ผลสำรวจ 1,052 คน โดย Rocket Media Lab ความคิดเห็นเรื่อง sexual consent พบว่ามากกว่า 80% มองว่าสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดของการ 'ยินยอม-ไม่ยินยอม' มี 'เซ็กซ์' คือการ 'ออกปากพูด' ขณะที่ 27.1% เคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ | ที่มาภาพประกอบ: The Mix
sexual consent หรือ ‘ความยินยอมพร้อมใจในการมีเพศสัมพันธ์’ เป็นประเด็นที่มีดราม่าอยู่แทบจะตลอดเวลา และในการถกเถียงแต่ละครั้งก็สะท้อนชัดเจนว่าคนในสังคมยังมีเส้นแบ่งที่แตกต่างกันไม่น้อยระหว่างการยินยอมพร้อมใจกับไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงยังมีอีกหลายคำถามที่แม้แต่ระหว่างคนที่กำลังจะมีเซ็กซ์กันก็ยังเห็นไม่ตรงกัน
ขณะที่การถกเถียงเกิดขึ้นแล้วดับไป เซ็กซ์ที่ปราศจากความยินยอมพร้อมใจก็ยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้วยความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน มายาคติส่วนบุคคล หรือเหตุปัจจัยอื่นๆ
Rocket Media Lab ซึ่งทำงานข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน จึงทำแบบสอบถามขึ้นเพื่อสำรวจว่าบุคคลทั่วไปมีความคิดเห็นหรือความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การเปิดพื้นที่พูดคุยเกี่ยวกับ sexual consent และประเด็นแวดล้อมให้กว้างขวางขึ้น
จากการเผยแพร่แบบสอบถามทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 6 ก.พ.-16 มี.ค. 2564 มีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,052 คน (บางคนเลือกตอบเป็นบางคำถาม) จากการระบุเพศโดยผู้ตอบแบบสอบถามเอง มีสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามดังนี้
หญิง / female — 504 คน
ชาย / male — 378 คน
ไม่ระบุเพศ — 66 คน
เกย์ / gay male — 26 คน
ไบเซ็กชวล — 25 คน
LGBTQ / pansexual / questioning — 14 คน
อื่นๆ (เพศกลาง, ลื่นไหลทางเพศ, ไม่มีเพศ, demigirl ฯลฯ) — 12 คน
เลสเบี้ยน / gay woman / — 7 คน
transgender — 7 คน
เควียร์ — 7 คน
non-binary — 6 คน
ผลสำรวจที่พบได้แก่
27.1% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ จากคำถามที่ว่า 'คุณเคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่ตัวคุณไม่ได้ยินยอมพร้อมใจหรือไม่' มีผู้ตอบคำถามนี้ทั้งหมด 1,045 คน ผู้ตอบแบบสอบถาม 27.1% หรือ 283 คน ระบุว่าเคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ ในจำนวนนี้มีผู้ระบุตนเป็นเพศหญิง 169 คน เพศชาย 59 คน และเพศอื่นๆ (LGBTQ, น็อน-ไบนารี่, ไม่ระบุเพศ ฯลฯ) 55 คน ขณะที่ 63.2% ระบุว่าไม่เคย ส่วนอีก 9.8% ระบุว่าไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ ในความไม่ยินยอมพร้อมใจนั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่หลากหลาย โดยอาจมีทั้งกรณีที่ชัดเจนว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือกรณีที่เจ้าตัวไม่สามารถปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ครั้งนั้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ซึ่งอาจขยายความได้ดังต่อไปนี้ 'อยากตอบสนองความต้องการให้อีกฝ่าย' สาเหตุใหญ่ที่ทำให้จำต้องมีเพศสัมพันธ์แม้ไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ
จากคำถามที่ว่า 'สาเหตุที่ทำให้คุณไม่สามารถปฏิเสธการมีเซ็กซ์ในขณะที่ไม่ต้องการคืออะไร' ซึ่งมีผู้เลือกตอบคำถามนี้ทั้งหมด 473 คน โดยผู้ตอบแบบสอบถามสามารถระบุสาเหตุได้มากกว่า 1 ข้อ ข้อที่มีคนเลือกตอบมากที่สุดคือ 'ต้องการตอบสนองความต้องการของอีกฝ่าย' มีผู้ตอบทั้งหมด 48.8% หรือ 231 คน เป็นผู้ที่ระบุตนเป็นเพศหญิง 114 คน เพศชาย 72 คน และเพศอื่นๆ (LGBTQ, ไบเซ็กชวล, เกย์ ฯลฯ) 45 คน รองลงมาคือ 'ความรัก' และ 'กลัวจะเกิดปัญหาในความสัมพันธ์' ซึ่งอนุมานได้ว่ากว่า 1 ใน 3 ของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ เกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในคู่ความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว
10 สาเหตุที่มีผู้เลือกตอบมากที่สุดได้แก่
อยากตอบสนองความต้องการให้อีกฝ่าย — 48.8%
ความรัก — 37%
กลัวจะเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ — 36.6%
ความเกรงใจ — 28.8%
มึนเมา หรือไม่อยู่ในสติสัมปชัญญะครบถ้วน — 24.9%
ฝืนร่างกายตนเองไม่ได้ — 19.9%
ยังเด็กจนไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร — 19.2%
อีกฝ่ายใช้กำลัง — 14.4%
อีกฝ่ายมีสถานะที่สามารถให้คุณหรือให้โทษกับตนได้ — 9.9%
ถูกข่มขู่หรือแบล็กเมล —5.5%
นอกจากนี้ยังมีคำตอบอื่นๆ ที่น่าสนใจซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามระบุเพิ่มเติมเข้ามา เช่น 'ไม่ได้ยินยอมแต่ไม่สามารถแสดงออกได้มากเท่าที่ต้องการ' 'ห้ามไม่ฟัง ตื๊อหนัก จนต้องยอมให้จบๆ ไป' 'เผื่ออยากมีเซ็กส์กับเขาในอนาคตขณะที่เขาเองไม่ได้มีอารมณ์เหมือนกับเรา' 'อยู่ในภาวะเสียใจจากเรื่องอื่นๆ ในขณะนั้น สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว' รวมถึง 'ไม่แน่ใจว่าควรปฏิเสธหรือไม่' ฯลฯ
'ณ ตอนนั้นไม่มีอารมณ์ทางเพศ' ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์
สำหรับคำถามที่ว่า 'ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้คุณไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์' ผู้ตอบแบบคำถามนี้ทั้งหมด 1,029 คน (ในจำนวนนี้อาจมีทั้งกรณีที่ปฏิเสธได้สำเร็จและไม่สำเร็จ) พบว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ได้แก่ 'ณ ตอนนั้นไม่มีอารมณ์ทางเพศ' โดยมีผู้ตอบข้อนี้กว่า 67.1% หรือทั้งหมด 690 คน (หญิง 326 คน ชาย 232 คน และเพศอื่นๆ (LGBTQ, ไบเซ็กชวล, เลสเบี้ยน ฯลฯ) 132 คน ขณะที่อันดับถัดมาเป็นเรื่องเซ็กส์ปลอดภัย
10 ปัจจัยที่มีผู้ตอบมากที่สุดได้แก่
ณ ตอนนั้นไม่มีอารมณ์ทางเพศ — 67.1%
ไม่มีเครื่องป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย — 57%
ร่างกายไม่พร้อม — 54.3%
ไม่มีเหตุผล แค่ไม่ต้องการ — 53%
ไม่ได้รู้สึกพิเศษกับอีกฝ่าย — 51.4%
สถานที่ไม่อำนวย — 41.9%
ยังไม่ถึงเวลาที่ใช่ — 29.8%
อีกฝ่ายไม่ตรงปก — 24.9%
ไม่พึงพอใจอวัยวะเพศของอีกฝ่าย — 9.4%
กลัวถูกมองว่าใจง่าย — 9.6%
นอกจากนี้ยังมีอีกสามอันดับถัดมา ที่มองว่าน่าสนใจและควรหยิบมาพิจารณาคือ ที่บ้านสอนให้รักนวลสงวนตัว 6% อยากรักษาความบริสุทธิ์จนกว่าจะแต่งงาน 5.1% และเป็น asexual (ผู้ที่ไม่มีความต้องการทางเพศ) 4.8% รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุเพิ่มเติมเองเช่น 'เคารพข้อกฎหมาย' 'ไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับใครนอกจากแฟนหรือคู่ครอง' 'ไม่ใช่เพศที่ต้องการ' 'เป็นพระ' จนถึง 'ขี้เกียจ' ฯลฯ ขณะที่ 10.5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่คู่นอนไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ
จากคำถามที่ว่า 'คุณเคยมีเพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการยินยอมจากคู่นอนหรือไม่' มีผู้ตอบคำถามทั้งหมด 1,039 คน และมี 10.5% หรือ 109 คนที่ระบุว่า ‘เคย’ โดยในจำนวนนี้มีผู้ระบุตนเองเป็นเพศหญิง 51 คน เพศชาย 33 คน และเพศอื่นๆ (เกย์, LGBTQ, ทรานส์เจนเดอร์) 25 คน ขณะที่อีก 11.4% ระบุว่าไม่แน่ใจ และ 78.2% ระบุว่าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่คู่นอนไม่ยินยอมพร้อมใจ สัญญาณสำคัญที่จะบอกได้ว่าอีกฝ่ายยินยอมพร้อมใจคือ 'ออกปากพูด'
เมื่อถามถึงสัญญาณที่ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า คือการแสดงความยินยอมพร้อมใจที่จะมีเซ็กซ์ จำนวนผู้ตอบคำถามนี้มีทั้งหมด 1,045 คน กว่า 81.4% ตอบว่าคือการออกปากพูดว่ายินยอมพร้อมใจ ซึ่งนับว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงเมื่อเทียบกับข้ออื่นๆ โดย 10 อันดับของสัญญาณฯ ที่มีผู้ตอบมากที่สุดได้แก่
ออกปากพูดว่ายินยอมพร้อมใจ — 81.4%
ยอมให้จูบ/จูบตอบ — 44.2%
ถอดเสื้อผ้า — 37.2%
ยอมให้มีการสอดใส่ ไม่ส่งเสียงห้ามหรือขัดขืน — 37.2%
ทำออรัลเซ็กส์ให้ — 35.2%
เป็นฝ่ายเข้ามาจูบก่อน — 33.5%
สัญญาณจากเครื่องเพศ มีน้ำหล่อลื่น/มีการแข็งตัว — 23.8%
ชวนไปที่ห้อง/ตอบรับคำชวนไปที่ห้อง — 22.1%
ส่งสัญญาณผ่านสายตา — 20.8%
การเปิดโอกาสให้อยู่กันแบบสองต่อสอง — 17.2%
ขณะที่ลำดับถัดๆ มาได้แก่ นอนนิ่งๆ ไม่ขัดขืน 13.9% ยอมให้หอมแก้ม 10.7% และการมาตามนัดจากแอปพลิเคชัน 8.3% เช่นกัน—การปฏิเสธที่ชัดเจนที่สุดคือ 'ออกปากพูด'
เมื่อถามถึงสัญญาณที่ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าเป็นการไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะมีเซ็กซ์ มีผู้ตอบคำถามนี้ 1,042 คน และอันดับแรกที่มีผู้ตอบมากที่สุดก็คือการพูดยืนยันชัดเจน 89.9% ขณะที่อันดับถัดๆ ไปอยู่ไล่เลี่ยกัน โดยเรียงลำดับมาก-น้อย ได้ดังต่อไปนี้
พูดปฏิเสธตรงๆ ยืนยัน ชัดเจน — 89.9%
ผลักออก — 84.9%
แสดงออกถึงความกลัว — 79.7%
พูดบ่ายเบี่ยง — 76.3%
แสดงอาการโกรธ — 73.4
ร้องไห้ — 73%
ไม่จูบตอบ — 64.6%
นอนนิ่ง หลับตา — 46.7
นอกจากนี้ยังมีข้อที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุเพิ่มเติมเข้ามา เช่น 'บอกปัดว่าไม่มีถุงยาง' 'ไม่สบตาเวลามีเพศสัมพันธ์' 'พิมพ์แชท เล่นมือถือตลอดเวลา' 'มีท่าทางลังเลไม่แน่ใจ' จนถึง 'ง่วง'
จากสองคำถามเกี่ยวกับสัญญาณของการยินยอม-ไม่ยินยอม ผลสำรวจค่อนข้างชี้ชัดว่าการสื่อสารด้วยการพูดคุย หรือ verbal consent มีความจำเป็นอย่างยิ่ง แม้จะเป็นคนที่คบกันอยู่ก็ตาม และแม้จะมีสถานการณ์หลากหลายรูปแบบที่จะนำไปสู่การมีเซ็กส์ในขณะที่หลายคนอาจยังเคยชินกับการปล่อยไปตามอารมณ์ หรืออาศัยภาษากาย แต่ที่สุดแล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการหลีกเลี่ยงที่จะสื่อสารเพื่อตกลงกันตรงๆ นั้นอาจนำไปสู่ปัญหา โดยผลสำรวจในข้อหัวถัดมายังบ่งชี้ว่าสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการ 'เคารพ' การปฏิเสธนั้นๆ ด้วย
แต่ละคนคิดเห็นอย่างไรกับ verbal consent?
จากคำถามที่ว่า 'คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกถามตรงๆ ว่า 'ขอมีอะไรด้วยได้มั้ย'' มีผู้ตอบคำถามนี้ทั้งหมด 911 คน โดยในแบบสอบถามไม่ได้ระบุถึงบริบทหรือความสัมพันธ์ในชีวิตของผู้ตอบแต่ให้ตอบได้อย่างกว้างขวางและสามารถระบุรายละเอียดเพิ่มเติมได้โดยอิสระ
อย่างไรก็ตาม ด้วยการแจกจ่ายแบบสอบถามไปในแวดวงจำกัด เราจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าความคิดเห็นที่สำรวจได้นั้นตรงกับความเห็นของคนหมู่มากหรือไม่อย่างไรบ้าง เราจึงยังต้องการพื้นที่ในการสนทนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในสังคม
เกี่ยวกับ Rocket Media Lab Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์ Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564 https://rocketmedialab.co |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ