันธ์ที่มีพันธะพันผูกระหว่างกัน ถ้าความสัมพันธ์หลักทั้ง 5 สามารถดำเนินไปได้เป็นอย่างดีสงบสุข สังคมก็จะดำเนินไปอย่างราบรื่นตามระเบียบของสังคม หากไม่สามารถดำเนินความสัมพันธ์ได้อย่างราบรื่น สังคมมนุษย์นั้นก็ไม่เหลือให้ผู้ปกครองนั้นได้ปกครองสังคม และไม่สามารถดำเนินไปถึงจุดหมายแห่งรัฐที่สงบสุขได้ 

 

 


 

*อ้างอิง: สุวรรณา สถาอานันท์. (แปลและเขียนบทนำ), หลุนอี่ว์: ขงจื่อสนทนา, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551.

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: The Society of Friends of the Cernuschi Museum

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: