เห็นชอบให้ 'ปลาฉลามหัวค้อน' เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง รอประกาศเป็นกฏกระทรวง

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 3727 ครั้ง

เห็นชอบให้ 'ปลาฉลามหัวค้อน' เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง รอประกาศเป็นกฏกระทรวง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยเห็นชอบให้ 'ปลาฉลามหัวค้อน' เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง รอประกาศเป็นกฏกระทรวง

มติชนออนไลน์ รายงานว่ากรณีที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2564 พบมีลูกฉลามขายอยู่หลายตัวในตลาดใกล้กรุง ราคาเพียงกิโลละ 100 บาท แต่ตัวที่สำคัญมากคือลูกฉลามหัวค้อน ซึ่งเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลักดันเป็นสัตว์คุ้มครอง

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่าปัจจุบันฉลามทั่วโลกถูกจับได้จากการประมงมากกว่า 100 ล้านตัว หรือเฉลี่ยที่ 190 ตัวต่อนาที ในจำนวนทั้งหมดนี้มากกว่า 70 ล้านตัว หรือประมาณร้อยละ 75 เป็น ฉลามที่ถูกจับเพื่อตัดเอาครีบไปขาย

อธิบดีทช. กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยไม่ได้มีการทำประมงปลาฉลามโดยตรง เนื่องจากปลากลุ่มนี้ไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย และถูกจัดเป็นเพียงสัตว์น้ำพลอยจับได้ (bycatch) โดยมีสัดส่วนที่จับได้ น้อยกว่าร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับผลจับสัตว์น้ำทั้งหมดที่ได้จากการประมงทะเล และส่วนใหญ่ถูกจับได้โดยเครื่องมืออวนลาก โดยเฉพาะอวนลากแผ่นตะเฆ่

“การสำรวจรวบรวมข้อมูลชนิดพันธุ์ของฉลามในน่านน้ำไทยโดยกรมประมง ในปี 2563 พบว่า มีทั้งหมด 87 ชนิด มากกว่า 75% เป็นชนิดพันธุ์ที่หายาก (Rare species) หรือชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) โดยพบในทะเลอันดามันมากถึง 80 ชนิด ส่วนอ่าวไทยพบเพียง 53 ชนิด มีการแพร่กระจายตามแหล่งที่อยู่อาศัยตั้งแต่ในแม่น้ำไปจนถึงเขตทะเลลึก และมีบางชนิดที่มีรายงานว่าไม่พบในเขตทะเลไทยมานานแล้ว ได้แก่ ปลาฉลามหนู(Carcharhinus obsolerus) และปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii) กลุ่มปลาฉลามที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง ได้แก่ กลุ่มปลาฉลามหัวค้อน และฉลามเสือดาว กลุ่มปลาฉลามหัวค้อน 4 ชนิด ได้แก่ ปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii) (Thailand Red Data) ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน (Sphyrna lewini) ปลาฉลามหัวค้อนยักษ์ (Sphyrna mokarran) และปลาฉลามหัวค้อนเรียบ/ปลาฉลามหัวค้อนดำ (Sphyrna zygaena)”นายโสภณ กล่าว

อธิบดีทช. กล่าวว่า ทช. ได้เสนอขึ้นบัญชีสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ผ่านกรมประมง และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ (ตาม พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2535) โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ซึ่งได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศเป็นกฎกระทรวง เนื่องจากอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างพระราชบัญญัติฉบับเดิม (พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2535) กับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ (พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2562)

“ท่านรัฐมนตรี เร่งรัดและสั่งการเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะเห็นความสำคัญอย่างมาก หากมีการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติครั้งหน้า คิดว่าเรื่องนี้จะมีความคืบหน้าแน่นอน”นายโสภณ กล่าว

ขณะนี้บัญชีรายชื่อกลุ่มฉลามหัวค้อนดังกล่าว รอดำเนินการผ่านทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าสำหรับฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum) คณะกรรมการฝ่ายวิชาการพิจารณาสถานภาพสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำ ตาม พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2535 ของกรมประมง ขอให้เพิ่มเติมข้อมูล เนื่องจากฉลามชนิดนี้มักพบติดเครื่องมือประมงแบบสัตว์น้ำพลอยจับได้ (Bycatch) การพิจารณาต้องมีการหารือทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“สำหรับฉลามหัวค้อนตัวที่เป็นข่าวคือ ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน Sphyrna lewini (kidney-head shark) ซึ่งเป็นชนิดที่อยู่ในบัญชีที่กำลังจะประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง พบได้น้อย ในเขตน้ำตื้นถึงไหล่ทวีป เป็นบัญชี 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ใน IUCN Red List” อธิบดีทช. กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: