สถิติเดือน มิ.ย. 2563 มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่
ข้อมูลจากรายงาน เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน มิ.ย. 2563 ระบุว่าการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือน พ.ค. 2563 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 11,295,514 คน มีอัตราการหดตัวร้อยละ -2.54 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2562 (จำนวน 11,590,381 คน) และมีอัตราการหดตัวร้อยละ -0.85 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
การว่างงาน เดือน มิ.ย. 2563 มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม จำนวน 395,693 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 120.42 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2562 (จำนวน 179,515 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 19.16 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา (จำนวน 332,060 คน)
โดยการว่างงานรายอุตสาหกรรมหลักเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2562 พบว่าขยายตัวทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ 330.11 สาขาขนส่ง ร้อยละ 133.15 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 124.96 สาขาการค้า ร้อยละ 96.65 สาขาการผลิต ร้อยละ 95.10 และสาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 38.21
ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2539-2563 พบว่าก่อนหน้านี้สถิติผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมเคยสูงสุดที่เดือน มิ.ย. 2552 จำนวน 188,986 คน ต่อมาถูกทำลายสถิติเมื่อเดือน เม.ย. 2563 ที่ 215,652 คน และเดือน พ.ค. 2563 ที่จำนวน 332,060 คน ล่าสุดสถิติ ณ เดือน มิ.ย. 2563 ที่จำนวน 395,693 คน นี้ก็ได้กลายเป็นสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งในรอบปี 2563
นอกจากนี้ ลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง เดือน มิ.ย. 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 145,747 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 461.86 เมื่อเทียบกับ เดือน มิ.ย. 2562 (จำนวน 25,940 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 38.16 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา (จำนวน 105,488คน)
สำหรับตัวเลขลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง เดือน มิ.ย. 2563 จำนวน 145,747 คน นี้ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดที่สำนักงานประกันสังคมเคยเก็บสถิติมาด้วยเช่นกัน
โดยการเลิกจ้างรายอุตสาหกรรมหลักเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2562 พบว่าขยายตัวทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ 2,547.19 สาขาการค้า ร้อยละ 488.46 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 362.98 สาขาขนส่ง ร้อยละ 358.03 สาขาการผลิต ร้อยละ 323.89 และสาขาเกษตรกรรมร้อยละ 65.50 [1]
ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ ครึ่งปีแรก 2563 ลดลง 13%
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยผลการจดทะเบียนธุรกิจ ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนมิถุนายน 2563 พบว่า จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 5,731 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3 ซึ่งมีจำนวน 5,586 ราย เป็นผลมาจากการเติบโตจากภาคค้าปลีก-ค้าส่ง
ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 612 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 271 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 188 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
สำหรับช่วงครึ่งปีแรก 2563 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศครึ่งปีแรก 2563 จำนวน 33,337 ราย เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2562 จำนวน 38,222 ราย ลดลงจำนวน 4,885 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ขณะที่เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2562 (ก.ค.-ธ.ค.) จำนวน 33,263 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 74 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.2
ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 3,394 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,665 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 932 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ [2]
มิ.ย. 2563 ผู้ประกอบการเลิกกิจการ 1,336 ราย
ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนมิถุนายน 2563 จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ประจำเดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวน 1,336 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับข่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมี 1,264 ราย ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 111 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 69 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ส่วนการจดทะเบียนเลิกครึ่งปีแรก 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวน 6,227 ราย ลดลงร้อยละ 7 เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมี 6,667 ราย
ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนมิถุนายน 2563 ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2563) ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 765,775 ราย มูลค่าทุน 18.44 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 186,682 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.38 บริษัทจำกัด จำนวน 577,822 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.46 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,271 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.16 ตามลำดับ [3]
ปิดกิจการชั่วคราว เม.ย.-ก.ค. 2563 รวม 7,080 แห่ง แรงงานได้รับผลกระทบ 1,568,613 คน
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่าแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากที่สถานประกอบการขอใช้มาตรา 75 (ปิดกิจการชั่วคราว) จากเดือน เม.ย.-ก.ค. 2563 รวม 1,568,613 คน จากสถานประกอบการ 7,080 แห่ง โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ การผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์โลหะ อสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ การค้า ขนส่ง โรงแรม ร้านอาหาร [4]
ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วเมื่อไตรมาส 2/2563
เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค แถลงต่อสื่อมวลชนว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2563 น่าจะขยายตัวต่ำที่สุด โดย ธปท.ประเมินว่า จะติดลบที่ประมาณ 12-13% แต่ไม่เกิน 15% จากทั้งปีที่คาดว่าจะหดตัว 8.1% ทั้งนี้ หากเทียบกับที่ผ่านมา ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในไตรมาส 2 ของปี 2541 นั้น เศรษฐกิจไทยติดลบ 12.5%
"ไตรมาส 2 ปีนี้ ธปท.มองเศรษฐกิจติดลบเป็นตัวเลข 2 หลักต้น ๆ ติดลบ 12-13% แต่ไม่น่าจะเกิน 15% แต่มั่นใจเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้แล้ว" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุ
ทั้งนี้ เห็นได้จากภาวะเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. 2563 นั้น เครื่องชี้เศรษฐกิจ 5 ตัว หดตัวน้อยลงทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมทองคำ หดตัว 24.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหดตัวลดลงจากเดือนพฤกษภาคม ที่ติดลบ 29% ส่วนมูลค่าส่งออกหากไม่รวมทองคำ ติดลบ 18.4% การบริโภคภาคเอกชน ติดลบ 4.7% ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวน้อยลงจากเดือน พ.ค. 2563 ที่ติดลบ 12.5% การลงทุนภาคเอกชน ติดลบ 12.1% จากเดือนพฤกษภาคมที่ติดลบ 18.2% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้ารวมทองคำติดลบ 18.2% ถ้าไม่รวมทองคำ ติดลบ 16.7% ชะลอลงจากเดือน พ.ค. 2563 ที่ติดลบ 34.2% และ 32.9% ตามลำดับ
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปีนี้ หดตัวสูง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทุกภาคส่วน โดยอุปสงค์ต่างประเทศหดตัวสูง ทั้งภาคการท่องเที่ยว หดตัว 100% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ยังไม่ฟื้นตัวภาคการส่งออกสินค้า แต่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ดีและมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจโดยรายจ่ายประจำขยายตัว 0.6% รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางไม่รวมเงินโอน 27.9% แต่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว 11.8%
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ในเดือน ก.ย. 2563 นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เห็นภาพชัดขึ้นทั้งในส่วนของเครื่องชี้เศรษฐกิจภายในประเทศ และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในต่างประเทศว่า จะมีการปิดเมืองขนานใหญ่อีกหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าสัญญาณจากเครื่องชี้ต่าง ๆ สะท้อนแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นคือ หดตัวน้อยลงและไม่มีการปิดเมืองขนานใหญ่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นตัวเลขปรับประมาณการจีดีพีหดตัวน้อยลง แต่ขณะนี้ หลายประเทศ พยายามควบคุมการระบาดของโควิดที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอน ซึ่งในประเทศก็ต้องใช้เงินที่มีอยู่ให้ถูกจุดและทันการณ์และพร้อมจะเพิ่มมาตรการกรณีเลวร้าย
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นบวกเล็กน้อย ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยจากที่เกินดุลสูงในไตรมาสก่อนจากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ปรับลดลงมาก ประกอบกับเป็นฤดูกาลส่งกลับกำไรและเงินปันผลกับต่างประเทศของบริษัทต่างชาติในไทย ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน [5] [6]
ข้อมูล
[1] ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงาน เดือนมิถุนายน 2563 (กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4 ส.ค. 2563)
[2] ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ ครึ่งปีแรก 2563 ลดลง 13% แม้ มิ.ย. โตขึ้น (ประชาชาติธุรกิจ, 22 ก.ค. 2563)
[3] เพิ่งอ้าง
[4] รัฐอุ้มคนตกงาน “จ้างเรียน” ปั้นแพลตฟอร์ม “สมัครงาน” ระดับชาติ (ประชาชาติธุรกิจ, 6 ส.ค. 2563)
[5] ธปท.ย้ำ เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว (ฐานเศรษฐกิจ, 31 ก.ค. 2563)
[6] แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2563 (ข่าว ธปท. ฉบับที่ 46/2563, 31 ก.ค. 2563)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
พ.ค. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติอีกครั้ง เลิกจ้างทะลุหลักแสน
เม.ย. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติ คาด นศ.จบใหม่ว่างงานกว่า 60%
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ