อปท.ดูแลถนน 597,667 กม. รายงาน กมธ. ชี้ขาดงบดูแล-มีปัญหาความปลอดภัย

กองบรรณาธิการ TCIJ | 30 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 8259 ครั้ง

สถิติปี 2562 ถนนทั่วประเทศไทยมีระยะทาง 701,847 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของท้องถิ่น 597,667 กิโลเมตร พบอุบัติเหตุส่วนใหญ่ 82% เกิดบนถนนท้องถิ่น จากรายงานของ กมธ.คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ชี้ถนนท้องถิ่นมีปัญหาด้านความปลอดภัย เพราะขาดแคลนงบประมาณ แนะเปิดช่องให้ท้องถิ่นสามารถนำเงินที่ได้จากภาษีที่เกี่ยวกับรถยนต์หรือภาษีอื่น ๆ มาใช้ในด้านการป้องกันอุบัติเหตุได้ | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจาก รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2562 ระบุว่าภาพรวมการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจากระบบข้อมูล 3 ฐาน (IDCC) ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงลดลงเล็กน้อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปี 2562 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 19,904 ราย ลดลงจากปี พ.ศ. 2561 จำนวน 27 ราย

ข้อมูลรายงานคดีอุบัติเหตุจราจรทางบกที่ได้รับแจ้งในปี 2562 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2562) ถูกบันทึกในระบบสารสนเทศสถานีตำรวจ สานักงานตำรวจแห่งชาติ (CRIMES) พบว่ามีจำนวนอุบัติเหตุทำงถนน 74,958 ครั้ง สูงกว่าค่าเฉลี่ย 7 ปี ร้อยละ 1.29 และลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 5.26 สถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางบกที่ได้รับแจ้ง ประจาปี 2562 พบว่ามีผู้เสียชีวิต 8,673 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 หรือ 307 ราย) จากปี 2561 และสถิติผู้เสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ย 7 ปี ร้อยละ 12.01 นอกจากนี้ ในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตที่จุดเกิดเหตุ จำนวน 4,295 คน (ร้อยละ 49.5) และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล จำนวน 4,378 คน (ร้อยละ 50.5) ผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยในปี 2562 มีจำนวน 5,323 คน แม้ว่าจำนวนผู้บาดเจ็บสาหัสลดลงจาก ปี 2561 จำนวน 57 คน (ร้อยละ 1.06) แต่เมื่อเทียบค่ำเฉลี่ย 7 ปีแล้ว จำนวนผู้บาดเจ็บสาหัสในปี 2562 ลดลงอย่างชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 55.90

ด้านสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม จำนวน 1,902 ครั้ง พบว่าอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมในลักษณะอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ในระบบ เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ (ร้อยละ 39) รองลงมาได้แก่สาเหตุของถนนลื่น (ร้อยละ 27) สาเหตุจากมีฝนตก (ร้อยละ 18) และสาเหตุจากคนตัดหน้ารถ (ร้อยละ 16) ส่วนสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากสัญญาณไฟจราจรและป้ายบอกทาง จำนวน 27,310 ครั้ง พบว่าสัญญาณไฟจราจรและป้ายบอกทางไม่ชัดเจน เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ (ร้อยละ 64) เมื่อเทียบกับสาเหตุอื่น ๆ จากสัญญาณไฟจราจรและป้ายบอกทาง (ร้อยละ 33) และสัญญาณไฟจราจรและป้ายบอกทางชำรุดหรือใช้การไม่ได้ (ร้อยละ 3) [1]

ถนนส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในความดูแลของ อปท. – อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนถนนท้องถิ่น

ปี 2562 ถนนของประเทศไทยมีระยะทาง 701,847.118 กิโลเมตร โดยถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม มีระยะทางประมาณ 100,105.73 กิโลเมตร ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินทางหลวงพิเศษ ทางหลวงสัมปทาน ทางหลวงชนบท และทางพิเศษ สำหรับถนนท้องถิ่นมีระยะทางประมาณ 597,667 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย และถนนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครมีระยะทางประมาณ 4,074.380 กิโลเมตร [2]

และจากการสำรวจข้อมูลอุบัติเหตุของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีพบว่าอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดบนถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สูงถึงร้อยละ 82 ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน บนถนนของ อปท.ถึงร้อยละ 85 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด [3]

รายงาน กมธ. คมนาคม ชี้ขาดงบดูแล-มีปัญหาด้านความปลอดภัย

จาก รายงาน เรื่อง ความปลอดภัยทางถนนและคมนาคม ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่เผยแพร่เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2563 ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยขาดการวางแผนกำหนดรูปแบบโครงข่ายถนนเชิงผังเมืองที่ชัดเจน และขาดการควบคุมการเจริญเติบโตของพื้นที่อย่างจริงจัง และไม่มีกำหนดลำดับชั้นของถนน (Road Hierarchy) ซึ่งจะแบ่งเป็น 1) ถนนสายหลัก (Arterials Road) เป็นถนนที่รถสามารถใช้ความเร็วได้สูง เชื่อมกับจุดสำคัญต่าง ๆ ของเขตเมือง 2) ถนนสายรอง (Collector Road) เป็นถนนที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อระหว่างถนนสายหลักกับถนนท้องถิ่น 3) ถนนท้องถิ่น (Locals Road) เป็นถนนที่ใช้ในท้องถิ่น หมู่บ้าน จะใช้ความเร็วต่ำ

หน้าที่ของถนนแต่ละประเภทตาม Road Hierarchy คือ เพื่อตอบสนองความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง (Mobility) หรือการเข้าถึงพื้นที่ (Accessibility) เป็นหลัก โดยถนนสายหลักมีความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางมาก แต่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้น้อย ในทางกลับกันถนนสายรองหรือถนนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้มาก แต่มีความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางต่ำ ทว่าถนนใหม่ที่กรมทางหลวงชนบทสร้างขึ้นภายหลัง มีหลายเส้นทางที่ออกแบบให้เป็นเสมือนถนนสายหลักและมักทำหลายหน้าที่กล่าวคือ เป็นทั้งเส้นทางสำหรับถนนสายหลักที่รองรับปริมาณจราจรมากและยังต้องทำหน้าที่เป็นถนนสายรองกระจายการจราจรพร้อมกันไปด้วย การใช้งานถนนจึงเป็น Multi used ไม่มีการควบคุมการเข้าถึงทำให้รถใช้ความเร็วสูงบนถนนสายรองหรือถนนท้องถิ่น จึงทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุจำนวนมาก

ถนนที่เกิดอุบัติเหตุเกิดจากทัศนียภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการปรับปรุงแก้ไขทัศนียภาพสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัย ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเฉพาะจุดบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรเร่งปรับปรุงถนนให้มีความปลอดภัย ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว และการปรับปรุงถนนให้มีความปลอดภัยยังไม่มีระบบการวัดเรตติ้งถนนโดยมีตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐาน ปัจจุบัน ถนนทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท มีโครงการก่อสร้างถนนขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ความเร็วในการขับได้ แต่ทางด้านความปลอดภัยต่าง ๆ มีการดำเนินการรองรับยังไม่ชัดเจนโดยเฉพาะถนนทางหลวงชนบท ซึ่งหากเป็นถนนทางหลวงแผ่นดินของกรมทางหลวงระยะทางประมาณ 52,000 กิโลเมตร จะมีตำรวจทางหลวงทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทำให้มีความปลอดภัย ในขณะที่ถนนทางหลวงชนบทระยะทางประมาณ 48,000 กิโลเมตร นั้นไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายบนถนนของกรมทางหลวงชนบทโดยตรง ถนนทางหลวงชนบทจึงประสบปัญหาด้านความปลอดภัยมากกว่าถนนของกรมทางหลวง

รายงานของ กมธ. คมนาคม เน้นย้ำว่าในส่วนถนนท้องถิ่นมีระยะทางเกือบ 6 แสนกิโลเมตร (597,667 กิโลเมตร) มีปัญหาด้านความปลอดภัยเนื่องจากขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินการด้านความปลอดภัยทางถนน จึงไม่สามารถลดปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนท้องถิ่นได้

เสนอให้ อปท. มีส่วนร่วมอำนวยความปลอดภัยทางถนน

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับนี้ของ กมธ. คมนาคม ยังมีข้อเสนอให้กรมการขนส่งทางบกแก้ไขระเบียบการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เพื่อให้สามารถจัดสรรเงินจากกองทุนฯ คืนให้แก่ อปท. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของรายรับในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อใช้อำนวยความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในพื้นที่

รวมทั้งเสนอให้ผลักดันการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่น จำนวน 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2562) พ.ร.บ.เทศบาล ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2562) และ พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2562) โดยเสนอให้ อปท. มีส่วนร่วมในการอำนวยความปลอดภัยทางถนนและป้องกันอุบัติเหตุจราจรมากกว่าการอำนวยการจราจรให้ลื่นไหล (Traffic Flow) และให้มีการกำหนดในกฎกระทรวงเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถนาเงินที่ได้จากภาษีที่เกี่ยวกับรถยนต์หรือภาษีอื่น ๆ มาใช้ในด้านการป้องกันอุบัติเหตุได้ [4]

ต้องยกระดับด้านการช่าง ดูแลความปลอดภัยทางถนนของท้องถิ่น

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยระบุไว้ว่าบุคลากรด้านช่างในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ต้องกล้าออกแบบสัญญาณไฟจราจร เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงทางถนนที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ สาเหตุการเสียชีวิตในแต่ละครั้ง | ที่มาภาพประกอบ: สยามรัฐ

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เคยระบุไว้ในการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'เรื่องความปลอดภัยทางถนน' โครงการอบรมสัมมนาบุคคลากรด้านช่างในการดูแลยกระดับการออกแบบถนน การดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนนของท้องถิ่น ที่มีบุคลากรด้านช่างในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟัง เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2563 ว่า ความปลอดภัยบนท้องถนนของชนบทต้องมีมาตรฐานเดียวกันกับถนนของท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องยกระดับด้านการช่าง ต่อไปนี้ไม่มีเมืองชนบท แต่จะมีเมืองขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ แต่การสร้างถนนของ อบจ.มีการแบ่งแยกจากส่วนเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต้องสำรวจถนนที่ผ่านเทศบาล และ อบต. มีเส้นไหนบางที่ผ่านชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ต้องกล้าออกแบบสัญญาณไฟจราจร เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงทางถนนที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ สาเหตุการเสียชีวิตในแต่ละครั้ง เกิดจากปัจจัยเสี่ยงจากบุคคล หรือ ปัจจัยเสี่ยงของถนน เช่น ถนนไม่ได้มาตรฐาน ป้ายสัญญาณจราจร และไฟแสงสว่างบนท้องถนน จึงอยากเชิญบุคคลกรด้านช่างทั้งหลายตั้งกองกฐิน ในการใช้วิชาชีพของท่านในการออกแบบถนนให้มีความปลอดภัย เวลาสร้างและซ่อมให้นึกถึงความปลอดภัยทางการออกแบบให้ปลอดภัย อย่าให้การเสียชีวิตเกิดจากการสร้างถนนที่ไม่ได้มาตรฐาน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก คำนึงแยกการจราจร สัญญาณไฟจราจร ป้ายจราจร และที่สำคัญต้องดูแลบำรุงรักษา วันนี้จึงเชิญชวนช่วยกันทำบุญ ช่วยชีวิตคนไทยไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด

นายนิพนธ์ ระบุเพิ่มเติมว่าโครงการอบรมสัมมนาบุคคลากรด้านช่างในการดูแลยกระดับการออกแบบถนน การดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนนของท้องถิ่น ให้ความรู้และพัฒนาท้องถิ่นในด้านการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนน เพราะถนนเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งในในการเกิดอันตรายต่อชีวิตและการสัญจรไป-มาบนท้องถนน หากยกระดับถนนของท้องถิ่นให้มีมาตรฐานและออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ไม่ว่าจะเป็นไฟสัญญาณจราจร ป้ายจราจร ทางแยก ทางร่วมต่าง ๆ ก็สามารถปิดจุดเสี่ยงของถนนของท้องถิ่น ลดการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และสูญเสียชีวิตเพื่อรักษาบุคลากร ทรัพยากรของชาติได้ [5]

 

ที่มาข้อมูล
[1] รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2562 (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, สำนักแผนความปลอดภัย, กระทรวงคมนาคม, พ.ค. 2563)
[2] รายงานการประชุมทางวิชาการ "ทันสถานการณ์ เพื่อการคมนาคมปลอดภัย" (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, สำนักแผนความปลอดภัย, กระทรวงคมนาคม, ก.ย. 2562)
[3] มท.2 แจง สถิติอุบัติเหตุทางถนน ที่มา แก้ ก.ม. ปิดจุดเสี่ยง ลดเจ็บ-ตาย (ไทยรัฐ, 12 ธ.ค. 2562)
[4] รายงาน เรื่อง ความปลอดภัยทางถนนและคมนาคม (คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร, 29 ก.ค. 2563)
[5] 'มท.2' ลั่น ถนนท้องถิ่นต้องปลอดภัย ลดอุบัติเหตุตาย-บาดเจ็บ (กรุงเทพธุรกิจ, 3 ก.พ. 2563)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ผุดไอเดียให้ ก.คมนาคม ขอคืนถนนจากท้องถิ่น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: