ก.ค. 63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' สถิติสูงสุด - เสนอจ้างงาน นศ. จบใหม่ 2.6 แสนตำแหน่ง

กองบรรณาธิการ TCIJ | 7 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 6227 ครั้ง

เดือน ก.ค. 2563 ผู้ประกันตนว่างงาน 410,061 คน สูงเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 113% เลิกจ้าง 177,770 คน พุ่งขึ้น 551% สูงสุดเป็นสถิติใหม่แซงไตรมาส 2/2563 ที่เคยล้มสถิติวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2552 ได้ – ศบศ. เสนอมาตรการจ้างงานสำหรับนักศึกษาจบใหม่ จ่ายสมทบให้นายจ้าง 1 ปี สนับสนุนการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ 3 กลุ่ม ป.ตรี-ปวส.-ปวช. 260,000 อัตรา วงเงินรวม 23,000 ล้านบาท - ก.แรงงาน จัดงาน 'จ๊อบเอ็กซ์โปร์ 2020' ช่วยคนตกงานล้านตำแหน่ง 26-28 ก.ย. นี้ที่ไบเทคบางนา | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวไทย

จากข้อมูลรายงาน เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ก.ค. 2563 ระบุว่าการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือน ก.ค. 2563 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 11,168,914 คน มีอัตราการหดตัวร้อยละ -3.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,629,684 คน) และมีอัตราการหดตัวร้อยละ -1.12 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,295,514 คน) โดยการจ้างงานรายอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ สาขาขนส่งร้อยละ 7.13 และสาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 0.91 ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่หดตัว ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ -20.30 สาขาการผลิต ร้อยละ -5.34 สาขาการค้า ร้อยละ -1.83 และสาขาก่อสร้างร้อยละ -1.40 

การว่างงาน เดือน ก.ค. 2563 มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมจำนวน 410,061 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 113.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 191,657 คน) และมีอัตราการขยาย ตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.63 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 395,693 คน) 

โดยการว่างงานรายอุตสาหกรรมหลักเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าขยายตัวทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ 311.90 สาขาขนส่ง ร้อยละ 119.97 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 108.92 สาขาการผลิต ร้อยละ 99.42 สาขาการค้า ร้อยละ 81.92 และสาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 14.11 

ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2539-2563 พบว่าก่อนหน้านี้สถิติผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมเคยสูงสุดที่เดือน มิ.ย. 2552 จำนวน 188,986 คน ต่อมาถูกทำลายสถิติเมื่อเดือน เม.ย. 2563 ที่ 215,652 คน และเดือน พ.ค. 2563 ที่จำนวน 332,060 คน เดือน มิ.ย. 2563 ที่จำนวน 395,693 คน ล่าสุดสถิติ ณ  ก.ค. 2563 ที่จำนวน 410,061 คน นี้ก็ได้กลายเป็นสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งในรอบปี 2563

ด้านการเลิกจ้าง พบว่าลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างเดือน ก.ค. 2563 มีจำนวน 177,770 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 551.01 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 27,307 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 21.97 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 145,747 คน) 

สำหรับตัวเลขลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง เดือน ก.ค. 2563 จำนวน 177,770 คน นี้ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดที่สำนักงานประกันสังคมเคยเก็บสถิติมาด้วยเช่นกัน

โดยการเลิกจ้างรายอุตสาหกรรมหลักเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าขยายตัวทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ 2,221.64 สาขาการค้า ร้อยละ 567.22 สาขาการผลิต ร้อยละ 438.70 สาขาขนส่ง ร้อยละ 428.05 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 363.48 และสาขาเกษตรกรรมร้อยละ 57.14 [1]

ศบศ.อัดงบ 6.8 หมื่นล้านกระตุ้น ศก.จ้างงานบัณฑิตใหม่ 2.6 แสนตำแหน่ง

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. 2563 รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า ศบศ.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 มาตรการหลัก

มาตรการแรก คือ มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศวงเงิน 45,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปครอบคลุมถึงผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย โดยรัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 อีกร้อยละ 50 ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเองในวงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน เพื่อเอาไปใช้จ่ายซื้อของ ซึ่งจะต้องมาลงทะเบียนรับสิทธิ์ในโครงการลักษณะเดียวกับ’ชิมช้อปใช้’

สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ประมาณ 15 ล้านคน ให้เวลาใช้ 3 เดือน โดยจะกำหนดให้ใช้วันละ 100-250 บาท คาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 90,000 ล้านบาท กลุ่มร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะมุ่งเน้นไปที่ร้านค้ารายย่อยทั่วไปครอบคลุมถึงผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอย ประมาณ 80,000 ร้านค้า ผ่านกลไกการดำเนินงานผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล โดยที่ประชุมมีมติให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดโครงการ เพื่อนำเสนอต่อ ศบศ.อีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะเริ่มโครงการเดือนตุลาคม 2563

สำหรับมาตรการที่ 2 คือ มาตราการการจ้างงานสำหรับเด็กจบใหม่ โดยรัฐบาลสมทบจ่ายกับนายจ้างเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค.2563-ต.ค. 2564 เพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมจำนวน 260,000 อัตรา วงเงินรวม 23,000 ล้านบาท โดยมีอัตราค่าจ้างตามวุฒิการศึกษาดังนี้ ปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เดือนละ 11,500 บาท และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เดือนละ 9,400 บาท ซึ่งรัฐบาลจะให้การ สนับสนุนเงินค่าจ้าง ร้อยละ 50 ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน

ทั้งนี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม มีการยืนยันตัวตนผ่านกระทรวงแรงงาน และต้องมีเงื่อนไขเลิกจ้างลูกจ้างเดิมไม่เกินกว่าร้อยละ 15 ภายในระยะเวลา 1 ปี (กรณีที่ลูกจ้างลาออกระหว่างโครงการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถหาลูกจ้างใหม่ทดแทนได้) ขณะที่ลูกจ้างที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีสัญชาติไทย และอายุไม่เกิน 25 ปี หรืออายุเกินกว่า 25 ปี ซึ่งสำเร็จการศึกษาในปี 2562 หรือปี 2563 [2]

จัดงาน 'จ๊อบเอ็กซ์โปร์ 2020' ช่วยคนตกงานล้านตำแหน่ง 26-28 ก.ย. นี้ที่ไบเทคบางนา

ต้นเดือน ก.ย. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่าจะนำนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ” เข้ามาดำเนินการ เพื่อมีเป้าหมายที่จะผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันวางแผนเพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทย ซึ่งในการประชุมนี้ ได้มีการนัดประชุมหารือกับผู้แทนสองฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ผู้แทนกระทรวงต่าง ๆ นายจ้าง ผู้ประกอบ การ และผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ต้องการรับสมัครงาน เพื่อรวบรวมตำแหน่งงานว่างที่ต้องการรับสมัครและนำไป Matching กับผู้ที่มาสมัครงานในตำแหน่งต่าง ๆ ที่นายจ้างต้องการในงานจ็อบเอ็กซ์โปร์ ที่กำหนดจัดขึ้นในปลายเดือน ก.ย. นี้ ตลอดจนการหารือร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการมีงานทำของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ผ่านมา

นายสุชาติกล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน พบว่าตำแหน่งงานว่างรอการบรรจุในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สำหรับงาน JOB EXPO THAILAND 2020 จำนวนทั้งสิ้น 1,000,000 อัตรา แบ่งออกเป็นตำแหน่งงานว่างกรมการจัดหางานจำนวน 106,312 อัตรา ตำแหน่งงานต่างประเทศ 112,242 อัตราตำแหน่งงานพาร์ทไทม์ จำนวน 66,881 อัตรา การจ้างงานโดยภาครัฐจำนวน 410,415 อัตรา การจ้างงานตามมาตรการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ จำนวน 260,000 อัตรา และตำแหน่งงานที่คาดว่าจะจ้างแรงงานไทยแทนแรงงานต่างด้าว จำนวน 44,150 คน สำหรับการจัดงาน JOB EXPO THAILAND 2020 จะกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 26-28 ก.ย. 2563 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา [3]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงาน เดือนกรกฎาคม 2563 (กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4 ก.ย. 2563)
[2] ศบศ.อัดงบ 6.8 หมื่นล้านกระตุ้น ศก.จ้างงานบัณฑิตจบใหม่ 2.6 แสนตำแหน่ง (ผู้จัดการออนไลน์, 2 ก.ย. 2563)
[3] ‘สุชาติ’ หารือจัดงาน ‘จ๊อบเอ็กซ์โปร์ 2020’ ช่วยคนตกงานล้านตำแหน่ง 26 -28 ก.ย.นี้ ที่ไบเทคบางนา (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 3 ก.ย. 2563)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
มิ.ย.63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' ทำสถิติสูงสุด - ธปท.ชี้เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
พ.ค. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติอีกครั้ง เลิกจ้างทะลุหลักแสน
เม.ย. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติ คาด นศ.จบใหม่ว่างงานกว่า 60%

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: