ภาคประชาชนจับมือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจ DNA คนไร้สถานะได้รับสิทธิบัตรทอง

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 มี.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1371 ครั้ง

ภาคประชาชนจับมือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจ DNA คนไร้สถานะได้รับสิทธิบัตรทอง

เครือข่ายภาคประชาชนร่วมมือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สปสช. และโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ช่วยพาบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เข้ารับการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ตัวตนและขอทำบัตรประชาชน ด้าน ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เผยช่วยตรวจ DNA ให้คนไทยไร้บัตรกว่าปีละ 1,600 คน ขณะที่ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยชี้ หลังมี MOU 9 หน่วยงานทำให้หน่วยงานรัฐตอบสนองและช่วยเหลือผู้มีปัญหาทางสถานะให้ได้รับบัตรประชาชนสะดวกขึ้น

เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.ปราจีนบุรี โรงพยาบาลอภัยภูเบศร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ช่วยเหลือคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนจำนวน 10 ราย ให้เข้ามาทำการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีตรวจ DNA ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยกระบวนการดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนของ 9 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ สปสช. เพื่อบูรณาการความร่วมมือดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ 

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์คือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน ตาม พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ 2559 ซึ่งการตรวจ DNA จะมีประเด็นในเรื่องของบุคคลยากไร้ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้บุคคลกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแลไม่ได้รับสิทธิทั่วไปตามในฐานะประชาชนคนไทย ซึ่งทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้จัดหางบประมาณมาดำเนินการตรวจ DNA ให้คนกลุ่มนี้ โดยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมามีการดำเนินการปีละประมาณ 1,600 ราย 

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการดำเนินการตรวจ DNA ในครั้งนี้เป็นการเดินทางมาตรวจที่ กทม. แต่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังให้บริการลงไปตรวจถึงในพื้นที่ โดยจะพิจารณาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมารวบรวมวิเคราะห์ว่ามีจำนวนมากพอสมควรแล้วจัดแผนในการเดินทางไปตรวจพื้นที่ให้ 

"ต้องขอขอบพระคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าทางกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ที่ช่วยกันทำให้การทำงานของคล่องตัวมากยิ่งขึ้นและสามารถทำให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนได้ได้มีความเสมอภาค" พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าว 

ขณะที่ น.ส.วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า หลังจากที่มีการลงนาม MOU ไปเมื่อเดือน ก.ค. 2563 เป็นต้นมา ทางเครือข่ายภาคประชาชนได้อ้างอิงบันทึกความร่วมมือดังกล่าวในการช่วยเหลือผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนให้มีบัตรประชาชนในหลายพื้นที่ โดยรายแรกอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี ได้รับบัตรประชาชนหลังเกิด MOU แล้ว 15 วัน นอกจากนี้ยังใช้อ้างอิงในการทำงานในอีกหลาย เช่น จ.ศรีสะเกษ จ.สุรินทร์ จ.ตรัง จ.สตูล จ.สงขลา จ.เชียงใหม่ จ.สิงห์บุรี รวมทั้งพื้นที่อื่นๆที่สมาชิกในเครือข่ายแจ้งข้อมูลเข้ามา 

น.ส.วรรณา กล่าวว่า การมี MOU ดังกล่าว ทำให้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐมากขึ้นเพราะมีหลักในการอ้างอิงและรองรับตัวตนของผู้ประสานงานให้ความช่วยเหลือแก่คนไร้สถานะ ทางเจ้าหน้าที่จากกรมการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นสำนักทะเบียนภาค 3 ภาค 5 ภาค 7 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนของมหาดไทยให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบสืบค้นข้อมูลเพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคลเป็นอย่างดี หรือทางกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ก็พยายามผลักดันให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงบริการสาธารณสุขตลอดจนประสานกับหน่วยงานรัฐอื่นๆให้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น จัดหารถรับส่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องเข้ารับการตรวจ DNA รวมทั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ช่วยตรวจ DNA จนทำให้การเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สถานะบุคคลมีมากขึ้น ทำให้ปีที่ผ่านมาทางมูลนิธิมีเคสที่ให้ความช่วยเหลือ 136 รายและได้บัตรประชาชน 67 ราย ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จพอสมควร 

ด้าน น.ส.พรเพียร เภาเนือง นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลอภัยภูเบศร กล่าวว่า บุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนมักมีปัญหากับการรักษาพยาบาล เพราะไม่สามารถใช้สิทธิการรักษาอะไรได้ จะมาโรงพยาบาลก็ต่อเมื่ออาการรุนแรงและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ซึ่งหากพบเคสลักษณะนี้ทางกลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ก็จะพยายามค้นหาสิทธิให้คนไข้ พาไปปรึกษากับทางอำเภอเรื่องกระบวนการทำบัตรประชาชน ทางอำเภอก็จะแนะนำเรื่องการตรวจ DNA และทำหนังสือขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งรายล่าสุดที่พามาตรวจ DNA ในครั้งนี้ ก็มีทั้งผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องฟอกไต ต้องใช้ค่ารักษากว่า 3 แสนบาท มีเด็กเล็กที่มีปัญหาทางสถานะ ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ได้ร่วมมือกับศูนย์ประสานงานภาคประชาชน จ.ปราจีนบุรี ช่วยประสานงานและจัดรถมาส่งที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: