นักวิชาการเสนอผ่อนคลายระเบียบจัดซื้อและขั้นตอนอนุมัติจ่ายยารักษา COVID-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ส.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1897 ครั้ง

นักวิชาการเสนอผ่อนคลายระเบียบจัดซื้อและขั้นตอนอนุมัติจ่ายยารักษา COVID-19

นักวิชาการเสนอผ่อนคลายกฎระเบียบและยกเว้นกฎระเบียบการจัดหา จัดซื้อ และขั้นตอนการอนุมัติการจ่ายยาในการรักษา COVID-19 พร้อมจัดสรรงบประมาณฉุกเฉินให้โรงพยาบาลจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในพื้นที่แพร่ระบาดสูง เสนอปิดชายแดนไทยพม่าและประสานองค์กรระหว่างประเทศจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพม่าตามแนวชายแดน

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตอนุกรรมการส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีฯ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิต เปิดเผยว่าขอเสนอผ่อนคลายกฎระเบียบและยกเว้นกฎระเบียบการจัดหา จัดซื้อ และลดขั้นตอนการอนุมัติการจ่ายยาในการรักษา Covid-19 พร้อมจัดสรรงบประมาณฉุกเฉินจากงบกลางที่ยังคงมีเหลืออยู่ให้โรงพยาบาลจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในพื้นที่แพร่ระบาดสูงเป็นการด่วนที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดข้อจำกัดทางด้านงบประมาณตามโรงพยาบาลต่างๆในการรักษาผู้ป่วยอาการหนัก หรือ ผู้ป่วยอาการเริ่มต้น เพื่อให้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพที่สุดโดยเร็ว การลดอัตราการเสียชีวิตเป็นเรื่องเร่งด่วนอันดับแรกที่ต้องดำเนินการโดยด่วนที่สุด การขยายล็อกดาวน์จะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์การติดเชื้อดีขึ้นมากนักและยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานและกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลควรตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ทุกวันและสั่งแก้ไขปัญหาทุกวัน บางพื้นที่ต้องผ่อนล็อกดาวน์ บางพื้นที่ขยายล็อกดาวน์ได้ ไม่ควร Work From Home ในช่วงวิกฤตชาติเช่นนี้

สถานการณ์วิกฤต COVID-19 เช่นนี้ หน่วยราชการและองค์กรของรัฐต้องเน้นการทำงานให้เกิดประสิทธิผลและมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยลดขั้นตอนการดำเนินการ การอนุมัติในระบบราชการทั้งหมด นอกจากนี้หน่วยงานตรวจสอบภายในต้องคำนึงถึงเจตนาและเป้าหมายมากกว่ารายละเอียดของระเบียบราชการบางส่วนที่ไม่ทันสมัย ไม่ทันกาลและมีรายละเอียดขั้นตอนยุ่งยาก องค์กรของรัฐหรือหน่วยราชการควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และ ควรเดินหน้าทำ Digital Transformation อย่างเต็มที่เพื่อรองรับการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่รวมทั้งโลกยุคหลัง Covid ที่จะเกิดสภาวะปรกติใหม่ หรือ New Normal การเปลี่ยนวิธีคิดอย่างมีกลยุทธและแนวคิดใหม่ในการดำเนินกิจการของภาครัฐ อย่างถึงแก่นจากรากฐานของระบบราชการด้วยการ Transform องค์กรให้เป็น Digital Government Open Government ในยุคดิจิทัล เป็นการคิดใหม่ทุกมิติ และ ทุกคนในองค์กรต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ใช่แค่ทำ Website หรือ การมีระบบ ICT การทำ Digital Transformation นั้นจำเป็นต้องทบทวนเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และ พันธกิจ (Mission) ใหม่

รวมถึงคำนิยามและคุณค่าขององค์กรให้สอดคล้องและทันกับพลวัตการเปลี่ยนแปลง มีการประยุกต์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีกับกระบวนการทำงาน สร้างนวัตกรรการบริการและการทำงาน และ อาจทำให้เกิดโมเดลใหม่ๆ ที่เป็นเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของระบบราชการด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เกิด Digital Mindset และ วัฒนธรรมดิจิทัล เริ่มต้นด้วยการทำ Big Data ด้วยการออกแบบ Data Strategy หากองค์กรของรัฐมีโครงการหรือการลงทุนเกี่ยวกับไอทีและดิจิทัลมากมาย ไม่ได้หมายความว่า เรามี Digital Transformation ในองค์กร เราอาจใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารหรือการจัดการองค์การ หากเรายังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนองค์กรเปลี่ยนวิธีการในการบริการประชาชนและบริหารประเทศก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น Digital Transformation แต่อย่างใด พฤติกรรมของประชาชนในยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไป การสร้างประสบการณ์ที่ดีกับประชาชนผู้ใช้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มีการเปลี่ยนจากโมเดลการบริหารราชการให้ใช้เครือข่ายภาคประชาชนให้เกิดประโยชน์

รศ.ดร.อนุสรณ์ เสนอให้ใช้ พื้นที่ว่าง ใน วัด และ โรงเรียน ทำที่กักตัวปลอดภัยและรักษาตัวเบื้องต้น แยกผู้ป่วยออกจากบ้านและชุมชนที่มีการติดเชื้อ และ จัดงบแจกยา อุปกรณ์ตรวจอาการของโรคและเครื่องช่วยหายใจขนาดเล็กให้ประชาชนติดเชื้อที่ทำ Home and Community Isolation ตามพื้นที่ต่างๆ การทำให้ประชาชนที่ติดเชื้อเข้าถึงยารักษาทันต่อการทรุดลงของอาการจะช่วยปกป้องให้ประชาชนจำนวนมากไม่ต้องเสียชีวิตจากการรอการรักษา มีประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ควรเสียชีวิตหากได้เข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลควรใช้กฎหมายความมั่นคงปิดชายแดนไทยพม่า ห้ามข้ามพรมแดนโดยเด็ดขาด เนื่องจากการติดเชื้ออาจพุ่งสูงถึง 27 ล้านคน ในสองสัปดาห์ข้างหน้าตามการคาดการณ์ล่าสุด ไทยควรประสานองค์กรระหว่างประเทศจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในประเทศเมียนมาร์ตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันการทะลักลักลอบอพยพของชาวพม่าและชนกลุ่นน้อยหนีภัยโรคระบาดและอำนาจกดขี่ของคณะรัฐประหารเผด็จการทหาร การรัฐประหารในพม่าเป็นส่วนสำคัญทำให้ระบบสาธารณสุขล่มสลายเนื่องจากบุคลาการทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ร่วมชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารและถูกจับกุมคุมขัง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าปล่อย “บุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข” ออกมาจากที่คุมขังเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: