สภาองค์กรของผู้บริโภค คัดค้านรัฐเข้าร่วม ‘CPTPP’ ในภาวะวิกฤต

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 3009 ครั้ง

สภาองค์กรของผู้บริโภค คัดค้านรัฐเข้าร่วม ‘CPTPP’ ในภาวะวิกฤต

สภาองค์กรของผู้บริโภค คัดค้านรัฐนำไทยเข้าร่วม ‘CPTPP’ ในภาวะวิกฤต ชี้ รัฐอาจไม่บรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ หากไม่คำนึงถึงผู้บริโภคในประเทศที่มีส่วนได้เสีย

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภคในทุกด้าน ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ปัจจุบันสภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดตั้งและได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว โดยมีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 195 องค์กร ทั้งนี้ ในมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนผู้บริโภคและมีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

จากการที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ประชุมเมื่อวันอังคารที่ 22 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ได้สรุปความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) นั้น

ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภคขอคัดค้านวาระดังกล่าว เนื่องจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ยังมีความเห็นต่างในเรื่องผลได้ทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งอาจทำลายความพยายามของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หากมีการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ด้วยความไม่รอบคอบและไม่ได้มองถึงประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลับนำผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศมาพิจารณาเพื่อเข้าร่วมแทน

จากผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (จัดจ้าง) สรุปได้ว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย (GDP) ขยายตัวร้อยละ 0.12 คิดเป็นมูลค่า 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษา CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งข้อสังเกตถึงผลการศึกษาดังกล่าวว่าไม่ได้คำนึงถึงบริบททางสังคมและบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มิใช่รัฐ (Non - state actor) อีกทั้งยังเป็นการศึกษาเชิงมหภาคที่ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเด็นรายละเอียดเชิงลึกได้ รวมถึงการตั้งสมมุติฐานการเปิดเสรีการค้าทันทีร้อยละ 100 ของผลการศึกษายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยแบบจำลองก็ยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อาทิ ศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบในประเทศที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน เป็นต้น ดังนั้น การเข้าร่วม CPTPP อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากรายงานคณะกรรมาธิการ
วิสามัญฯ ศึกษา CPTPP หน้า 77 - 78 ได้ที่ https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/25motion_cptpp/more_news.php?cid=141&filename=129) นอกจากนี้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคยังมีหลายด้าน หลายประเด็น หากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ดังนี้

1) ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศสูงขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศจะชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมาตรการ Patent Linkage

2) ประเทศไทยจะถูกจำกัดการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อการเข้าถึงยาที่จำเป็นและพิทักษ์และคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามข้อบทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน

3) รัฐบาลไทยจะไม่สามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมให้ปฏิบัติพันธกิจส่งเสริมการเข้าถึงยาและความมั่นคงทางยาของประเทศได้อีกต่อไป

4) ประเทศไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับ การวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้ 

5) ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากภัยของเครื่องสำอางที่ด้อยคุณภาพ

7 ) ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เนื่องจากความตกลง CPTPP กำหนดให้ต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาสูบ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงอบายมุขเหล่านี้มากขึ้น

8) ฐานทรัพยากรด้านสมุนไพรของไทย ซึ่งสามารถจะพัฒนาต่อยอดเป็นยาและเวชภัณฑ์ อาจถูกยึดครองด้วยบรรษัทต่างชาติ

9) เกษตรกรที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่มาปลูกจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงขึ้น 2 - 6 เท่า

และ 10) ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มีหรือปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) และการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู (อ่านผลกระทบของการเข้าร่วม CPTPP ต่อผู้บริโภค ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1QBoMMCZDnVIcjzi8NdiRh6DfOibbbCiE/view?usp=sharing)

ขณะที่บทความ ‘มอง CPTPP ผ่านเลนส์ SDGs: การพัฒนาที่ไม่สมดุล’ โดย ผศ.ชล บุนนาค ผู้อํานวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ระบุโดยสรุปถึงประเด็นสำคัญเมื่อเปรียบเทียบ CPTPP กับกรอบ SDGs ว่า ความตกลง CPTPP นั้นยังค่อนข้างขัดแย้งกับ SDGs อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ CPTPP สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ขาดความสมดุล หรือ มองเพียงมิติเศรษฐกิจในระดับมหาภาคเท่านั้น แต่ขาดการมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม (ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน - Sustainable Development) และที่สำคัญ คือ ขาดการมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง เช่น เกษตรกร และคนยากจน (ตามหลักการพัฒนาที่ครอบคลุม - Inclusive Development)

หากมองตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ การเปิดการค้าเสรีของ CPTPP ควรจะทำให้ตลาดทำงานได้ดีขึ้นเพราะข้อกำหนดต่าง ๆ ถูกผ่อนคลายลง การแข่งขันควรจะเพิ่มขึ้น สินค้าและบริการควรจะมีราคาถูกลง และส่งผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคในระยะยาว รวมถึงกฎกติกาหลายประการที่ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์กับต่างชาติ และควรจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เหมือนทฤษฎี กลุ่มคนเล็กคนน้อย หรือ SMEs ที่อาจจะไม่ได้มีนวัตกรรมหรือประสิทธิภาพเท่ากับบริษัทใหญ่จากต่างประเทศ ตามทฤษฎีควรจะถูกขับออกจากตลาดหากแข่งขันไม่ได้ ขณะที่ช่วงเวลาหนึ่งเขาเป็นผู้ผลิต ในอีกขณะหนึ่งเขาก็เป็นผู้บริโภคเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่มีผู้ผลิตถูกขับออกจากตลาดย่อมส่งผลต่ออุปสงค์หรือความต้องการในระบบเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากในโลกความจริงนั้นเส้นแบ่งระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ในบริบทที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากขนาดนี้และรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจไม่ได้พยายามหาวิธีการเยียวยาหรือปรับตัวแก่ผู้ได้รับผลกระทบ จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเห็นได้ชัดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสร้างความลำบากให้แก่กลุ่มที่เปราะบางมากกว่าเดิมอีกด้วย (อ่านบทความฉบับเต็ม ได้ที่ https://www.sdgmove.com/2020/04/28/cptpp-through-sdgs-lens-unbalanced-development/)

ดังนั้น ในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม สภาองค์กรของผู้บริโภค ทำหน้าที่ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ในการเป็นตัวแทนผู้บริโภคและคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน จึงมีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ชะลอการพิจารณาวาระดังกล่าวไปจนกว่าจะมีความเห็นร่วมที่แท้จริงบนฐานของความถูกต้อง รวมทั้งชะลอการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP ตามข้อเสนอนโยบายและมาตรการที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้นำเสนอ ดังต่อไปนี้

1) ขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ พร้อมกันนี้คณะรัฐมนตรีควรใช้มาตรการอื่นๆ ในการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคในประเทศ เช่น Regulatory Guillotine (RG) ทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้ อยู่ในปัจจุบัน เพื่อลด ละ เลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย ไม่สะดวก สร้างภาระต่อการปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติภาครัฐส่วนมากมีลักษณะไม่ยืดหยุ่น ก่อให้เกิดภาระต่อภาครัฐในการบังคับใช้และสร้างภาระต่อผู้ประกอบการและประชาชนในการปฏิบัติตาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เท่าทันนวัตกรรมใหม่ ๆ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก

2) ขอให้เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ ต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ หากข้อมูลพบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ต่อไป ส่วนหากมีผลกระทบด้านบวกมากกว่าและสรุปได้ว่าการเข้าร่วมฯ จะก่อให้เกิดผลได้มากกว่าผลเสียอย่างมีนัยสำคัญ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น งบประมาณ อัตรา บุคลากร ศักยภาพของบุคลากร ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ตามที่ระบุในบทสรุปผู้บริหารของรายงานของคณะกรรมาธิการฯ

3) ขอให้กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยากับยาชื่อสามัญ (Generic Drug) และเร่งปรับปรุงฉลากผลิตภัณฑ์ GMO ให้มีความชัดเจนและต้องแสดงฉลากในทุกผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีการใช้วัตถุดิบที่มาจากการตัดแต่งพันธุกรรมไม่ว่าจะปริมาณเท่าไรก็ตาม รวมทั้งมีสัญลักษณ์ที่ผู้บริโภคสามารถเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งมีมาตรการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอางและอาหารจากวัตถุดิบที่มีหรือปนเปื้อน GMO เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค คู่ขนานกับการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจ

4) ขอให้กระทรวงพาณิชย์ปรับปรุง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ที่สร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร สิทธิของประชาชน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ และสนับสนุนการใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการบังคับใช้สิทธิ, Compulsory Licensing) ให้มีประสิทธิภาพและสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ความตกลงทริปส์) และปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข ที่ตีความและบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยคำนึงถึงประโยชน์ด้านสุขภาพมากกว่าการค้า  รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรให้ผู้ยื่นขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตรพันธุ์พืชต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น

5) ขอให้กองทุนอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืช ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เร่งดำเนินการให้กองทุนสามารถสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงกองทุนนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในระดับจังหวัดและให้การสนับสนุนเกษตรกรเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์พืชท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสายพันธุ์โดยเกษตรกรและชุมชน

และ 6) ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ครอบคลุมทรัพยากรชีวภาพทุกประเทศ โดยใช้หลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity, CBD) เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว (อ่านข้อเสนอในการขอให้รัฐชะลอการเข้าร่วม CPTPP ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1QBoMMCZDnVIcjzi8NdiRh6DfOibbbCiE/view?usp=sharing)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: