จับตา: เมื่อ 'แมงเม่า' รุมเอาชนะ 'วอลล์สตรีท' เบื้องหลังหุ้น GameStop

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ก.พ. 2564 | อ่านแล้ว 2130 ครั้ง


สื่อ VOA รายงาน GameStop เป็นเพียงร้านจำหน่ายวีดีโอเกมที่มีอยู่ทั่วอเมริกา แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา GameStop ได้กลายเป็นสมรภูมิรบ ที่นักลงทุนรายย่อยประกาศศึกกับนักลงทุนวอลล์สตรีท และเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ ที่ดูเหมือนจะเหนือกว่าแทบทุกด้าน สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วตลาดหลักทรัพย์และในหมู่นักลงทุนทั่วโลก | ที่มาภาพ: Mike Mozart (CC BY 2.0)

ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2021 VOA รายงานว่าGameStop เป็นบริษัทมหาชนที่มีสำนักงานใหญ่ในรัฐเท็กซัส GameStop ประกอบธุรกิจค้าปลีกวีดีโอเกมและเครื่องเล่นเกมต่าง ๆ โดยมีร้านค้าขายเกมกว่า 5,000 สาขา โดยส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้นักเล่นเกมหันไปซื้อวีดีโอเกมผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้กิจการของร้านขายเกมอย่าง GameStop ซบเซาลงเรื่อย ๆ ในช่วง 12 ไตรมาส หรือประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา GameStop ขาดทุนไปแล้วประมาณ 1,600 ล้านดอลล่าร์ ในขณะที่หุ้นของบริษัทก็ร่วงลงติดต่อกันมาเป็นเวลา 6 ปี ตามการรายงานของสำนักข่าว Associated Press

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา GameStop ได้ประกาศว่าบริษัทแต่งตั้ง ไรอัน โคเฮน (Ryan Cohen) ให้เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือ board of directors ของบริษัท โคเฮน เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Chewy ซึ่งเป็นบริษัทขายอาหารและสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงออนไลน์ ซึ่งบริษัท GameStop มองว่า ความรู้ความสามารถของ โคเฮน ในเรื่องการขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต จะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ของบริษัท ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการขายเกมผ่านร้านค้าปลีกอีกต่อไป หลังจากการแต่งตั้งโคเฮน ราคาหุ้น GameStop ขึ้นมาเกือบ 2 ดอลล่าร์ ซึ่งในขณะนั้นถือว่าสูงมากแล้ว ก่อนที่ราคาหุ้นจะขึ้นมาอีก โดยไปอยู่ที่ 35.5 ดอลล่าร์ต่อหุ้น ในสัปดาห์เดียวกัน

'วอลล์สตรีท' ปะทะ 'แมงเม่า'

บรรดานักลงทุนวอลล์สตรีท กองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) หรือ กองทุนเก็งกำไร มองว่าราคาหุ้นของ GameStop นั้นสูงเกินมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท และทำนายว่าราคาหุ้นของ GameStop จะตกลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้นักลงทุนเข้าเก็งกำไรจากการ ชอร์ตเซล (short sell)

หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ การ short sell คือ การที่นักลงทุนไป “ยืม” หุ้นของคนอื่นเพื่อนำไปขายทำเงินในตอนนี้ แล้วค่อยซื้อหุ้นตัวเดิมมาคืนในวันหลังตามที่ตกลงไว้ในสัญญา ในวันที่ราคาหุ้นตัวนั้นต่ำลง ซึ่งความต่างระหว่างราคาตอนที่ไป "ยืม" หุ้นมาขาย และราคาตอนที่ไปซื้อคืนคือกำไรของนักลงทุนแบบ short seller

อย่างไรก็ตาม หากว่าหุ้นตัวที่ “ยืม” มามีราคาสูงขึ้น ไม่ได้ร่วงลงอย่างที่คาดเอาไว้ นักลงทุนที่ไป “ยืม” หรือไป short sell มาก็จะขาดทุน เพราะนั่นหมายความว่า ต้องไปซื้อหุ้นที่แพงกว่ามาคืน

ในขณะเดียวกัน ได้ปรากฎผู้เล่นอีกฝั่งหนึ่ง คือ นักลงทุนรายย่อย หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “แมงเม่า” ที่ส่วนใหญ่สิงสถิตย์อยู่ในห้อง WallStreetBets ของเว็บบอร์ด Reddit ซึ่งคล้าย ๆ กับเว็บไซต์ "พันทิป" ของไทย นักลงทุนรายย่อยเห็นการเก็งกำไรด้วยการ ชอร์ตเซล หุ้น GameStop ของนักลงทุนวอลล์สตรีท จึงได้เริ่มพูดคุยกันถึงความต้องการ "สั่งสอน" หรือให้บทเรียนนักลงทุนรายใหญ่ และยุยงกันและกันให้ไปซื้อหุ้น GameStop

การที่นักลงทุนรายย่อยแห่ไปซื้อหุ้นของ GameStop ทำให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นไปเกือบถึง 20 เท่าภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ในเดือนมกราคม ผิดไปจากการคาดการณ์ของนักลงทุนรายใหญ่ จากที่คิดว่าจะได้กำไรจากการชอร์ตเซลหุ้นของบริษัทที่ดูไร้อนาคตอย่าง GameStop นักลงทุนสถาบันและเฮดจ์ฟันด์เหล่านี้กลับต้องขาดทุน สูญเงินไปแล้วกว่า 5 พันล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท ตามรายงานของสำนักข่าว Associated Press

วิเคราะห์ปัจจัยหนุน-เสริมแรง 'แมงเม่า'

สื่อมวลชนอเมริกันหลายสำนักมองว่าการที่นักลงทุนรายย่อยสามารถล้มผู้จัดการกองทุนที่มีทั้งเงินและประสบการณ์ที่มากกว่าหลายเท่า สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ โดยปัจจัยหนึ่งคือการที่นักลงทุนรายย่อยใช้ช่องทางออนไลน์ ซึ่งในกรณีนี้เป็นการใช้ห้อง WallStreetBets ของ Reddit เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงการวางแผนร่วมกันอย่างหลวม ๆ เพื่อช่วยกันปั่นราคาหุ้น และเพื่อการเก็งกำไร

นอกจากนี้ ยังมีโบรกเกอร์ที่ให้นักลงทุนรายย่อยใช้บริการแอพพลิเคชั่นของตนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีค่าธรรมเนียมที่มีไม่สูงมาก ทำให้ “รั้วกั้น” ในโลกการลงทุนที่เคยมีอยู่ ค่อยๆ ถูกลดต่ำลง หรือหายไป นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากสามารถซื้อขายได้อย่างสะดวกมากขึ้น

การระบาดของโควิด-19 ถูกมองว่ามีส่วนทำให้เกิดนักลงทุนรายย่อยหน้าใหม่มากขึ้น เนื่องจากหลายคนมีเวลาศึกษาตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น หรือมีความต้องการทำเงินในระยะสั้น ๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามด้วยว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หรือระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลมีส่วนในการเพิ่มเม็ดเงินในมือของนักลงทุนรายย่อยเหล่านี้มากน้อยเพียงใด และทำให้พวกเขาทุ่มเงินลงไปในตลาดหุ้นมากเกินไปหรือไม่

ปรากฎการณ์ที่ต้องจับตามอง

ปรากฎการณ์ที่เกิดกับหุ้นของ GameStop ได้ลุกลามไปยังหุ้นของบริษัทอื่น ๆ เช่น บริษัทโรงภาพยนตร์ของสหรัฐฯ AMC, Nokia และ Bed, Bath & Beyond ทำให้เกิดความกังวลว่าความเสี่ยงจากการลงทุนกำลังเพิ่มมากขึ้น

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ของสหรัฐฯ กล่าวว่าได้จับตามองความผันผวนของตลาดที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้ระบุชื่อ GameStop ก็ตาม โดย ก.ล.ต. สหรัฐฯ บอกว่ากำลังประสานงานกับเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการกำกับดูแลอื่น ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์และตรวจสอบการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนในตลาด

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็กำลังจับตาดูกิจกรรมที่เข้าข่ายการปั่นหุ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตอนนี้ ชัยชนะจะเป็นของ แมงเม่า หรือนักลงทุนรายย่อย ที่รวมพลังกันซื้อหุ้น ปั่นราคา จนยักษ์ใหญ่บางรายยอมล่าถอยไป แต่นักวิเคราะห์และนักลงทุนมืออาชีพยังคงมองว่าราคาหุ้นของ GameStop ไม่สามารถรั้งอยู่ในระดับ 325 ดอลล่าร์ต่อหุ้นในระยะยาวได้ (ราคาในวันศุกร์ที่ 29 ม.ค.) เพราะราคาตอนนี้ไม่ได้สะท้อนมูลค่าหรือพื้นฐานของบริษัท หรือผลกำไรที่บริษัทจะสามารถทำได้ เมื่อดูจากรูปการณ์และผลประกอบการของ GameStop โดยนักวิเคราะห์ของ Bank of America Global Research มองว่าราคาของหุ้นควรจะอยู่ที่ 10 ดอลล่าร์เท่านั้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: