'ซิเนอร์เจีย แอนิมอล' ขอความร่วมมือธนาคารพิจารณางดลงทุนในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและองค์กรพันธมิตร ขอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนายกเลิกการลงทุนในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกของเราสูงขึ้นไปจนถึงจุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สถิติจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 14.5 ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมดมาจากภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์
ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2564 องค์กรซิเนอร์เจีย แอนิมอล เปิดเผยว่าในปี 2563 สายตาทุกคู่ต่างจับจ้องการระบาดของโควิด-19 ข่าวเรื่องการฉีดวัคซีนในปี 2564 ทำให้ผู้คนหันไปสนใจอีกประเด็นซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน ได้แก่ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซิเนอร์เจีย แอนิมอล และองค์กรพันธมิตรขอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนายกเลิกการลงทุนในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกของเราสูงขึ้นไปจนถึงจุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สถิติจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 14.5 ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมดมาจากภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์
“สถาบันทางการเงินเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยการหันเหระบบการผลิตอาหาร พวกเขามีอำนาจตัดสินใจว่าจะนำเงินไปลงทุนในกิจการแบบใด จะลงทุนในกิจกรรมการเกษตรที่ยั่งยืนกว่า หรือนำเงินนับสิบล้านเหรียญไปลงทุนในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ อุตสาหกรรมอย่างหลังนี้ นอกจากจะไม่ยั่งยืนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดระลอกใหม่ เป็นภัยต่อความมั่นคงด้านอาหาร และยังโหดร้ายอย่างมากต่อทั้งสัตว์และมนุษย์” วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้จัดการฝ่ายการรณรงค์ประจำประเทศไทย องค์กรซิเนอร์เจีย แอนิมอล องค์กรพิทักษ์สัตว์สากลกล่าว ธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ เช่นธนาคารโลกและ ธนาคารแห่งยุโรปเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ คือสถาบันการเงินที่ก่อตั้งเพื่ออุดหนุนเงินลงทุนให้แก่ภาคการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศ Global South หรือกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง
เมื่อเดือน พ.ย. 2563 ธนาคารเพื่อการพัฒนา 450 แห่งได้ประกาศร่วมให้คำมั่นว่าจะดำเนินการตัดสินใจด้านการลงทุน ให้สอดคล้องกับความตกลงปารีสว่าด้วยสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คำประกาศฉบับนี้ระบุว่า “ “การอนุรักษ์ การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ มหาสมุทรและธรรมชาติ เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ ซึ่งรวมถึงการสร้างระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน” ทว่า ก็ยังไม่มีเนื้อหาตอนใดที่กล่าวถึงการเลิกลงทุนในอุตสาหกรรมปศุสัตว์โดยตรง “วิทยาศาสตร์บอกเราว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยและเป็นธรรม หากยังเป็นระบบที่ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเชิงอุตสาหกรรมซึ่งเน้นผลผลิตจำนวนมาก” วิชญะภัทร์กล่าว
ซิเนอร์เจีย แอนิมอลแนะนำให้เลิกลงทุนในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และหันเหเงินลงทุนไปยังการเกษตรเชิงนิเวศน์ การเกษตรแบบชนพื้นเมือง วนเกษตร การทำฟาร์มออร์แกนิค และอาหารแบบแพลนต์เบส ใช้ระบบ Silvo-pastoral systems หรือระบบการทำเกษตรและปศุสัตว์แบบผสมผสาน และ low intensive permanent grassland หรือการเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นระบบที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่ำ
การศึกษาฉบับล่าสุดโดย Inter-American Development Bank สถาบันทางการเงินซึ่งดำเนินงานในลาตินอเมริกาและกลุ่มประเทศแคริบเบียน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO) ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนเปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net-zero emission economy) ซึ่งประกอบด้วยการบริโภคอาหารแพลนต์เบสให้มากขึ้น อาจสร้างตำแหน่งงานใหม่ในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและแคริบเบียนถึง 15 ล้านตำแหน่งงานภายในปี 2030
สภาพภูมิอากาศ อาจถึงจุดที่เรียกว่า tipping point
เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วตั้งแต่มีการลงนามในความตกลงปารีส รัฐบาลจากทั่วโลกต่างก็ประกาศเจตนารมณ์ลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกินไปกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกก่อนการปฎิวัติอุตสาหกรรม แต่การสำรวจแสดงให้เห็นว่าเราอาจไม่บรรลุเป้าหมายที่ว่านี้
ข้อมูลจากดาวเทียมของสหภาพยุโรปแสดงให้เห็นว่าในปี 2563 เป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และในเดือน พ.ค. 2563 แล้ว ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก็สูงทำลายสถิติในรอบ 4 ล้านปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากนาซ่าระบุว่ามี 20 ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ 19 ปีในจำนวนนั้นเกิดขึ้นหลังปี 2544
“หายนะที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งมวลนี้ แสดงให้เราเห็นชัดว่าหากผู้มีอำนาจตัดสินใจยังไม่จัดการแก้ไขปัญหาสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ปัญภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะไปถึงจุดที่เรียกว่า tipping point หมายถึงจุดพลิกผัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โลกของเราอย่างไม่อาจแก้ไขได้อีกต่อไป และเราอาจจะถึงจุดที่ว่านั้นเร็วกว่าที่เราคิด” วิชญะภัทร์กล่าว
และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้ซิเนอร์เจีย แอนิมอลส่งข้อเรียกร้องถึงธนาคารเพื่อการพัฒนา ผ่านจดหมายซึ่งลงนามโดยองค์กรเอกชนพันธมิตรอีก 30 องค์กร และข้อเรียกร้องออนไลน์ ก็มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 15,500 รายชื่อ ผู้สนใจสามารถลงชื่อร่วมสนับสนุนได้ที่ www.divestfactoryfarming.org/
ซิเนอร์เจียแอนิมอล เป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ปฏิบัติงานในลาตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่เห็นอกเห็นใจและยั่งยืนกว่าเดิมใน ค.ศ. 2018, 2019 และ 2020 ซิเนอร์เจีย แอนิมอล ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในองค์กรพิทักษ์สัตว์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกโดย Animal Charity Evaluators (ACE) |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ