ม.มหิดล เตรียมผลักดัน 'ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ' ขึ้นแท่นอันดับ 1 อาเซียน

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 ธ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2461 ครั้ง

ม.มหิดล เตรียมผลักดัน 'ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ' ขึ้นแท่นอันดับ 1 อาเซียน

ม.มหิดล เตรียมผลักดัน 'ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ' ขึ้นแท่นอันดับ 1 อาเซียน โดยจะต้องเป็นการใช้สัตว์ทดลองด้วยความจำเป็น ในจำนวนที่เหมาะสมและทำให้สัตว์ทดลองได้รับความเจ็บปวดน้อยที่สุด ตามหลักจริยธรรมและวิชาการ รวมทั้งการมีสวัสดิภาพและสุขภาพที่ดีของสัตว์ทดลอง

1 ธ.ค. 2564 การทดลองและสังเกตุการณ์สัตว์นั้นมีมาตั้งแต่กว่า 400 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว ต่อมาในศตวรรษที่ 2 ของโรมันได้มีการผ่าตัดสัตว์ทดลองครั้งแรกโดยแพทย์ชาวกรีก และได้มีการใช้สัตว์ทดลองเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับในประเทศไทยได้มีการใช้สัตว์ทดลองเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2432 โดยโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาได้มีการจัดตั้ง "สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ" และพัฒนาสู่ "ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ" (National Laboratory Animal Center, NLAC) ภายใต้การบริหารโดยรองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี และรักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสนองนโยบายเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่นปัจจุบัน

นายสัตวแพทย์สุรชัย จันทรทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายควบคุณภาพ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น รวมทั้ง COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบันนี้ จำเป็นที่จะต้องใช้สัตว์ทดลองเพื่อการค้นคว้ายาและวัคซีนเพื่อป้องกันและรักษาโรค ซึ่งการผลิตสัตว์ทดลองเป็นภารกิจหลักของศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 4 ทศวรรษ ปัจจุบันได้มีการขยายขอบเขตสู่การบริการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อสนองตอบนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างครบวงจร โดยศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นศูนย์แรกของประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน OECD GLP (Organization for Economic Cooperation and Development - Good Laboratory Practice) ซึ่งส่งผลดีอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ จากการสามารถลดการนำเข้าและใช้สัตว์ทดลองได้อย่างมหาศาล ในฐานะที่เป็นหน่วยงานระดับชาติที่ทำให้ประเทศไทยได้เป็นหนึ่งในภาคีของกว่า 40

ประเทศทั่วโลกที่ใช้มาตรฐานการทดสอบเดียวกันนี้ โดยไม่ต้องใช้การทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อประเมินคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ

หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า นอกจากการผลิตสัตว์ทดลองเพื่อป้อนห้องปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของงานวิจัยวิทยาศาสตร์ระดับชาติและนานาชาติมาโดยตลอดแล้ว ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้มีบทบาทในการทดสอบเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ในสัตว์ทดลองก่อนนำไปใช้จริงในคน เช่น ผลิตภัณฑ์กระดูกเทียม น็อตยึดกระดูก ข้อต่อเทียม รากฟันเทียม ฯลฯ ก่อนออกสู่ตลาดซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านการทดสอบกับสัตว์ทดลอง เพื่อนำผลไปขอยื่นจดทะเบียนอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ซึ่งการทดสอบเครื่องมือแพทย์โดยทั่วไปนั้น นายสัตวแพทย์สุรชัย จันทรทิพย์ ได้อธิบายว่า มีทั้งประเภทใช้ภายนอก และภายในร่างกาย โดยศูนย์ฯ สามารถทำการทดสอบได้อย่างครอบคลุม ทั้งในด้านการแพ้ การระคายเคือง การเป็นพิษตลอดจนการส่งผลต่อการทำปฏิกิริยาอื่นๆ ภายในร่างกายฯลฯ

นางวิภาณี ชินชำนาญ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ศูนย์ฯให้บริการโดยใช้ระบบประกันคุณภาพการปฏิบัติงาน ภายใต้มาตรฐานการบริหารจัดการเพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ISO 9001 และ ISO 45001

และด้วยมาตรฐาน AAALAC International (American Association for Accreditation of Laboratory Animal Care) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเหมือนหัวใจของการให้บริการในทุกส่วนของศูนย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมแสง เสียง อุณหภูมิความชื้น อาหาร อุปกรณ์การเลี้ยง รวมทั้งการจัดส่งสัตว์ทดลองไปยังห้องปฏิบัติการต่างๆ ฯลฯ ที่เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วต่อผู้ใช้ และตรงตามมาตรฐานที่ AAALAC กำหนด นอกจากนี้เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้สัตว์ทดลองในสถานการณ์ COVID-19 ทางศูนย์ฯ ยังได้มีการขยายบริการสู่ช่องทางออนไลน์อีกด้วย

สัตวแพทย์หญิงพนิดา บุตรรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพสัตว์ทดลอง ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวให้ความเชื่อมั่นในเรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ทดลองว่า อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วยสัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์เพื่อประเมินโครงการวิจัยที่ต้องใช้สัตว์ทดลองว่า ถูกต้องตามหลักของการใช้สัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐานสากลหรือไม่โดยจะต้องเป็นการใช้สัตว์ทดลองด้วยความจำเป็น ในจำนวนที่เหมาะสม และทำให้สัตว์ทดลองได้รับความเจ็บปวดน้อยที่สุด ตามหลักจริยธรรมและวิชาการ รวมทั้งการมีสวัสดิภาพและสุขภาพที่ดีของสัตว์ทดลอง

ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตและทดสอบสัตว์ทดลองในอาเซียน ที่สามารถคงมาตรฐานไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะทำให้ "ฝันให้ไกล ไปให้ถึง" สู่จุดมุ่งหมายการเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนให้ได้ต่อไปนั้น จะต้องสามารถคงคุณภาพและมาตรฐานไว้ได้อย่างต่อเนื่อง มีทีมงานที่มีความพร้อม รวมทั้งการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งศูนย์ฯ พร้อมเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: